SHARE

คัดลอกแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ประเทศไทยยังไม่รู้จักคำว่า “จัดอีเวนต์” คืออะไร  แต่ผ่านไปแค่ 3 ทศวรรษ นี่คือธุรกิจที่มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท

อีเวนต์ (Event) แปลเป็นไทยว่า งานกิจกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้น อีเวนต์ก็คือกิจกรรมทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา งานแสดงสินค้า งานเลี้ยง งานสังสรรค์ งานคอนเสิร์ต ฯลฯ ซึ่งแน่นอน ชีวิตแทบทุกคนต้องผูกพันกับงานอีเวนต์เสมอ

อีเวนต์ใครๆ ก็จัดได้ แต่จัดแล้วออกมาดี ไม่ใช่ใครก็ทำได้ และสำหรับประเทศไทย คนที่อยู่ในจุดสูงสุดของวงการอีเวนต์ มีชื่อว่า “เมฆ” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ที่เป็นผู้สร้างธุรกิจอีเวนต์รายแรกของประเทศไทย

คนที่สร้างเทรนด์ของ “พริตตี้” ขายสินค้าก็คือเขา คนที่สร้างพาวิลเลียนของประเทศไทย ติด 1 ใน 7 พาวิลเลียนยอดเยี่ยมของโลกในงาน world expo ก็คือเขา เจ้าของบริษัทจัดอีเวนต์อันดับ 7 ของโลกก็คือเขาเช่นกัน

จากจุดเริ่มต้นที่มีเงินทั้งตัว 6 หมื่นบาท เขาปลุกปั้นธุรกิจของตัวเองให้เติบโตสู่ระดับหมื่นล้าน และเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย

เขาไปไกลขนาดนั้นได้อย่างไร คอลัมน์ Tomorrow เราจะลองไปอ่านแนวคิดของคนที่ประสบความสำเร็จ ว่าเขา “คิดอะไร” ถึงก้าวไปไกลได้ขนาดนี้

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

ตลอดสมัยเรียน ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.5 เกรียงไกร เรียนที่สาธิตจุฬาฯ โดยเขาเป็นที่โหล่ ในห้องบ๊วย คือว่าง่ายๆ เขาดูจะเอาดีไม่ได้ ในเรื่องวิชาการเลย

“ถ้าให้วาดรูปจรวดสำรวจอวกาศขึ้นมา ทุกคนจะวาดจรวดทรงสูงๆ แบบเดียวกันหมด แต่จะไม่ชอบวาดแบบนั้น เราจะวาดจรวดในแบบอื่น ซึ่งอาจารย์ก็จะให้คะแนนน้อย มันเหมือนกับว่าแนวคิดของเรา ไม่ค่อยเหมือนคนอื่นตั้งแต่เด็กแล้ว”

พอเข้า ม.6 เป็นที่รู้กันว่า ห้องบ๊วยของสาธิต จุฬาฯ ไม่เคยมีใครสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ คนที่จบมาก็มักจะไปต่อมหาวิทยาลัยเอกชน แต่เกรียงไกร อยากทำให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าเขาเอาจริง เขาก็ทำได้เหมือนกัน สุดท้ายเขาตั้งใจเรียนอย่างหนักหน่วงในช่วง 1 ปีสุดท้าย จนหักปากกาเซียน สอบเอ็นทรานซ์ติดที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างน่าทึ่ง ซึ่ง ณ จุดนี้ มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ปลูกฝังในใจของเขาว่า ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยแค่ไหน แต่ถ้าสู้ไม่ถอย ก็มีสิทธิเป็นผู้ชนะได้เช่นกัน

หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกรียงไกรค้นพบว่าตัวเอง ไม่ได้ชอบสายรัฐศาสตร์ ที่ต้องทำงานตามระบบ แต่อยากใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ทำอะไรสักอย่างขึ้นมา ดังนั้นเขาจึงไปเริ่มต้นที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง โดยทำทุกอย่าง เท่าที่เด็กจบใหม่จะทำได้

จากนั้นเกรียงไกร ได้ไปทำงานบริษัทใหญ่คือ JSL โดยเขาเป็นโปรดิวเซอร์ ทำเกมโชว์ ซึ่ง ณ จุดนี้เขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบลึกลงไปอีก ว่าอยากทำอะไรกันแน่

