Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คุยกับ คริสโตเฟอร์ เหงียน (Christopher Nguyen) บุคคลที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของ Google และ Panasonic อดีตหัวหน้าวิศวกรคนแรกที่มีส่วนช่วยในการเปิดตัว Gmail ครั้งแรก ในช่วงประมาณปี 2000 ต้นๆ ปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัท Aitomatic และที่ปรึกษาให้กับบริษัทชั้นนำในไทย เช่น SO Outsourcing (สยามราชธานี) ที่มาให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตของเขาจากผู้อพยพเวียดนาม สู่วิศวกรที่ทำงานใน Silicon Valley ที่สหรัฐอเมริกา และส่งต่อบทเรียนอันทรงคุณค่าให้กับคนทำงานในยุคการเปลี่ยนผ่านในโลกดิจิทัล

จากผู้อพยพ สู่วิศวกรที่ Silicon Valley

คุณคริสเป็นผู้อพยพจากเวียดนาม ตั้งแต่อายุ 13 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกามาตลอด 45 ปีจนกลายเป็นพลเมืองอเมริกาเรียบร้อยแล้ว “ผมโชคดีพอที่จะได้อยู่ในช่วงถือกำเนิดของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในช่วงต้นๆ ปี 80”

“ครั้งแรกที่เราไปถึงแผ่นดินสหรัฐฯ ตอนนั้นเราเป็นผู้อพยพ มีฐานะยากจนมาก จึงค่อนข้างหล่อหลอมความเชื่อใจผมว่าคุณภาพของการศึกษามีความหลากหลายมาก ไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดก็ได้ โรงเรียนประถมและมัธยมที่ผมเรียนมาถือว่าอยู่ระดับล่างๆ ในละแวกนั้นเลย ชื่อโรงเรียนว่า East Side Union High School District อยู่ในย่านจนๆ ของ Silicon Valley ใน San Jose”

ความหลงใหลในเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์

คุณคริสเล่าว่า “โชคไม่ดีของผู้อพยพ บางทีก็กลายเป็นโชคดีไปซะได้ เพราะหลังจากนั้นเราก็ได้ไปลงหลักปักฐานอยู่ในสถานที่ที่ตอนนี้เราเรียกว่า Silicon Valley ในช่วงยุคถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ PC ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดี

“คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของผม หลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินกัน มันคือ Texas Instruments 99/4A ที่เหมือนกับเป็น Atari 400 เวอร์ชั่นร่วมสมัย”

หลังจากจบชั้นมัธยม คุณคริสก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย University of California, Berkeley สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ยังอยู่ในละแวกแถวบ้านเหมือนเดิม ที่มหาวิทยาลัยเขาได้พัฒนาโปรโตคอลแรกๆ ให้กับ Berkeley Unix อย่าง Photoshop Document (PSD) ก่อนที่สุดท้ายจะได้ไปต่อปริญญาเอกที่ Stanford

“ผมไม่เคยหยุดแฮ็กเลยจริงๆ ถึงตอนนี้จะเป็นระดับประธานบริษัทแล้ว ผมก็ยังเขียนโค้ดเยอะมากๆ”

นั่นเป็นประโยคที่คุณคริสพูดไปยิ้มไป และเป็นประโยคสั้นๆ ที่สามารถอธิบายตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

3 อย่างที่อยากบอกเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายด้วยการเข้ามาของ AI

คุณคริสแบ่งปันข้อคิดที่อยากจะฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงสิ่งที่เขาสอนลูกของเขาเองด้วยว่า

