SHARE

คัดลอกแล้ว

       จากตัวร้ายสู่พระเอก จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในฐานะพิธีกรรายการโทรทัศน์ สำหรับ กันต์ กันตถาวร แล้วคำว่า “ฟลุค” (บังเอิญ) ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเขา

       “ผมดูเทปแฟนพันธุ์แท้ 1,000 กว่าตอน ดูรายการต่างๆ ดูพิธีกรท่านอื่นๆ อาต๋อย (ไตรภพ ลิมปพัทธ์) คุณวีที (วิทวัส สุนทรวิเนตร์) พี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) น้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ดูทุกอย่างแล้วจดเหมือนสมัยเรียน ทำไมเขาถึงใช้คำนี้ ทำไมเขาถึงเดินไปตรงนี้แล้วค่อยพูด”

       ผลของการทุ่มเทฝึกฝน เขากลายเป็นที่ชื่นชมของแฟนๆ ปี 2560 กันต์คว้ารางวัลนาฏราช สาขาพิธีกรยอดเยี่ยม จากรายการ I Can See Your Voice และคว้ารางวัลพิธีกรแห่งปี ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ 2018 แต่ทุกวันนี้เขายังนั่งดูเทปรายการย้อนหลัง เพื่อสังเกตข้อผิดพลาดและพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ

       “คุณต้องเก่งที่สุดเท่าที่คุณทำได้ คุณถึงจะประสบความสำเร็จ” กันต์ทำงานด้วยความเชื่อนี้ เป็นแม่ทัพของทีมที่ทำทุกอย่างรวดเร็ว ชัดเจน ฉะฉาน จนภรรยาเอ่ยปากว่า “เธอเป๊ะไปไหม”

       ใครจะคิดว่านั่นคือ จุดเริ่มต้นของรายการออนไลน์ที่ทำให้ กันต์ กันตถาวร พลิกบทบาทตัวเองอีกครั้ง จากพิธีกรสุดเนี้ยบบนหน้าจอโทรทัศน์มา (ทดลอง) เป็นยูทูบเบอร์สไตล์ “กันต์เอง”

ถอดสูท สวมเสื้อยืด – จากทีวี สู่ออนไลน์

       จุดตั้งต้นคือคุณภรรยาคิดขึ้นมาครับ เอ๊ะ เราทำคอนเทนต์ออนไลน์กันบ้างไหม แต่ผมทำงานพิธีกรอยู่เยอะมาก คิดว่าอย่าเลย แค่นี้ก็หมดเวลาแล้ว แต่พลอย (ภรรยา) ก็บอกว่าคนเห็นเธอเป็นพิธีกร ใส่สูท เดินเรื่องอะไรหมดแล้ว เขาคงอยากเห็นเธอใช้ชีวิตง่ายๆ สโลว์ไลฟ์บ้าง เราเลยลองคิดคอนเซ็ปต์กันดูคร่าวๆ จนตกผลึก

       คือผมจบการตลาดมาด้วย เพราะฉะนั้นเลยคิดหลายแง่มุมอยู่เสมอ เราคิดว่าคนดูควรจะได้อะไรในเมื่อเราทำรายการออนไลน์ เขาดูทีวีจะดีกว่าไหม โปรดักชั่นดีกว่าแน่นอน ยิ่งโปรดักชั่นของเวิร์คพอยท์นี่ก็ที่สุดของประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นมันควรจะต้องเรียลที่สุด แบบที่ไม่เป็นรายการ แล้วทำให้คนติดหูได้ง่าย ผมเลยเล่นกับชื่อ กันต์ กันตถาวร ใช้คำว่า “กันต์เอง” แล้วกัน เหมือนเป็นตัวของกันต์ และเป็นกันเอง ไม่ใช้รูปแบบของรายการ ไม่ใช่การดำเนินเรื่องแบบพิธีกร มันจะเป็นเรื่องของสามีภรรยาที่ทำกิจกรรมด้วยกัน

 

นับศูนย์ถึงผู้ติดตามหลักล้าน

       ยังจำได้เลยวันแรกที่เข้าไปปรึกษาพี่ทิป เพราะออนไลน์นี่ผมโง่เลย รู้แค่ว่าใช้เฟซบุ๊กยังไง ดูคลิปจากยูทูบยังไง แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันมีทริคอะไรบ้าง เราจะต้องตั้งหัวข้อแบบไหน ภาพหน้าปกต้องทำยังไง คอนเทนต์แบบไหนที่คนอยากดู แล้วทำอย่างไรให้คนอยากติดตาม มันมีหลายแง่มุมมาก ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะไม่มีทางรู้จักมันดี ถ้าไม่เรียนรู้เอง หลังจากนั้นผมก็เลยไปงมเอง สมัครแอคเคาท์ยูทูบ เรียนรู้ว่าจะโพสต์คลิปยังไง ตั้งหัวข้อยังไง ค่อยๆ เรียนรู้ เสิร์ชจากกูเกิลจนเราเข้าใจมัน ผมรู้สึกว่ามันก็สนุกดี ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

