Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สงครามการค้าสะเทือนโลกของญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ คืออะไร ทำไมรัฐบาลสองฝั่งถึงเปิดหน้าแลกใส่กันยับ พร้อมแตกหักกันขนาดนี้

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ ที่มีความเปราะบางมากๆ จากสาเหตุสำคัญคือ ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดในสงครามโลกครั้งที่ 2

เรื่องราวทั้งหมดจากอดีต จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร Workpoint News จะสรุปให้เข้าใจใน 18 ข้อ

1) ญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ เป็นสองประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความสัมพันธ์แบบพิเศษ คือศิลปะ วัฒนธรรม และการค้า ต่างเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นสองมหาอำนาจในเอเชีย ทำให้ทั้งคู่มีการแข่งขัน แย่งชิงความเป็นเลิศกันในทุกๆอย่าง

2) สองประเทศมีความขัดแย้งกันยาวนานในประวัติศาสตร์ แต่ส่วนที่เป็นจุดสำคัญ ที่ยังถูกหยิบมาพูดถึงอยู่เสมอ คือในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดเกาหลีไว้เป็นเมืองขึ้น ทหารญี่ปุ่นได้จับหญิงสาวชาวเกาหลีมากเกินกว่า 1 แสนคน ไว้เป็นหญิงบำเรอทางเพศแก่เหล่าทหาร

นางลี อ๊ก ซอน หญิงสาวที่ประสบเหตุการณ์ด้วยตัวเอง เปิดเผยว่าเธอถูกฉุด และต้องเป็นหญิงบำเรอให้กับกองทัพญี่ปุ่นตอนอายุ 15 และ ต้องรับใช้ทหารญี่ปุ่นถึง 50 นายต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 ปีเต็ม

3) นอกจากนั้นยังมีการเกณฑ์ชายเกาหลีมากกว่า 1 แสนคน ไปร่วมรบให้ทหารฝ่ายอักษะด้วยความไม่เต็มใจ หลายคนต้องเสียชีวิตในสงครามโลก ขณะที่ชายเกาหลีบางคน ถูกส่งไปทำงานหนัก ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทญี่ปุ่น

4) เกาหลีเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น 35 ปีเต็ม จนญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกในปี 1945 จึงถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม รอยแผลที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ ก็ทำให้ชาวเกาหลี มีความเกลียดชัง และหวาดกลัวคนญี่ปุ่นอย่างช่วยไม่ได้

รัฐบาลเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์ใดๆกับ รัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้บรรยากาศของเอเชียตะวันออกเต็มไปด้วยความตึงเครียด สุดท้ายในปี 1965 ทั้งสองประเทศตัดสินใจเซ็นสนธิสัญญายุติความขัดแย้งและบาดหมาง โดยญี่ปุ่นมอบเงินเยียวยา เหตุร้ายจากสงครามโลกให้เกาหลีใต้ เป็นเงินสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และให้กู้เงินถึง 200 ล้านดอลลาร์ สำหรับสร้างสาธารณูปโภคในประเทศ ซึ่งจำนวนรวม 500 ล้าน ในปี 1965 ถือเป็นตัวเลขมหาศาลมากในยุคนั้น

5) การเซ็นสนธิสัญญาในปี 1965 ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ค่อยๆดีขึ้น และไม่นานนัก ทั้งคู่ก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกันที่แข็งแกร่งมาก มีการนำเข้า – ส่งออก ระหว่างกันจำนวนมาก โดยรายงานในปี 2005 เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ เป็นรองแค่จีนเท่านั้น ส่วนเกาหลีใต้ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของญี่ปุ่น เป็นรองแค่ จีน กับ สหรัฐอเมริกา

6) อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความรู้สึก ของประชาชน ทั้งสองประเทศยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ข้อพิพาทหมู่เกาะลีอันคอร์ต ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้

หมู่เกาะนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น (ฮอนชู) 211 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เกาหลีใต้ 216.8 กิโลเมตร ทำให้ทั้งคู่อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ หมู่เกาะลีอันคอร์ต โดยญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า หมู่เกาะทาเคชิมะ ส่วนเกาหลีตั้งชื่อว่าหมู่เกาะด็อกโด

7) เหตุการณ์ความขัดแย้งของเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ก็ยังมีประปราย แต่เริ่มมีดราม่าหนักๆอีกรอบ ช่วงปลายปี 2018 จาก 2 เหตุการณ์ใหญ่

เรื่องแรกเกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2018 วาระครบรอบ 73 ปี ของวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น ที่เตรียมจะสละพระราชบัลลังก์ในปีหน้า พระองค์ได้เดินทางไปร่วมพิธีที่หอประชุมบูโดกัน และ ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับสิ่งที่ญี่ปุ่นทำลงไปในสงครา

