SHARE

คัดลอกแล้ว

ห้องเช่าบริเวณถนนทรงวาด ถูกจับจองโดยแรงงานข้ามชาติเมียนมา จนเกิดการรวมตัวหลวมๆ เป็นชุมชนขนาดย่อม หาเลี้ยงชีพด้วยทักษะฝีมือมากน้อยต่างกันไป แสวงหาโอกาส และการพัฒนาตัวเอง ไปพร้อมกับการทำลายขีดจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรม ที่พรากสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตในประเทศไทย

 

ปลายทางของการเดินทางวันนี้ อยู่ที่ย่านสัมพันธวงศ์ เมื่อลงจากสถานีรถไฟฟ้าบริเวณสะพานตากสิน หากเดินเลียบถนนเจริญกรุงขึ้นมา ย่านบางรักจะเต็มไปด้วยคริสตจักร และอาสนวิหารของชาวคริสเตียน ถัดไปไม่ไกลกัน จะพบกับมัสยิดฮารูน, มัสยิดกรุงเทพฯ, และชุมชนของชาวมุสลิมไทยและปากีสถานตั้งอยู่ ขยับมาอีกนิดถึงย่านตลาดน้อย อันเป็นถิ่นที่ตั้งของชาวจีน ที่มาตั้งรกรากกันอยู่หลายชั่วอายุคน เรื่อยจนไปถึงย่านพาหุรัด ที่ถือเป็นชุมชนชาวอินเดียขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

ไม่ไกลกันบริเวณถนนทรงวาด ยังมีอีกหนึ่งชุมชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน นั่นคือ แรงงานเมียนมา ที่มักอาศัยกันอยู่ตามห้องเช่าบริเวณนี้ เลี้ยงชีพด้วยการทำงานรับจ้างให้กับสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ งานกรรมกร คนเสิร์ฟอาหาร พนักงานหน้าร้าน และอื่นๆ ตามแต่ทักษะของแต่ละคน

เช่นเดียวกับคนอื่น พวกเขาไม่ได้ต้องการมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำงานไร้ฝีมือไปวันๆ แต่แรงงานบางส่วนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อคว้าโอกาสในการทำงาน และเพิ่มทางเลือกในการใช้ชีวิตในประเทศไทย

“ในโลกออนไลน์ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่ในโลกความเป็นจริง บางคนก็ไม่ได้ต่อต้านเราขนาดนั้น แค่พวกเขาไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเรา”

เก๋ หรือชื่อภาษาพม่าคือ แนน ดี โม แคน เป็นชาวพม่าเชื้อสายมอญ ที่เข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่อายุ 14 ปี ด้วยความที่สื่อสารภาษาไทยได้คล่องแคล่ว เก๋จึงมาช่วยทำงานเป็นล่ามให้กับกลุ่ม STAY IN SAMPENG YAOWARAT ในการสอนภาษาไทยให้กับแรงงานชาวเมียนมา

กลุ่มนักเรียนของ  STAY IN SAMPENG YAOWARAT แจกขนมซะนุยมะกีง์ ให้กับผู้ประกอบการชาวไทย

โดยในวันที่มีโอกาสคุยกับ เก๋ ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรม “ล้อมวงกินข้าวเข้าครัวมัณฑะเลย์​” อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘ตะลักเกี้ยะ Friendly Market x bangkok design week 2025’พอดี 

เราถึงได้เห็น แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา สลัดคราบคนสู้ทำงานสู้ชีวิต มาอยู่ในชุดท้องถิ่นของพวกเขา

[ล้อมวงกินข้าวเข้าครัวมัณฑะเลย์-เคล้าบทเพลงใจสั่งมา]

“รู้สึกดีใจที่ได้โอกาสนำเสนออาหารพื้นบ้าน และผลตอบรับกลับมาดี คนร่วมงานกินได้ อาหารไม่ได้แบ่งแยกพวกเราจากคนไทย”