  1. อย่าเป็นคนฉลาดจนเกินไป คนฉลาดหลายคนไม่สามารถคิดอะไรอยู่แค่ในกรอบได้ เราควรมี Learning Mindset เพราะจะทำให้เรายืดหยุ่นเพื่อสู้กับความลำบากได้มากกว่า
  2. อย่าถึงจุดสูงสุดเร็วเกินไป ในฐานะมนุษย์ เราได้ประสบกับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่างๆ มากมาย แต่เราจะยังไม่ได้ไปถึงระดับนั้น ให้ตัวเองได้มีพื้นที่การเติบโตขึ้นลงในชีวิตที่จะเข้ามาตลอด ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่พยายามทำอยู่ทุกวันนี้  ที่อยากจะประสบความสำเร็จตั้งแต่ช่วงอายุยังน้อย เกษียณตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย ซึ่งเขามองว่าการเกษียณอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด มันเหมือนเราต้องกลับมาตามหาตัวเองใหม่อีกครั้งเหมือนกัน
  3. ลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ ตามหลัก Maslow’s Pyramid เขาเคยคิดว่าแต่ก่อนเขาโชคดีที่ความต้องการของเขาแค่ชั้นล่างสุด เพราะตอนนั้นเขาไม่มีทางเลือก และเขามีเป้าหมายอีกหลายอย่างให้มองหา แล้วพยายามทำให้มันสำเร็จ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยู่บนจุดสูงสุดของ Maslow’s Pyramid อยู่แล้ว ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อดอยากกันแล้ว ความท้าทายของคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องของ ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง (self-actualization) การมองหาคุณค่าของตัวเอง
    วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเจอคุณค่าของตัวเองได้ คือความรู้สึกว่าเรามีประโยชน์ต่อสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ไม่ใช่แค่กิจกรรมจิตอาสา แต่เขาจะสร้างรากฐานให้กับลูกๆ ให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะลองเสี่ยง ให้มีต้นทุนที่มากพอที่จะทำให้มีความกล้าที่จะลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น ให้เอามีโอกาสได้ลองทำหลายๆ สิ่งอย่างที่เราไม่เคยมีโอกาสได้ทำ

คริสโตเฟอร์ เหงียน (Christopher Nguyen) CEO Aitomatic

ความยากลำบากที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญ หรือต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

เมื่อถามถึงสิ่งที่คนรุ่นใหม่อาจต้องเผชิญในอนาคต คุณคริสพูดถึง AI และเรื่องของการเมืองขึ้นมาว่า “ตอนนี้ก็มีหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทของเขาเองที่พยายามนำ AI มาใช้เพื่อช่วยเหลือเรา ไม่ใช่มาทำลายเรา หากเป็นเรื่องของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลมีศักยภาพในการคำนวณที่แย่มากๆ มีหลายๆ อย่างที่เขาควรจะลงมือทำต่างไปจากนี้ ร่วมมือกันมากกว่านี้ ผมคิดว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมหากเราร่วมมือกัน ไม่ใช่ว่าเราแยกกันทำ

“นอกจากนี้ยังมีหลายๆ เรื่องที่น่ากังวลจากการเปลี่ยนแปลงของประชากร ในเอเชียอาจเห็นไม่ชัด เพราะจริงๆ แล้วเอเชียเป็นหนึ่งในที่ที่คนอยากมาอยู่มากที่สุดในโลก แต่ทางฝั่งยุโรปอาจพบปัญหาที่เขาใช้คำว่า ‘กลัวคนต่างชาติ’ (Xenophobic) ผู้คนกำลังมองคนที่แตกต่างจากตัวเอง ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสังคม การเติบโตของจีนยิ่งทำให้หลายๆ คนไม่สบายใจมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย Alan Greenspan (อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ) คนไม่ค่อยรู้ว่ามันย้อนกลับไปไกลขนาดนั้น คิดว่าแค่เพราะมีโรคระบาดเฉยๆ แต่การกระจายของเงินมักจะอยู่ที่ด้านบนอย่างไม่สมส่วน เพราะฉะนั้นมันยิ่งสร้างช่องว่างที่กว้างกว่าเดิมระหว่างคนรวยกับคนจน ผู้มีอันจะกิน ผู้มีอำนาจ กับผู้ไร้อำนาจ มันจะไม่ได้มีแค่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาในการเมืองอีกต่อไป จริงๆ มันมีแต่ฝั่งบนกับฝั่งล่างเท่านั้น

