Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เราอาจรับรู้กันดีว่า ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการนิยมที่ดีที่สุดในโลกอยู่ในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ประเทศเหล่านี้มีรัฐสวัสดิการนิยมที่มีโมเดลที่ดีมากในโลก

แต่อันที่จริงก่อนจะมาถึงยุคที่กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้รับการชื่นชมเรื่องระบบสวัสดิการนิยม เคยมีประเทศที่ถูกยกย่องว่าเป็น ประเทศที่มีสวัสดิการนิยมที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลกมาก่อน นั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น 

และน่าสนใจว่า ญี่ปุ่นสร้าง ระบบรัฐสวัสดิการนิยม มาจากประเด็น “การทำสงคราม” 

จาก “สงครามสู่สวัสดิการ” มาได้ยังไง

เรามักคิดว่ารัฐสวัสดิการเป็นประดิษฐกรรมของอังกฤษ และรัฐสวัสดิการน่าจะเป็นผลผลิตของแนวคิดแบบ “สังคมนิยม” หรืออย่างน้อยก็ “เสรีนิยม” แต่ต้นกำเนิดกลับเป็นตรงกันข้าม

เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่กำเนิดรัฐสวัสดิการนิยมที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศเยอรมนี โดยต้นกำเนิดมาจาก “นักการเมืองฝ่ายขวา” 

…ฟังไม่ผิด รัฐสวัสดิการนิยมถือกำเนิดครั้งแรกบนโลก เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักการเมืองฝ่ายขวาที่นำระบบนี้มาใช้ด้วยเหตุผล “เพื่อต้องการควบคุมมวลชน” 

นักการเมืองฝ่ายขวา ออตโต้ ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี  

ได้พูดถึงจุดมุ่งหมายในการออกแบบกฎหมายประกันสังคมว่า “เพื่อปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์นิยมในจิตใจของมวลชนทั้งหลายที่ไม่มีทรัพย์สินด้วยการให้พวกเขารู้ว่า พวกเขามีสิทธิในบำนาญเมื่อยามแก่ชราลง”

บิสมาร์ค ที่แม้เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา แต่เขาก็ยอมรับตรงๆว่าข้อเสนอของเขาเป็นความคิดของรัฐสังคมนิยม ที่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องเสียสละช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน 

ซึ่งแนวคิดของบิสมาร์คในเรื่องนี้ ก็ทำให้นักการเมืองฟากเสรีนิยมฝ่ายตรงข้ามพากันประหลาดใจ แต่เหตุจูงใจของบิสมาร์คไม่ใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแนวคิดที่ว่า 

“ใครก็ตามที่นำความคิดนี้มาใช้ จะได้ขึ้นสู่อำนาจ” 

ดังนั้นรัฐสวัสดิการนิยมแบบเวอร์ชั่นแรกของเยอรมันจึงยังมีลักษณะแบบ​ “สงเคราะห์” 

ปฏิรูปจากบนลงล่าง แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นระบบบำนาญและประกันสังคมนั่นเอง 

ต่อมาจึงเริ่มมีการทำรัฐสวัสดิการแบบล่างขึ้นบน

จากเยอรมัน รัฐสวัสดิการถูกนำไปพัฒนาต่อในอังกฤษ จนถูกมองว่า อังกฤษคือผู้สร้างประดิษฐกรรมแรกให้ระบบรัฐสวัสดิการนิยมเข้มแข็งขึ้นมา เมื่อรมว.คลัง สังกัดพรรคเสรีนิยมของอังกฤษที่ชื่อ “เดวิด ลอยด์ จอร์จ” เสนอให้บำนาญเป็นเงินก้อนเล็กๆ แก่ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 70 ปี และมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ ในค.ศ.1911 

ถึงแม้จะเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย แต่ลอยด์ จอร์จ เห็นด้วยกับมุมมองของ บิสมาร์ค นายกเยอรมันว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้เขาชนะเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อคนจำนวนมากมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง คนรวยย่อมมีน้อยกว่าคนจน เมื่อลอยด์ จอร์จ ขึ้นภาษีทางตรงเพื่ออุดหนุนการจ่ายบำนาญของรัฐในปี 1909 ผู้คนต่างชื่นชมเรียกงบประมาณรัฐบาลปีนั้นว่า “งบของประชาชน” 