“ภาพสะท้อนในอดีตของเรา ได้ย้ำเตือนเราเสมอว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเสียใจมากเพียงใด และข้าพเจ้าหวังอย่างที่สุดว่า ความโหดร้ายของสงคราม มันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง”

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อถึงเกาหลีใต้ หรือจีน โดยตรง แต่สื่อต่างประเทศเชื่อว่า น้ำเสียงและถ้อยคำของพระองค์มีความเสียใจจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

โดยมีการบันทึกไว้ว่าในรัชสมัยของจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระองค์กล่าวคำเสียใจโดยตรงต่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 2 ครั้ง และ กล่าวคำเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวมอีก 2 ครั้งด้วยกัน

8 ) อย่างไรก็ตาม มุน ฮี-ซัง ประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ วิจารณ์จักรพรรดิอากิฮิโตะ ผ่านสื่อสหรัฐฯบลูมเบิร์ก ว่า “จักรพรรดิอากิฮิโตะ คือลูกชายของอาชญากรสงคราม จักรพรรดิฮิโรฮิโตะไม่ใช่เหรอ?” โดยมุน ฮี-ซัง เรียกร้องให้จักรพรรดิญี่ปุ่น ออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการกับกรณีญี่ปุ่นเอาผู้หญิงเกาหลีมาเป็นทาสบำเรอกามในสงครามโลก

ซึ่งเรื่องนี้ ญี่ปุ่นเองก็ไม่ยอมง่ายๆ ทั้งนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ และ โฆษกรัฐบาล รุมโจมตี มุน ฮี-ซังอย่างรุนแรง ที่วิจารณ์ล้ำเส้นถึงองค์จักรพรรดิ

9) ส่วนอีกหนึ่งประเด็นเกิดขึ้น เมื่อปลายปี 2018 เมื่อศาลในเกาหลีใต้ สั่งให้สามบริษัทญี่ปุ่นทั้ง นิปปอน สตีล, นาจิ ฟูจิโกชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ ชายเกาหลีใต้ที่อ้างว่า โดนบริษัทเหล่านี้ ใช้แรงงานเป็นทาส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยทนายของผู้เสียหายระบุว่า เงินที่ญี่ปุ่นให้เกาหลีใต้ ในปี 1965 เป็นเงินค่าเยียวยาที่รัฐบาลมอบให้รัฐบาลด้วยกัน แต่ทว่า ผู้เสียหายแต่ละคน สามารถฟ้องร้องคดีโดยตรงกับบริษัทเหล่านี้ได้อีก

ซึ่งประเด็นนี้ก็สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น เพราะฝั่งญี่ปุ่นมองว่า พวกเขาชดเชยค่าเสียหายไปแล้วทั้งหมดในสนธิสัญญาปี 1965 แต่ศาลเกาหลีใต้ก็ยืนยันว่า มันไม่เกี่ยวกัน และบริษัทญี่ปุ่นต้องชดใช้เป็นรายคนอยู่ดี ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งฝั่งญี่ปุ่นมองว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ ตัดสินคดีนี้โดยไม่ให้ความเป็นธรรม

10) ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ปะทุหนักมากขึ้น และในที่สุด ญี่ปุ่นเองจึงเดินหน้าตอบโต้ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ

11) 1 กรกฎาคม รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศลดปริมาณการส่งออกสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งใช้ในกระบวนการผลิตชิป และ ผลิตหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น แขวนอยู่กับการขายอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ ทั้งแบรนด์ Samsung และ LG นั่นทำให้ กระบวนการผลิตของเกาหลีใต้จะพบความยากลำบากขึ้นทันที

สารเคมี 2 ชนิดที่ญี่ปุ่น ลดปริมาณการส่งออกให้เกาหลีใต้ (ฟลูออริเนต โพลีอิมิดส์ และ โฟโตเซนทิไซซิง เอเจนต์ รีซิสต์) ญี่ปุ่นคือเจ้าของตลาดของโลก ดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทเกาหลี ที่จะหาสารเคมี จากซัพพลายเออร์ประเทศอื่น

กระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น แถลงการณ์เปิดหน้าชัดเจนว่า “ระบบควบคุมการส่งออก มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อใจกันระหว่างประเทศ และ ณ เวลานี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ กำลังถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรง”

12) 5 กรกฎาคม ประชาชนชาวเกาหลีใต้ ไม่พอใจกับท่าทีของญี่ปุ่น จึงประกาศแบนสินค้าญี่ปุ่นที่วางขายในเกาหลี มีรายงานว่า ยอดขายของ Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่น ลดฮวบลงถึง 30% , โตโยต้า มียอดขายลดลงจากปีที่แล้ว 32% ส่วน รถยนต์ฮอนด้าลดลง 34%