       ทีมงานมีทั้งหมด 4 คนครับ คือ กันต์ พลอย (ภรรยา) พี่แจน คือผู้จัดการส่วนตัว แล้วก็รุ่นน้องที่จบนิเทศจุฬาฯ เป็นตากล้องบวกครีเอทีฟ จริงๆ แล้วทีมของผมทำงานค่อนข้างกันเอ๊งกันเองมาก ไม่รวมบัญชีที่ผมจ้าง Outsource คอนเทนต์ต่างๆ ผมกับพลอยคิดด้วยกัน การวางเฟรมทั้งหมดจะเป็นผมกับน้องตากล้องประกอบกัน ผมใช้กล้องเดียวเพราะหลายกล้องคนตัดเหนื่อย ตัดนาน พอใช้กล้องเดียวผมจะขานให้ก่อนเสมอ เหมือนตีสเลท เช่น ซีนนี้นะต่อจากเมื่อกี้ที่เราซูมเอาท์ พอซูมเอาท์ออกมาแล้วเข้าตรงนี้เลยนะ เพราะฉะนั้นคนตัดก็จะรู้ว่าเราต้องการอะไร ส่วนคนโพสต์คลิปลงยูทูบลงเฟซบุ๊กเป็นผมเอง

       ตอนนี้ทำสัปดาห์ละ 3 คลิป คือวันอังคารกับวันศุกร์ตอน 1 ทุ่ม และวันอาทิตย์ตอนเที่ยงครับ ยูทูบมี 1 ล้าน Subscriber เรียบร้อยแล้ว ส่วนเฟซบุ๊กมีคนติดตาม 2,600,000 ครับ

 

คนดูเฟซบุ๊กกับยูทูบต่างกัน

       จากที่ผมโพสต์คลิปเอง คิดหัวข้อเองทุกขั้นตอน ผมคิดว่าต่างนะ ของผมคนดูเพจเฟซบุ๊กมากกว่า ส่วนยูทูบยอดวิวจะน้อยกว่าอย่างชัดเจนเลย ผมมาดูหลังบ้านของแต่ละแพลตฟอร์ม เพจเฟซบุ๊กของผมถ้าใช้ศัพท์ง่ายๆ คือ แมสกว่า คนดูมีตั้งแต่เด็กยันโต ช่วงอายุประมาณ 16 – 53 ปี เขาอาจจะชอบรายการทีวี I Can See Your Voice, แฟนพันธุ์แท้, The Mask Singer, 10 Fight 10 มันก็จะลิงก์ไปสิ่งต่างๆ ที่เขาชื่นชอบในลักษณะคล้ายๆ กัน คือมี กันต์ กันตถาวร อยู่หมดเลย

       ส่วนยูทูบคนดูจะเป็นเด็กมากกว่า แล้วจะชอบดูอะไรที่เป็นคอนเทนต์จริงๆ เป็นรูปแบบรายการ ดูจนจบเหมือนเราดูทีวี แล้วไล่ดูไปเรื่อยๆ ดูคลิปนี้ต่อด้วยคลิปนี้

       แต่คลิป “กันต์เอง” จะสั้น ดูแป๊บเดียวแล้วจบ ซึ่งเราพอกลับมาดู Consumer Behavior ของคนที่มาดู “กันต์เอง” แล้ว จริงๆ คือเขาต้องการดูแล้วยิ้ม แล้วหัวเราะ แล้วก็ไป ไม่ได้ต้องการเสพเรื่องราว นั่นแปลว่าฐานคนดูของผมจะอยู่บนเฟซบุ๊กมากกว่ายูทูบ

 

ศึกษาตัวเอง มองหาจุดต่าง ให้คนต้องดู

       ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณต้องเก่ง ถึงจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ ยุคนี้เด็กๆ อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือยูทูบเบอร์มากขึ้น เพราะเขาเสพคอนเทนต์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เก๋ไก๋สไลเดอร์, พี่บี้ เดอะสกา หรือพี่เหว่ง Little Monster เขารู้สึกว่าสนุกดี แล้วก็ได้ตังค์ด้วย

       แต่การที่คุณจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ มันต้องผ่านกระบวนการคิด ไม่มีอะไรได้มาแบบฟลุคๆ หรอก ผมเชื่อว่าว่า พี่บี้ เดอะสกา ก็ไม่ได้ทำปีเดียวแล้วสำเร็จเลย น้องเก๋ไก๋ก็ไม่ใช่ว่าทำอยู่ดีๆ แล้วมีตังค์ เป็นที่รู้จักชื่นชอบของทุกคนเลย มันผ่านกระบวนการคิดมาทั้งหมดครับ แปลว่าก่อนที่คุณจะทำอะไรคุณต้องมีความเป็นปัจเจกที่ชัดเจนก่อน ว่าคุณทำแล้วทำไมเขาต้องดูคุณ ทำไมเขาถึงไม่ดูคนอื่น

