Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

10 ปีที่แล้ว ชื่อของ “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจ ด้วยชื่อเสียงเป็นคนไทยแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ โดยอยู่กับหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกที่ทุกคนรู้จัก นั่นคือ กูเกิ้ล

เส้นทางของเขาเต็มไปด้วยความโลดโผน เพราะกระทิงตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่มั่นคงที่สุด แถมได้รับรายได้สูงมหาศาล แต่กลับเลือกทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ชีวิตล้มลุกคลุกคลาน ผ่านความเจ็บปวด และความสำเร็จมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดด้วยวัย 43 ปี เขารับงานในโปรเจ็กต์ที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเป็นประธานบริษัท KBTG หนึ่งในบริษัทลูกของอาณาจักรธนาคารกสิกรไทย

เส้นทางของเขาจะมหัศจรรย์แค่ไหน และหลักคิดชีวิตของเขาที่ช่วยผลักดันเขาให้ก้าวกระโดดมาไกลได้ขนาดนี้คืออะไร เราจะไปหาคำตอบด้วยกัน

กระทิง เกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร เส้นทางชีวิตของเขาโรยด้วยกลีบกุหลาบมาโดยตลอด ด้วยความที่เรียนเก่งมาก พบจบม.6 เขามีคะแนนสอบเอนทรานซ์สูงมากพอที่จะเรียนต่อ แพทยศาสตร์ ศิริราช คณะที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ของประเทศไทย แต่เรื่องการรักษาคน ไม่ใช่ทางของเขา จึงตัดสินใจเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แทน

กระทิงเรียนเก่งขนาดไหน? ในสมัยมัธยมปลาย เขาเป็นเจ้าของเหรียญทองการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ตามด้วยเหรียญทองแดงการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อตัวเองเรียนเก่งด้านเลขและฟิสิกส์ ทำให้เขามองว่า สายงานที่น่าจะเหมาะกับตัวเอง ไปทางวิศวกรรมก็ดูเหมาะดี

แต่พอเรียนจริงๆ วิศวกรรมดูจะไม่ใช่ทางของเขานัก ช่วงปีหนึ่งเขาได้เกรดเฉลี่ยแค่ 2.68 เท่านั้น แต่ก็สู้จนคว้าเกียรตินิยมตอนเรียนจบได้สำเร็จ แต่สิ่งที่กระทิงรู้แน่ชัดมากขึ้น คือเขารู้สึกชอบวิชาสายการตลาด และการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆมากกว่า ทำให้เขาไปเรียนต่อปริญญาโท วิชาบริหารการตลาดที่ธรรมศาสตร์ พอเรียนจบมาก็งานทันที โดยอยู่กับบริษัท P&G ผู้จัดจำหน่ายยาสระผมดังๆเช่น Pantene และ Head & Shoulders เป็นต้น โดยกระทิงเริ่มทำงานในฝ่ายผลิต ก่อนจะไต่ขึ้นมาทำงานฝ่ายขายและการตลาด

กระทิงทำงานที่ P&G มา 7 ปี และในวันหนึ่งเขาไปอ่านนิตยสาร ไปเจอบทสัมภาษณ์ของสตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล ชวนจอห์น สกัลลี่ ซีอีโอของเป๊ปซี่ให้ย้ายมาทำงานด้วยกัน โดยคำเชิญของจ๊อบส์ แปลเป็นไทยว่า “คุณอยากจะขายน้ำหวานไปตลอดชีวิต หรือคุณคิดอยากจะเปลี่ยนโลกล่ะ” ซึ่งพออ่านแล้วกระทิงก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า แล้วตัวเขาล่ะ คิดจะขายแชมพูไปตลอดชีวิตหรืออยากจะเปลี่ยนโลก? ดังนั้นกระทิงจึงตัดสินใจลาออกจาก P&G ในที่สุด และบินไปสหรัฐฯ เพื่อเรียนต่อภาควิชาบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

