ภายในงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ประจำปี 2567
‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทยว่า
รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบตลาดทุน เศรษฐกิจโดยรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (ESG Economy)
สำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
นอกจากนี้ ไทยมีพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) และในอนาคตจะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน ให้ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนให้มีเงินออมที่ได้จากผลตอบแทนระยะยาว
ข้อมูลเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยื
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งการยกระดับช่องทางระดมทุนและการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ในส่วนของรัฐบาล ได้ส่งเสริมพัฒนาการด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจและการลงทุนของประชาชน จึงได้เห็นชอบในหลักการที่ลดอุปสรรคของการส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) ของสินทรัพย์ดิจิทัล โดย 3 เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันและส่งเสริมเพื่อสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทย ดังนี้
1. ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น Investment Destination ของภูมิภาค รัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
โดยรัฐบาลจะเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
รวมทั้งส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ และจะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทยหรือโรดโชว์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย
2. การมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยรัฐบาลจะดำเนินการและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainability Development Goals) และที่สำคัญคือเป้าหมายของประเทศไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Companies) และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม
พร้อมผลักดันนโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Market) การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism)
โดยรัฐบาลตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน รวมถึงการจัดทำ Thailand Green Taxonomy ส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
3. สนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลและ SMEs และ Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก
โดยด้านของเศรษฐกิจดิจิทัลภาครัฐและเอกชนจะลงทุนร่วมกันในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ส่วนด้าน SMEs และ Startups ภาครัฐจะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลืออย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน
‘เศรษฐา’ กล่าวปิดท้ายว่า ยังคงเชื่อมั่นว่าหากผนวกการดำเนินการของรัฐบาลในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน