Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แม้ว่าจะก่อตั้งได้เพียง 2 ปี แต่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็ได้เดินหน้าทำภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม

ที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากหนึ่งในนั้นก็คือ การจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE นวัตกรรมที่ใช้เป็นฐานข้อมูลติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา จนได้รับความชื่นชมจากองค์การยูเนสโก

อย่างไรก็ตาม iSEE ซึ่งพัฒนาขึ้นในเวอร์ชันแรกมุ่งเน้นในการรวบรวมข้อมูลที่ได้จาก สพฐ. เป็นหลัก โดยมีข้อมูลโรงเรียนประมาณ 27,000 แห่ง และแสดงผลได้เพียงจำนวนเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ และจำนวนเด็กนอกระบบ ในระดับโรงเรียนเท่านั้น

กสศ. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวการจัดทำ “iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสในประเทศไทยอย่างครอบคลุมและรอบด้านในทุกมิติ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูล ที่สำคัญยังสามารถค้นหาโรงเรียน หรือนักเรียนยากจน และเด็กด้อยโอกาส เพื่อบริจาคหรือมอบความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” จึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามสภาพปัญหาอย่างแท้จริง โดย กสศ. ต้องการจัดทำให้เป็น user- centered data Visualization Tools หรือนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบที่ง่ายและสอดคล้องกับการใช้จริงของภาคีเครือข่าย ในการทำให้สังคมไทยมองเห็นเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่าน 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. มีระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลในหลายกระทรวง
  2. Virtual Live ข้อมูล ให้เป็น user center design มีการทำกราฟ/ตารางที่ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างง่าย
  3. ปฏิรูปกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การระดมทุน หรือ การจัดค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่สามารถมองเห็นเด็กหรือโรงเรียนได้ชัดมากที่สุด
  4. ขับเคลื่อนทรัพยากรและเครือข่ายในสังคมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  5. สนับสนุนผู้ที่ต้องการเป็นนักวิจัย start up ผู้ประกอบการทางสังคม และสื่อมวลชน ให้มีพลังในการขับเคลื่อนวาระทางสังคมมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา

นอกจากนี้ ระบบ iSEE ยังมีระบบการตอบกลับที่เป็นวงจร สามารถนำข้อมูลกลับมารายงานได้ว่ามีจำนวนเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ เด็กที่จบการศึกษา รวมถึงเด็กที่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วกี่คน ทั้งนี้ กสศ. หวังว่าระบบ iSEE จะมีผู้ใช้งานเข้ามาใช้ฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่องจนเกิดความยั่งยืน เพื่อให้กรอบการทำงานระยะยาวของ กสศ. ที่มองว่า Data เป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์นำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน โดยเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง

ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ทำนโยบาย “มองเห็น” สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงาน ภาคีต่างๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

“ระบบ iSEE นับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการศึกษาที่จะช่วยยกระดับการค้นหา คัดกรองเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างละเอียด โดยจะสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน จนถึงรายบุคคล ทำให้ติดตามสถานการณ์การศึกษา อัตราการมาเรียน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต ฯลฯ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือได้เข้าถึงตัวเด็กอย่างทันท่วงที โดยมีจุดเด่นคือ การแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสถานะครัวเรือนและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ข้อมูลการเดินทางระหว่างไปโรงเรียน ข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโรงเรียน

ดร.ไกรยส ยังกล่าวอีกว่า โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บางคนคิดว่าเป็นโจทย์ของระบบการศึกษาเพียงลำพัง แต่เมื่อได้ทำ iSEE 2.0 โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด -19 ยิ่งทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์ที่กว้างกว่าระบบการศึกษา และ กสศ. ควรจะใช้โอกาสนี้ในการเชื่อมโยงสถานการณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลกลาง เพื่อให้ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีข้อมูลด้านสุขภาพ สังคม การศึกษา และท้องถิ่นเป็นอย่างไร โรงเรียนแต่ละแห่ง แต่ละสังกัดมีความแตกต่าง หลากหลายอย่างไร