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ทหารปลดประจำการกลับประเทศ นักการเมืองอังกฤษจึงเร่งออกกฎหมายประกันการว่างงานเพื่อลดผลกระทบต่อตลาดแรงงานเนื่องจากการปลดประจำการทหาร

กระบวนการนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามโลกยุติ 

คนที่วางรากฐานความคิดเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการคือ Sir William Beveridge (วิลเลียม เบเวอร์ริดจ์) นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนรายงานปีค.ศ.1942 เสนอให้รัฐบาลสร้างระบบสวัสดิการ/ระบบประกันสังคม(social insurance) เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ

โครงการประกันสังคมของอังกฤษ เลยขยายครอบคลุมสวัสดิการต่างๆมากขึ้น มีการเสนอแนะให้รัฐดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อขจัดความอัตคัตขัดสน โรคภัย ความไม่รู้หนังสือ ความเสื่อมโทรม และการไม่มีงานทำ ผ่านแผนงานด้านต่างๆ

จนในปี 1943 ยุคสมัยนายกฯวินสตัน เชอร์ชิล ได้สรุปมาตรการดังกล่าวว่าเป็น “ระบบประกันสังคมภาคบังคับของชาติสำหรับประชาชนทุกชนชั้นเพื่อประโยชน์ทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย” 

ข้อเสนอของ วิลเลียม เบเวอร์ริดจ์ ได้รับการตอบรับอย่างมากจากทั้งในอังกฤษและนานาประเทศทั่วโลก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนทั่วโลกถึงคิดว่ารัฐสวัสดิการมีคำว่า “ผลิตในอังกฤษ” Made in England แปะอยู่ 

…ที่เล่ามานี่คือจุดเริ่มต้นที่ว่า การเมืองเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐสวัสดิการ 

แต่รู้หรือไม่ว่า สงครามกลับเป็นตัวช่วยอุ้มชูให้รัฐสวัสดิการเติบใหญ่ 

สิ่งนั้นคือกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น 

อันที่จริงประเทศแรกที่เป็น มหาอำนาจทางสวัสดิการของโลก คือ ญี่ปุ่น ไม่ใช่อังกฤษ ญี่ปุ่นนำหลักสวัสดิการมาพัฒนาต่อยอดใช้อย่างกว้างขวาง และประสบความสำเร็จมากที่สุด

เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1923 อุตสาหกรรมประกันภัยญี่ปุ่นขยายตัว มีการขายประกันความคุ้มครองตั้งแต่ประกันภัยทางทะเล ประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย ประกันการเกณฑ์ทหาร ประกันอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งและประกันการโจรกรรม คนญี่ปุ่นซื้อกรมธรรม์ต่างๆมาก 

ขณะเดียวกันช่วงทศวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นในตอนนั้นมีสวัสดิการสังคมพื้นฐานแล้วบางอย่าง เช่น การประกันอุบัติเหตุในโรงงานและการประกันสุขภาพ จัดให้กับคนงานโรงงานตั้งแต่ปี 1927 แต่ครอบคลุมแรงงานอุตสาหกรรมไม่ทั้งหมดในเวลานั้น 

จนในปี 1937 รัฐบาลของพระจักรพรรดิอนุมัติแผนจัดตั้งกระทรวงสวัสดิการสังคม เพียงสองเดือนหลังญี่ปุ่นเปิดศึกกับจีน 

สาเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมา นั่นก็เพราะความต้องการทหารและแรงงานอย่างมากของรัฐบาลในช่วงศตวรรษที่ 20 ระบบสวัสดิการนิยมและระบบประกันสังคมจึงถูกนำมาใช้เพื่อแลกเปลี่ยน หรือออกแนวเหมือนต่างตอบแทน ว่ารัฐจัดหาสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชน แลกกับการให้ประชาชนเข้ารับราชการทหารที่พร้อมจะสละชีพเพื่อชาติ เพราะญี่ปุ่นก็มีการสู้รบกับจีน รวมทั้งกำลังเตรียมเข้าสู่สงครามขยายจักรวรรดิ์ที่นำมาสู่สงครามโลกครั้งที่2