“ปัญหานี้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกรู้สึกได้ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าใจกลไกอย่างละเอียด คำว่า ‘ปฏิรูป’ ก็อาจจะฟังดูรุนแรงไป แต่มันก็มีความกังวลมากมายที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับ ถ้ามองที่ปัญหาการเมืองต่างๆ ปัญหาประชากรจำนวนมากในแต่ละประเทศ ซึ่งมันจะแสดงออกมาในรูปแบบที่ต่างกันนิดหน่อย แต่ผมคิดว่ามันเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกันเลย เป็นภัยที่คนรุ่นใหม่กำลังจ้องมอง แล้วบอกว่า ฉันไม่มีหวังที่จะไปได้ถึงจุดนั้นแล้วล่ะ ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะถ้าพูดถึงปรัชญาสักเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ในชีวิต คือคนเราต้องมี ‘ความหวัง’ ถ้าเราไม่มีความหวัง ก็จะมีแต่ทำลายล้างสิ่งต่างๆ กัน

ความหวังในการนำ AI มาใช้ และอยู่ร่วมกับโลกเราทุกวันนี้

คุณคริสยิ้มก่อนที่จะยืนยันคำตอบอย่างชัดเจนว่า “ผมมีความหวังมากๆ นะว่า AI จะสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากกว่าเครื่องมือใดๆ ที่เราเคยใช้กันมาในอดีต แต่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออะไรก็ตาม ต้องรู้วิธีใช้ให้เป็น ต้องใช้การศึกษาทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร

“หลายๆ คนตอนนี้กำลังถกเถียงเรื่องที่แทบจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงกันอยู่อย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าการตัดสินใจที่ปรับตามความเสี่ยงเลย ถ้าแค่เพราะว่ามันมีโอกาสในการเกิดที่ต่ำมาก เราจึงควรหยุดทุกกิจกรรม ผมว่านั่นไม่ค่อยฉลาดสักเท่าไร เพราะมันไม่ได้มีแค่ตัวเลือก A หรือ B แต่ถ้าเราบอกว่าเราหยุดทำสิ่งนี้กัน คุณกำลังตัดสิทธิประโยชน์หลายอย่างออกไป ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการอยู่ในตอนนี้

“ผมว่ากรณีที่แย่ที่สุดในโลกที่เป็นไปได้เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกับ AI ในอนาคต ที่ผมยังอยากจะทำงานอยู่นี่ก็คือ ถ้าเราใช้ AI ผิดวิธี เราไม่ได้จะตายเพราะ AI หรอก ผู้คนคิดว่า AI ทรงพลังมากกว่าที่มันเป็นจริงๆ มันยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เราสร้าง ระบบที่เราเป็นคนควบคุม เราสร้างจุดประสงค์ให้กับมันแล้ว แต่เราก็อาจจะใช้มันผิดวิธีได้ง่ายๆ การใช้ผิดวิธีก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคนด้วย คนนึงบอกว่าใช้ผิดวิธี อีกคนอาจจะบอกว่าไม่

“ส่วนกรณีที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ คือ เราผนวกรวมเข้ากับ AI เลย เป็นหนึ่งเดียวกันไปเลย เหมือนกับการเพิ่มศักยภาพของเรา ไม่ว่าอะไรก็ตามที่คุณคิดว่า AI ทรงพลังมาก สุดท้ายแล้วมันก็ควรถูกยกระดับอยู่ดี”