อย่างการประมวลผลข้อมูลพบว่า ปี 2562 มีนักเรียนในระบบการศึกษาหายไปครึ่งหนึ่งหลังจบ ม.3 ยังพบว่า 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกันแล้วก็จัดทำ Data Visualization นำเสนอข้อมูลอยู่บนระนาบเดียวกัน เราก็สามารถเห็นข้อมูลของนักเรียนในทุกสังกัดพร้อมกัน สามารถเลือกทำงานหรือเข้าไปช่วยเหลือเด็กในแต่ละสังกัดได้อย่างรอบด้านและเหมาะสม โดย iSEE 2.0 นอกจากจะสามารถนำเสนอข้อมูลได้หลายระดับ ยังสามารถนำข้อมูลสถิติในรูปแบบกราฟมาใช้ได้ รวมทั้งยังสามารถดาวน์โหลดเป็นไฟล์ JPEG , PDF, EXCEL ไปใช้งานได้อย่างสะดวกสำหรับคนที่สนใจข้อมูลสถิติด้านการเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“ผมคาดหวังว่า iSEE 2.0 จะเป็นทางเลือกสำคัญที่สามารถวางแผน คิดโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม หรือคิดโครงการที่จะไปขอทุนในแหล่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งมาทำงานกับ กสศ. ได้ง่ายขึ้น และตรงจุดมากขึ้น ง่ายๆ คืองานอาสาสมัคร เช่น ค่ายอาสาพัฒนาชนบทในมหาวิทยาลัย เด็กค่ายอยากจะไปทำค่ายในโรงเรียนที่ต้องการ การสนับสนุนอย่างดีที่ขาดแคลนอย่างแท้จริงก็สามารถมาใช้ระบบ iSEE ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราหวังคือ Anyone, Anywhere, Anytime ใครอยากจะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเข้ามาดูระบบข้อมูลใน iSEE ก่อน สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง แล้วก็ส่งต่อได้ด้วย คือไปชวนคน ไประดมทุน ระดมเงินบริจาค หรือไประดมเครือข่ายมาสร้างโอกาสเพื่อการศึกษาของเด็กๆ อันนี้เราให้ความสำคัญมากกว่าจำนวนผู้เข้ามาใช้ในระบบ เพราะหากมีคนเป็นร้อยคนมาใช้ แต่ไม่ได้เอาไปช่วยเด็กเลยก็ไม่มีประโยชน์ แต่หากนำไปใช้ เช่น ทำสตาร์ทอัพ แล้วสามารถนำกลับมาช่วยเด็กเป็นพันเป็นหมื่น แบบนี้จะส่งผลดีต่อสังคมอย่างแน่นอน”

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาระบบ iSEE อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า iSEE 2.0 เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง กสศ. กับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมือจากครู บุคลากรในสถานศึกษากว่า 50,000 คน ในการลงไปเยี่ยมบ้านเด็กและเยาวชน เพื่อเก็บข้อมูลสภาพบ้าน สภาพครัวเรือน เศรษฐกิจ สถานะ ฯลฯ มาให้ และยังมีอาสาสมัครในพื้นที่ 20 จังหวัด นับเป็นการร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยมี กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดระเบียบ จัดเตรียม แล้วนำขึ้นมาฉายให้เป็นภาพ เพื่อทำให้เกิดการนำไปใช้กว้างขวางขึ้น

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาระบบ iSEE 2.0

“เป้าหมายหลักของเราคือต้องการให้ประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์หลักของการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในเรื่องการศึกษา เพื่อทำให้เกิดการนำไปขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายของประเทศ และในระดับพื้นที่ สถานศึกษาเองก็มีข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาการทำงานของสถานศึกษา รวมถึงการดูแลเด็กเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ เรายังต้องการเปิดให้บุคคลภายนอกที่อยู่นอกระบบการศึกษา เช่น สื่อมวลชน บริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไป ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องการพัฒนาการศึกษาและลดการเหลื่อมล้ำ

ส่วนข้อมูลเราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลในเชิงสถิติได้ก่อน และหากต้องการที่จะลงไปให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ กสศ.ได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อเพื่อช่วยเหลือได้ที่โรงเรียนโดยตรง ที่ผ่านมา iSEE เวอร์ชันเก่า แม้ว่าจะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ แต่เป็นที่น่ายินดีว่าได้มีการนำไปใช้ขับเคลื่อนในระดับนโยบายหลายส่วน หลายโครงการ ตั้งแต่เด็กในระบบ เด็กนอกระบบ จนถึงเด็กในรายบุคคล โรงเรียนที่ขาดแคลน เป็นต้น”  