กระทิงเรียนจบในเวลา 2 ปี ด้วยผลการเรียนระดับยอดเยี่ยม ถึงตรงนี้เขาได้รับข้อเสนอจาก Hedge Fund ชื่อดัง ให้ไปร่วมงานด้วย “เงินที่เขายื่นข้อเสนอให้ แค่เซ็นสัญญาเฉยๆ ผมก็ได้รถปอร์เช่หนึ่งคันแล้ว แล้วผมเองก็ไม่ได้เป็นคนมีเงิน บอกตรงๆ ตอนนั้น เราเองก็อยากมีเงินเยอะๆ แต่พอคุยกับแม่ แม่บอกว่า “ความตั้งใจของผมคืออยากเปลี่ยนโลกไม่ใช่หรอ ถ้าแค่จะหาเงิน จะเสียเวลา 2 ปี ไปเรียนที่อเมริกาทำไม เหตุผลของความพยายามทั้งหมดคือเรื่องเงินอย่างนั้นหรือ

ซึ่งพอคุยกับคุณแม่ กระทิงก็คิดได้ และปฏิเสธข้อเสนอจาก Hedge Fund หลายแห่ง แล้วไปสมัครทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ที่เขาเชื่อว่าจะมีนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกได้

กระทิงไปสมัคร Google และถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้ง จนผ่านไป 6 เดือน Google ก็เซ็นสัญญาเขาเป็นพนักงานประจำ โดยดูแลการตลาดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ร่วมกันสร้างโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย จากนั้นโยกมาทำ Google Earth และ Google Moon

“โปรเจ็กต์ที่ผมภูมิใจมากที่สุด คือการทำซอฟต์แวร์ดวงจันทร์จำลองให้คนลงได้เหมือนไปสัมผัสจริงๆ ในโลกออนไลน์ ตอนนั้นเป็นวาระ 40 ปีที่นีล อาร์มสตรองไปเหยียบดวงจันทร์ เราวางแผนจ้างวิศวกรนาซ่ามากินอยู่กับเรา ตอนนั้นผมเครียดมากได้นอนวันละ 2 ชั่วโมง แต่เราก็ทำได้สำเร็จ ในวันเปิดตัวนีล อาร์มสตรอง , บัซ อัลดริน และหลานของจอห์น เอฟ เคนเนดี้มางานด้วย”

หลังอยู่ Google ได้ระยะหนึ่งกระทิงตัดสินใจ ออกมาหาความท้าทายใหม่ ด้วยการเปิดบริษัทของตัวเอง ชื่อ Mobilitz Inc. ผลิตเกมบนมือถือ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งก็มีเกมดังๆอย่างเช่น Heaven’s Diners ที่มีคนเล่นในระดับหลักล้านในช่วงพีกๆ

เมื่อมีประสบการณ์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ทั้ง Google และ สร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้ว ในปี 2012 กระทิง สร้างธุรกิจใหม่ในชื่อ Disrupt University โดยนำความรู้ทั้งหมดที่เขาเคยมีในสมัยทำงานที่สหรัฐอเมริกา เอามาเผยแพร่ให้กับคนไทยที่ต้องการทำสตาร์ตอัพ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

อะไรคือธุรกิจ Start-up? กระทิงอธิบายว่า “สตาร์ตอัพคือธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อที่จะเติบโตได้อย่างน้อย 10 เท่าต่อปี” ตัวอย่างเช่นธุรกิจแท็กซี่ ในอดีตถ้าคุณจะเปิดบริษัทแท็กซี่ คุณก็ต้องซื้อรถจำนวนมาก เปิดอู่ของตัวเอง จากนั้นก็ต้องมีช่างซ่อมบำรุง มีคนขับ ต้องใช้พนักงานมากมาย แต่เมื่อเป็นสตาร์ตอัพ ก็มีการกำเนิดของ Uber นั่นคือบริษัทไม่มีรถของตัวเองเลยด้วยซ้ำ และไม่ต้องเสียเงินจ่ายค่าบำรุงรถด้วย แต่เป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมระหว่างผู้โดยสาร กับคนที่อยากหารายได้จากการขับรถไปส่งคนอื่น ซึ่งวิธีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็ว และนั่นคือแนวทางของสตาร์ตอัพ