ขณะเดียวกันเมื่อสงครามเกิดขึ้น บริษัทประกันภัยเอกชนไม่สามารถรับมือโดยลำพัง หนทางที่ใช้คือให้รัฐบาลมารับความเสี่ยงภัยแทน

แปลว่าญี่ปุ่นในทศวรรษ 30 จึงเป็นประเทศ ที่ผสมผสาน ทั้งความเป็นรัฐสงคราม กับรัฐสวัสดิการ เข้าด้วยกัน 

โดยช่วงแรกๆ รัฐบาลได้ประกาศขยายระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะคนงานภาคอุตสาหกรรม จนสุดท้ายเวลาผ่านไปกว่า 6 ปี ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่า จาก 5 แสนกว่าคน เป็นกว่า 40 ล้านคน บุคลากรทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยาถูกเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ พร้อมระบุเป้าหมายของโครงการนี้ไว้ว่า พลเมืองที่แข็งแรงจะเป็นกำลังพลที่แข็งแรงของกองทัพแห่งพระจักรพรรดิต่อไป 

ถึงกับมีคำขวัญช่วงสงครามที่ว่า ประชาชนทุกคนคือทหารกล้า ก็ถูกเปลี่ยนเป็น ประชาชนทุกคนพึงมีประกันสุขภาพ 

ระหว่างสงครามรัฐบาลยังริเริ่มจัดตั้งกองทุนบำนาญภาคบังคับสำหรับกะลาสีเรือและคนงาน รัฐจ่ายให้ 10 % ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบอีกฝ่ายละ 5.5% ของเงินเดือนลูกจ้าง มีการเร่งขยายโครงการบ้านเคหะขนานใหญ่ 

มาตรการเพิ่มเติมหลังสงครามจึงเท่ากับเป็นการขยายนโยบายรัฐสงครามกับรัฐสวัสดิการที่มีมาก่อนแล้ว 

จึงเกิดแนวคิดในขณะน้ันที่ว่า “คนญี่ปุ่นทุกคนควรมีบำนาญ” “คนญี่ปุ่นทุกคนควรมีประกันการว่างงาน” ในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง 

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มต้นสร้างรัฐสวัสดิการมาจากมูลเหตุของเรื่องสงคราม แต่ด้านหนึ่งระบบนี้ก็ถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ญี่ปุ่นก็ค่อยๆใช้เวลาพัฒนาระบบสวัสดการขั้นต่ำแบบถ้วนหน้าได้ในปี 1949 แม้จะอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม โดยญี่ปุ่น

ตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมาเพื่อจัดตั้งระบบประกันสังคมขึ้น โดยนำระบบของอังกฤษมาเป็นต้นแบบ แต่นำมาปรับใช้ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น

และกลายเป็นว่าระบบประกันสังคมและสวัสดิการนิยมของญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลกว่าของอังกฤษ

โดยเป้าหมายญี่ปุ่นคือ นำระบบนี้มาใช้เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนในกรณีเจ็บป่วย บาดเจ็บ คลอดบุตร พิการ ตาย ชราภาพ ว่างงาน มีครอบครัวใหญ่ ฯลฯ อันเป็นเหตุของความยากจน ผ่านการจ่ายเงินสงเคราะห์ของรัฐบาล และให้หลักประกันแก่ผู้ยากไร้ว่าจะสามารถดำรงชีพตามมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำด้วยความช่วยเหลือของรัฐ 

แปลว่า หากมีโรคร้ายมาตั้งแต่เกิดรัฐก็จ่าย หากไม่มีค่าเล่าเรียน รัฐก็จ่าย หากหางานไม่ได้รัฐก็จ่าย หากเจ็บป่วยทำงานไม่ได้รัฐก็จ่าย เมื่อเกษียณอายุ รัฐก็จ่าย และเมื่อเสียชีวิต รัฐก็จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่บุตรและภรรยา 

