อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการป้องกัน พะยูนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันหลัง พบตายเกยตื้นต่อเนื่อง โดยใช้มาตรเร่งด่วน เฝ้าระวังการระยะสั้นและระยะยาว ยืนยันไม่มีการล่าตัดเขี้ยวพะยูน เพื่อทำเครื่องรางของขลัง
เวลา 09.30 น.วันที่16 ก.ค. 62 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์การตายของพะยูนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน หลังพบพะยูนเกยตื้นและพบซากจำนวนมากในห้วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการในการป้องกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง
โดยสถานการณ์ดังกล่าว ทางสำนักพระราชวังมีความเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพะยูน เป็นสัตว์ทะเลที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยมีพลเรือตรี นันทพล มาลารัตน์ ผบ.ฐท.ทรภ.3 นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชกรจังหวัดกระบี่ จนท.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กระบี่ ฝ่ายปกครองใน 5 อำเภอติดชายฝั่งทะเลของ จ.กระบี่ หัวหน้าอุทยานฯ ทางทะเลใน จ.กระบี่ ประมงจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมประชุม
นายจตุพร กล่าวว่า จากสถานการณ์การตายและลอยเกยตื้นของพะยูนในพื้นที่ฝั่งอันดามันต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ปัจจุบัน ประชากรพะยูนมีอยู่กว่า 200-250 ตัว ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยในห้วงเวลา 3 เดือนทีผ่านมา พบซากพะยูนเกยตื้นจำนวน 7 ตัว ตาย 5 ตัว และรอดชีวิต 2 ตัว คือ มาเรียม และยามีล ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุบาล
จากการติดตามสถานการณ์พบว่า พะยูน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการตายผิดธรรมชาติ การติดเชื้อ และติดเครื่องมือประมง ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังในระยะสั้น และในระยะยาว และมีการกำหนดพื้นที่แหล่งอาศัยของพะยูน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การกำหนดมาตรการในการตรวจตรา โดยวางแผนเฝ้าระวัง กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง เหนือคลอง คลองท่อม และเกาะลันตา ซึ่งมีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาพส่วน
อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการข่าวว่า มีการล่าพะยูนเพื่อเอาเขี้ยวมาทำเครื่องรางของขลังนั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง เพราะจากผลการชันสูตรพบว่าการตัดเขี้ยวพะยูน นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่พะยูนตายแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเอาไปทำเป็นเครื่องประดับเท่านั้น
ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีมาตรการ ในการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยกำหนด 2 มาตรการเร่งด่วน คือ ระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้นคือเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง และประชาสัมพันธ์ชาวประมงให้ช่วยกันดูแล แจ้งเหตุ ส่วนระยะยาว คือ การควบคุมปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน และกำหนดพื้นที่คุ้มครองพะยูน รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกประชาชน