รายงานพิเศษ ‘เจาะปัญหา ป่าทับคน คนทับป่า’ ที่นำเสนอในรูปแบบ Interactive Scrollytelling โดย workpointTODAT ร่วม Punch Up World ได้รับรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2564
วันที่ 5 มี.ค. 2565 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม Thai Society of Environmental Journalist ได้จัดพิธีมองรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี 2564 เพื่อเสริมสร้างกำลังใจและประกาศเกียรติคุณให้กับสื่อมวลชน รวมถึง ส่งเสริมให้สังคมเห็นคุณค่าความสำคัญของข่าวสิ่งแวดล้อม โดยจัดประกวดพร้อมกับการประกวดข่าวและภาพ ข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล ของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล เป็นประจำทุกปี
คณะกรรมการตัดสินรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่นของชมรมนักข่าว สิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวน ทั้งหมด 27 ข่าว 57 ชิ้นงาน จากสื่อสิ่งพิมพ์ 2 ฉบับ และสื่อออนไลน์ 10 องค์กรสื่อ ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลข่าว อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี 2564 มีดังนี้
หมอกควัน PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน? สำนักข่าวออนไลน์ ประชาไท
Alice in Dirtyland: อลิซในแดนสกปรก สำนักข่าวออนไลน์ The101.world
เจาะปัญหา ป่าทับคน คนทับป่า สำนักข่าวออนไลน์ workpointTODAY
วัตถุประสงค์ของการนำเสนอ รายงานพิเศษ ‘เจาะปัญหา ป่าทับคน คนทับป่า’ เนื่องจากว่าความขัดแย้งเรื่อง คนกับป่า ในไทยดำเนินมาต่อเนื่องยาวนาน อาจเรียกได้ว่านับตั้งแต่ไทยเริ่มมี พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2484 การเกิดขึ้นของกฎหมายฉบับดังกล่าวทำให้เกิดการขีดเส้นแบ่งระหว่าง ‘ป่าของรัฐ’ กับ ‘พื้นที่อื่นๆ’ ที่ชาวบ้านสามารถใช้อยู่อาศัยและทำกินได้ ออกจากกันเป็นครั้งแรก ความไม่ลงรอยกันของพื้นที่ทั้ง 2 นี้เองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ป่าทับคน คนทับป่า” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายให้ไทยต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40% ของทั้งประเทศ ยังยิ่งเป็นตัวผลักดันให้การเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชาวบ้านเข้มขึ้นขึ้นไปอีก จากข้อมูลการเดินหน้าทวงคืนพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหลายครั้งหมายถึงการไล่ชาวบ้านออกจากป่า กลับพบว่าอาจไม่ได้ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายพื้นที่ป่า 40% ที่วางเอาไว้ได้ แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากนโยบายดังกล่าว คือความขัดแย้งระหว่างรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่มุ่งบรรลุเป้าหมายนโยบาย กับชาวบ้านที่หวังเพียงจะใช้และรักษาวิถีชีวิตของตนที่อยู่กับป่ามานานไว้เท่านั้น
Punch UP ร่วมกับ สำนักข่าว WorkpointTODAY จึงได้นำเสนอปัญหารายงานพิเศษ ผ่านงานในรูปแบบ Interactive Scrollytelling ที่ผสมผสานการใช้ data visualization วิดีโอ และภาพ 360 องศา ในการเล่าเรื่อง เพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบไปด้วยกันว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีรากปัญหาและจุดเริ่มต้นที่ตรงไหน นโยบายทวงคืนพื้นที่ป่าที่รัฐไทยใช้ในปัจจุบันสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วคำตอบอยู่ที่การต้องทำความเข้าใจ ว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับป่านั้นไม่ใช่ปัญหาตั้งแต่ต้น
เชิญรับชมผลงาน https://workpointtoday.com/forest-interactive/