สิ่งที่พิสูจน์ความสำเร็จของระบบสวัสดิการนิยมของญี่ปุ่น คือ สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญ ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว สึนามิ เพลิงไหม้หลังแผ่นดินไหว ไปจนถึงสงคราม 

จึงเป็นเหตุผลว่ามีคนญี่ปุ่นบางส่วนมองสวัสดิการนิยมของพวกเขาด้วยความรู้สึกชาตินิยมอย่างมาก และเห็นว่าระบบสวัสดิการของรัฐเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น

และทำให้นักการเมืองญี่ปุ่นบางคนถึงกับบอกว่า ญี่ปุ่นคือมหาอำนาจด้านสวัสดิการ เพราะมองว่าระบบสวัสดิการของประเทศแตกต่างและอาจจะเหนือกว่าจากต้นแบบของตะวันตกอย่างอังกฤษ หรือแม้ที่จริงจะเริ่มต้นแรกสุดในโลกที่เยอรมนี 

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่า ระบบของญี่ปุ่นไม่ได้มีรูปแบบพิเศษแตกต่างจากประเทศอื่น ก็ทำเหมือนที่รัฐสวัสดิการส่วนใหญ่มุ่งให้ความคุ้มครองถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย 

แต่สิ่งมหัศจรรย์คือ รัฐสวัสดิการของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพสูง

ประสิทธิภาพสูงนี้วัดโดยดัชนีว่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำในทุกด้านไม่ว่าจะอายุขัยเฉลี่ยของประชากรหรือการศึกษา เพราะตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 70 มีสถิติว่าประชากรญี่ปุ่นจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากถึง 90% เวลาเดียวกันนี้เทียบกับอังกฤษคือจบมัธยมศึกษาตอนปลาย 32% 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหลักประกันว่าผู้ที่เกษียณอายุแล้วทุกคนจะได้รับโบนัสที่ดี นอกเหนือจากเบี้ยรายปีตลอดชีวิตที่ยังเหลืออยู่ มีกินมีใช้ได้พักผ่อนอย่างสุขสบายสมกับที่ทำงานหนักตอนหนุ่มสาว

ในทศวรรษ 70 ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านสวัสดิการที่สามารถควบคุมรายจ่ายด้านสวัสดิการได้อย่างดี นั่นคือใช้จ่ายเงินในเรื่องสวัสดิการนิยมเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เทียบกับสวีเดนที่ใช้ 31 เปอร์เซ็นต์ 

ภาระภาษีและรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นคิดเป็นครึ่งเดียวของอังกฤษ 

ทำให้ญี่ปุ่นในช่วงยุค 70-80 ถูกยกให้เป็น รัฐสวัสดิการที่บริหารจัดการได้ดี ถูกยกว่า 

ญี่ปุ่นสามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ประชาชนทุกคนได้สำเร็จ มาพร้อมกับที่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 60 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และช่วงพีคสุดเกิดขึ้นในช่วง 1970 ญี่ปุ่นสามารถจัดสวัสดิการโดยรัฐสมบูรณ์

แต่เวลาผ่านไปหลังยุค 80 เศรษฐกิจญี่ปุ่นลดความร้อนแรงลงเรื่อยๆ ค่อยๆเข้าสู่สังคมสูงวัย ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ผู้สูงวัยมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น แต่อัตราการเกิดกลับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐเพิ่มขึ้น บริการสังคมและประกันสังคมมีการใช้จ่ายงบประมาณสูง

จากที่ได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจด้านสวัสดิการ 

ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกๆของโลก ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาประชากรสูงอายุหนักหนาสาหัส นั่นแปลว่าจะส่งผลต่อ โครงสร้างระบบกองทุนบำนาญของรัฐที่มีคนเกษียณ คนสูงวัยมากขึ้น

ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนาคาเมอิ ชี้ว่าอัตราส่วนผู้เกษียณอายุของญี่ปุ่นจะเท่ากับคนวัยทำงานในปี 2044 

