SHARE

คัดลอกแล้ว

“แสงสองส่องเฉยๆ แสบตา เพราะไปมองเอง”
“สิงโตดุร้าย แต่เราวาดให้น่ารักได้”
“เล่นแล้วไม่เก็บ ยังไงก็ต้องเก็บ เพราะแม่ไม่เก็บให้”
“เวลาโมโห ใจเราจะเป็นสีดำ”
“กุหลาบสวย แต่มีหนามทิ่ม”

ประโยคสั้นๆ ภาษาเรียบง่าย แต่ตีความหมายได้หลากหลายและลึกซึ้ง เป็นบันทึกประจำวันของก้อนเมฆ และ สายลม จากเพจ เรไรรายวัน ซึ่งหลายคนได้เห็นเพจนี้กันมานานหลายปีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลงานเขียนบันทึกของน้องเรไร และในช่วงนี้มีคนแชร์บันทึกจากเพจเรไรรายวันจำนวนมาก เป็นบันทึกของน้องแฝดวัย 6 ขวบ เริ่มฉายแววนักเขียนตัวน้อยตามรอยพี่สาวมาติดๆ

workpointTODAY มีโอกาสคุยกับ น้องต้นหลิว หรือ เด็กหญิงเรไร สุวีรานนท์ วัย 12 ปี พร้อมด้วย คุณแม่จั่น ชนิดา สุวีรานนท์ เจ้าของเพจเรไรรายวัน ถึงเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นของเพจเรไรรายวัย ที่มาจากความอยากให้ลูกสาวมีทักษะการเขียนติดตัวเมื่อ 6 ปีก่อน จนนำมาสู่การถ่ายทอดวิชาการเขียนบันทึกให้ลูกชายฝาแฝด ซึ่งเรื่องราวที่น้องจดบันทึกนั้น เรียกร้อยยิ้มจากคนอ่านได้อย่างดี เพราะด้วยเสน่ห์ของภาษาที่สะท้อนมุมมองของเด็กตัวเล็กๆ เปิดกว้างให้คนอ่านได้ตีความได้หลากหลาย

แม่จั่น เล่าถึงความตั้งใจแรกที่เปิดเพจเรไรรายวัน เริ่มมาจาการแม่ถ่ายภาพบันทึกของต้นหลิวซึ่งช่วงนั้นอายุเพียง 6 ขวบ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว และด้วยเรื่องราวที่น่ารัก ชวนยิ้ม ทำให้เพื่อนๆ ของแม่เรียกร้องให้เปิดเพจ “เรไรรายวัน” นับตั้งแต่ตอนนั้นเพจเรไรรายวันจึงกลายเป็นพื้นที่รวบรวมบันทึกประจำวันของน้องต้นหลิวมาจนถึงวันนี้ที่เธออายุ 12 ปีแล้ว

สำหรับชื่อเพจ เรไรรายวัน ก็มีความหมายตรงตัวเลยว่า บันทึกรายวันของเด็กหญิงเรไร ชื่อจริงของต้นหลิว และตอนนี้นอกจากบันทึกของต้นหลิว ก็ยังมีบันทึกของ “ก้อนเมฆ” และ “สายลม” น้องชายฝาแฝดของครอบครัวสุวีรานนท์ รวมไปถึงบันทึกของเด็กๆ อีกหลายคนที่เป็นแฟนเพจส่งมาให้และอนุญาตให้เผยแพร่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กหลายคนในการเขียนบันทึก

ครอบครัวสุวีรานนท์ คลุกคลีอยู่กับงานด้านวารสารศาสตร์มาตลอด เพราะแม่จั่นเองเคยเป็นนักข่าว ส่วนคุณพ่อก็เป็นนักเขียน ที่บ้านจึงพยายามปลูกฝังการอ่านหนังสือให้กับลูกสาวคนโตตั้งแต่ยังเล็กๆ และขยับมาสู่การเขียนบันทึกโดยการสมัครโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ของ มกุฏ อรฤดี นักเขียนเจ้าของนามปากกา นิพพานฯ และ วาวแพร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2555 เพราะอยากมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเขียนให้ลูกได้ลองทำ