เก๋เล่าในขณะที่การแสดงฟ้อนรำของนักเรียนหญิงกำลังดำเนินไป เธอเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี ภายในร้านขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ หนึ่งปีแรกของการทำงานร้านขายเสื้อผ้าทำให้เธอได้หัดพูดภาษาไทยจนพอสื่อสารได้เบื้องต้น จากนั้นจึงเปลี่ยนงานมาเป็นแม่บ้าน และพี่เลี้ยงเด็กเล็กอยู่ 5-6 ปี ถึงเกิดความคิดอยากเรียนภาษาไทยขึ้นมา

“อยากเรียนภาษาไทย เพราะอยากอ่านภาษาไทย ชอบอ่านนิยาย อยากรู้เรื่องราวของประเทศไทย”

เก๋ เล่าว่า แรงงานข้ามชาติหลายคน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อยากซึมซับวัฒนธรรม เหมือนการแสดงวันนี้ ที่เหล่านักเรียนชายของกลุ่ม STAY IN SAMPENG YAOWARAT เลือกเพลงใจสั่งมา ของ เสก โลโซ มาใช้ในการแสดง

เก๋ได้เข้าเรียนที่ DEAR Burma Academy โรงเรียนสำหรับแรงงานข้ามชาติในไทย หลังเรียนจบหลักสูตร ครูใหญ่ทาบทามให้สอนหนังสือที่โรงเรียน เพราะเธอสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า หลังจากทำงานที่นั่นได้ 2 ปี เก๋ตัดสินใจเรียนต่อ กศน. จนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 “เราอยากทำอาชีพล่าม” เก๋เล่าความฝัน “อยากสื่อสารให้กับทั้งคนไทย และเมียนมาเข้าใจกัน และอยากช่วยคนเมียนมาให้ได้รับรู้สิทธิของพวกเขา”

ความตั้งใจนี้ ตรงกับเป้าหมายของโครงการ STAY  IN  SAMPENG  YAOWARAT ที่อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล หรือ ฟ้า เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ที่อยู่ภายใต้ของบริษัท ปั้นเมือง จำกัด ที่ให้บริการงานวิจัยชุมชนเมือง และงานออกแบบสถาปัตยกรรม

กลุ่มแรงงานข้ามชาติทำการแสดงวัฒนธรรมของชาวพม่า

[เป็นแรงงานข้ามชาติวัน จ.-ส. เป็นนักเรียนภาษาไทยวันอาทิตย์]

ฟ้าได้เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการ STAY IN SAMPENG YAOWARAT ว่าเกิดขึ้นในช่วงโควิด ที่คนในห้องเช่าย่านสัมพันธวงศ์ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยไม่ได้ตั้งเป้ามาก่อน ว่าจะต้องทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ต้น

“เราต้องการทำงานกับคนที่อยู่ในห้องเช่า ซึ่งมันกลายเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ”

ดังนั้นฟ้าและทีมงาน จึงเริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูล ก่อนจะพบว่า การที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องความหวาดกลัว ข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งอุปสรรคทางด้านภาษา นั่นถึงทำให้กลุ่ม STAY IN SAMPENG YAOWARAT เริ่มต้นสอนภาษาไทยให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

“ก่อนหน้านี้เวลาเขาป่วย ทำอย่างไรก็ไม่กล้าไปหาหมอ แต่พอสื่อสารภาษาไทยพื้นฐานได้ สุดท้ายพวกเขายอมพาตัวเองไปหาหมอมากขึ้น”

ภาษาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในย่านสัมพันธวงศ์ กล้าที่จะเชื่อมต่อกับชุมชนมากขึ้น โดยมีกลุ่ม STAY IN SAMPENG YAOWARAT เป็นตัวกลาง พาพวกเขาไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดทำนิทรรศการภาพ การจัดงานวันเด็ก การจัดงานนิทรรศการอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ฟ้ากล่าวว่าทัศนคติของคนในพื้นที่ที่มีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังคงผันแปรไปตามสถานการณ์

“เหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปีที่แล้ว คือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ฟ้าเล่า “เพราะมันเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติในชุมชนนั้น ทำให้คนคิดว่าเพราะแรงงานข้ามชาติทำให้ไฟไหม้”

แต่คงไม่มีอะไรเอาชนะความตั้งใจได้ เมื่อเกิดปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้งขึ้น ผ่าน STAY IN SAMPENG YAOWARAT ผู้คนในพื้นที่ ก็ยอมรับพวกเขาอีกครั้ง “เกิดบทสนทนาที่ชื่นชมแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น เริ่มมีคนในพื้นที่ชวนไปร่วมงาน ชักชวนให้แรงงานข้ามชาติไปทำงานกับพวกเขา”

ฟ้ากล่าวว่านักเรียนที่มาเรียนกับเธอ ส่วนใหญ่ยังอยู่ช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงไม่เกิน 30 ปี ต้นทุนที่พวกเขามี คือความตั้งใจและอยากพัฒนาตนเอง หลายคนที่มาเรียนและร่วมทำกิจกรรม ใช้เวลาหลังเลิกงาน ตอน 8 โมงเช้า มาเรียนภาษาไทยต่อ

“พวกเขากล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น” ฟ้าตอบคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เธอเห็นตลอดหนึ่งปี ที่กลุ่มของเธอทำโครงการสอนภาษาไทย “โลกของพวกเขาก่อนหน้านี้มีแค่ห้องพัก ที่ทำงาน ตลาด ไปไกลสุดคือซูเปอร์มาเก็ต บนถนนเยาวราช”

วันนี้นักเรียนภาษาไทยเหล่านั้น รู้ว่าตัวเองมีสิทธิแค่ไหนในการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้ รู้ว่าถ้าป่วยแล้วต้องไปหาใคร และรู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการเป็นแรงงานข้ามชาติเพียงอย่างเดียว

ถัดจากกิจกรรม “ล้อมวงกินข้าวเข้าครัวมัณฑะเลย์​” ในวันนั้น กลุ่ม STAY IN SAMPENG YAOWARAT ยังพากลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นนักเรียนของพวกเขา เข้าร่วมฝึกอบรมการดับเพลิงกับกลุ่มคนไทย โดยมีเก๋คอยเป็นล่ามช่วยแปลภาษาไทย-พม่า “กระแสการต่อต้านที่เกิดขึ้น ทำให้เราใช้ชีวิตในเมืองไทยยากขึ้น แต่เราอยู่ในสังคมที่เขายอมรับเรา การได้อ่านความคิดเห็นเชิงลบในโลกออนไลน์ก็รู้สึกน้อยใจ ที่ทำไมเขาไม่ยอมรับพวกเราเลย”

แรงงานข้ามชาติในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์เข้าร่วมอบรมการดับเพลิงกับทางสำนักงานเขต

[ธุรกิจขนาดใหญ่ คิดอย่างไรกับแรงงานข้ามชาติ?]

“วันนี้แรงงานข้ามชาติยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น คำถามที่สำคัญต่อภาคธุรกิจคือ เราได้ขับเคลื่อนหรือดำเนินการใดๆ เพื่อรับรอง และเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานทุกคน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติเพียงพอแล้วหรือยัง”

คือบทสนทนาแรกที่เปิดขึ้น โดย ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (United Nations Global Compact  – UNGC) ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจในประเทศไทย ที่มีสมาชิกจำนวน 125 องค์กรธุรกิจ ครอบคลุมพนักงานในธุรกิจประมาณ 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ไม่นับรวมพนักงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแต่ละราย

ดร. เนติธร เห็นว่าประเทศไทยยังต้องการกำลังแรงงานจากต่างประเทศ ทั้งในทักษะระดับสูง และทักษะขั้นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ในวันนี้หลายคนอาจมองว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานแรงงานไทย แต่ ดร. เนติธร มีคำถามที่ใหญ่กว่านั้น “เรามีความพร้อมเพื่อจัดการ ข้อท้าทายเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร และความไม่สอดคล้องระหว่าง ทักษะแรงงาน กับ ความต้องการของประเทศแล้วหรือยัง? เพื่อเป็นการการันตีว่าแรงงานไทย มีความพร้อม และสามารถยกระดับทักษะของตนเองได้”