ผลลัพธ์คือมีการวิเคราะห์ว่าญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาโครงสร้างของระบบสวัสดิการสังคมที่ยอดเยี่ยมในอดีต แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับ “สังคมคนอายุยืน” ทำให้รัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะสวัสดิการสังคมหลังเกษียณสูงขึ้นต่อเนื่อง 

เราจึงได้เห็นการที่ญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการขยายอายุเกษียณออกไป

ไปจนถึงการที่มีสื่อในญี่ปุ่นเองรายงานข่าวปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในญี่ปุ่นหลากหลายแบบ

แต่ถึงที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาด้วยวิธีการขยายอายุเกษียณช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุได้ในระยะสั้น และช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ช่วงหนึ่ง

มีรายงานว่าระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 

จากเคยบริหารจัดการงบสวัสดิการได้ดีเป็นลำดับต้นๆของโลก ปรากฎว่างบประมาณด้านสวัสดิการของญี่ปุ่น คิดเป็น 3 ใน 4 ของรายได้จากภาษีอากร หนี้ของรัฐบาลสูง กองทุนบำเหน็จบำนาญก็ได้รับผลกระทบ

มีนักวิเคราะห์จากฝั่งตะวันตกที่กังวลกับอนาคตของญี่ปุ่น ทั้งสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์แบบ อัตราการเกิดลดลง ประชากรวัยแรงงานลดลง และการที่ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่เปิดรับแรงงานรับผู้อพยพมากนัก ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายประจำปี เช่น ค่าประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หนี้สินของประเทศก็เพิ่มขึ้นเพื่อนำเงินมาใช้ในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 

ดังนั้นเราน่าจะเคยได้เห็นข่าวว่าหนี้สินระดับชาติและระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เรียกว่าถ้าเทียบกับญี่ปุ่น 50-60 ปีก่อน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการออมเป็นอันดับ 1 ของโลก หนี้สินของประเทศแทบไม่มี แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปอย่างมาก

อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP Ratio) เป็นมาตรวัดภาระหนี้ภาครัฐเทียบกับเศรษฐกิจ เป็นการบอกว่าประเทศผลิตได้เท่าไร และมีหนี้เท่าไรในแต่ละปี ที่บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ 

ประเทศไหนที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP สูงก็มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ

พบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ Debt-to-GDP สูงมาก โดยมีมูลค่าหนี้ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ถือเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลกเป็นสัดส่วน 254% ของจีดีพี 

ซึ่งธนาคารโลกเผยแพร่ผลการศึกษาว่าประเทศที่คงอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีไว้ที่มากกว่า 77% เป็นเวลานาน จะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งญี่ปุ่นก็อยู่ในข่ายนี้

ปัจจัยน่าห่วงของญี่ปุ่น คือ จำนวนประชากรที่กำลังหดตัว หนี้สินขยายตัว และการเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติเท่าที่ควร เมื่อหนี้ระยะยาวของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงมีการวิเคราะห์ห่วงไปถึงคนรุ่นหลังของญี่ปุ่นที่ต้องมาแบกภาระหนี้สินมหาศาลนั่นเอง

แต่ใช่ว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะญี่ปุ่นยังมีจุดแข็งบางอย่างที่ยังมีความหวัง ตรงที่ลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นเป็นคนจริงจัง และประวัติศาสตร์ของประเทศที่พาตัวเองฟื้นฟูและรอดพ้นจากยุคสงครามมาได้ ทำให้ประเมินกันว่า แม้ญี่ปุ่นจะไม่ได้กลับมายิ่งใหญ่อย่างในยุคอดีตที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม แต่ศักยภาพและคาแรกเตอร์ของคนญี่ปุ่นอันนี้เป็นพลังที่จะฟื้นฟูประเทศได้ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ยังโดดเด่นและเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกษตรกรรม และด้านการศึกษา

และนี่คือภาพรวม Rise and Fall ของประเทศรัฐสวัสดิการนิยมอย่างญี่ปุ่นที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโมเดลสวัสดิการที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

