SHARE

คัดลอกแล้ว

จบไปอย่างสวยงามกับคอนเสิร์ตของวงนักร้องขวัญใจวัยรุ่น อย่าง “Whal & Dolph” ที่สร้างความตื่นตาให้กับวงการเพลงไม่น้อย เพราะนี่ไม่ใช่คอนเสิร์ตบนเวที หรือการไลฟ์สดผ่านออนไลน์แบบที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะครั้งนี้ ค่าย What The Duck ได้จัดคอนเสิร์ตแบบ Interactive ให้นักร้องกับแฟนเพลงโต้ตอบกันได้ เสมือนอยู่ในคอนเสิร์ตจริง Workpoint Today มีโอกาสคุยกับ มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการผู้ก่อตั้งค่ายเพลง What The Duck และ พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต เจ้าของบริษัท H.U.I.จำกัด ผู้ร่วมผลิตคอนเสิร์ต Online Interactive กับพาร์ทเนอร์ 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ Media Vision Lightsource และ BaanRig และครั้งนี้เราได้เข้าไปยลโฉมสตูดิโอใหญ่ ที่ติดตั้งจอแอลอีดี 4 ทิศ เตรียมพร้อมกับการจัดเทศกาลดนตรี Music Festival แบบ Interactive ที่จะจัดขึ้นในต้อนเดือนมิถุนายนนี้

มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการผู้ก่อตั้งค่ายเพลง What The Duck (ซ้าย)
พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต เจ้าของบริษัท H.U.I.จำกัด (ขวา)

โควิด-19 ทำให้ธุรกิจเพลงปรับตัวครั้งใหญ่

สามขวัญ ตันสมพงษ์ หรือ “มอย” เจ้าของค่าย What The Duck เล่าว่า ช่วงแรกที่เจอวิกฤตโควิด-19 เขาติดตามข่าวสารมาตลอด ตอนแรกคิดว่าไวรัสจะเข้ามาเมืองไทย แต่พอช่วงปลายมีนาคม ก็เริ่มเข้ามาในไทยแล้ว คิดว่าน่าจะเอาอยู่ แต่พอสถานการณ์เริ่มปานปลาย ก็เลยเริ่มคุยกับศิลปิน นักแสดง และทีมงาน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เพราะงานหลักของค่ายเพลงคือการออกไปแสดงคอนเสิร์ต ศิลปินออกไปเล่นทุกวัน ช่วง 2-3 วันก่อนจะล็อกดาวน์ประเทศ ก็คุยศิลปิน คุยเจ้าภาพ ว่ามีงานไหนพี่พอจะเลื่อนไปก่อน หรือยกเลิกไปก่อนได้บ้าง เพราะสถานการณ์เริ่มไม่ดี

“แล้วพอเข้าช่วงล็อกดาวน์จริงๆ สถานบันเทิงถูกสั่งปิด ถึงจะเตรียมใจไว้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทั้งทีมงานค่อนข้างช็อค เพราะธุรกิจหลักของค่ายเพลงคือการออกไปเล่น แต่นี่มันศูนย์เลย แต่ก็ต้องคิดกันเยอะว่าจะเอาไงต่อ เพราะทุกอย่างมันต้องดำเนินต่อ เราก็เลยพยายาม Shift ทุกอย่างเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด”

ท่ามกลางวิกฤต ค่าย What The Duck มองว่าในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่ โชคดีคือที่ค่ายอยู่ในวงการเพลงมาแค่ 5-6 ปี สามขวัญ เล่าว่า ค่ายเกิดในยุค Fully Digital เลยอยู่ในสังคมออนไลน์ทำให้การติดต่อสื่อสารกับแฟนเพลงง่าย พอเจอวิกฤตก็เลยเอาทุกอย่างเข้าไปอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ พยายามผลิตคอนเทนต์มากขึ้น คุยกับแฟนคลับมากขึ้น ใช้วิกฤตนี้ในการสร้างฐานแฟนคลับ เพราะแฟนคลับของเราอยู่ในออนไลน์มากอยู่แล้ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกธุรกิจ

สามขวัญ เล่าว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ไม่รู้สิ้นสุดตอนไหน มองว่ามันยากทุกวงการ เพราะในชีวิตเราไม่เคยเจอมากก่อน ถือว่าเป็นสิ่งท้าทายใหม่ของเรา แน่นอนว่าทุกปีเรามีเรื่องท้าทายเข้ามา แต่รอบนี้โดนกันหมด ที่สำคัญทำให้มีเวลา ได้ทบทวนหลายๆ อย่าง ได้คุยกับศิลปิน คุยทีมงาน เพราะปกติทำงานกันแบบปล่อยเพลงทุกอาทิตย์ ไม่มีเวลามาทบทวนอะไร ช่วงแรกที่มีโควิดก็มีเวลามากขึ้น บางคนได้เก็บกวาดบ้าน บางคนเอาของเก่ามาขายหารายได้เพิ่ม มาบริจาคบ้าง และยังได้คิดว่ามีอะไรที่ต้องปรับ หรือทำตรงไหนได้อีกบ้าง จัดระเบียบมากขึ้น คุยกับศิลปินเรื่องการเขียนเพลง การพัฒนาคอนเทนต์ต่างๆ ให้ดีขึ้น และอีกหน้าที่หนึ่งของศิลปิน คือการทำเพื่อสังคม ก็ใช้หน้าที่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในวิกฤตนี้ บางคนมีคนตามเป็นล้าน จะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วย จึงมีแคมเปญบางอย่างในออฟฟิศเพื่อช่วยสังคม เช่น การชักชวนอยู่บ้าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ

 

กู้วิกฤตธุรกิจ สร้างรายได้ให้ทีมงาน

มอย-สามขวัญ ขอเล่าย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ประเทศล็อกดาวน์ ยอมรับว่าช็อคเหมือนปลาช็อกน้ำ แต่ก็เริ่มเข้าใจในช่วงหลังผ่านมาได้ 3-4 วันว่าการล็อกดาวน์ประเทศมันเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างไปอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด เราทำคอนเทนต์ในศิลปินทำคอนเทนต์ออกมา ทำดนตรี เล่นดนตรีไลฟ์ให้คนดู ค่ายเอาคอนเสิร์ตมาเพลย์ในยูทูป เพื่อให้คนอยู่บ้านไม่เบื่อ พอเริ่มรู้ทิศทาง อาทิตย์ถัดมาก็เห็นศิลปินในวงการหลายคนก็ทำ Challenge เพื่อให้คนอยู่บ้าน ก็เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามา ให้นำสินค้าไปวางตอนเล่นดนตรี เป็นการไลฟ์ ร้องเพลง เล่นดนตรีกันที่บ้าน พอผ่านมา 1 สัปดาห์ ก็เริ่มคุยกับศิลปินในค่าย ได้คุยกับวง Whal & Dolph และคุยกับคุณพล หุย พยายามจะไล่เช็คทุกวงกับศิลปินว่า ช่วงนี้เป็นไงบ้าง โอเคไหม ศิลปินยังพอมีเงินเก็บ แต่ที่น่าสงสารคือทีมงาน บางคนก็ต้องไปขับวินมอเตอร์ไซค์ บางคนก็ต้องกลับบ้าน เพราะไม่มีงานจริงๆ ก็เริ่มคิดว่าอุตสาหกรรมเพลงที่มีอยู่ไม่ใช่แค่ค่ายเพลง ศิลปิน นักดนตรี แต่ยังมีคนข้างหลังอีกเกินครึ่ง ที่ตอนนี้เขาไม่มีงานเลย ไม่ว่าจะเป็น Back up, Technical, Sound Engineer, คนทำไฟ, ทีมสเจต, ซัพพายเออร์ ทั้งหมดไม่มีงานเลย ก็เลยคิดว่างั้นเราควรจะทำไงให้คอนเสิร์ตสามารถช่วยคนเหล่านี้ได้ โจทย์ก็เริ่มยากขึ้นมากๆ ว่าถ้าเราจะทำคอนเสิร์ตครั้งนี้ แล้วเราจะช่วยคนเหล่านี้ เราจะขายบัตร เพราะโจทย์เราคืออยากจะช่วยคนในอุตสาหกรรมทั้งหมด มันคงจะ Live YouTube Live Facebook ปกติไม่ได้แล้ว ให้คนมาดูไม่ได้แล้ว มันควรจะเพิ่มอะไรมากกว่านั้น โปรดักชันมันควรจะต้องมากกว่านั้น ควรจะต้องมีไฟ ตอนแรก มันจะเป็นการเซทไฟ เซทเสียงให้ดีขึ้น แต่เราอยากจะทำอะไรที่มันใหม่กว่านี้ เพราะอยากจะขายบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งไม่มีใครทำมาก่อน แล้วเราจะทำไงให้คนมาซื้อ ให้คนที่ไม่เคยมี Experience อะไรแบบนี้มาก่อน ให้เขาอยากซื้อบัตร มันก็เลยเป็นแนวคิดที่ว่ามี Interact เข้ามา