“อยู่ JSL เราได้ทำอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเกมโชว์ที่ได้ทำบ่อยมาก ปรากฏว่าเราไม่ค่อยชอบเกมโชว์ เพราะรู้สึกว่ามันซ้ำซาก ทุกอย่างจำเจวนไปวนมา แล้วทีนี้ มีโอกาสต้องไปจัดงานคอนเสิร์ตแห่งหนึ่งให้บริษัท ปรากฏว่า เรารู้สึกโดนใจมากเลย คือเวลาจัดคอนเสิร์ต มันมีอะไรต้องทำมากมาย ดีลกับศิลปิน ดีลกับแฟนเพลง ดีลกับคนจัดเวที เรารู้สึกว่าเราชอบการแก้ปัญหา ไม่ชอบอะไรที่มาจากการเขียนสคริปต์ไว้แล้ว”

พอเกรียงไกรสัมผัสบรรยากาศความสนุกในงานคอนเสิร์ตแล้ว เขาก็ตอบหัวใจตัวเองได้ว่า จริงๆ แล้ว การทำกิจกรรมแบบนี้แหละ ที่เขาชอบ การได้จัดเวที การได้ประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด มันตอบโจทย์เขาเลย

แต่ปัญหาคือในยุค 2520-2530 ประเทศไทยยังไม่รู้จักคำว่า “งานอีเวนต์” ดังนั้น ไม่มีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ “ส่วนใหญ่งานกิจกรรมต่างๆ แบรนด์สินค้าจะเป็นคนจัดขึ้นมาเอง แต่ไม่มีใครที่เป็นคนกลาง คอยจัดการให้ทุกอย่างราบรื่น” เกรียงไกรเล่า

ดังนั้นเมื่อไม่มีคนเคยทำ ความคิดนอกกรอบของเกรียงไกรก็แล่นมาในหัวทันที “แล้วทำไมเราไม่เป็นคนเริ่มล่ะ?”

ปี 2531 เกรียงไกรวัย 26 ปี ลาออกจาก JSL แล้วกำเงิน 6 หมื่นบาทที่มีทั้งหมดในตัว หุ้นส่วนกับเพื่อนอีก 3 คน เปิดบริษัทจัดทำอีเวนต์ขึ้นมา ปรากฎว่า ทำได้ไม่นานก็วงแตก ไอเดียสุดโต่งของเขา ไม่สามารถจูนกับคนอื่นได้เลย สุดท้ายเกรียงไกร เลยต้องเอาตัวออกมา แล้วเปิดบริษัทใหม่ของตัวเอง

“วันที่ออกมาเปิดออฟฟิศใหม่ มีแต่พื้นห้องโล่งๆ เก้าอี้สักตัวยังไม่มี ต้องขนเก้าอี้หวายมาจากที่บ้าน เพื่อเป็นที่นั่ง แต่เราจะรอช้าไม่ได้ เพราะเรามีฐานลูกค้าจากบริษัทเก่าเริ่มติดต่อเข้ามาแล้ว และมันจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่า ไอเดียของเรามันเวิร์คหรือเปล่า กับธุรกิจนี้”

ออฟฟิศใหม่ของเกรียงไกร มีชื่อว่าอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ “ตอนคิดชื่อบริษัท เราไปเปิดหนังสือภาษาอังกฤษดูเพื่อหาไอเดีย ปรากฏว่าเจอสารบัญหน้าแรก เขียนว่า Index ผมเลยบอกว่า โอเค เอาชื่อนี้เลยจบ เราไปลองเทสต์กับยามของบริษัท ปรากฎว่าเขาเรียกได้คล่อง ผมเลยคิดว่า ถ้ายามเราเรียกได้ คนอื่นก็ต้องจำได้ง่ายเหมือนกัน แล้วตอนนั้นเราไม่เคยได้ยินชื่ออินเด็กซ์เฟอร์นิเจอร์มาก่อน พอตั้งขึ้นมา กลายเป็นว่าคนก็สับสนว่าอินเด็กซ์ไหนกันแน่ ซึ่งก็สนุกดีนะ”

บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ของเกรียงไกร ในช่วงแรกมีภารกิจคือ รับมอบหมายงานจากลูกค้า ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าต่างๆ แล้วทำอย่างไรก็ได้ ให้สินค้าชนิดนั้น เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ มากที่สุด ให้คนพูดถึงให้เยอะ เพราะยิ่งคนพูดถึงเยอะ ก็จะนำมาสู่ยอดขายที่ดีมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นเกรียงไกรซึ่งเป็นคนคิดอะไรนอกกรอบอยู่แล้ว จึงมองว่าเป็นความท้าทายมาก เพราะถ้าทำอะไรตามกรอบเดิมๆ ก็จะไม่มีการถูกพูดถึงแน่ๆ มันต้องฉีกไปเลยจากที่เคยเป็น