ถึงจุดนี้ กระทิงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศ ปลายปี 2012 เขากลับมาไทย และเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ dtac ค่ายโทรศัพท์มือถือของไทย โดยมีเป้าหมายคือ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมใหม่ๆขึ้นมา เพื่อทำให้เห็นว่า dtac ยังใส่ใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่เสมอ แต่พอทำได้แค่ 10 เดือนเขาก็ลาออก แล้วไปรับงานที่ Ensogo และหลังจาก Ensogo ปิดบริการเขาก็เปิดกองทุนของตัวเองในชื่อ 500 tuk tuks ซึ่งเป็นกองทุนที่จะสนับสนุนเงินให้กับผู้คิดค้นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ที่ไม่มีเงินลงทุนในการพัฒนาโปรดักต์ของตัวเอง

ด้วยความผูกพันกับสตาร์ตอัพมาตลอด ทำให้ในเวลาต่อมา ฉายาที่คนใช้เรียกกระทิงคือ “​Start-up Godfather” เขาคือคนสำคัญ ที่มีส่วนช่วยให้ธุรกิจสตาร์ตอัพในไทยเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง นำไปสู้กับตลาดโลกได้

สิ่งที่เป็นหัวใจของกระทิงมาตลอด ตั้งแต่เขาเริ่มทำงานที่แรก นั่นคือ เขารักการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ คือไม่ว่าจะทำงานที่ไหน เขาพยายามมองหาหนทางที่จะทำให้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเสมอ

“ความฝันผมคือ อยากให้ไทยมีสตาร์ตอัพสักบริษัทที่คนพูดถึงประเทศไทยแล้วนึกถึงบริษัทนี้ เหมือนไลน์ เหมือนอินสตาแกรม ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า แต่ถ้ามันง่ายมันคงไม่ใช่ความฝัน”

ในขณะที่ธุรกิจเรื่องสตาร์ตอัพ เริ่มบูม ในประเทศไทย วงการธนาคารก็มีความตื่นตัวเริ่มนวัตกรรมเช่นเดียวกัน

ความเข้าใจเดิมของคนเมื่อคิดถึงธนาคาร ก็จะนึกภาพลูกค้าเดินเข้าไปฝากถอนที่เคาน์เตอร์ในสาขา หรือโอนเงินผ่านทางตู้เอทีเอ็ม อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน เมื่อชีวิตของลูกค้าอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดทั้งวัน ธนาคารเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน คือลูกค้าอยู่ไหน ธนาคารก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ให้ใกล้ที่สุด

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงินลักษณะนี้ ถูกเรียกว่า FinTech (ย่อจาก Financial Technology) ซึ่งธนาคารทุกแห่งต้องทำการแข่งขันกัน เพราะถ้าแบงค์ไหนมีนวัตกรรมดีกว่า และช่วยทำให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้นมากกว่า ก็จะได้รับความนิยม ซึ่งนำมาสู่ผลกำไรมากมายในอนาคต

เมษายน 2016 เพื่อรับกระแส FinTech ธนาคารกสิกรไทย จึงก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาในชื่อ KBTG ย่อจาก Kasikorn Business-Technology Group โดยบริษัทแม่ จะให้งบประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท โดยมีหน้าที่คือพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ประชาชนได้ใช้บริการ

ซีอีโอคนแรกของ KBTG คือ ธีรนันท์ ศรีหงส์ ที่ทำงานในวงการการเงินมา 30 ปี แต่ทำงานอยู่ได้แค่ 1 ปีเท่านั้น ธีรนันท์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และย้ายไปทำงานที่แสนสิริแทน เรียกได้ว่างาน “ผลิตนวัตกรรม” เป็นโจทย์ที่หินมากๆ สำหรับผู้นำองค์กร เพราะมันเป็นอะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมหาศาล

เมษายน 2017 หลังจากธีรนันท์ลาออก รองประธานบริษัท สมคิด จิรานันตรัตน์ ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอคนที่ 2 โดยสมคิดเป็นผู้บุกเบิก K Plus ให้กับกสิกรไทยด้วย อย่างไรก็ตาม สมคิดก็อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น ก็ลาออกไปเช่นกัน แล้วย้ายข้ามฟากไปทำงานเป็น ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงไทย

จะเห็นว่า ตำแหน่งซีอีโอของ KBTG ถือว่าเป็นตำแหน่งปราบเซียนอย่างแท้จริง ไม่มีใครสามารถยืนหยัดอยู่ได้นาน ซึ่งทำให้การหาซีอีโอคนที่ 3 ทางกสิกรไทยต้องใช้เวลาในการคัดเลือก คนที่ตอบโจทย์มากที่สุด กับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก

หนึ่งในแคนดิเดทที่กสิกรไทยให้ความสนใจคือ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล นั่นเพราะแม้กระทิงจะไม่ได้ทำงานกับกสิกรไทยโดยตรง แต่เขาเป็นที่ปรึกษาให้ บัณฑูร ล่ำซำ ผู้บริหารสูงสุดของกสิกรไทยเกี่ยวกับเรื่อง FinTech มานานหลายปี ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรมาตลอด

อีกทั้งภาพลักษณ์ของกระทิงก็มีความสดใหม่ อายุแค่ 40 ต้นๆ เท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่ม ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอด อีกทั้งประสบการณ์ ในการทำงานที่ซิลิคอน วัลเลย์ ก็น่าจะสร้างการยอมรับให้คนในแวดวงเทคโนโลยีได้ไม่ยาก

หลังจากคัดเลือกตัวอย่างเข้มข้น ในที่สุดธนาคารกสิกรไทย ก็ประกาศแต่งตั้งกระทิง เป็นซีอีโอคนที่สาม ของ KBTG โดยเริ่มต้นรับงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 เป็นต้นไป

ในวันแรกที่รับงาน สิ่งที่กระทิงโดนกดดันไม่น้อยคือที่ผ่านมาเขาไม่เคยทำงานในสายการเงินแบบจริงๆ จังๆ มาก่อนเลย แล้วต้องมารับงานธนาคารที่มีความเชื่อมโยงกับตัวเลขอย่างใกล้ชิด เขาจะทำสามารถทำได้ดีหรือไม่ ขนาดซีอีโอสองคนก่อนหน้านี้ ที่อยู่ในวงการธนาคารกันหลายสิบปียังรับมือไม่อยู่

แต่สิ่งที่กระทิง อยากให้คนพลิกความคิดคือ KBTG ไม่ใช่บริษัทการเงิน แต่ต้องคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาให้เหมือนกับเป็นบริษัทผลิตเทคโนโลยีไปเลย เพียงแต่อยู่ในกรอบของธนาคารเท่านั้น โดยเป้าหมายของเขา คือเป็นธนาคารที่รู้ใจลูกค้ามากที่สุด

“ลูกค้าไม่สนใจหรอกว่า นี่คือโลกดิจิทัลหรืออะไร แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างไร้รอยต่อที่สุด เราต้องใช้เทคโนโลยีทั้งหมด เพื่อเอาตัวเองไปอยู่ในโลกของลูกค้าให้ได้แค่นั้น”

ความท้าทายของ KBTG คือเรื่องโมไบล์แบงค์กิ้ง นั่นเพราะทุกธนาคารมีแอพพลิเคชั่นของตัวเองกันหมด ทำอย่างไร ที่จะทำให้กสิกรไทยขึ้นมายืนเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นแอพที่ลูกค้าจะคิดถึงก่อนเป็นอันดับแรกได้

