SHARE

คัดลอกแล้ว

เปิดใจ ‘วิทยา แก้วภราดัย’ ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ จี้ ‘จุรินทร์’ และกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน แสดงสปิริตลาออก รับผิดชอบจากกรณีอื้อฉาวของ ‘ปริญญ์’ ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่พรรค

‘วิทยา แก้วภราดัย’ นักการเมืองรุ่นใหญ่ที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2538 แต่เช้าวันนี้ตัดสินใจ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอื้อฉาวแวดวงการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ

วันนี้ ‘วิทยา แก้วภราดัย’ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ workpointTODAY ถึงเหตุผลในการตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเองนั้นอยู่ด้วยมายาวนานที่สุด ตั้งแต่เป็นนักการเมือง รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้หัวหน้าพรรค ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ และกรรมการบริหารพรรค ‘ประชาธิปัตย์’ ชุดปัจจุบัน ดำเนินการทันที

“ผมอยากให้เขา มีคนรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรค ไม่มีใครรับผิดชอบ ผมก็แสดงความรู้สึกในฐานะสมาชิกพรรคว่า สมาชิกเขากังวล มันต้องมีคนรับผิดชอบ แล้วก็มาตรฐานของความรับผิดชอบทางการเมือง มันสูงกว่าความรับผิดในทางกฎหมาย มันต้องเหนือกว่า แค่นั้นเอง ผมเลยตัดสินใจลาออก เพื่อให้ผู้บริหารเขารู้ครับว่า สมาชิกเขาอึดอัด ถ้าบริหารกันอย่างนี้” วิทยา เปิดเผยเหตุผลทิ้งพรรคประชาธิปัตย์

ตัดสินใจเรื่องนี้นานหรือไม่

วิทยา : ผมก็นั่งดูมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ แล้วก็นับถอยหลังทุกวัน คิดว่าเขาคงทำอะไรบ้าง

มองการแถลงข่าวของ ‘จุรินทร์’ ที่ออกมาขอโทษสังคม ในวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมาอย่างไร 

วิทยา : คือผมเป็นห่วง เพราะว่าคนมันไม่ได้ลามปามว่าคุณจุรินทร์ผิด เขาด่า รุมด่าพรรค ซึ่งถามว่าพรรคมันเป็นนามธรรม มันก็เหมือนศาลา เหมือนวัด แต่คนที่ทำให้ชื่อเสียงหม่นหมอง ก็คือคนที่ขึ้นมาบริหารอยู่ วัดเขาอยู่ดีๆ เจ้าอาวาสมันเสือกปาราชิกก็ต้องปลด ปลดเจ้าอาวาส จะไปรื้อวัดทิ้งทำไม เพราะว่ากว่าเขาจะทำเป็นวัดมาได้เกือบร้อยปีแล้ว มันก็ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านั้น ความรับผิดชอบที่สำคัญกว่านักการเมือง คือรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน ผมเคยทำมาแล้วว่า ผมจะรับผิดชอบกับความรู้สึกของประชาชน แล้วผมก็ตัดสินใจทันที ถ้าประชาชนรู้สึกว่าเราไม่ถูกต้อง ไม่ต้องผิดกฎหมายหรอกครับ แค่เราบกพร่องหรือไม่ถูกต้อง ผมก็ตัดสินใจทันที ไม่ปล่อยให้องค์กรเขาเสียหาย

ความอึดอัดของสมาชิกในพรรคต่อเรื่องที่เกิดขึ้นจาก ‘ปริญญ์’ เป็นอย่างไร

วิทยา : ผมแค่เป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่ ส.ส. แต่ผมคุยกับชาวบ้านที่เขาเป็นสมาชิกพรรค เขาก็สะท้อนมา รู้ว่าเจ้าของพรรคที่แท้จริงเขาคิดเห็นอย่างไร พวกคนที่มาแสดงบทบาทในพรรคไม่ใช่เจ้าของพรรคที่แท้จริง พวกผมถูกสอนว่าเจ้าของพรรคที่แท้จริงคือสมาชิกพรรค ที่โลดแล่นกันคุณเป็นตัวแทนพวกผมไปโลดแล่นแค่นั้นเอง พวกผมเป็นเจ้าของพรรค

จะมีใครในประชาธิปัตย์ ลาออกจากกรณีนี้อีกหรือไม่

วิทยา : ผมไม่ได้หารือเพื่อนๆ ที่เป็น ส.ส. ผมคิดว่าผมโตพอที่จะตัดสินใจได้เอง

มองว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ กรรมการบริหารพรรค และ นายจุรินทร์ ควรจะต้องรับผิดชอบอย่างไร

วิทยา : ลาออกครับ พรรคก็ไม่ตาย พรรคก็มีคนมาทดแทนเป็นรุ่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง พรรคนี้เป็นพรรคของสมาชิกเป็นของประชาชนคืนกลับให้ประชาชนเขาหาคนของเขาเอง

เหตุที่เกิดขึ้นกับพรรคครั้งนี้กระทบกับความรู้สึกขนาดไหน

วิทยา : ผมว่ามันเปราะบางมากเรื่องอย่างนี้ มันเปราะบาง มันต้องจัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว 10 วัน นี่ช้าไปแล้ว เรื่องนี้เกิดผู้บริหารต้องตัดสินใจแสดงสปิริต รับผิดชอบต่อชื่อเสียงพรรค ไม่ใช่ชื่อเสียงตัวเอง ตัวเองก็ไปพิสูจน์ในกระบวนการกฎหมายอะไรก็ว่าไป แต่โดยความรู้สึกประชาชน มันจะให้พรรคมัวหมองไม่ได้ ต้องไปเลย อย่าคิดนาน คิดนานยิ่งไม่เหลือทั้งตัวเองและพรรค”

มองว่าถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้จะถึงไม่เหลือพรรค

วิทยา : ผมกลัวอย่างนั้น ผมเลยทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคว่า “อย่านาน” เหลือพรรคไว้ให้ชาวบ้านเขาได้ฝากลูกหลานเขาต่อ

อย่างไรก็ตาม นักการเมือง ในวัย 67 ปี คนนี้ จบการสนทนาด้วยการตอบคำถามทิ้งทายถึงเส้นทางทางการเมืองจากนี้ของตนเอง โดยบอกว่า “ยังไม่ตัดสินใจ แต่ไม่ต้องห่วงนักการเมืองเขารู้มือผมอยู่ แล้วพรรคเลอะเทอะจะมาจีบผม ผมไม่ใช่คนจะไปเลอะเทอะได้ด้วย”

(วิทยา แก้วภราดัย : แฟ้มภาพ สภาผู้แทนราษฎร)

ประวัติโดยสังเขป 

‘วิทยา แก้วภราดัย’ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพเป็นทนายความก่อนเข้าสู่วงการเมือง เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 จากนั้นไปรับตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล

ส่วนงานในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของพรรค ปี พ.ศ. 2551 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลภาคใต้ และเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช 6 สมัย แต่สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรค และยังปรากฏตัวขึ้นปราศรัยช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา ที่พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งได้รับชัยชนะกลับมาเมื่อต้นปีนี้

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า