Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากจะพูดถึงคุกกี้กล่องแดงในตำนานของไทยที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนนึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘อิมพีเรียล’

แต่รู้หรือไม่ว่าบริษัทเจ้าของแบรนด์อิมพีเรียลอย่าง บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG นั้นอยู่คู่คนไทยมานานราว 65 ปีแล้ว ซึ่งโปรดักต์ก็ไม่ได้มีเพียงคุกกี้ แต่ยังมีเนย ชีส โยเกิร์ต แป้งแพนเค้ก น้ำส้ม บิสกิต เวเฟอร์ ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ KCG ยังมีรายได้มากกว่า 5 พันล้านบาท แถมยังเป็นบริษัทที่กำลังจะ IPO อีกด้วย

กว่าจะมาถึงวันนี้ของ KCG ผ่านอะไรมาบ้าง มีความน่าสนใจอย่างไร TODAY Bizview เล่าให้ฟังกันในโพสต์นี้

[ ชื่อแรกคือกิมจั๊วพาณิชย์ ]

แรกเริ่มเดิมที KCG มีชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2501 โดยคุณวิชัย วิภาวัฒนกุล (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกิตติมศักดิ์) และน้องชายคือ คุณตง ธีระสรณ์นุกิจ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร)

ความที่มีสายเลือดของการทำค้าปลีก ธุรกิจแรกกิมจั๊วพาณิชย์นั้นทำก็คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย โดยสินค้าชนิดแรกที่นำเข้ามาขายก็คือ ‘เนย’ เนื่องจากคุณวิจัยเคยทำงานในบริษัทขายสินค้าอาหารฝรั่ง และคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์พวกเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่เป็นอย่างดี

โดยเนยที่นำเข้ามาขายก็ไม่ใช่แบรนด์อื่นใด เป็นแบรนด์ Alowrie (อลาวรี่) เนยจากออสเตรเลียที่ขายดิบขายดีนั่นเอง

ความลำบากของการโปรดักต์อย่างเนยนั้นมีอยู่ไม่ใช่น้อย อย่างที่รู้กันว่าเนยเป็นของที่เก็บในที่เย็น การนำเข้าในสมัยที่ยังไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ก็ต้องฝากมากับห้องแช่เย็นของกลาสีเรือ

พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องไปฝากไว้ที่ห้องแช่เย็นที่สะพานปลากรุงเทพ เนื่องจากตอนนั้นกิมจั๊วพาณิชย์ยังไม่มีห้องเย็นเป็นของตัวเอง เมื่อได้ออเดอร์จากร้านค้าหรือโรงแรม สองพี่น้องก็จะไปเบิกเนย แล้วปั่นจักรยานหรือนั่งสามล้อไปส่ง

กิจการกิมจั๊วพาณิชย์ค่อยๆ ขยาย มีการนำเข้าสินค้าอื่นเข้ามาขายเพิ่ม เช่น ชีสจากยุโรป ผลไม้กระป๋องจากอเมริกา ช็อกโกแลต ปลาแซลมอน อาหารแช่แข็งและเนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียสำหรับส่งให้โรงแรม

ระหว่างนั้นก็ขยับขยายที่อยู่ จากการใช้บ้านที่สุรวงศ์เป็นที่พักและโกดัง ก็ขยับมายังอาคาร 3 ชั้นที่เพชรบุรีตัดใหม่ และในปี 2505 ก็เริ่มนำเข้า ‘น้ำส้มซันควิก’ เข้ามาขายในไทย และไม่นานน้ำส้มนี้ก็กลายเป็นสินค้าขายดีไปด้วย

[ จากนำเข้าสู่ผู้ผลิต ]

กิมจั๊วพาณิชย์มีกิจการก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ให้หลังมาอีก 10 ปึ คุณวิจัยและคุณตงก็เริ่มมองถึงอนาคตที่อยากสร้างการเติบโตและมั่นคง ซึ่งถ้าหากผลิตเองได้ ก็คงจะมั่นคงกว่า

อีกทั้งในช่วงนั้น รัฐบาลไทยก็มีนโยบายสนับสนุนการผลิตในประเทศ ด้วยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเหลือเพียง 5% และขึ้นภาษีนำเข้าอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศสูงถึง 60-80% เพราะจัดให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ในปี 2515 กิมจั๊วพาณิชย์จึงเปลี่ยนตัวเองจากผู้นำเข้ามาเป็นผู้ผลิต ด้วยการสร้างโรงงานผลิตเนยของตัวเองแห่งแรกที่บางนา โดยซื้อทั้งเครื่องจักร สูตรและวิธีการผลิตมาจากแบรนด์อลาวรี่ กระทั่งสามารถสร้างยอดขายเนยอลาวรี่ในไทยได้อย่างแข็งแกร่ง

[ กำเนิดคุกกี้กล่องแดงในตำนาน ]

เมื่อสามารถผลิตเนยได้ อีก 10 ปีต่อมา บริษัทจึงขยายฐานการผลิตมายัง ‘บัตเตอร์คุกกี้’ ที่ต้องใช้เนยเป็นวัตถุดิบหลัก จากก่อนหน้านี้ที่นำเข้าคุกกี้จากเดนมาร์กในกล่องสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งขายดีมาก แม้แต่ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยก็เดินทางมาซื้อที่ร้านค้าตรงเพชรบุรีตัดใหม่