“เราต้องทำให้มีสปีด มีความเร็ว ใช้งานง่าย เชื่อมโยงเร็วที่สุด แต่ในมุมเดียวกัน เราเข้าใจดีว่าเรื่องเงินคือความเสี่ยง เราต้องออกแบบระบบที่ปกป้องทั้งเงินและข้อมูลของลูกค้า คือความเร็วกับความปลอดภัยต้องไปด้วยกันเสมอ”

นับตั้งแต่กระทิงเข้าไปเป็นซีอีโอของ KBTG กสิกรขยับตัวอย่างรวดเร็วในเรื่องเทคโนโลยี มีการใช้ระบบการยืนยันตัวตนแบบ e-kyc สามารถเปิดบัญชีได้โดยโดยไม่ต้องใช้บัตรประชาชน ซึ่งทำให้กสิกรไทยมีคนเปิดบัญชีใหม่ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนบัญชี

ปัจจุบัน K PLUS เป็นแอพธนาคารที่มีคนใช้มากที่สุดในประเทศ ด้วยจำนวน 13 ล้านคน โดยกระทิงตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2020 เขาต้องทำตัวเลขให้ถึง 15 ล้านคนให้ได้ และเป้าหมายต่อไปของ K PLUS คือการกระโดดไปเล่นในเวทีอาเซียน ซึ่งถ้าทำได้ก็มองถึงตัวเลขผู้ใช้ 100 ล้านคนได้เลย

นอกเหนือจากการพัฒนาของ K PLUS แล้ว เรื่องงานนวัตกรรมใหม่ๆ ก็เป็นโลโก้สำคัญของกระทิง เขาและทีมงาน KBTG คิดค้นโปรเจ็กต์ต่างๆมากมาย ตัวอย่างเช่น แชทบอท “ขุนทอง” เป็นต้น

“มีน้องในทีมชื่อ น้องวิน เขาเจอปัญหาเวลาไปกินข้าวกับเพื่อนในกลุ่ม แล้วถ้ามีคนจ่ายไปก่อน ก็ต้องมาบันทึกว่า คนที่เหลือต้องจ่ายคนละกี่บาท ถ้าสะสมหลายๆครั้งเข้าต้องทำลงโปรแกรม excel วุ่นวายไปอีก ดังนั้นเขาเลยเอาจุดนี้มาคิดต่อ ว่าถ้ามีเทคโนโลยีอะไรสักอย่าง ที่จะช่วยจัดสรรเรื่องเงิน โดยที่ไม่ต้องมานั่งทวงกันเอง ก็น่าจะดีมาก” กระทิงเล่า

จากนั้นก็นำมาสู่การพัฒนาระบบขุนทอง แชทบอท ที่กลายเป็นเหมือนโปรแกรมเหรัญญิกคนกลาง ที่จะจัดการหารให้เสร็จสรรพ และคอยเตือนให้รู้ว่าติดเงินเพื่อนในกลุ่มอยู่เท่าไหร่ เป็นช่องทางการทวงเงินโดยไม่เสียน้ำใจอีกฝ่ายด้วย ซึ่งตอนเปิดตัว ขุนทองแชทบอท สร้างความตื่นตะลึงจนมีคนรีทวีตไปมากกว่า 1 หมื่นครั้ง

“นี่คือวิธีคิดนวัตกรรมของเรา คือคุณต้องหา Pain Point ให้เจอ หาสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณยังไม่โอเค และเมื่อเจอแล้ว ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไร ใช้วิธีไหน ปัญหาที่ประสบอยู่ถึงจะหมดไป”

ณ เวลานี้ KBTG นอกจากสำนักงานใหญ่ที่ไทยแล้ว ยังมีออฟฟิศอีกแห่งที่เซินเจิ้น ประเทศจีนอีกด้วย โดยเป้าหมายของกระทิง และ KBTG คือตีตลาดจีนให้ได้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า กระทิงจะสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ที่ครองใจตลาดใหญ่อย่างจีนได้หรือไม่