“ผมว่ามันจะมีวันหนึ่ง อาจจะ 10 ปีหลังจากนี้ ที่แน่ๆ ไม่เกิน 50 ปีจากนี้ วันที่เราจะก้าวหน้าขึ้น เราจะถูกยกระดับด้วยพลังของ AI สิ่งเดียวที่ทำให้เราไม่สบายใจในตอนนี้ คือมันยังเป็นเรื่องที่แปลกใหม่อยู่ การยกระดับความคิดมันก็ค่อนข้างที่จะฟังดูไม่น่าสบายใจเท่าไร แต่มันก็เป็นแค่เพราะว่าเรามองสิ่งนี้จากมุมปัจจุบันมากกว่า จงอย่าทำนายอนาคตด้วยมุมมองของปัจจุบัน หลายๆ คนคิดผิดแบบนี้มาตลอด

“เราจะเห็นได้ว่าสังคม เทคโนโลยี หรือผู้คนที่พัฒนาเรื่องพวกนี้ก็มีวิวัฒนาการ เพราะเราใช้ชีวิตแล้วก็เรียนรู้ แล้วผมคิดว่ายังไงวันพรุ่งนี้ก็จะดีกว่าเดิม ถ้าผมมองออกไป แล้วพยายามจะผลักดันโลกไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้โลกมีทัศนียภาพที่ดีมากขึ้น ผมว่า AI ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน”

เราควรเตรียมตัวอย่างไรในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมและทำงานกับ AI ได้อย่างดีและสมควร

“ผมว่ามันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องด้วย ที่เราจะอยู่กับการกลัว AI บางคนอาจบอกว่ามันก็ฉลาด แต่ว่ามันไม่ได้จะมาแย่งงานเราหรอก อย่างที่มีคนกล่าวไว้ คนที่ใช้ AI ต่างหากที่จะมาแย่งงานเรา เพราะฉะนั้นจงเป็นคนที่ใช้ AI เป็น” คุณคริสตอบอย่างมั่นใจ

“ตัวอย่างของการใช้ ChatGPT ในการทำงาน คุณยังใช้กระบวนการบริหารจัดการ (Executive Functions) อยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณใช้ AI ช่วยพัฒนาไอเดียหลายๆ อย่าง ส่วนที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งพวกเราหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะ ผมว่าลักษณะเฉพาะของมนุษย์ คือการตัดสินใจเลือก ทักษะแบบนี้ ถ้าเราฝึกฝนได้ดีพอก็จะมีประโยชน์ต่อเรามากๆ ในฐานะมนุษย์ในยุค AI แล้วยิ่งผมมีความรู้เรื่องสถิติ ฟิลิกส์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานกว่าวิชาอื่นๆ อีกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ก็ยังสอนกันได้ มันยังสัมพันธ์กันอยู่ ไม่ว่าจะอีกปีหลังจากนี้ หรืออาจจะอีก 10 ปีก็ตาม ผมไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปเพราะ AI

“สิ่งที่จะทำให้คนเราแตกต่าง และมีคุณค่าที่สุดในยุค AI ก็คือความรู้ ยุค AI ยังถือเป็นยุคของคนที่มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง คนที่มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงจะมีคุณค่ามาก”

สิ่งที่ทำให้มนุษย์ และ AI แตกต่างกัน

คุณคริสพูดถึงสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ปัจจุบันถึงอนาคต เมื่อเราเริ่มใช้ชีวิตทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำงานร่วมกับ AI มากขึ้นในอนาคตว่า “บางทีมันก็มีสิ่งที่ขัดกับสันชาตญาณที่สุดอยู่ ซึ่งก็คือสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้มากที่สุด เป็นตัวแปรที่ใหญ่ที่สุดที่บริษัทต่างๆ ประเทศต่างๆ และตัวบุคลลเอง จะมีได้ในยุค AI ก็คือ ‘ความรู้’ ซึ่งก็ค่อนข้างจะขัดกับสันชาตฐาณ เพราะเหมือนกับว่าความรู้ทั้งหมดใช้ไปกับ AI อยู่แล้ว

