Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกคนชอบพูดว่าแมวจะครองโลก ซึ่งก็อาจใกล้ความจริงแล้วก็ได้ อย่างในโลกออนไลน์เชื่อว่าทุกคนเคยผ่านตากับ “มีมแมว” ที่อาจปรากฎบนหน้าฟีดของหลายๆ คน แทนการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ส่วนที่ญี่ปุ่น ดูเหมือนว่าเหล่าแมวเหมียวยังได้ชิงพื้นที่โลกหนังสือไปครอบครองได้แล้ว เมื่อนักเขียนญี่ปุ่นผลิตวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับแมว มีแมวเป็นตัวเอก หรือเป็นตัวละครที่สำคัญในเรื่องออกมามากมายในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และความนิยมในวรรณกรรมแมวญี่ปุ่นนี้ยังแผ่ขยายไปยังตลาดนอกประเทศอีกด้วย

บทความ “How Japan’s ‘cat lit’ lures fans abroad” ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Nikkei Asia ระบุว่า ครั้งแรกที่วรรณกรรมเกี่ยวกับแมวของนักเขียนญี่ปุ่นเป็นที่สนใจของนักอ่านต่างชาติคือราวกลางทศวรรษ 2010 แต่ตอนนี้วรรณกรรมแมวแทบจะกลายเป็นกลุ่มย่อยของวรรณกรรมประเภทหนึ่งไปแล้ว

‘ลูอิส ฮีล คาไว’ นักแปลวรรณกรรมภาษาญี่ปุ่นชื่อดังบอกว่า แต่ก่อนเมื่อพูดถึงโลกวรรณกรรมญี่ปุ่นบรรดาสำนักพิมพ์ล้วนให้ความสนใจไปที่ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังและเป็นเจ้าของผลงานนิยายยอดนิยมมากมายที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา แต่ตอนนี้ความสนใจของสำนักพิมพ์เหล่านี้หันไปที่ ‘แมว’

แม้ตอนนี้ญี่ปุ่นมีประชากรแมวที่ถูกเลี้ยงในฐานะสัตว์เลี้ยงราว 9.1 ล้านตัว แต่แมวที่เลี้ยงกันอยู่ตามบ้านเรือนนั้นไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของญี่ปุ่น โดยเชื่อกันว่าพวกมันถูกนำเข้ามาจากจีนพร้อมกับการเผยแผ่พุทธศาสนา

บทความจาก Nikkei Asia  ระบุว่าบันทึกฉบับแรกที่เกี่ยวกับแมวที่ปรากฏในญี่ปุ่นสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึง ค.ศ. 889 ที่พูดถึงจักรพรรดิหนุ่มองค์หนึ่งตรัสชื่นชมแมวในฐานะสัตว์สายพันธุ์จากต่างถิ่นที่ทรงได้รับเป็นของขวัญว่า “มีขนฟูเหมือนน้ำหมึกสีเข้มที่สุด” มีเสียงร้องเหมียวเหมือนเสียงร้องอันโดดเดี่ยวของ “มังกรดำที่ลอยอยู่เหนือเมฆ” และยังตรัสว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่ามันเหนือกว่าแมวตัวอื่นทุกตัว” เป็นการตบท้าย สะท้อนให้เห็นว่าจักรรดิหนุ่มพระองค์นี้ได้ทรงถูก “ตก” ให้เป็นทาสแมวตัวดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย

หลังจากนั้น ก็มีการพูดถึงแมวในนิทานพื้นบ้านทั้งในฐานะแมวกวักนำโชคและปีศาจกินซากศพ โดยหลังการฟื้นฟูเมจิปี 1868 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประตูสู่โลกภายนอกและรับแนวคิดและความเป็นตะวันตกเข้ามา ซึ่งนั่นรวมถึงรูปแบบวรรณกรรมแบบตะวันตก ก็ทำให้เกิดผลงานวรรณกรรมชื่อ “I Am a Cat” ของนักเขียน ‘นัตสึเมะ โซเซกิ’ (วรรณกรรมเรื่องนี้ยังถูกแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว”) ซึ่งถูกตีพิมพ์ตอนแรกครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 1905 ในนิตยสารและได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะที่ในผลงานวรรณกรรมของมูราคามิ นักเขียนชื่อดังร่วมสมัย ก็มีแมวปรากฏอยู่บ่อยครั้งด้วยเช่นกัน

และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทรนด์วรรณกรรมที่มีแมวก็ยิ่งเฟื่องฟู โดยข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติของญี่ปุ่น  (National Diet Library) ระบุว่า จำนวนหนังสือญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับแมว มีคำว่าแมวอยู่ในชื่อเรื่องที่ถูกตีพิมพ์นั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และเพิ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญหลังปี 2011 สวนทางกับวรรณกรรมเกี่ยวกับเจ้าตูบที่ลดลงตั้งแต่ปี 2005 ก่อนถูกงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับแมวแซงหน้าไปในปี 2008

วรรณกรรมญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับแมวยังดูเหมือนกำลังอยู่ในช่วงความนิยมขาขึ้นในตลาดต่างประเทศด้วย โดย ‘เจน ลอว์สัน’ (Jane Lawson) รองผู้จัดพิมพ์ของ Doubleday Books สำนักพิมพ์ในเครือของ Penguin Random House ซึ่งเป็นธุรกิจสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลกบอกว่า เธอตัดสินใจเลือกวรรณกรรม “The Guest Cat” โดยนักเขียนและนักแต่งกลอนชาวญี่ปุ่น ‘ทาคาชิ ฮิราอิเดะ’ (Takashi Hiraide) ซึ่งเล่าเรื่องราวความผูกพันของแมวแปลกหน้ากับคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งมาตีพิมพ์ก็เพราะ เธอถูก “ตก” จากดวงตาสีเขียวของรูปวาดเจ้าเหมียวหน้ากลมบนปกหนังสือเล่มดังกล่าวที่วางอยู่บนชั้น ซึ่งวรรณกรรมแมวเล่มนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศด้วย

ยังมีหนังสือนิยายแมวๆ อีกหลายเรื่องที่ถูกแปลและตีพิมพ์โดย Doubleday Books และกลายเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับแมวที่ครองใจนักอ่านในตลาดต่างประเทศ  เช่น “The Travelling Cat Chronicles” ที่ขายไปแล้วกว่า 1 ล้านเล่ม  “She and Her Cat” ซึ่งเรื่องนี้ยังได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “เธอและแมวตัวนั้น” และ “We’ll Prescribe You a Cat” โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของนักเขียนชาวญี่ปุ่น

รองผู้จัดพิมพ์ของ Doubleday Books บอกว่าหนังสือเกี่ยวกับแมวส่วนใหญ่ของสำนักพิมพ์จะมียอดขายมากกว่า 100,000 เล่ม ในขณะที่หนังสืออื่นๆ ร้อยละ 90 มียอดขายต่ำกว่า 2,000 เล่ม ตัวเลขยอดขายนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับแมวได้รับความนิยมมากขนาดไหน

แม้ยากจะฟันธงว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ให้หนังสือเกี่ยวกับแมวได้รับความนิยม แต่ Nikkei Asia รายงานอ้างอิงผู้จัดพิมพ์หลายรายที่บอกว่าอินสตาแกรมและติ๊กต็อกมีส่วนสำคัญ โดยภาพปกสวยๆ รูปแมวทำงานเรียกร้องความสนใจของนักอ่านได้ดีผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ และคนชอบหนังสือก็มักจะชอบไอเดียของการมีเพื่อนเป็นแมวเหมียวที่ชอบความเงียบสงบ

นอกจากนี้ อนิเมะและมังงะญี่ปุ่นที่มีแมวเป็นตัวละครเอกก็ถูกมองว่ามีส่วนทำให้คนสนใจเรื่องแมวๆ ของญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมก่อนจะเริ่มอ่านวรรณกรรมแมวของนักเขียนญี่ปุ่น ขณะที่ ‘เอลิสัน ฟลินเชอร์’ (Alison Fincher) นักจัดรายการพอดแคสต์เกี่ยวกับวรรณกรรมญี่ปุ่นระบุว่า การมีภาพแมวอยู่บนปกหนังสือได้กลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้วว่า หนังสือพวกนั้นจะเป็นเล่มที่อ่านเพื่อการ “ฮีลใจ” มีคนมากมายที่ใช้วิธีการอ่านวรรณกรรมเกี่ยวกับแมวเพื่อเป็นวิธีการในการรับมือกับปัญหาบางอย่างที่ส่งผลต่ออารมณ์หรือจิตใจที่พวกเขาต้องเจอด้วย