สิ่งที่ภาคธุรกิจกังวลอยู่ตอนนี้คือ สังคมไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตแรงงานในทุกระดับ ตั้งแต่ทักษะขั้นต้นจนถึงทักษะขั้นสูง รวมทั้งหากในอนาคตกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น อาจโยกย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน หรือไปทำงานในประเทศอื่นๆ

“เราเข้าใจในเรื่องความมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน เราจะหาแรงงานจากไหน ในวันที่คนแก่ลง และเด็กเกิดน้อยลงไปพร้อมๆ กัน”

ปัจจุบันในแวดวงธุรกิจ เริ่มให้ความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมีหลักการสากล 10 ประการ ของ United Nations Global Compact ครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต

“ภายใต้หลักการสากล ทุกคนในสถานประกอบการ มีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน เราไม่สามารถเลือกว่าแรงงานเมียนมา เราฝึกอบรมให้แค่ 50% ส่วนคนไทยให้ 100%  มันไม่ควรมีเส้นกั้นว่าใครควรจะได้รับ หรือไม่ได้รับ การพัฒนาทักษะ” ดร.เนติธร กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ดร. เนติธร กล่าวว่า สมาคมฯ สนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกฯ นำหลักการนายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน หรือ Employer Pays Principle มาใช้ในการสรรหา และจ้างงานแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดกระบวนการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม

โดยทำงานกับบริษัทนำเข้าแรงงานข้ามชาติ เน้นการอบรมให้ความรู้บริษัทจัดหางาน รวมถึงการประเมินความเสี่ยง เกี่ยวกับกระบวนการจัดหางานแรงงาน ว่าถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการเอาเปรียบและบังคับใช้แรงงาน “คือชีวิตของผู้ประกอบการไม่ได้ง่าย นายจ้างไม่ได้ต้องการที่จะเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ทั้งกฎหมายและมาตรฐานใหม่ๆ ที่เข้ามา ทำให้ธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กอยู่ยากขึ้น”

ดร. เนติธร มองว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน คือการก้าวนำหน้ากฎหมาย แต่การดำเนินการต่างๆ ตามหลักการสิทธิมนุษยชน มีเรื่องต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถบริหารต้นทุน เพื่อนำมาใช้ในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน แต่ธุรกิจขนาดเล็กกลับต้องเผชิญกับการเอาตัวรอด 

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้นายจ้างทุกคน ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในสถานประกอบการของตนเอง

“หากเราจะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ประเด็นสำคัญคือกำลังแรงงานที่เพียงพอ ทั้งในเชิงจำนวนและทักษะแรงงาน ตอบสนองความต้องการของธุรกิจ รวมถึงเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน”

ดร. เนติธรกล่าวสรุปว่า สถานประกอบการต้องให้ความสำคัญ กับกระบวนการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ทั้งในสถานประกอบการและตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมดังกล่าว ผ่านสิทธิประโยชน์ และมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายปลายทางในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแรงงานประสบความสำเร็จ

[ภาคการเมืองคิดอย่างไรกับแรงงานข้ามชาติ?]

“ในพื้นที่ชลบุรีมีแรงงานข้ามชาติค่อนข้างเยอะมาก และอยู่ร่วมกับคนไทยในพื้นที่กันมานานแล้ว” สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคประชาชน กล่าวในฐานะผู้แทนราษฎรถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติใน จ.ชลบุรี 

เขายอมรับว่า เริ่มเห็นการจับกลุ่มอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ห้องเช่าราคาถูกตึกหนึ่งๆ มีแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยหลักพันคน นำมาซึ่งปัญหาร้องเรียนในพื้นที่ “ได้รับการร้องเรียนการดื่มสุรา ส่งเสียงดัง การเคี้ยวหมากและบ้วนตามพื้น รวมทั้งการทำอาชีพสงวนต่างๆ”