“ผมรับประกันได้เลยว่ามันจะเป็นปรากฏการณ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เรากำลังหวาดผวากับการมีอยู่ของ ChatGPT เราสร้างภาพเหมือนมนุษย์ขึ้นมา พอมันเริ่มพูดคุยกับเราได้ เหมือนกับเล่นกลเลย เราทำให้ดูเหมือนว่าเรากำลังให้เครดิตความรู้มากมายของมนุษย์ให้กับอีกฝั่งที่ไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าการทดสองทัวริงนั้นออกมาไม่ดี ไม่ดีเลยสำหรับการทดสอบสติปัญญา

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราคิดได้ว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก ในฐานะสิ่งที่ผมเรียกว่า กลไกขั้นพื้นฐาน ซึ่ง AI ในขั้นพื้นฐานนั้น ก็พูดคุยกับผมได้เก่งมากๆ เพราะมันมีความคิดเกี่ยวกับโลกอยู่แล้ว อันนั้นผมก็ยอมรับว่าเป็นระดับสติปัญญาอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่จะสร้างความต่างได้จริงๆ คือที่ผมเรียกว่า ‘ขั้นกว่า’ เพราะ AI จะมาช่วยทำให้ขั้นที่ต่ำกว่าเป็นแบบอัตโนมัติ แล้วเราจะเริ่มแข่งกันสร้างแตกต่างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในจุดนั้น

“บางสิ่งที่สวนทางที่สุด ที่ผมอยากให้คนเข้าใจคือ ยุค AI ก็คือยุคแห่งความเชี่ยวชาญ ยังมีคุณค่าอีกมากมายที่เราควรจะมีในฐานะมนุษย์ คลื่นลูกแรกของการนำ AI ไปใช้งานยังไม่ได้แทนที่พนักงาน 5,000 กว่าคนเลยนะ เพราะฉะนั้นเรื่องระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมที่เรากังวลกันอยู่ ตัวแปรสำคัญที่สุด กรณีที่บริษัทเราศึกษากันอยู่ คือการที่เรากำลังสูญเสียความเชี่ยวชาญไป เพราะผู้คนก็อายุมากขึ้น สังคมก็อายุมากขึ้

“ที่อเมริกาก็มีสังคมผู้สูงอายุเหมือนกัน แล้วอเมริกาก็หยุดทำการผลิตมานานแล้ว แต่ตอนนี้เราก็พยายามจะนำมันกลับมาอีก พยายามจะฟื้นฟูอุตสาหกรรม แล้วเราก็มองหา แต่ก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมากพออยู่ดี เพราะฉะนั้น AI จะเข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ เราจะใช้มันช่วยรวบรวม มันจะช่วยตรวจจับ และรวบรวมความเชี่ยวชาญนั้น เพื่อให้เราขยายเชี่ยวชาญต่อไปได้ เพราะเรามีไม่พอ

“เพราะฉะนั้นตามหลักแล้ว คนกลุ่มน้อยที่ครอบครองความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งไว้เป็นคนที่มีค่ามากๆ เราไล่ตามหาคนที่เชี่ยวชาญจากทุกที่เลยตอนนี้ รวมถึงความเชี่ยวชาญในการตัดสินใจก็ยังสำคัญมากๆ อยู่ดี ประธานบริษัทที่ดีจะเริ่มเด่นชัดขึ้น จากพลังในการตัดสินใจ ไม่ใช่ความสามารถในการพูดเร็วอีกต่อไป

“AI อาจจะช่วยเติมเต็มช่องว่างให้เราในการมอบทางเลือกต่างๆ มาให้ แต่เราต้องเป็นคนตัดสินใจจากมาตรฐานการตัดสินใจของเรา แล้วเราต้องเป็นคนที่สรุปทุกอย่างจนเป็นการตัดสินใจในที่สุด เพราะฉะนั้นยิ่งทำได้ดีเท่าไร ก็จะตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทักษะเฉพาะนี้จะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นมากๆ”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า