ทำไมใครๆ ก็เป็นทาสแมว

นอกจากมีแมวในหนังสือมากมายแล้ว ในญี่ปุ่นแมวยังปรากฏอยู่ในงานศิลปะประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรืออิโมจิที่ใช้กันในโลกออนไลน์  แมวแทบจะกลายเป็นอีกภาพลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปแล้ว

รายงานเมื่อปี 2017 ของเว็บไซต์ Nippon.com ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางสังคมของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนสนใจเรื่องแมว กลายเป็นพ่อแม่แมว (และทาสแมว!) เนื่องจากญี่ปุ่นมีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง คนมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น นี่เปิดทางให้เจ้าเหมียวได้ค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของบ้าน มีครัวเรือนมากมายที่เลี้ยงแมวในฐานะสมาชิกของครอบครัวไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง คนที่ไม่มีลูกหรือเลือกที่จะไม่มีลูก ก็เลี้ยงแมวเป็นลูกแทน

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของญี่ปุ่นยังมาในรูปแบบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่งรวดเร็วและคนหลั่งไหลเข้ามายังเมืองใหญ่โดยต้องอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด นี่ทำให้แมวดูจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพื้นที่เล็กๆ และยังง่ายกว่าสำหรับคนสูงอายุในการดูแล เพราะไม่จำเป็นต้องพาเจ้าเหมียวออกไปเดินเล่นทุกวันเหมือนการเลี้ยงสุนัข ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถูกมองว่ามีผลที่ทำให้จำนวนประชากรสุนัขในญี่ปุ่นที่ถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงลดลงจากเกือบ 12 ล้านตัวในปี 2011 ลงมาเหลือราว 6.8 แสนในปี 2023

ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่น ข้อมูลจากเว็บไซต์ petfoodindutry.com รายงานอ้างอิง ‘แมททิแอส คอช’ (Matthias Koch) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ Anibene ผู้จัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงยักษ์ใหญ่ที่กระจายสินค้าจากยุโรปมายังเอเชียที่ระบุว่า ในหลายประเทศในเอเชียรวมถึงจีน จำนวนของแมวในฐานะสัตว์เลี้ยงเริ่มแซงหน้าสุนัขตั้งแต่ปี 2021 โดยปัจจัยมาจากทั้งการระบาดใหญ่ของโควิด การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นที่ทำให้คนต้องย้ายมาอยู่ในที่พักที่ขนาดเล็กลง การเลี้ยงแมวจึงได้รับความนิยมมากกว่า ในขณะที่จำนวนประชากรสุนัขขนาดกลางไปจนถึงใหญ่ยังคงที่หรือเริ่มลดลงในบางประเทศในเอเชีย

เอเชียไม่ใช่ที่เดียวที่คนเลี้ยงแมวมากขึ้น โดยในยุโรปที่คนอาศัยอยู่ในที่พักอาศัยที่เล็กลงก็มีแนวโน้มแบบเดียวกัน ข้อมูลจาก FEDIAF ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในยุโรประบุว่าจำนวนแมวมากกว่าสุนัขที่ 127 ล้านตัวต่อ 104 ล้านตัว

ส่วนในสหรัฐฯ จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงลูกแมวก็เพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงลูกสุนัขลดลง โดย ‘เดวิด สปริงเคิล’ (David Sprinkle) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของ Packaged Facts ระบุว่าจำนวนครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาที่มีลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 1 ปี ลดลงจาก 5.6 ล้านครัวเรือนในปี 2014 เหลือ 4.4 ล้านในปี 2023 แต่ขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่มีลูกแมวเพิ่มขึ้นจาก 3.1 ล้านเป็น 3.9 ล้านในช่วงเวลาเดียวกัน

หรือแม้แต่ในอเมริกาใต้ที่ในประเทศส่วนใหญ่ดูเหมือนคนจะชอบหมามากกว่าแมว จนถึงปี 2023 ยอดขายอาหารแมวก็เพิ่มขึ้นที่อัตราเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี ส่วนยอดขายอาหารสุนัขโตที่ร้อยละ 5

ที่มา
https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Tea-Leaves/How-Japan-s-cat-lit-lures-fans-abroad
https://www.nippon.com/en/currents/d00344/
https://mainichi.jp/english/articles/20240111/p2a/00m/0li/025000c#:~:text=The%20overall%20number%20of%20pet,increase%20of%2023%2C000%20from%202022).
https://www.petfoodindustry.com/blogs-columns/adventures-in-pet-food/blog/15637375/cats-cat-food-growing-in-asia-and-around-the-world

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า