“เพื่อนผม คุณพล ก็เลยไปนั่งคิดว่า เอาทุกสิ่งทุกอย่าง เทคโนโลยีที่ตอนนี้มันมีอยู่แล้ว เอาเข้ามา มีการคุยกับ ZOOM ที่ทุกคนรู้จักดีว่าสามารถทำการ Meeting ได้ เอามาลองว่ามันสามารถใช้ทำคอนเสิร์ตได้ คุยกับทีมซัพพลายเออร์มากขึ้น เรื่องจอ เราจะทำไงให้มีการสื่อสารโต้ตอบกับคนดูได้มากขึ้น มีการไปพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น เราสร้างแอพฯ Whal & Dolph ขึ้นมาภายใน 2 อาทิตย์ ให้มีอะไรพิเศษกับคนดูมากขึ้น ให้เขารู้สึกคุ้มค่ามากที่สุด”

พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต เจ้าของบริษัท H.U.I.จำกัด เล่าว่า โปรเจตน์คอนเสิร์ต Interactive นี้ ทำร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ในวงการ ซึ่งจริงๆ คิดมาพักหนึ่งแล้ว จากที่ปกติศิลปิน live ต่เอาคนดูไปไม่ได้ แต่ก็คิดว่าจริงๆ เราสามารถเอาคนดูเข้าไปอยู่ร่วมในพื้นที่การแสดงนั้นได้ เครื่องมือมีอยู่แล้ว แต่ยังหาจังหวะลงไม่ได้ แต่พอมาวิกฤตโควิดก็เหมาะจะทำ เรียกได้ว่าวิกฤตนี้ทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นมาได้

“สำหรับคอนเสิร์ต Whal & Dolph บอกเลยว่ามันเป็นการทำงานที่เร่ง ถ้านับรวมตั้งแต่ที่เราเริ่มคุยก็ใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ แต่เรามีไอเดียอยู่แล้ว คือการทำ Virtual คอนเสิร์ตที่มีกิจกรรมให้ทำร่วมกัน แต่พอมาเจอวิกฤต เลยทำให้สิ่งที่เราคิดไว้ ถูกนำมาประกอบเป็นคอนเสิร์ตได้ในเวลาสั้นๆ ตอนคิดงานนี้ เหมือนเกิดจากความสนุก อยากลองอะไรที่น่าสนใจ และโชคดีที่ค่าย What The Duck ศิลปิน พี่ ๆ ซัพพลายเออร์ เขาอยากจะสนุกกับเรา สนุกกับไอเดียผม มันก็เลยทำให้เราได้ลอง”

ถนนเส้นใหม่ของธุรกิจบันเทิง

หลายคนชอบจะบอกว่านี่ นี่คือ New normal ซึ่งอาจจะใช่ แต่สำหรับ พวกเขา มองว่าไม่ได้ขนาดนั้น เพราะการที่ศิลปินเล่นดนตรีร้องเพลงอยู่บ้าน มีอยู่ก่อนแล้ว มอย เล่าว่า การทำ Live Streaming การที่ศิลปินเล่นคอนเสิร์ตอยู่ที่บ้าน จริง ๆ มีมานานสักพักแล้ว ตั้งแต่มี Facebook เข้ามา ตั้งแต่มีระบบอินเทอร์เน็ตที่เร็วมากขึ้น YouTube ก็ทำมาสักพัก เรื่องการ Live Streaming ต่าง ๆ เริ่มกันมาแล้ว แต่เราสิ่งที่เราจะเพิ่ม คือการขายบัตร การมีโปรดักชันที่ชัดเจนมากขึ้น เราแค่เอาสิ่งที่มี ทุกอย่างที่คนเริ่มทำมาหมดแล้ว หยิบนู่นนิด หยิบนี่หน่อย แล้วมาตัดเป็นถนนเส้นใหม่ ซึ่งถนนเส้นนี้ตอนนี้อาจจะเป็นถนนลูกรังอยู่ พอเริ่มตัดถนนไป ก็เริ่มมีพี่น้อง ค่ายอื่น ก็เริ่มมองเห็นว่าถนนเส้นนี้มีวามหวัง เราเชื่อว่าเขาก็เริ่มจะลาดยางได้ เอาต้นไม้มาติด เอาไฟมาติดแล้วมันอาจจะสวยขึ้น คือ ไม่ได้มองว่ามันเป็น New normal เพราะถึงในปีหน้า โควิดอาจจะมีวัคซีนแล้ว คนจะออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติแล้ว ก็ยังเชื่อว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ที่เป็น Interact แบบนี้ก็ยังจะมีอยู่ คือคอนเสิร์ตปกติ มิวสิคเฟสติวัล ก็ยังมีอยู่ ถนนเส้นใหม่นี้จะมีคนมาพัฒนาต่อไปให้มันดีขึ้นและเป็นอีกแนวทางได้

ด้าน พล บอกว่า ความตั้งใจของการสร้างสตูดิโอแห่งนี้คือความสนุก ความอยากลอง ไม่ได้คิดว่าจะ New normal ขนาดนั้น ไม่ใช่เปิดโควิดมาเราจะมาอยู่แบบนี้กันหมดเลย แต่มันเหมือนเป็นสิ่งที่จะมาแน่ๆ แต่พอมีวิกฤตก็เริ่งให้เกิดขึ้นมา และเกิดพฤติกรรมใหม่ ให้คนเห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่ “ตัวพี่เองทำคอนเสิร์ต ทำ experience แบบนี้เป็นหลัก แต่ใจอยากให้คนมาลอง พฤติกรรมใหม่นี้ ว่าจะพัฒนาในธุรกิจคนอย่างไร อาจจะไปไกลกว่านี้ อาจจะแฟชั่นโชว์ ละครเวที มอเตอร์โชว์”

 

พบแฟนคลับกลุ่มใหม่ ไม่เคยดูการแสดงสด

สามขวัญ เล่าว่า จากการจัดคอนเสิร์ต Whal & Dolph ที่ผ่านมามีข้อมูลใหม่ อย่างระหว่างคอนเสิร์ตจะมีการสุ่มคุยกับแฟนเพลง แฟนคลับที่สุ่มขึ้นมาคุยจากที่ตอนแรกเข้าใจว่าบัตร 1,000 ใบที่ขายหมดเกลี้ยง จะเป็นกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามวง Whal & Dolph และเคยดูมาแล้วอยากจะสนับสนุน แต่ปรากฏว่า คนที่มาดูครั้งนี้เป็นแฟนคลับที่ไม่เคยมาดูวง Whal & Dolph เล่นคอนเสิร์ตเลย ก็เลยตอบโจทย์ว่าคอนเสิร์ตรูปแบบนี้จริงๆ อาจจะเหมาะกับแฟนคลับที่เขาอยู่ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ไม่สะดวกในการไปดูคอนเสิร์ต หรืออาจจะเป็นเพราะบ้านไกล อายุไม่ถึง คนก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องออกจากบ้าน แต่ได้สนับสนุนวง ได้ดูคอนเสิร์ตแบบใกล้ชิดศิลปินด้วย มองว่าเป็น New Business ของอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เพลง แต่อาจจะได้ทั้งวงการบันเทิง งานแถลงข่าว ทำ Fan Meet รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นด้วย ทั้งประชุม สัมมนา สามารถนำรูปแบบนี้ไปใช้ได้

พล เล่าว่า คอนเสิร์ต Whal & Dolph เป็นเหมือนบทเรียนของเขาเลยก็ว่าได้ เพราะจากการแสดงพบพฤติกรรม การชมมหรสพชิ้นนี้ ว่ามันไม่ปกติ เลยคิดว่าต้องคิดงานให้เหมาะกับการแสดงแบบนี้ ในวันนั้นเองก็คิดออกมาหลายอย่างเลย ทั้งแอพฯ ทั้งเอากระดาษมาพับ มาเขียน การเปลี่ยนสีหน้าจอ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าแบบไหนดีไม่ดี เหมือนเป็นสวนสนุกเลย และจากสิ่งที่ได้มาก คือเห็นว่าการโต้ตอบกับระหว่างศิลปินกับคนดูยังไปได้มากกว่านี้