การแถลงข่าวการจัดทำ iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ยังมีเวทีเสวนา “EdTech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data Activism) กรณีศึกษาระบบ iSEE กับการระดมความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยมีการแชร์ประสบการณ์ด้านการศึกษาจาก 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพและการลงทุน กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการศึกษา และสื่อมวลชน

นายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะมือปั้น Startup มือหนึ่งของไทย กล่าวถึง ed tech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลว่า จากการที่ตัวเองทำงานด้านสตาร์ทอัพมาหลายปี และตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่ลงทุนอยู่ด้วย 79 ราย และในฐานะผู้ปั้นสตาร์ทอัพในประเทศไทย ทำให้รู้ว่าฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดสตาร์ทอัพอย่างมาก และระบบ iSEE 2.0 ของ กสศ.ทำให้ทราบว่า จะต้องพัฒนาระบบที่สตาร์ทอัพสามารถนำไปใช้ได้ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้ อยากชวน สตาร์ทอัพ มาใช้ข้อมูล iSEE 2.0 เพื่อจะได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ช่วยเหลือสังคม และช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้วิเคราะห์ได้ถูกต้อง ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพมองเห็นปัญหา แต่ไม่สามารถใส่ข้อมูลลงไปได้ พอได้ทำงานกับ กสศ. มาระยะหนึ่ง ทำให้ทราบว่าจะใส่ข้อมูลอะไรลงไป

เรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

ผมมองว่าแพลตฟอร์มตรงนี้มันดีมาก เพราะเราสามารถเห็นทันทีเลยว่าปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน เวลาที่เห็นตัวเลขที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นว่าปัญหามันคืออะไร บางครั้งเราไม่รู้ว่าปัญหามันขนาดไหน แต่เมื่อมีข้อมูลจะทำให้เรารู้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเวลาที่ผมเห็นตัวเลขของ กสศ. มันจะไม่ใช่เฉพาะตัวเลข แต่ผมเห็นสิ่งมีชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนผมก็เป็นคนคนนั้น วันนี้ต้องขอบคุณ กสศ. ด้วยแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมันทำให้เราเห็นเด็กเหล่านี้มีตัวตนขึ้นมา แล้วรู้ทันที เรากำลังจะไปช่วยเขา ถ้าเราใส่ข้อมูลและวัดตรงนี้ได้

ผมอยากชวนสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยกัน เพราะสตาร์ทอัพคือการเปลี่ยนแปลงโลก แม้ว่ามันจะเหนื่อยยากลำบาก แต่ผมว่าวันนี้ชีวิตคนเรามันสั้นเกินไปที่จะสร้างอะไรที่ไม่มีความหมายแล้ว วันนี้เรามีพันธมิตรทั้งกับ กสศ. และพันธมิตรอื่นๆ อีกมาก เรามีข้อมูลซึ่งมันมีพลังมหาศาล แม้ว่าคุณจะอยู่ในท้องถิ่น แต่ถ้าคุณมีเครื่องมือ คุณก็สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะการศึกษามันยิ่งใหญ่ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนตัวเลขแค่หนึ่งให้เป็นเลขศูนย์ได้ วันนั้นคุณได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะคุณได้เปลี่ยนชีวิตของคนหนึ่งคนแล้ว”  

นายเรืองโรจน์ กล่าวว่าอีกว่า ระบบ iSEE เป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต หากผู้สนใจอยากได้ฟีเจอร์อะไรเพิ่มเติม ก็สามารถเข้ามาร่วมพัฒนากับ กสศ.ได้ โดยการันตีว่าตนลงทุนกับสตาร์ทอัพ 79  บริษัท แต่ กสศ. สร้างระบบนี้ได้เร็วกว่าบางบริษัทด้วยซ้ำ

“มาช่วยกันได้ แค่คุณคลิก แชร์ดาต้านี้นำไปบอกเล่า ก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในแบบของคุณได้แล้ว”

 

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้ง startdee เน็ตฟลิกซ์แห่งวงการการศึกษาไทย กล่าวว่า สตาร์ทดีต้องขอบคุณ กสศ. เพราะหลายเรื่องต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลของ กสศ. ทั้งสตาร์ทดีและ กสศ. มีเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำสองตลบ ตลบที่หนึ่งเป็นคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ระหว่างหัวเมืองกับชนบท และตลบที่สองคือ ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียน ก็ถูกปิดกั้นด้วยวัฒนธรรมการเรียนพิเศษที่ราคาค่อนข้างสูง สิ่งที่เล็งเห็นคือสัดส่วนเด็กไทยที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่สูงมาก

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้ง startdee

“ผมอยากเชิญชวนทุกคนหันมาสนใจเรื่องการศึกษาก่อน ผมเชื่อว่าแทบทุกปัญหาที่เกิดในบ้านเมืองเราในปัจจุบัน มันแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่แก้ที่การศึกษา เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีการชะลอตัวมากขึ้น ทำอย่างไรให้ทุกคนมีทักษะตอบโจทย์ของตลาดแรงงานในอนาคต ก็ต้องย้อนกลับมาดูการออกแบบหลักสูตร วิธีการสอนในโรงเรียน ประเทศไทยเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก แล้วความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้ไหม ? ถ้าเด็กสองคนเกิดมาแล้วได้รับการศึกษาที่แตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอยู่ที่การศึกษา พอเข้ามาสนใจเรื่องการศึกษาแล้วเราจะเข้าใจเรื่องตรงนี้ ซึ่งผมมองว่าเราได้เห็นจังหวะก้าวการทำงานของ กสศ. เร็วกว่าการทำงานของภาครัฐที่เราคุ้นเคย การช่วยลดความเสมอภาคไม่จำเป็นต้องให้สิ่งเดียวกับทุกคน แต่สามารถให้สิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคน ซึ่งเครื่องมืออย่าง iSEE ช่วยสตาร์ทอัพอย่างสตาร์ทดีให้ไปสู่เป้าหมายจุดนั้นได้”

นายพริษฐ์ กล่าวว่า การใช้งานในส่วนของระบบ iSEE ส่วนแรกมาจากความสงสัยส่วนตัว ต้องการตรวจสอบตัวเอง อยากรู้ว่าเด็กที่เข้าถึงแอปพลิเคชันของสตาร์ดี เป็นเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน จึงนำข้อมูลโรงเรียนของนักเรียนที่มาใช้แอปพลิเคชันไปจับคู่กับข้อมูลใน iSEE ดูว่าโรงเรียนนี้มีสัดส่วนเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กยากจน 80-100%  เมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายแล้วก็ทำให้สามารถออกแบบการเรียนรู้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะรู้ว่าเรากำลังช่วยเหลือใครอยู่ ทำให้สามารถต่อยอดได้ เพราะมีเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุนเรื่องการศึกษา

“เรานำข้อมูล กสศ.มาเทียบว่าเด็กคนไหนมีกำลังจ่าย มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีฐานะดีอยู่แล้ว ทุนการศึกษาจะให้คนอื่น ซึ่งเรานำทุกโรงเรียนที่อยู่ในระบบเรามากางและเทียบสัดส่วนเด็กยากจนจากมากไปน้อย”

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว 3 มิติ

ด้าน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว 3 มิติ  กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานข่าวที่ผ่านมาได้เจอปัญหาของเด็ก และโรงเรียนที่ยากจน จึงนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ แต่พอมีคนมาถามว่าจะไปบริจาคให้เด็กยากจนที่ไหนได้บ้าง เราก็บอกได้ไม่หมด บอกได้แค่ที่ไปเจอ แต่พอมีฐานข้อมูล iSEE 2.0 ทำให้ทราบว่า จริงๆ แล้วมีเด็กยากจน และต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้นต้องการให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

“แม้การศึกษาจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก แต่การทำงานของสื่อในปัจจุบันกลับไม่มีนักข่าวประจำกระทรวงต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ทุกคนล้วนละลายไปกับระบบใหม่ คนคนหนึ่งทำได้แทบทุกข่าว แต่ไม่สามารถเจาะลึกในบางเรื่องได้ ซึ่งต้องอาศัยการคลุกคลีอยู่ในวงนั้นๆ จึงอาจจะไม่สามารถสะท้อนปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาคน”

iSEE 2.0 นับเป็นมิติใหม่ในวงการการศึกษาไทย ที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ผู้ที่สนใจข้อมูล ต้องการค้นหาโรงเรียนหรือนักเรียนยากจน เด็กด้อยโอกาส เพื่อบริจาคหรือมอบความช่วยเหลือต่างๆ หรืออยากลองใช้ระบบ iSEE 2.0 สามารถคลิกเข้าไปได้เลยที่ https://isee.eef.or.th/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า