ปี 2532 แบรนด์เนสกาแฟมาจ้างบริษัทอินเด็กซ์ ให้ช่วยคิดแผนการตลาดของถ้วยเนสกาแฟเชคให้หน่อย คือบริษัทต้องการเพิ่มยอดขายในหน้าร้อนให้ได้มากที่สุด

“ลูกค้าบอกกับเราว่า ทำอย่างไรก็ได้ ต้องขึ้นหน้า 1 ไทยรัฐให้ได้ ซึ่งในยุคนั้นไทยรัฐไม่เคยขายพื้นที่หน้า 1 ให้ใคร ดังนั้นเราต้องคิดว่า ทำอีเวนต์แบบไหน ที่จะดึงดูดมากพอ จนไทยรัฐยอมนำเสนอข่าวเอง”

ดังนั้น เกรียงไกรและทีมงานจึงคิดค้น “สาวเชค” ของเนสกาแฟขึ้นมา โดยจับเอา สาวสวยนุ่งน้อยห่มน้อย เอาขวดเนสกาแฟเชคมาเขย่าด้วยท่าทีเย้ายวน ก่อนจะดื่มกาแฟท่ามกลางแสงแดดอันเร่าร้อน

ปรากฏว่า ไอเดียเอาสาวสวยมาเชค นับว่าเป็นอะไรที่เขย่าวงการ เพราะในไทยไม่เคยเลยที่จะเอาผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่มาเป็นจุดขายสินค้าขนาดนี้ โดย “สาวเชค” คนแรกคืออังคณา ทิมดี เจ้าของสัดส่วน 34-22-36 ที่ทำให้คนหยุดจ้องมองเรือนร่างของเธอไม่ได้ และส่งผลให้สินค้าขายดีเป็นพลุแตก

จากนั้นเมื่ออังคณาเป็นสาวเชคครบ 1 ปี สาวเชคคนต่อไปคือ จุ๋ม-แสงระวี อัศวรักษ์ สาวฮอตแห่งยุค ซึ่งคราวนี้ยอดขายของเนสกาแฟเชคพุ่งไป 1.2 ล้านกระป๋อง ยิ่งไปกว่านั้นบนทางด่วนยังมีป้ายแบนเนอร์โฆษณา เป็นรูปจุ๋ม-แสงระวี ใส่กางเกงขาสั้นจนแทบจะเห็นก้นอีกด้วย ซึ่งมีคนขับรถเผลอมองป้ายโฆษณา จนรถเฉี่ยวชนกับคันหน้ามาแล้ว

โดยข่าวป้ายรถเกิดอุบัติเหตุเพราะป้ายโฆษณา ได้ขึ้นหน้า 1 ไทยรัฐ และเนสกาแฟจึงยึดครองตลาดกาแฟเย็นของไทยแต่เพียงผู้เดียวในยุคนั้น

นี่คือไอเดียที่กล้าจะฉีกออกนอกกรอบของเกรียงไกร และมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั่นคือ สินค้าของคุณจะถูกพูดถึงแน่นอน

“เราจะให้ลูกค้ามากกว่าเสมอ เราจะเสนอทางเลือกให้เขามากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น เขาอาจจะอยากให้เราทำ ก.ไก่ ให้ เราก็อาจเสนอเขาไปว่า ทำไมต้อง ก.ไก่ ข.ไข่ ทำไมไม่ A B C ไปเลย”

ในยุคที่สายงานครีเอทีฟ และการสร้างอีเวนต์ ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในไทย ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใครของอินเด็กซ์ ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว และพวกเขาก็ได้งานชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในมุมของบริษัทมันมั่นคงขึ้นก็จริง แต่ความยาก มันก็เพิ่มดีกรีมากขึ้นด้วย

หนึ่งในอีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่าเวิลด์เอ็กซ์โป (World Expo) ที่จัดกันทุกๆ 5 ปี โดยนี่คือนิทรรศการที่ทุกประเทศทั่วโลก จะมาสร้างอาณาจักรเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อแสดงให้ชาติอื่นๆ ได้รู้ว่า ประเทศของตัวเองมีดีอะไรบ้าง