“การทำโปรเจกต์แบบพี่เชียร์ คืออันนี้ยังมีคงาม Interact พอสมควร พี่เชียร์คือการมีคนบอกใบ้อยู่ข้างๆ เราสามารถทำในระบบแบบนี้ได้ คือน้องคนที่อยู่ในบ้านเขาอยากจะเล่นกับเรา สื่อสารกับเรา เราต้องสื่อสารกับเขาให้ดี มันพัฒนาไปได้อีก กับเรื่องพฤติกรรมการดูของเขาที่บ้าน มันไม่เหมือนกับตอนเขาดูคอนเสิร์ตนะ เขาไม่ได้อยู่ในห้องมืด มันก็มีอะไรให้เราได้คิดอีกว่าจะทำอะไรจากตรงนี้ได้อีกเยอะในมุมของเรา”

ทำไมเลือกแอพพลิเคชัน ZOOM

พล เล่าว่า ต้องยอมรับว่า ZOOM ไม่ได้ทำมาเพื่อสิ่งนี้ และในโลกนี้ก็ยังไม่มีโปรแกรมใดๆ ที่ทำมาเพื่อสิ่งนี้ ก็เลยต้องเลือกโปรแกรมที่จะมาปรับให้ใกล้เคียงที่สุด คนใช้งานกันเยอะสุด คนหลายคนจะคุ้นชินมันมากกว่าปกติ ก็เลยเลือกเพราะน่าจะเสถียรพอสมควร แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะมีโปรแกรมที่มาสนับสนุนสิ่งนี้ หรือ Zoom ก็อาจจะคิดพัฒนาสำหรับสิ่งนี้ จริงๆ อยากได้แบบสามารถพิมพ์ข้อความได้ที่หน้าช่องตัวเองด้วย ซึ่งระบบของ Zoom สามารถคุยได้ 1,000 คน แต่พอมาทำในระบบที่เซทจอขึ้นมาสามารถขยายได้มากสุดถึง 5,000-10,000 คนได้ ขึ้นอยู่กับว่าจอมีมากแค่ไหน เพื่อรองรับหน้า


Interactive ทำให้ศิลปิน-แฟนคลับ ใกล้กันมากขึ้น

มอย เล่าว่า ศิลปินในค่าย โดยเฉพาะ Whal & Dolph ค่อนข้างดีใจ เพราะได้อยู่ตรงนั้น เห็นสีหน้าเขาดีใจ ทุกคนดีใจที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ เห็นแฟนคลับ 1,000 คนอยู่ในจอ

“เรามีแจกของให้ศิลปินทำ แฟนคลับมีการเขียนข้อความในวง ผมว่าเขาชื่นใจ แต่ในสตูดิโอ มันเงียบนะ เพราะปกติถ้าเล่นคอนเสิร์ตมันจะมีเสียงคนที่มาดู แต่นี่จะเห็นทุกอย่างเป็นแค่จอ มันก็ต้องปรับตัวหน่อย เพราะหน้าคน 1,000 มองมาที่เรา แต่พอแสดงจริง มันเห็นแรงใจ แรงเชียร์ของคนดูที่ส่งมาให้ มันเลยช่วยให้ศิลปินแสดงออกมาได้จนจบคอนเสิร์ต”

พลเล่าเสริมว่า แนวคิดของงาน Whal & Dolph ก็เริ่มจากการที่เราคิดว่าเล่นกับจอจะ Interactive อย่างไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง และการที่ศิลปินเห็นได้หน้าแฟนคลับชัดเจนกว่าคอนเสิร์ต พอเห็นหน้าชัด การ Relationship ก็จะมากขึ้น