ต้นหลิว เล่าว่า คุณแม่เป็นคนชวนสมัครโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ซึ่งตอนแรกอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าชอบหรือรักการเขียน แต่เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ทำกับแม่แล้วสนุกดี ต้นหลิวจึงทำมาตลอดทุกวัน โดยโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ จะแจกสมุดบันทึกให้กับเด็กให้เอาไปเขียนทุกวัน ตอนนั้นต้นหลิวถามแม่ว่าหนูจะเขียนได้ไหม

“คำว่า บันทึก มักจะถูกนำไปผูกติดกับเรื่องของความลับที่เราไม่อยากให้ใครรู้ เวลาเขียนมักจะเป็นการระบายความรู้สึก หรือสิ่งที่ไม่อยากบอกให้ใครรู้ หากวันหนึ่งมีคนมาอ่าน คนเขียนอาจจะมีความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว จนเกิดความไม่อยากเขียน ซึ่งแม่ไม่อยากให้ลูกเลิกเขียน อยากให้ทำไปอย่างต่อเนื่อง เพราะการเขียนคือการฝึกทักษะการคิด เราเตรียมคำตอบ ไว้เพื่ออธิบายลูกว่าบันทึกคืออะไร เราอธิบายลูกว่า บันทึกคือการเขียนความสุข ว่าวันนี้เราทำอะไรมา แล้วลูกชอบอะไร ให้เขียนเก็บเอาไว้ เมื่อเราบอกเด็กไปแบบนี้ เขาก็จะทำบันทึกออกมาในเชิงบวก แล้วคำว่าบันทึกเชิงบวก หมายความว่า ใครจะอ่านก็ได้ ใครจะทำอะไรก็ได้ ใครจะหยิบไปอ่านก็รู้สึกมีความสุข แม้กระทั่งตัวเขาเองหากได้ย้อนกลับมาอ่านก็จะรู้สึกมีความสุข” ชนิดา กล่าว

จากนั้นต้นหลิวก็เขียนบันทึกทุกๆ วัน และแม่ก็นำมาแชร์ลงเพจ …

ต้นหลิวเริ่มเขียนตอนอายุ 6 ขวบ สอนอย่างไรให้ลูกเขียนเป็น ?

แม่จั่นเล่าว่า การเริ่มต้นการเขียนสำหรับเด็ก อาจเริ่มจากการเล่า เราทำอย่างไรก็ได้ให้การบันทึกเป็นสิ่งที่ง่าย เริ่มจากการเขียนจากสิ่งที่ลูกพูดออกมาก่อน ว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง แต่เด็กพูดออกมาเยอะมาก ดังนั้นต้องเลือกก่อนว่าอยากเล่าอะไรเป็นพิเศษ และอยากจะเลือกจดบันทึกลงไป

ที่สำคัญนอกเหนือไปจากการให้เขาเขียนบันทึกลงกระดาษ ยังทำให้เด็กได้ฝึกการคิดไปด้วย ซึ่งการเขียนถือว่าเป็นกระบวนการให้ลูกได้ทบทวนกลับไปว่าทำอะไร สิ่งที่เขาคิดกว่าจะออกมาเป็นคำแล้วเขียน เพราะฉะนั้นแม่จึงไม่ได้สนใจเรื่องเนื้อหาและปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา แต่แม่มีหน้าที่ช่วยฝึกให้เขาถ่ายทอดเนื้อหาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่ถามเขา ชวนเขาคุย ให้เขาสามารถดึงตรรกะ การคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเรื่องที่เล่าออกมาให้ได้ ทำให้บันทึกของต้นหลิว เป็นบันทึกที่ง่ายๆ เรียบๆ แปลงจากคำที่เขาพูดออกมา

เขียนตามคำบอกผิด 1 คำ เป็นเหตุ เปิดตัวเพจเรไรรายวัน

“เรื่องแรกที่หนูเขียนก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนค่ะ ในวิชาภาษาไทย ที่โรงเรียนจะมีให้ทดสอบเขียนคำยากภาษาไทย อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ปกติหนูจะได้เต็ม มีครั้งหนึ่งที่หนูได้ 9 เต็ม 10 เพราะว่าหนูเขียนผิดไป 1 คำ หนูก็เลยเอากลับมาเขียนว่าหนูเขียนผิดไป 1 คำ ซึ่งคือคำว่า “หวี” หนูใส่สระอี ไว้บน ห หีบ เพราะว่าหนูสะกดแบบ ห-อี-ว หวี แบบนี้เลยผิดไป คำหนึ่งก็เลยเขียนไปว่าแบบพอมาเล่าให้ทุกคนฟัง ทุกคนก็หัวเราะและแม่ก็บอกว่าไม่เป็นไร” ต้นหลิว เล่าถึงบันทึกแรกในเพจ