       เช่น เราจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราเรียกกันแบบ Generic Name เลยว่า “มาม่า” แปลว่ายี่ห้อแรกที่คนนึกถึงคือมาม่า คนจะซักผ้านึกถึงผงซักฟอก อ๋อ “แฟ้บ” ยี่ห้อโคตรเก่าเลย แต่ทำไมคนเรียก เพราะมันเป็นที่รู้จัก ฉะนั้นถ้าคุณอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือยูทูบเบอร์ สิ่งแรกที่ควรต้องดู คือดูตัวเองก่อน คุณต้องกลับมาศึกษาตัวเอง ว่าคนจะดูเราเพราะอะไร ตั้งคำถามกับตัวเองให้เรียบร้อย

       ถ้าคุณชอบกิน คนที่ชอบกินก็ไม่ได้มีคุณแค่คนเดียว อย่างผมชอบดูการกินของพี่พีทอีทแหลก ดูเสร็จ รีแอ็คที่เกิดคือ โห กินได้ไงวะ  แต่ถ้าผมดูเขากินแล้ว อืม ก็กินอ่ะ  ผมไม่ต้องดูเขาก็ได้ไง ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดปลายทางก่อน แล้วมาดูว่าเราจะไปถึงจุดหมายนั้นได้อย่างไร มันถึงจะประสบความสำเร็จ

เปลี่ยนกระแสด้านลบเป็นแรงฮึด

       ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเจออยู่แล้ว ถ้าไล่มาเร็วๆ คือด้านการแสดง ผมไม่ได้เริ่มจากการเป็นพระเอกเลย ผมเริ่มจากตัวร้ายก่อน เป็นเพื่อนพระเอก มันก็จะเกิดการดูถูกกันมาเรื่อยๆ ว่า คุณจะเป็นพระเอกได้เหรอ ผมก็เอาข้อติติงเหล่านั้นมาเป็นกำลังใจ เป็นแรงฮึด

       หลังจากนั้น พอเกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมมาเป็นพิธีกร ผมก็รู้สึกว่า เราควรใช้ข้อติติงแบบนั้นแหละมาพัฒนาตัวเอง ทำให้ผมติดนิสัย Perfectionist ว่าเวลาที่จะทำอะไร เราต้องไม่เสียใจ ซึ่งการที่ผมมาถึงจุดนี้แล้ว ผมเก่งกว่าเดิม นั่นคือสิ่งที่ถูก ถ้าผมยังเก่งเท่าเดิมมันไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าคำติติงต่างๆ มันทำให้ผมมีแรงฮึดในการที่จะทำให้ทุกอย่างมันดียิ่งๆ ขึ้น

       ท้ายที่สุดแล้ว มันไม่ใช่การพิสูจน์ให้ทุกคนยอมรับ มันกลายเป็นการพิสูจน์เพื่อให้ตัวเองพอใจในการพัฒนาขึ้นมากกว่า มันเลยทำให้ผมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแบบทุกวันนี้ คนดูมีสิทธิ์วิจารณ์งานเราเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วครับ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ข้อดีคือถ้าเป็นคำชมก็ทำให้ผมยิ้มได้ แต่สิ่งที่ทำให้ กันต์ กันตถาวร พัฒนาน่าจะเป็นข้อติติงมากกว่า เราจะได้กลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่เขาวิจารณ์เรามามันจริงหรือไม่จริง แล้วถ้ามันจริง เราจะต้องปรับปรุงอย่างไร เพื่อทำให้มันดีขึ้น

 

ฝากกำลังใจถึงทุกคนในช่วง COVID-19

       วิกฤตการณ์ COVID-19 มันไม่ใช่แค่วิกฤติสำหรับประเทศไทย แต่เป็นกันทั้งโลก มากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง วันนี้เราคงจะหลีกหนีมันไม่ได้ เราจะต้องเผชิญและอยู่กับมันมากกว่า คุณไม่ใช่คนเดียวที่ลำบาก ทุกคนลำบากเหมือนกันหมด มากน้อยต่างกันไป อย่านั่งคิดเลยครับว่าทำไมฉันท้อกับชีวิตจังเลย ผมเชื่อว่าทุกคนท้ออยู่แล้ว เราหาทางออกให้กับมันดีกว่า

       ผมเชื่อว่ายังมีคนรอบๆ ตัวที่จะเป็นกำลังใจให้คุณ อย่าท้อครับ คุณพ่อคุณแม่เรายังผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้เลย แล้วเราจะผ่านไปไม่ได้เหรอ พอผ่านมันไปได้ วันหนึ่งที่เราย้อนกลับมามองดูว่าวันนั้นฉันผ่านมันมาได้ เราคงจะยิ้มให้มันว่าเราผ่านมาได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันครับ

 

 

เรียบเรียงโดย  มินธิรา แสนแก้ว

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า