SHARE

คัดลอกแล้ว

หากจะพูดถึงคุกกี้กล่องแดงในตำนานของไทยที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนนึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘อิมพีเรียล’

แต่รู้หรือไม่ว่าบริษัทเจ้าของแบรนด์อิมพีเรียลอย่าง บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG นั้นอยู่คู่คนไทยมานานราว 65 ปีแล้ว ซึ่งโปรดักต์ก็ไม่ได้มีเพียงคุกกี้ แต่ยังมีเนย ชีส โยเกิร์ต แป้งแพนเค้ก น้ำส้ม บิสกิต เวเฟอร์ ฯลฯ

หลายคนอาจมองว่าบริษัทคุกกี้กล่องแดงรายนี้เป็นเพียง SME เจ้านึง แต่รู้หรือไม่ KCG มีรายได้มากกว่า 5 พันล้านบาท และล่าสุดกำลังจะ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอขาย 8.50 บาทต่อหุ้น และกำหนดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 20 – 21 และ 24 ก.ค. 2566 นี้

กว่าจะมาถึงวันนี้ของ KCG ผ่านอะไรมาบ้าง มีความน่าสนใจอย่างไร TODAY Bizview เล่าให้ฟังกันในโพสต์นี้

[ ชื่อแรกคือกิมจั๊วพาณิชย์ ]

แรกเริ่มเดิมที KCG มีชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2501 โดยคุณวิชัย วิภาวัฒนกุล (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกิตติมศักดิ์) และน้องชายคือ คุณตง ธีระสรณ์นุกิจ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร)

ความที่มีสายเลือดของการทำค้าปลีก ธุรกิจแรกกิมจั๊วพาณิชย์นั้นทำก็คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย โดยสินค้าชนิดแรกที่นำเข้ามาขายก็คือ ‘เนย’ เนื่องจากคุณวิจัยเคยทำงานในบริษัทขายสินค้าอาหารฝรั่ง และคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์พวกเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่เป็นอย่างดี

โดยเนยที่นำเข้ามาขายก็ไม่ใช่แบรนด์อื่นใด เป็นแบรนด์ Alowrie (อลาวรี่) เนยจากออสเตรเลียที่ขายดิบขายดีนั่นเอง

ความลำบากของการโปรดักต์อย่างเนยนั้นมีอยู่ไม่ใช่น้อย อย่างที่รู้กันว่าเนยเป็นของที่เก็บในที่เย็น การนำเข้าในสมัยที่ยังไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ก็ต้องฝากมากับห้องแช่เย็นของกลาสีเรือ

พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องไปฝากไว้ที่ห้องแช่เย็นที่สะพานปลากรุงเทพ เนื่องจากตอนนั้นกิมจั๊วพาณิชย์ยังไม่มีห้องเย็นเป็นของตัวเอง เมื่อได้ออเดอร์จากร้านค้าหรือโรงแรม สองพี่น้องก็จะไปเบิกเนย แล้วปั่นจักรยานหรือนั่งสามล้อไปส่ง

กิจการกิมจั๊วพาณิชย์ค่อยๆ ขยาย มีการนำเข้าสินค้าอื่นเข้ามาขายเพิ่ม เช่น ชีสจากยุโรป ผลไม้กระป๋องจากอเมริกา ช็อกโกแลต ปลาแซลมอน อาหารแช่แข็งและเนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียสำหรับส่งให้โรงแรม

ระหว่างนั้นก็ขยับขยายที่อยู่ จากการใช้บ้านที่สุรวงศ์เป็นที่พักและโกดัง ก็ขยับมายังอาคาร 3 ชั้นที่เพชรบุรีตัดใหม่ และในปี 2505 ก็เริ่มนำเข้า ‘น้ำส้มซันควิก’ เข้ามาขายในไทย และไม่นานน้ำส้มนี้ก็กลายเป็นสินค้าขายดีไปด้วย

[ จากนำเข้าสู่ผู้ผลิต ]

กิมจั๊วพาณิชย์มีกิจการก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ให้หลังมาอีก 10 ปึ คุณวิจัยและคุณตงก็เริ่มมองถึงอนาคตที่อยากสร้างการเติบโตและมั่นคง ซึ่งถ้าหากผลิตเองได้ ก็คงจะมั่นคงกว่า

อีกทั้งในช่วงนั้น รัฐบาลไทยก็มีนโยบายสนับสนุนการผลิตในประเทศ ด้วยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเหลือเพียง 5% และขึ้นภาษีนำเข้าอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศสูงถึง 60-80% เพราะจัดให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ในปี 2515 กิมจั๊วพาณิชย์จึงเปลี่ยนตัวเองจากผู้นำเข้ามาเป็นผู้ผลิต ด้วยการสร้างโรงงานผลิตเนยของตัวเองแห่งแรกที่บางนา โดยซื้อทั้งเครื่องจักร สูตรและวิธีการผลิตมาจากแบรนด์อลาวรี่ กระทั่งสามารถสร้างยอดขายเนยอลาวรี่ในไทยได้อย่างแข็งแกร่ง

[ กำเนิดคุกกี้กล่องแดงในตำนาน ]

เมื่อสามารถผลิตเนยได้ อีก 10 ปีต่อมา บริษัทจึงขยายฐานการผลิตมายัง ‘บัตเตอร์คุกกี้’ ที่ต้องใช้เนยเป็นวัตถุดิบหลัก จากก่อนหน้านี้ที่นำเข้าคุกกี้จากเดนมาร์กในกล่องสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งขายดีมาก แม้แต่ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยก็เดินทางมาซื้อที่ร้านค้าตรงเพชรบุรีตัดใหม่

