SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer แพทองธาร ชินวัตร โดนขุดคุ้ยเรื่อง “การโกงข้อสอบเอ็นทรานซ์” ในปี 2547 เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร มีมูลความจริงหรือไม่ workpointTODAY จะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 16 ข้อ

1) อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีลูกสามคนคือ โอ๊ค-พานทองแท้, เอม-พินทองทา และ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร โดยลูกสาวคนเล็กแพทองธาร เรียนจบมัธยมปลาย จากโรงเรียนมาร์แตเดอีวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2547

2) เป้าหมายของแพทองธาร คือการสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์หลักสูตรภาษาอังกฤษ โดยในใบประกาศรับสมัครของทางคณะระบุเงื่อนไข 3 ข้อคือ

– นักเรียนคนดังกล่าวต้องได้เกรดเฉลี่ย GPA 2.75 ขึ้นไป

– ได้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 4 วิชา (ภาษาไทย, สังคมศึกษา, ภาษาอังกฤษ และ วิชาเลือกอีก 1 วิชา) รวมไม่ต่ำกว่า 200 คะแนน

– ได้คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP, TOEFL หรือ IELTS ถึงเกณฑ์ที่วางไว้

ปัญหาของแพทองธาร คือเธอผ่านแค่ข้อทดสอบภาษาอังกฤษอย่างเดียว เกรดเฉลี่ยเธอไม่ถึง 2.75 และ การสอบเอ็นทรานซ์ในรอบแรก คะแนนเธอก็ได้ไม่ถึง 200 คะแนน

3) อย่างไรก็ตาม แพทองธารค่อยๆ ปลดล็อกไปได้ทีละข้อ เริ่มจากข้อแรกคือเกรดเฉลี่ย GPA เป็นโชคดีของเธอที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตัดสินใจ “เปลี่ยนกฎ” โดยระบุว่าเกรดเฉลี่ย GPA ต่ำกว่า 2.75 ก็สามารถสมัครได้

นายสุรพล วิรุฬห์รักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ  อธิบายว่า “ในการเปิดรับสมัครมีนักเรียนสนใจมากกว่า 400 คน โดยส่วนใหญ่ ได้ GPA ต่ำกว่า 2.75 จึงอนุโลมยอมรับนักเรียนกลุ่มนี้ให้สมัครด้วย เพราะเห็นว่ามีความตั้งใจอยากเรียน อีกทั้งในใบสมัครยังเขียนไว้ชัดเจนว่า สามารถเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้สมัครได้ โดยอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ”

เมื่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตัดสินใจเปลี่ยนกฎกะทันหัน จึงมีข้อครหาว่า ทางคณะจงใจเบนกฎ เพื่อช่วยเหลือแพทองธารโดยเฉพาะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครหาหลักฐานใดๆ ได้ ว่าแพทองธารและทักษิณ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

4) ขณะที่กฎอีกข้อ คือเรื่องคะแนนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 200 คะแนน ต้องอธิบายก่อนว่าในยุคนั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะใช้ระบบ “เอ็นทรานซ์” นักเรียนแต่ละคนจะมีโอกาสสอบวิชาละ 2 รอบ (รอบแรกตุลาคม รอบสองมีนาคม) โดยคะแนนในรอบที่ดีที่สุด จะถูกนำมาใช้ เพื่อสมัครเข้าเรียนในแต่ละคณะต่อไป

5) ในการสอบรอบแรกของแพทองธาร ในเดือนตุลาคม 2546 เธอทำคะแนนได้ดังนี้

– ภาษาไทย : 52

– สังคม : 41.25

– ภาษาอังกฤษ : 64

– วิชาตัวเลือก คณิตศาสตร์ 2 : 27

รวม 4 วิชา ได้คะแนน 184.25 ไม่เพียงพอที่จะสมัครเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ภาคภาษาอังกฤษได้

ความหวังของแพทองธาร คือการสอบเอ็นทรานซ์รอบ 2 ในเดือนมีนาคม 2547 ปรากฏว่าคราวนี้ เธอท็อปฟอร์มมาก ทำคะแนนได้ดีขึ้นทั้ง 4 วิชา

– ภาษาไทย : 72 (เพิ่มจากรอบแรก 20 คะแนน)

– สังคม : 67.5 (เพิ่มจากรอบแรก 25.25 คะแนน)

– ภาษาอังกฤษ : 84 (เพิ่มจากรอบแรก 20 คะแนน)