“เราก็อยากจะเพิ่มระดับของความรู้สึก ให้คุณได้ใกล้กันมากขึ้น ศิลปินสื่อสารคนดู คนดูสื่อสารกับศิลปิน โดนใช้อุปกรณ์ที่อยู่กับตัว เช่น กระดาษที่เบสิคสุดเราส่งกระดาษให้ 1 ใบ ให้เขาได้เขียนทักทาย และมีกระดาษให้พับวาดเป็นตัวตน ศิลปินก็จะให้ชูขึ้นมา มีนิ้วไฟใช้มือถือมาเล่น สำหรับวงนี้กระดาษเหมาะสมมาก เพราะเป็นวงที่น่ารัก แต่เราก็อยากให้มันไปได้ไกล ก็คือการใช้มือถือ เลยพัฒนาแอพฯ ขึ้นมาใน 2 อาทิตย์ เพื่อเชื่อมต่อกับคนดู หน้าจอคนดูจะเป็นสีเดียวกับฉากในสตูฯ พอคนดูรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอแล้ว เขาก็จะยกมือถือมาชูไปพร้อม ๆ กัน เขาก็จะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ หรือมีอันหนึ่งที่เล่นกราฟิกในจออยู่ ก็ไปโผล่ในมือถือเขา ให้มันเชื่อมต่อกันอยู่ ด้วยเทคโนโลยีเท่าที่มันทำได้นอกจากนี้ยังมี AR ให้คนได้เล่น ให้เห็นว่าเวทีไม่ได้อยู่แค่ในจอ แต่ลอยมาถึงพื้นที่ของเราได้ มันเป็นการ เชื่อมช่องว่างให้ใกล้ที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ในความ Virtual อีกอันก็จะมีให้คนดูกดปุ่ม like ให้เห็นว่าคนดูชอบ โดยจะเป็นเป็นกลุ่มๆ ปลาตามที่เขาชอบ ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามจะทำให้เขาใกล้กันมากขึ้น แม้ว่าในทางกายภาพเขาไม่ได้มาเจอกัน แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องออกแบบสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับศิลปินคนนั้นมากที่สุด บางคนอาจจะพูดเก่งก็ให้เขาพูดจนจบคอนเสิร์ตเลยก็ได้”

เตรียมจัด Online Music Festival

สามขวัญ บอกว่า สิ่งที่กำลังจะทำต่อจากนี้คือ มิวสิคเฟสติวัลออนไลน์ครั้งแรกที่มีหลายวงรวมกัน มีแฟนคลับเข้ามาร่วมด้วยได้ ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ ไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่จะทำได้ อาจจะต้องเลือกคนที่เหมาะกับคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความดัง แต่เกี่ยวกับแนวทางหรือจุดยืนของศิลปินเอง การที่เขาโต้ตอบกันกับแฟนเพลง หรือการสร้างกลุ่มของเขาในออนไลน์ด้วย ขณะที่ พล บอกว่า ส่วนตัวคอนเสิร์ตที่ผ่านมาก็มีเรื่องเฟลอยู่นิดหน่อย เหมือนเป็นทบเรียน อาจจะไม่เรียกว่าความเฟลก็ได้ แค่รู้สึกว่ายังทำอะไรได้อีก อยากทำอะไรที่มันไปไกลกว่านี้ อยากให้สมบูรณ์กว่านี้ เรารู้แล้วว่าพฤติกรรมคนดูเขาเป็นแบบนี้ รู้สึกว่าจบงานนี้สิ่งที่ได้ คือการอยากทำมันต่อ

คอนเสิร์ตที่เป็นการทดลองครั้งสำคัญ

“เรื่องการลงทุนในการทำ ตอบนาก เพราะเรามองการทำคอนเสิร์ตนี้ เป็นการทดลองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันทำได้ใน 2 สัปดาห์ เพราะทุกส่วนอยากจะทำ ทั้งศิลปิน ทั้งคุณพล พี่โจ้ มีเดียวิชชั่น ก็เอาเลย มันเป็นการลงทุนตัดถนนเส้นใหม่ ซึ่งอย่างน้อยทีมงาน Whal & Dolph มีงานมีรายได้ คนทำแสง ทำจอ ทำไฟ มีรายได้ในการทำงาน เราได้มีผลงานออกมา ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ คุ้มค่าแล้ว ต่อจากนี้เราจะพัฒนาต่อ และสร้างต่อ ๆ ไป” มอยกล่าว

เช่นเดียวกับพลที่มองว่า ในเชิงธุรกิจ ไม่ได้คุ้ม แต่การที่ทำเพื่อเริ่มต้น จะเป็นทางเลือกหนึ่ง อาจจะไม่ได้เงินอู้ฟู่เหมือนทำ Live แต่ว่าก็ไม่น่าจะแย่จนเราต้องควักเนื้อ