แม้วันนี้จะรู้กันว่ารัฐสวัสดิการนิยมแบบสังคมประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มนอร์ดิก เช่น สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ประสบความสำเร็จสูงสุด

แต่ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นก็เคยประดิษฐ์โมเดลสวัสดิการนิยมที่ประสบความสำเร็จในอดีตจนถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐทหารสวัสดิการนิยม” 

ในโลกความจริงทุกประเทศต่างมีปัญหาของตัวเอง เราไม่สามารถนำระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งไปประยุกต์ใช้กับอีกประเทศหนึ่งได้โดยง่าย และไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่จะสมบูรณ์ไปทุกด้าน 

หากดูกรณีญี่ปุ่นที่เคยออกแบบระบบสวัสดิการนิยมไว้อย่างดีในอดีต และได้ผลกับสังคมช่วงก่อนยุค 90 แต่ปัจจุบันฟังก์ชั่นที่ออกแบบไว้มาไม่ถึงยุคสังคมผู้สูงวัยที่ถาโถมขนานใหญ่ จึงเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะเราก็เข้าสู่สังคมสูงวัย แก่ก่อนรวย พอจะเห็นตัวอย่างเทียบเคียงกับญี่ปุ่นได้  

แต่จะแตกต่างตรงที่ญี่ปุ่นยังเคยสัมผัสช่วงยุคทองของสวัสดิการนิยมที่ดีที่สุดในโลกช่วงหนึ่ง ส่วนประเทศไทยยังไปไม่ถึงขั้นมีประสิทธิภาพขนาดนั้น

ในบทความของ 101 Public Policy Think Tank ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า สวัสดิการของประชาชนไทยยังไม่สามารถตามทันสวัสดิการของราชการ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าผู้มีสิทธิรับสวัสดิการราชการมีเพียง 5.2 ล้านคนขณะที่ประชากรทั้งหมดมี 66.2 ล้านคน 

รัฐบาลตั้งงบประมาณเป็นสวัสดิการของประชาชน 468,850.4 ล้านบาทในปี 2566 น้อยกว่าของราชการเล็กน้อย แต่ต้องดูแลประชากรถึง 66.2 ล้านคน 

ทีนี้กลับมาดูที่สวัสดิการประชาชนของไทยเรามีกลุ่มใหญ่ๆอะไรบ้าง เรามี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, เงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นเงินสะสมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจ, เงินสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สวัสดิการด้านการศึกษา, งบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด, เงินสมทบกองทุนประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งให้การอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรคนจน’

อันนี้คือหลัก ๆ ที่ประเทศไทยมี ยังไม่ได้พูดถึงคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสวัสดิการนิยมแต่ละประเภท 

จากกรณีญี่ปุ่นมาดูที่ประเทศไทย

ประเทศไทยถูกประกาศว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุ 20-30 % และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 28% ในปี 2574 

เราลองมาจำลองให้เห็นโครงสร้างปัญหาเทียบเคียงญี่ปุ่นกัน เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นกำลังซื้อในประเทศลดลง เพราะพอเข้าวัยเกษียณก็ขาดรายได้ หรือมีรายได้น้อยลง ผลกระทบเป็นลูกโซ่ คือทำให้มีการออมลดลง ขณะที่ประชากรวัยทำงานก็ต้องรับภาระมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงเช่นกัน 

ส่วนผลกระทบต่อรัฐบาลก็จำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ทำให้การลงทุน และการออมของประเทศลดลง เมื่อภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้ รวมทั้งยังเก็บภาษีรายได้น้อยลง เพราะผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น

สิ่งที่เราแตกต่างจากญี่ปุ่นคือ เราไม่ได้มีหนี้ต่อจีดีพีสูงขนาดญี่ปุ่นที่เป็นประเทศมีหนี้สูงที่สุดในโลก

โดยหนี้สาธารณะไทยต่อจีดีพีเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 60.17% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีรายงานว่าหนี้สาธารณะไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 9.8 ล้านล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่ใช่เรื่องเสี่ยงวิกฤติ