นอกจากนั้นประชาชน มีการทำแคมเปญรณรงค์ “No Selling – No Buying” ไม่ซื้อไม่ขาย สินค้าทุกอย่างของญี่ปุ่น

13) 8 กรกฎาคม ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ แถลงการณ์ให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการนี้ และกลับมาเจรจากันอย่างจริงใจ เพราะการจำกัดการค้าของภาคเอกชน เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์กับใครเลย เกาหลีใต้ก็ไม่มีสารเคมีมาผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ผู้ผลิตในญี่ปุ่นก็จะทำรายได้น้อยลง เพราะเกาหลีใต้ คือตลาดรับซื้อใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

14) 12 กรกฎาคม รัฐบาลเกาหลีใต้ ส่งคณะเจรจาสองคน ไปพูดคุยกับ กระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ภาพที่ออกมาให้โลกได้เห็น คือ ฝ่ายญี่ปุ่นจัดห้องประชุมขนาดเล็ก ไว้รองรับคนของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ดูสภาพเหมือนห้องเก็บของ ไม่เหมือนห้องของการเจรจาระดับประเทศ

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า ฝั่งญี่ปุ่นไม่มีความจริงใจในการเจรจา ผู้เจรจาของญี่ปุ่นไม่แม้แต่จะใส่สูทผูกไทด์ ไม่มีน้ำชามาต้อนรับแขกจากเกาหลีใต้ แถมไม่มีการจับมือเชกแฮนด์ใดๆกันด้วย ซึ่งดูเหมือนการไม่ให้เกียรติกัน อย่างไรก็ตามฝั่งญี่ปุ่นอธิบายว่า จริงๆสองฝ่ายจับมือตามมารยาทกันไปแล้ว

สุดท้ายสำนักข่าวนิคเคอิ รายงานว่า การเจรจาของ 2 ฝ่ายดำเนินไปกว่า 5 ชั่วโมงครึ่ง แต่ก็ยังล้มเหลว ญี่ปุ่นยังไม่ยุติการลดมาตรการส่งออก สารเคมี ทั้ง 3 ชนิด

15) 23 กรกฎาคม เกาหลีใต้ ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าญี่ปุ่นกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้แถลงการณ์ตอบโต้ทันที ว่า “เป็นเรื่องจำเป็น ต่อความมั่นคงของประเทศ” ล่าสุดชาติสมาชิกส่วนใหญ่ ยืนยันว่า ไม่ขอข้องเกี่ยวด้วย และให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ไปจัดการเรื่องนี้กันเอง

บรรยากาศ ความขัดแย้งของสองประเทศตึงเครียดถึงขีดสุด ประชาชนเกาหลีใต้ ลงชื่อในเว็บทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแบนสินค้าญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวอีกด้วย

16) 2 สิงหาคม สถานการณ์เลวร้ายลงอีก เมื่อญี่ปุ่น ประกาศถอดชื่อเกาหลีใต้ ออกจาก “ไวท์ลิสต์” โดยไวท์ลิสต์คือกลุ่มประเทศที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า และเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นเป็นพิเศษ จากเดิมญี่ปุ่นให้สิทธิ 27 ประเทศ ปัจจุบันก็เหลือแค่ 26 ประเทศ เพราะไม่มีชื่อของเกาหลีใต้แล้ว

17) เมื่อโดนถอดชื่อออกจากไวท์ลิสต์ ทำให้ มุน แจ-อิน ปธน.เกาหลีใต้ ประกาศทันที ” ผมต้องเตือนรัฐบาลญี่ปุ่นให้ชัดเจนว่า พวกเขาต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเราจะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้ญี่ปุ่นอีกครั้ง เกาหลีใต้วันนี้ ไม่ใช่เกาหลีใต้ในอดีต เราจะไม่ยอมให้ญี่ปุ่นมาข่มเหงเราได้อีก”

ในวันรุ่งขึ้น ฮอง นัม-กี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ประกาศว่า “เกาหลีใต้ จะนำญี่ปุ่นออกจากรายชื่อไวท์ลิสต์ของเราเช่นกัน”

18) ดราม่าเรื่องนี้ ไม่รู้จะยุติลงอย่างไร การต่อสู้ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ มันมีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ อันยาวนานนับร้อยปีและ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล มีศักดิ์ศรี และ มีความภูมิใจในชาติของตัวเอ

ไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะจบลงแบบไหน แต่ที่รู้ๆ คือ ไม่จบลงง่ายๆแน่นอน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า