เด็กหนุ่มจากโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม เติบโตจนได้ทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ และล่าสุดกับตำแหน่งซีอีโอของ KBTG คนที่ประสบความสำเร็จทุกอย่างขนาดนี้ น่าสนใจว่าเคล็ดลับของเขามีอะไรบ้าง

คำถามสุดท้ายที่เราอยากรู้จากเขาคือ ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และมีการแข่งขันสูงกันทุกธุรกิจ ถ้าคุณอยากเอาตัวรอดให้ได้ในวันพรุ่งนี้ ต้องมีทักษะอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งกระทิงก็ยอมบอกสิ่งที่เขาคิดให้เราได้รู้

“ทักษะที่ผมคิดว่าจะทำให้คุณอยู่รอดได้ ในวันพรุ่งนี้ มันเป็นหลักการที่ผมใช้เสมอไม่ว่าจะทำงานกับองค์กรใดๆ นั่นคือคุณต้องมีทักษะชื่อ ½ – 3Y – G” กระทิงเผย

“½ (หนึ่งส่วนสอง) คือคุณต้องทำตัวให้เป็นน้ำครึ่งแก้วอยู่เสมอ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่าตัวเองน้ำเต็มแก้วแล้ว เทออกครึ่งหนึ่งทันที และเปิดใจเตรียมตัวรับสิ่งใหม่ ยิ่งในบางธุรกิจแค่เทครึ่งแก้วก็ไม่พอนะ เราต้องเทออกให้หมดแก้วเลย ความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมด นับหนึ่งใหม่เลย”

นั่นคือทักษะแรก และทักษะที่สอง 3Y ล่ะ?

“มี Y สามอย่างที่สำคัญมาก Y แรกคือมนุษย์เราควรทำตัวให้เหมือนรูปทรงของตัว Y คือรู้ลึกมากๆ 1 เรื่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญได้เลยจะดีมาก เหมือนหางของตัว Y จากนั้นทำตัวเหมือนสองเส้นด้านบน นั่นคือจงรู้กว้างๆ อย่าปิดกั้นตัวเอง สรุปคือ การรู้ลึกหนึ่งเรื่อง และรู้กว้างๆ หลายเรื่อง จะทำให้เราเอาตัวรอดได้ในโลกนี้”

“เมื่อก่อนเราอาจถูกสอนกันว่ารู้ลึกไปเลยเรื่องหนึ่ง เอาให้เชี่ยวชาญไปเลยสักด้านดีกว่า ใช่ การรู้ลึกนั้นจำเป็น แต่การรู้กว้างก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะโลกยุคปัจจุบันมันมีการเชื่อมต่อกันตลอดเวลา เดี๋ยวต้องเอาความรู้ตรงนั้น มาประยุกต์ใช้กับเรื่องตรงนี้ ดังนั้นถ้าคุณมีความรู้จำกัด เราจะไม่สามารถพลิกแพลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้”

“Y อย่างที่สอง คือการตั้งคำถามตลอดเวลา เห็นอะไรผิดเพี้ยน อย่าปล่อยผ่านแต่ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไร มันจะดีขึ้นกว่าเดิม และ Y อย่างที่สามคือ Why not เปิดใจกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ ในโลกยุคนี้กรอบต่างๆ ถูกทำลายไปหมดแล้ว และถ้าเราไม่ยอมลองทำสิ่งใหม่ ยังยึดติดกับกรอบเดิมๆที่จริงๆโดนทำลายไปนานแล้ว เราชนะใครไม่ได้หรอก”

“ทักษะอย่างสุดท้ายคือ G ย่อจาก Grit แปลว่าความกล้าหาญ เราต้องอึด ต้องสู้ ล้มแล้วก็ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นให้เร็ว แม้ผิดพลาดแต่ก็ต้องทนอยู่กับมันให้ได้ เหมือนตุ๊กตาล้มลุก จะโดนชกกี่ครั้ง เราต้องลุกขึ้นมาชกต่อ อย่าท้อแท้ อย่าหมดหวังเป็นอันขาด”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า