– วิชาตัวเลือก คณิตศาสตร์ 2 : 63 (เพิ่มจากรอบแรก 36 คะแนน)

รวมแล้ว 4 วิชา แพทองธารทำคะแนนได้สูงถึง 286.5 คะแนน คราวนี้ดีพอที่จะเข้าคณะไหนๆ ก็ได้ในสายศิลป์

6) อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วความหวังจะเข้านิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษของแพทองธารก็ล้มเหลว เนื่องจากนางสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาฯ ยืนยันว่า กฎ GPA 2.75 ต้องยึดไว้ตามเดิม ดังนั้นแพทองธารจึงหมดสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม เธอได้เบนเข็มไปที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แทน และด้วยคะแนนสอบเอ็นทรานซ์สูงถึง 286.5 คะแนน ทำให้เธอมีรายชื่อสอบติดในที่สุด

7) คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมในช่วงเวลาแค่ 4 เดือน แพทองธารจึงพัฒนาความรู้ได้อย่างน่าตกใจขนาดนี้ เธอทำคะแนนเอ็นทรานซ์ เพิ่มจากการสอบรอบแรกสูงถึง 102.25 คะแนน ซึ่งไม่ใช่นักเรียนทุกคนแน่ๆ ที่จะอัพคะแนนตัวเองได้ในเวลาอันสั้นขนาดนี้

ในประเด็นนี้จึงมีการถกเถียงกันว่า แพทองธารทำได้อย่างไร บางคนบอกว่า เธออาจจะอ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลัง และติวเข้มกับติวเตอร์แบบเข้มข้นมากๆ เพื่ออัพคะแนนขึ้นมาจากเดิม

8 ) แต่อีกส่วนก็บอกว่า เป็นไปได้หรือ ที่คนเราจะเก่งขึ้นพรวดพราดขนาดนั้น มีโอกาสไหม ที่แพทองธารจะทำการ “ทุจริต” ในการสอบเข้า โดยใช้อำนาจของคุณพ่อเธอ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือ อย่างเช่น การไปแอบดูข้อสอบล่วงหน้าไว้ก่อน เป็นต้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะคุรศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทรรศนะว่า “ค่อนข้างมั่นใจว่าข้อสอบเอ็นทรานซ์วิชาภาษาไทย และสังคม นั้นรั่วจริงๆ ในฐานะที่ตกมีลูก พอจะบอกได้ว่า ต่อให้ทุ่มเทขนาดไหน มีการการวิชาอย่างไร คะแนนก็ไม่น่าจะได้มากขึ้นเกิน 15-20%”

9) เมื่อมีข่าวลือแพร่สะพัดว่า อาจมีการปล่อยข้อสอบรั่ว เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับแพทองธาร ทำให้นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธาน

ในการสืบสวน ได้ข้อสรุปว่า มีแนวโน้มที่ข้อสอบรั่วอาจจะเกิดขึ้นได้

คำอธิบายคือ การออกข้อสอบเอ็นทรานซ์สำหรับเดือนมีนาคม 2547 ได้ถูกจัดทำเรียบร้อย และเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามก่อนข้อสอบจะถูกใช้งาน ราว 1 เดือนเศษ ศ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ลักลอบเปิดข้อสอบวิชาภาษาไทย และสังคม ที่ควรจะเป็นความลับ เอามาตรวจสอบดูเป็นเวลา 45-60 นาที

โดย ศ.วรเดชอ้างว่า ที่ต้องหยิบออกมาดู เพราะต้องการเช็กว่าข้อสอบรั่วไปถึงสถาบันกวดวิชาหรือไม่ จึงทำการตรวจสอบอย่างรวดเร็วก่อนที่ข้อสอบชุดนี้จะถูกใช้งานจริง แต่สุดท้ายพอเช็กแล้ว ไม่มีอะไร จึงเก็บใส่ซองปิดผนึกไว้ตามเดิม

คณะกรรมการสอบสวนที่นำโดย ดร.สุเมธระบุว่า “ข้ออ้างในการเปิดซองต้นฉบับข้อสอบไม่อาจรับฟังได้ เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่ถือปฏิบัติการรักษาความลับของราชการ”

10) ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือท่ามกลางคำครหา แต่นายวรเดชยังได้รับอนุมัติให้เลื่อนขั้นเงินเดือนถึง 2 ขั้น ดังนั้นจึงเกิดการวิจารณ์กันต่างๆ นานา ว่ารัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ต้องการตอบแทนผลงานเรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์หรือไม่

11) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวลือ และ ศ.วรเดช มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย แต่สุดท้ายก็หาข้อสรุปไม่ได้อยู่ดีว่ามีข้อสอบรั่วจริงหรือไม่ ดังนั้นคณะกรรมการ จึงมีมติให้ยึดคะแนนวิชาภาษาไทย และสังคม จากการสอบเอ็นทรานซ์เอาไว้ตามเดิม

และสำหรับแพทองธาร คะแนนที่เธอทำได้จึงถูกรับรองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้เธอสอบเอ็นทรานซ์ติด ได้เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในที่สุด

12) หลังแพทองธารสอบติดแล้ว รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “ถ้ามีเด็กคนหนึ่งยากจน มาจากต่างจังหวัด หวังจะสอบเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ต้องถูกเบียดตกไป เพราะคนๆ หนึ่งโดยไม่ยุติธรรม การที่เขาสอบเข้าไม่ได้ ชีวิตมันพลิกผันนะ”

13) แพทองธาร เรียนจบปริญญาตรีในปี พ.ศ.2551 จากนั้นย้ายไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ก่อนจะกลับมาธุรกิจที่ประเทศไทยในเวลาต่อมา

14) สำหรับประเด็นเรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เปิดตัวว่าจะลงเล่นการเมืองกับพรรคเพื่อไทย โดยมีการหยิบเรื่อง “การรู้ข้อสอบล่วงหน้า” ออกมาตั้งคำถาม แต่ล่าสุดเธออธิบายว่า “จุฬาฯ เส้นเข้าได้ด้วยหรอ คำถามบางทีต้องใช้วิจารณญาณด้วย สอบเข้าไปเอง อ่านหนังสือ เรียนพิเศษเป็นบ้าเป็นหลัง เหมือนเด็กที่เตรียมเอ็นทรานซ์สมัยนั้นทุกคน”

“เรื่องนี้เก่าไปมาก เค้าสอบสวนกันจบเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนแล้ว จะ 20 ปีหรือยังนะ ยังต้องขุดอีกแหละ”

ถ้าหากว่ากันตามกระบวนการสอบสวนจริงๆ ไม่มีจุดไหนที่เชื่อมโยงเอาผิดกับแพทองธารได้เลย และกับกรณีของ ศ.วรเดช จันทรศร ที่มีการแอบดูข้อสอบจริง แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้อยู่ดีว่า การแอบดูครั้งนั้นส่งต่อมาให้แพทองธาร เพื่อทำการทุจริต

15) สุดท้ายเรื่องราวว่าตระกูลชินวัตร “ใช้เส้นสาย” เพื่อช่วยลูกสาวสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงหยุดอยู่แค่ตรงนี้ และความเห็นในประเทศก็แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

ฝ่ายแรกคือวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ว่าแพทองธารใช้เส้นของคุณพ่อเข้าช่วย เป็นระบบอภิสิทธิ์ที่ใช้อำนาจที่มีช่วยเหลือบุตรหลานของตัวเอง จนได้โอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ

แต่อีกฝ่ายก็ตอบโต้ว่า แค่คิดจินตนาการใครๆ ก็ทำได้ ก่อนที่จะกล่าวหาใครว่าเขาทำผิดต้องมีหลักฐานยืนยันก่อน และการทำคะแนนข้อสอบดีขึ้นจากเดิม มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้าคุณมุ่งมั่นตั้งใจติวหนักจริงๆ คนที่เขาคะแนนอัพขึ้น 20-30 คะแนน มีกันตั้งเยอะแยะ

ด้วยความที่เรื่องนี้เกิดขึ้น 17 ปีที่แล้ว เรื่องนี้คงยากจะ สืบสาวไปมากกว่านี้ได้ นั่นทำให้ คำตอบที่แท้จริงจะกลายเป็นปริศนาต่อไปว่าเรื่องราวนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

16) และแน่นอน สิ่งที่อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร วัย 35 ปี จะได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ การกระโดดลงในสนามการเมือง ทุกการกระทำ ทุกอดีต จะโดนขุดคุ้ยและตั้งคำถามทั้งหมด อยู่ที่ว่าเธอจะรับมืออย่างไร จะแข็งแกร่งและโปร่งใสพอหรือไม่ ที่จะพิสูจน์ตนเองต่อสาธารณชน

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า