คุณวิจัยและคุณตงจึงตัดสินใจติดตั้งสายการผลิตคุกกี้ โดยบินไปซื้อเครื่องที่เดนมาร์กแล้วมาติดตั้งที่ชั้น 2 ของโรงงานผลิตเนย เกิดเป็นคุกกี้แบรนด์อิมพีเรียลนั่นเอง

แรกเริ่มนั้นก็ไม่ได้ผลิตมากมายอะไรนัก เพราะคาดไม่ถึงว่าจะเป็นชื่นชอบของคนไทย แต่กลายเป็นว่าผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมดในทันที จนต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

ส่วนที่มาที่ไปของกล่องสีแดงสุดคลาสสิก ก็เกิดจากการที่คุกกี้อิมพีเรียลนั้นเป็นคุกกี้สไตล์เดนมาร์ก คุณวิจัยและคุณตงจึงนำรูปทหารองครักษ์ที่ยืนประจำอยู่หน้าพระราชวัง ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ มาไว้บนกล่อง

ส่วนที่เลือกใช้กล่องสีแดง ก็เพราะมองว่าเป็นสีมงคล หลังจากนั้นคุกกี้กล่องแดงนี้ก็ได้สร้างตำนาน กลายเป็นของสุดคลาสสิกที่นอกจากคนจะมอบให้กันในช่วงเทศกาลแล้ว ก็ยังนำไปเป็นของขวัญจับสลากสุดฮิตในช่วงปีใหม่ด้วย

[ สู่อาณาจักรอาหารรายได้มากกว่า 5 พันล้าน ]

อาณาจักรของกิมจั๊วพาณิชย์เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจมาบ้างแต่ก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง จนกระทั่งในวันที่บริษัทอายุครบ 60 ปี กับเป้าหมายที่วางไว้ว่าอยากเป็นบริษัทที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนจนกลายเป็นบริษัท 100 ปี

กิมจั๊วพาณิชย์ก็ได้ปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น KCG มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สร้างระบบการทำงานใหม่ ดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงาน

ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทนั้นมีทั้งส่วนที่ผลิตและจำหน่ายเอง และส่วนที่นำเข้าวัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตกแบรนด์ชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาด้วย อีกทั้งยังมีศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารของตัวเอง สำหรับพัฒนานวัตกรรมและควบคุมสินค้าให้ได้คุณภาพ

สำหรับสินค้าในอาณาจักร KCG ที่มีอยู่มากกว่า 2,100 รายการนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนย ชีส นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และนมเปรี้ยว

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ เช่น น้ำมันมะกอก มายองเนส ฟรุตสเปรด น้ำผึ้ง ผงฟู แป้งแพนเค้ก วุ้นเจลาตินสำเร็จรูป และน้ำส้มซันควิก เป็นต้น

3.กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิจ เช่น คุกกี้อิมพีเรียล แครกเกอร์โรซี่ เป็นต้น

แล้วรายได้ของ KCG เป็นอย่างไรบ้าง

  • ปี 2562 รายได้รวม 5,654.6 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 4,950 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 5,265 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 9 เดือนแรกอยู่ที่ 4,301.9 ล้านบาท

โดยแม้ว่าสินค้าพระเอกที่คนรู้จักจะเป็นคุกกี้ แต่สินค้ากลุ่มที่ทำจากนมอย่างเนยและชีสกลับเป็นรายได้หลัก โดยครองสัดส่วนถึง 60% ของรายได้

รองลงมาคือกลุ่มสินค้าสำหรับเบเกอรี่ 30% และกลุ่มบิสกิตและคุกกี้ ครองสัดส่วนรายได้ราว 10%

ในแง่ของภาพรวมตลาด KCG ยังถือเป็นผู้นำ โดยในปี 2564 ผลิตภัณฑ์เนยและชีสของ KCG มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 31.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิตของ KCG ยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรกอีกด้วย (ข้อมูลจาก Euromonitor)

[ เดินหน้าเข้าตลาดฯ เตรียม IPO ]

ธุรกิจก้าวมาไกลแต่อย่างที่บอกว่า KCG มีแผนเป็นองค์กร 100 ปี และเติบโตได้อีกอย่างยั่งยืน รักษาการเป็นผู้นำในประเทศไทย และขยายตลาดไปต่างประเทศ จึงต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่ม นำมาสู่การพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อ IPO โดยยื่นไฟลิ่งไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

และคาดว่าจะซื้อขายวันแรกในเดือนสิงหาคมนี้ ในราคาเสนอขาย 8.50 บาทต่อหุ้น และกำหนดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 20 – 21 และ 24 ก.ค. 2566 นี้

โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ KCG บอกว่ามี 4 ข้อด้วยกัน คือ

1.ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park

2.ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต

3.ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

4.เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2566-2567 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า (KCG Logistics Park) เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าอย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานเทพารักษ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยมีแผนในการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชีส (Individually Wrapped Processed Cheese Slices) จากเดิม 2,106 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 4,212 ตันต่อปี ภายในปีนี้

และจะขยายกำลังการผลิตเนย จากในปัจจุบัน 18,596 ตันต่อปี เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี ในปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และนี่ก็คือเรื่องราวเส้นทาง 65 ปีของบริษัทเจ้าของคุกกี้กล่องแดงในตำนาน ซึ่งกำลังสร้างตำนานบทใหม่ที่จะก้าวไปไกลกว่าเดิม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า