ญี่ปุ่นเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดในโลก สวนทางกับประเทศอื่นๆ แต่ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. กลับพุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปี
โดยอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (Core Consumer Price Inflation) ในเดือน พ.ย. ปรับขึ้นแตะ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงสุดในรอบ 41 ปี นับตั้งแต่ปี 2524 (1981) และหากไม่รวมมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เงินเฟ้อญี่ปุ่นจะพุ่งสูงเกือบ 4%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นแตะ 2.8% YoY สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) 8 เดือนต่อเนื่อง สะท้อนว่า เงินเฟ้อญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ และอาจชะลอลงได้ยาก
ทั้งนี้ คาดว่าเป็นผลจากที่บริษัทต่างๆ ยังคงเดินหน้าส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค สะท้อนจากการปรับขึ้นราคาสินค้าในวงกว้าง
นอกเหนือจากค่าสาธารณูปโภคแล้ว ราคาสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ไก่ทอด สมาร์ทโฟน ไปจนถึงเครื่องปรับอากาศ ก็ยังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ค้าหลายรายยังมีแผนจะปรับขึ้นราคาสินค้าต่อเนื่องในปี 2566
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา BoJ เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) รุ่นอายุ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งเร็วจนเกินไป
รายงานการประชุมของ BoJ ในเดือน ต.ค.แสดงให้เห็นว่า สมาชิกคณะกรรมการหลายคนกำลังเปลี่ยนความสนใจไปที่ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินจริง และโอกาสในการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้นักวิเคราะห์จะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงใกล้เป้าหมาย 2% ในปีหน้า จากราคาพลังงานที่ปรับตัวลง และมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จะเพิ่มความเสี่ยงให้ BoJ ปรับนโยบายการเงินเซอร์ไพรส์ตลาดในปีหน้า
ที่มา:
- https://www.reuters.com/markets/asia/japans-nov-core-consumer-inflation-hits-fresh-40-year-high-2022-12-22/
- https://www.bbc.com/news/business-64072866
- https://media.kkpfg.com/document/2022/Dec/KKP%20Today’s%20Focus%2023-Dec-2022.pdf