ส่งใจถึงพี่น้องวงการเพลง โควิด-19 คือวิกฤตที่ต้องเร่งสร้างโอกาส

พล กล่าวว่า โควิด คือ โอกาสมหาศาลที่เราจะทำอะไรได้ เพราะทุกคนมาด้วยความช่วยกัน ในธุรกิจอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าทุกคนต่างคิดว่ามันมีวิธีการในความลำบากของวิกฤตนี้ เราจะเจอความใหม่เสมอ ซึ่งก็เป็น 1 ทางออกที่มี อยากให้พี่ๆ มาต่อเส้นทางนี้ให้ไปได้ไกลกว่านี้ ทำให้เกิดถนนเส้นใหม่ ไม่ได้แปลว่าล้มเส้นเก่า แต่เป็นถนนเส้นใหม่ที่น่าสนใจ ถ้าเราไม่ยอมแพ้ และเราพยายามคิดว่าจะทำอะไร เราจะเจอหนทาง และเราไม่กีดกัน ถ้ามีคนมาต่อหนทางนี้ให้มันยาวไปเรื่อย ๆ คนทำงานฝั่งโปรดักชัน ตอนนี้โลกมันไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ถ้าไม่มีการสร้างสรรค์บางอย่าง ซัพพลายเออร์ที่มาร่วมกันที่นี่มาด้วยใจ เราคุยกันเรื่องเงินน้อยมาก เพราะว่ามันเป็นการลอง เราพัฒนาตัวเองเป็นครีเอทีพซัพพลายเออร์ อนาคตเราจะไม่ให้เช่าจอเปล่าง่ายๆ แล้วสตูดิโอที่เราเซทขึ้น ก็เป็นความตั้งใจ ว่าไม่ใช่สตูดิโอปกติ หรือจอที่ขึ้นมาเปล่าๆ มันเป็นเกิดเป็น Interactive Studio ที่มันสามารถทำได้ครบวงจร สิ่งนี้น่าจะทำให้ซัพพลายเออร์ ปรับตัวขึ้นมาสร้างสรรค์งานด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และทีมที่ร่วมสร้างครั้งนี้ ทำงานใหญ่ๆ ในประเทศมาเกือบทุกบริษัท ทั้งงานเกาหลี งานสากล และงานไทยใหญ่ ๆ เช่น คอนเสิร์ตพี่เบิร์ด Bodyslam ราชมังคลากีฬาสถาน ทำสิ่งนี้มาทั้งหมดแล้ว บ้านริกก็ทำเหาะเหินเดินอากาศ โขนราชินี ทุกคนคือมืออาชีพที่มารวมกัน งานนี้ก็เลยเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

“อดทนกันอีกนิด เดี๋ยวทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมา ในมุมคนทำเพลง เรายังโชคดีถ้าเป็นค่ายเพลงสมัย 10-20 ปีที่แล้ว เราจะแย่กว่านี้ แต่ทุกวันนี้เรามีเครื่องมือ โซเชียลมีเดียวเข้ามาช่วย ทุกวันนี้คนไม่ได้ออกไปดูคอนเสิร์ตแล้วก็จริง คนไม่ได้ออกไปร้านเทปที่ตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว แต่เรามี Music Streaming มี Apple Music มี Spotify ค่ายเพลงสมัยใหม่โชคดี เพราะคนฟังเพลงจาก Music Streaming ถึงคนจะ Social Distancing ยังไงคนก็ยังฟังเพลงอยู่ และจากรายงานมันบ่งบอกชัดเจนเลย ตั้งแต่ล็อกดาวน์ คนฟังเพลงมากขึ้น อาจจะเพราะมีเวลามากขึ้น คนทำงานกันที่บ้าน ก็ช่วยสนับสนุนธุรกิจค่ายเพลงได้ จริง ๆ อยากเป็นกำลังใจให้ศิลปิน พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการด้วยกัน อีกไม่นานทุกอย่างจะกลับมา” สามขวัญกล่าวทิ้งท้าย

มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการผู้ก่อตั้งค่ายเพลง What The Duck

 

พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต เจ้าของบริษัท H.U.I.จำกัด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า