สหัสวัตมองว่า เรื่องของอาชีพสงวน ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 นั้นมีความล้าสมัย และต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับแก้ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มคนไทยต่อแรงงานข้ามชาติ

“แรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ ว่าพวกเขาสำคัญในมิติเศรษฐกิจ นโยบายของพรรคประชาชนชัดเจนว่า กระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติ ต้องนำพวกเขาทั้งหมดเข้ามาสู่ในระบบ”

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น สหัสวัต กล่าวว่า รัฐต้องรู้ว่าตอนนี้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำอาชีพอะไรบ้าง เพื่อจัดสัดส่วนว่า ภาคส่วนใดต้องการใช้แรงงานข้ามชาติ และอาชีพใดที่ควรสงวนไว้สำหรับคนไทย “ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ถ้าแรงงานข้ามชาติหายไป หลายอุตสาหกรรมแทบจะพังทลายได้เลย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง และงานก่อสร้าง”

ดังนั้น ในระดับนโยบาย ภาครัฐต้องดูแลแรงงานข้ามชาติ ในฐานะฟันเฟืองหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเรื่องของการให้สิทธิแรงงาน สหัสวัตมองว่า แรงงานข้ามชาติควรได้เหมือนแรงงานไทย โดยเฉพาะหากพวกเขามีสิทธิอยู่ในกองทุนประกันสังคม ที่ร่วมจ่ายตั้งแต่ต้น ยิ่งต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

“ต้องแยกระหว่างสิทธิแรงงาน กับสิทธิในฐานะพลเมืองไทยออกมาก่อน” สหัสวัตเน้นย้ำ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า แรงงานข้ามชาติต้องได้รับสิทธิเหมือนคนไทยทุกประการ 

สหัสวัตชวนคิดช่วงท้ายว่า สิ่งที่ต้องยอมรับ ไม่เพียงแรงงานข้ามชาติเมียนมา หนีภัยสงครามและภัยเศรษฐกิจ เพื่อหาทางรอดทั้งเรื่องเงินและชีวิตในประเทศไทย แต่เราเองก็ต้องยอมรับ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มแรงงานข้ามชาติสาธิตการทำอาหารเมนูแกงไก่บ้านพม่า ภายใต้กิจกรรมล้อมวงกินข้าวเข้าครัวมัณฑะเลย์

ย้อนไปตอนท้ายของการพูดคุยกับ เก๋ เธอเล่าชีวิตส่วนตัวเพิ่มเติมว่า สมัยเด็กๆ เธอเคยมาอยู่อาศัยที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จึงทำให้เวลาในชีวิตของเธออยู่ในประเทศไทย มากกว่าที่เมียนมาเสียอีก วันนี้เก๋มีลูกที่กำลังเติบโตขึ้นมาในสังคมไทย เธอกล่าวว่าถ้าวันหนึ่งลูกเธอมีโอกาสก็อยากให้ไปใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศที่สาม

“เมื่อลูกเราโตขึ้น เราไม่เห็นภาพอนาคตในประเทศเมียนมา และการที่เขาอยู่ประเทศไทยยังคงมีเรื่องการไม่ถูกยอมรับและโอกาสบางอย่างที่หายไป”

แต่คำปรารถนานี้จะต่างออกไปสิ้นเชิง หากสถานการณ์ดีขึ้น ลูกๆ ของเธอเติบโตโดยได้รับโอกาส และการยอมรับเพิ่มขึ้นในประเทศไทย “เราอยากให้เขาอยู่เมืองไทย เราโตมาในประเทศนี้ที่นี่ เหมือนบ้านหลังที่สอง เราใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนคุ้นชินกับคนไทย ภาษา วัฒนธรรม เราคล่องตัวในการใช้ชีวิตที่ประเทศไทย ที่เมียนมาเรากลับไม่คุ้นชินด้วยซ้ำ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า