แต่เรามีความคล้ายญี่ปุ่นในเรื่อง สังคมสูงวัย จำนวนแรงงานลดลง และมีจำนวนผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น

มีหลายมุมมองเสนอวิธีแก้ปัญหา หรือสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย แบบที่ไม่เป็นภาระเดอะแบกของรัฐจนอ่วมเช่นในญี่ปุ่น 

ข้อเสนอมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ 

การแก้ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ จะทำให้สามารถนำงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แทนจะนำไปใช้ในระบบรัฐราชการที่ใหญ่โต และไม่ตอบสนองความเป็นอยู่ของประชาชน 

ต้องสร้างค่านิยมของภาครัฐที่ต้องยอมรับในมิติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าว่าสำคัญมากไม่ใช่ภาระของประเทศ และการทำระบบภาษีให้เอื้อต่อระบบสวัสดิการถ้วนหน้า 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สวัสดิการนิยมหลายเรื่องเกิดขึ้นได้ก็มาจากกระบวนการทางการเมืองร่วมรับผิดชอบผลักดันด้วย เช่น ระบบสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า เกิดในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ส่วนการเรียนฟรีและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกิดในรัฐบาลประชาธิปัตย์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ 

ดังนั้นหากจะออกแบบระบบสวัสดิการนิยมให้ไม่เป็นภาระต่อประเทศ และหาฟังก์ชั่นที่ลงตัวที่สุด ไม่ให้มีผลกระทบระยะยาวแบบญี่ปุ่น เราลองย้อนไปดูงานวิจัย ที่ชื่อ “สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ..2560” โดย ดร. สมชัย จิตสุชนและคณะ ชี้ให้เห็นว่า หากมีการจัดการที่ดีพอ โดยกำหนดประเภทและระดับสวัสดิการที่คนไทยควรได้รับตั้งแต่เกิดจนตาย โดยยึดหลักความสมเหตุสมผล ไม่มากไปและไม่น้อยไป 

จากนั้นทำการคำนวณงบประมาณภาครัฐที่จะต้องใช้โดยอิงกับฐานข้อมูลการใช้จ่ายจริงต่อหัว แล้วจึงเสนอแนะแนวทางในการจัดหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อให้คนไทยสามารถมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าพื้นฐานและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังระยะยาวได้ 

รวมทั้งต้องมีฐานคิดที่ว่า การใช้จ่ายในด้านสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้านั้น ไม่ใช่เงินที่สูญเปล่าหรือเงินสงเคราะห์คนจนและผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น หากเป็นการลงทุนทางสังคม ที่มีผลไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างทั่วถึง ระยะยาวจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต 

อีกส่วนสำคัญคือจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำปมใหญ่สำคัญหนึ่งของประเทศเวลานี้

ดังนั้นจะเห็นว่ากรณีศึกษารัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบ วางจุดที่ลงตัวเหมาะสมของแต่ละประเทศ เพราะปัญหาของแต่ละประเทศเหมือนและแตกต่างกันไปตามปัจจัย 

แต่จะทำให้ได้ผล ก็ต้องเป็นการออกแบบสังคมร่วมกัน ที่จะดีไซน์สวัสดิการนิยมถ้วนหน้าประเภทไหนบ้างที่ตรงบริบทสังคมไทยจริง ๆ ให้เกิดขึ้นได้ และทุกฝ่ายพร้อมจะเห็นร่วมกันช่วยกันผลักดันสร้างกระบวนการให้สวัสดิการนิยมจริตประเทศไทยเกิดขึ้นและมีฟังกชั่นที่มีประสิทธิภาพ 

แนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บรรยายถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย สิทธิ์ที่คนไทยทุกคนควรได้รับก็จะไม่เป็นแค่ความฝันของคนไทยอีกต่อไป

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

 

ชมคลิป “ญี่ปุ่น” เคยมีสวัสดิการนิยมดีที่สุดในโลก ทำไมตอนนี้ไม่ใช่ บทเรียนสำคัญที่ไทยได้เรียนรู้

อ้างอิง

[1] [2] 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า