บันทึกแรกของต้นหลิวในเพจเรไรรายวัน

เพจเจไรรายวัน เกิดขึ้นหลังจากต้นหลิวเขียนบันทึกมาได้ช่วงหนึ่งและหลังเปิดเพจก็มีแฟนเพจเข้ามาให้ความสนใจหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจอยากให้ลูกเขียนบันทึก กลุ่มนักศึกษาวัยรุ่นที่ชื่นชอบเพราะทำให้หวนคิดไปถึงวัยเด็ก พอเขียนมาได้สักพักก็มีคนมาขอให้ออกหนังสือ

“เหมือนกับว่าที่บ้านเขามีทั้งเด็ก คนแก่ เขาไม่อยากให้ลูกจ้องจอนานๆ แต่ก็อยากให้อ่าน ก็มาขออนุญาตพิมพ์ออกมาแล้วก็เข้าเล่ม เอาไว้ให้ลูกและคนที่บ้านอ่าน แต่เขาสัญญาว่าถ้าเราออกหนังสือเขาก็จะอุดหนุนเหมือนกัน” ต้นหลิวเล่า

แม่จั่นยังเสริมว่า แฟนเพจคนนี้ได้เอางานของเรไรรายวันปริ้นออกมาเป็นเล่มและส่งมาให้หนามาก แล้วก็เย็บเล่มเป็นสันกระดูกงู ตอนนั้นรู้สึกว่าพอมีคนถามเรามาเรื่องหนังสือ ถ้าเราทำแล้วมันเป็นประโยชน์ หนึ่งคือเก็บไว้เป็นความภูมิใจให้ลูก และได้ให้คนที่สนใจนำไปอ่าน บางคนซื้อไปไว้ในห้องสมุด บางคนอยากเอาไปเป็นนิทานอ่านให้ลูกฟังก่อนนอน ก็เลยพิมพ์ออกมา โดยที่คุณพ่อคุณแม่ควักกระเป๋าตีพิมพ์เอง คุณพ่อทำ Artwork ลูกเขียน ช่วยกันทำเหมือนเป็นกิจกรรมในครอบครัว ก็ได้รับการตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี

จากบันทึกของเรไร สู่บันทึกของก้อนเมฆและสายลม

แรกๆ เพจเรไรรายวัน จะเป็นบันทึกของต้นหลิว ก็จะมีหลายครั้งที่ต้นหลิวเขียนถึงน้องแฝด วีรกรรมต่างๆ หรือความน่ารักของน้องๆ ให้แฟนเพจได้อ่านอยู่เสมอ และพอน้องเริ่มเขียนได้ในเพจก็มีผลงานของน้องแฝดออกมาให้เห็น ซึ่งเรื่องเล่าผ่านตัวหนังสือของทั้งคู่ก็ถูกใจแฟนเพจ จนเกิดการแชร์ต่อจำนวนมาก และการเริ่มต้นบันทึกของน้องทั้ง 2 คน ก็มาจากความตั้งใจของพี่สาวที่อยากให้น้องเขียนบันทึกบ้าง เพราะเห็นว่าาน้องเริ่มพูดเก่ง และภาษาที่น้องพูดดูน่ารัก โดยเริ่มจากสายลมก่อน และพอก้อนเมฆเห็นสายลมเขียนก็อยากเขียนตาม โดยมีแม่กับพี่ต้นหลิวคอยแนะนำเรื่องการสะกดคำ