คุณวิจัยและคุณตงจึงตัดสินใจติดตั้งสายการผลิตคุกกี้ โดยบินไปซื้อเครื่องที่เดนมาร์กแล้วมาติดตั้งที่ชั้น 2 ของโรงงานผลิตเนย เกิดเป็นคุกกี้แบรนด์อิมพีเรียลนั่นเอง

แรกเริ่มนั้นก็ไม่ได้ผลิตมากมายอะไรนัก เพราะคาดไม่ถึงว่าจะเป็นชื่นชอบของคนไทย แต่กลายเป็นว่าผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมดในทันที จนต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

ส่วนที่มาที่ไปของกล่องสีแดงสุดคลาสสิก เกิดจากการที่คุกกี้อิมพีเรียลนั้นเป็นคุกกี้สไตล์เดนมาร์ก คุณวิจัยและคุณตงจึงนำรูปทหารองครักษ์ที่ยืนประจำอยู่หน้าพระราชวัง ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ มาไว้บนกล่อง

ส่วนที่เลือกใช้กล่องสีแดง ก็เพราะมองว่าเป็นสีมงคล หลังจากนั้นคุกกี้กล่องแดงนี้ก็ได้สร้างตำนาน กลายเป็นของสุดคลาสสิกที่นอกจากคนจะมอบให้กันในช่วงเทศกาลแล้ว ก็ยังนำไปเป็นของขวัญจับสลากสุดฮิตในช่วงปีใหม่ด้วย

[ สู่อาณาจักรอาหารรายได้มากกว่า 5 พันล้าน ]

อาณาจักรของกิมจั๊วพาณิชย์เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจมาบ้างแต่ก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง จนกระทั่งในวันที่บริษัทอายุครบ 60 ปี กับเป้าหมายที่วางไว้ว่าอยากเป็นบริษัทที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนจนกลายเป็นบริษัท 100 ปี

กิมจั๊วพาณิชย์ก็ได้ปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น KCG มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สร้างระบบการทำงานใหม่ ดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงาน

ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทนั้นมีทั้งส่วนที่ผลิตและจำหน่ายเอง และส่วนที่นำเข้าวัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตกแบรนด์ชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาด้วย อีกทั้งยังมีศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารของตัวเอง สำหรับพัฒนานวัตกรรมและควบคุมสินค้าให้ได้คุณภาพ

สำหรับสินค้าในอาณาจักร KCG ที่มีอยู่มากกว่า 2,100 รายการนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนย ชีส นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และนมเปรี้ยว

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ เช่น น้ำมันมะกอก มายองเนส ฟรุตสเปรด น้ำผึ้ง ผงฟู แป้งแพนเค้ก วุ้นเจลาตินสำเร็จรูป และน้ำส้มซันควิก เป็นต้น

3.กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต เช่น คุกกี้อิมพีเรียล แครกเกอร์โรซี่ เป็นต้น

แล้วรายได้ของ KCG เป็นอย่างไรบ้าง

  • ปี 2562 รายได้รวม 5,654.6 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 4,950 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 5,265 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 9 เดือนแรกอยู่ที่ 4,301.9 ล้านบาท

โดยแม้ว่าสินค้าพระเอกที่คนรู้จักจะเป็นคุกกี้ แต่สินค้ากลุ่มที่ทำจากนมอย่างเนยและชีสกลับเป็นรายได้หลัก โดยครองสัดส่วนถึง 60% ของรายได้

รองลงมาคือกลุ่มสินค้าสำหรับเบเกอรี่ 30% และกลุ่มบิสกิตและคุกกี้ ครองสัดส่วนรายได้ราว 10%

ในแง่ของภาพรวมตลาด KCG ยังถือเป็นผู้นำ โดยในปี 2564 ผลิตภัณฑ์เนยและชีสของ KCG มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 31.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิตของ KCG ยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรกอีกด้วย (ข้อมูลจาก Euromonitor)

[ เดินหน้าเข้าตลาดฯ เตรียม IPO ]

ธุรกิจก้าวมาไกลแต่อย่างที่บอกว่า KCG มีแผนเป็นองค์กร 100 ปี และเติบโตได้อีกอย่างยั่งยืน รักษาการเป็นผู้นำในประเทศไทย และขยายตลาดไปต่างประเทศ จึงต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่ม นำมาสู่การพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อ IPO โดยยื่นไฟลิ่งไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ KCG บอกว่ามี 4 ข้อด้วยกัน คือ

1.ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park

2.ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต

3.ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

4.เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2566-2567 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า (KCG Logistics Park) เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าอย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานเทพารักษ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยมีแผนในการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชีส (Individually Wrapped Processed Cheese Slices) จากเดิม 2,106 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 4,212 ตันต่อปี ภายในปีนี้

และจะขยายกำลังการผลิตเนย จากในปัจจุบัน 18,596 ตันต่อปี เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี ในปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และนี่ก็คือเรื่องราวเส้นทาง 65 ปีของบริษัทเจ้าของคุกกี้กล่องแดงในตำนาน ซึ่งกำลังสร้างตำนานบทใหม่ที่จะก้าวไปไกลกว่าเดิม

อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม:

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า