บันทึกของต้นหลิว

บันทึกของสายลม

บันทึกของก้อนเมฆ

“อยากให้น้องเขียนเหมือนเราบ้าง รู้สึกมันน่ารักดี ตอนแรกก็ไม่ได้จริงจัง ก็แค่แบบเขียนเล่นๆ กับน้อง 2 คน กับสายลมก่อน ก็ชวนสายลมมานั่งเขียน เพราะหลังๆ รู้สึกแบบว่าน้องพูดเก่ง และน้องเขามีความคิดแบบว่า คิดแบบผู้ใหญ่ คำพูดเขาจะแบบเขาอาจจะพูดในมุมมองเด็ก แต่ผู้ใหญ่มาฟังเขาจะรู้สึกแบบโห รู้ได้ยังไง ก้อนเมฆก็เห็นสายลมแล้วก็อยากเขียนบ้าง” ต้นหลิวเล่า

บันทึกของ 3 คน สะท้อนตัวตน และ มุมมอง

บันทึกของสายลมและก้อนเมฆ

แม่จั่น เล่าถึงบุคลิกของลูกทั้ง 3 คนซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในบันทึก ก้อนเมฆ เป็นพี่ชายคนกลาง จะเป็นคนที่มีนิสัยอ่อนโยน ซึ่งสะท้อนของมาจากภาษาที่ลูกใช้ เช่น บันทึกก่อนวันเปิดเทอม ที่บอกว่าคิดถึงเพื่อนทุกคนยกเว้นสายลม แม่อธิบายว่าเป็นความรู้สึกของก้อนเมฆที่เห็นว่าสายลมคือตัวเองและตัวติดกันตลอดเวลา ส่วนสายลมเป็นน้องคนเล็ก จะเป็นคนที่ตลก และขี้อ้อน ส่วนต้นหลิว เป็นพี่สาวคนโต จะถูกเลี้ยงมาคนเดียวก่อนจะเป็นคนมีเหตุผล มองโลกในแง่บวก แต่จะอยู่บนพื้นฐานของความจริงเสมอ

“ก้อนเมฆ เขาจะเป็นพี่กลาง แล้วเขาจะเป็นคนที่แคร์คนนู้นคนนี้ ห่วงใย ใส่ใจ อ่อนโยน เป็นผู้ชายแบบแนวอ่อนโยน บันทึกล่าสุดที่ก้อนเมฆเขาเขียนโรงเรียนจะเปิดแล้ว เขาคิดถึงทุกคนยกเว้นสายลม เพราะว่าจริงๆ เขาไม่ได้พูดว่าตัดสายลมนะ เพราะเขารู้สึกว่าสายลมคือเขา ตัวติดกัน ไปโรงเรียนด้วยกัน ห้องเดียวกัน คืออยู่ด้วยกันจนไม่มีเวลาต้องคิดถึงกัน แต่สายลม จะเป็นคนที่ ฉึบฉับ แล้วก็ตลก แล้วก็ทำอะไรขึ้นอยู่กับอารมณ์มากกว่าเหตุผลเยอะ เขาก็จะแบบอ้อน ส่วนพี่หลิว เนื่องจากเป็นลูกที่โตมาคนเดียว 6 ปี เขาก็จะเป็นเด็กที่มีเหตุมีผล มีตรรกะ แล้วก็เป็นคนที่คิดบวก ต้นหลิวจะเป็นคนที่อยู่กับความจริง แต่สามารถเรียนรู้ สามารถที่จะสร้างพลังบวกในชีวิตด้วยตัวเองแล้วส่งต่อผู้อื่นไปได้อย่างไร” แม่จั่นเล่า

บันทึกของต้นหลิว

ซึ่งแม่จั่นมองว่าการฝึกฝนให้ลูกเขียนบันทึก เป็นการเปิดโลกของลูกให้กว้างขึ้น และยังช่วยฝึกทักษะการคิด ความอดทน
และฝึกวิธีการถ่ายทอดเรื่องราว การมีเหตุมีผลในชีวิต ให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้จักที่จะเลือกเรื่องราวที่จะเล่าในบันทึกแต่ละวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต

“ไม่ว่าเขาจะเติบโตไปอยากทำอาชีพอะไร แต่เขาจะมีทักษะการคิด และอาชีพนักเขียน ติดตัวไปตลอด และแม่เชื่อว่าเขาจะได้ใช้มันจริงๆ” แม่จั่นกล่าวทิ้งท้าย

ต้นหลิว ก้อนเมฆ สายลม ทักทาย workpointTODAY

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า