ดังนั้นนี่คือการวัดฝีมือกันของแต่ละชาติเลยว่า ใครจะสร้างอาณาจักรของตัวเองให้ดึงดูดและน่าสนใจมากที่สุด โดยอาณาจักรดังกล่าว จะใช้คำว่า “พาวิลเลี่ยน”

ย้อนกลับไปในปี 2005 งานเวิลด์เอ็กซ์โปที่ญี่ปุ่น พาวิลเลียนของไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ได้รับความนิยมเลย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงแก้ตัวใหม่ ในปี 2010 ที่เวิลด์เอ็กซ์โป ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ในประเทศจีน คราวนี้รัฐบาลไทย จ้างบริษัทอินเด็กซ์ ให้เป็นคนจัดพาวิลเลียน ทำอย่างไรก็ได้ ให้ดึงดูดชาวจีน ให้มาเข้าพาวิลเลียนของไทยให้มากที่สุด

ปัญหาคืองบประมาณ อินเด็กซ์ได้ทุนจากรัฐ 599 ล้านบาท ขณะที่ชาติอื่นๆ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีมากกว่าไทยเกิน 10 เท่า อย่างซาอุดิอาระเบีย ใช้งบ 5,000 ล้านบาทในการสร้างพาวิลเลียนของตัวเอง

สิ่งที่เกรียงไกรต้องทำ คือต้องชนะด้วยต้นทุนต่ำกว่า เหมือนมวยขึ้นชกคนละรุ่นน้ำหนัก แต่เขาก็สู้ โดยสิ่งที่อินเด็กซ์ทำ คือเดินทางล่วงหน้ามาจีนก่อนเป็นปี เพื่อทำความรู้จักคนจีนว่า รู้จักประเทศไทยหรือไม่ และสนใจอยากจะเข้าศาลาไทยหรือเปล่า

ต้องนึกภาพก่อนว่า เวลานักท่องเที่ยวมาถึงงานเวิลด์เอ็กซ์โป ด้วยความที่เวลาจำกัด และมีชาติที่มาจัดพาวิลเลียนมากเกินกว่า 100 ประเทศ ดังนั้นพวกเขาต้องเลือก ว่าจะไปดูพาวิลเลียนของประเทศอะไรบ้าง

ซึ่งงานวิจัยของคนจีนระบุว่า ไม่ค่อยอยากจะมาศาลาไทย เพราะไม่รู้จักประเทศไทยเท่าไหร่ คือจะมา ถ้าเวลาเหลือ ณ ตอนนั้นชื่อเสียงของไทย ยังไม่แข็งแรงพอถ้าเทียบกับชาติอื่น ดังนั้นทีมงานอินเด็กซ์ จึงวางกลยุทธ์ใหม่ ในขณะที่ชาติอื่นโชว์เทคโนโลยีล้ำยุค สร้างพาวิลเลียนเป็นโมเดิร์นสไตล์ แต่ของไทยเลือกทำเป็น Thai prespective หรือ ทำให้เห็นความเป็นไทยอย่างแท้จริง

นอกจากสถานที่จะจัดอย่างสวยงามแล้ว มีการต้อนรับผู้ชมก่อนเข้าพาวิลเลียน มีการแสดงนาฏศิลป์ชุดกินรี มีการเอาวงค์ดุริยางค์มาบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ มีลูกเล่นต่างๆมากมาย ในพาวิลเลียนของไทย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทำให้เมื่อจบวันแสดงจัดงาน พาวิลเลียนของไทย ได้รับโหวตให้เป็น 1 ใน 7 พาวิลเลียนยอดนิยมของโลก

นี่คือความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของเกรียงไกร และจากนั้นอินเด็กซ์ก็หยุดไม่อยู่ องค์กรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก้าวทะลุประเทศ ไปทำอีเวนต์ให้ทั้งที่ ญี่ปุ่น จีน และ เมียนมาร์ กลายเป็นบริษัทในระดับนานาชาติไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอีเวนต์ที่กำลังไปได้ดี ก็ต้องมาเจอความท้าทายที่รุนแรงที่สุดในปีนี้เอง จากกระแสโควิด-19

“เรากำลังจะจัดงานอีเวนต์ที่ญี่ปุ่น และเตรียมโปรเจ็กต์งานอีกมากมายในไทย แต่ทุกอย่างหยุดชะงักหมด เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยแม้แต่อย่างเดียว คือหลังจาก ร.9 สวรรคต แล้วผ่านช่วงไว้อาลัย ตอนนั้นถือเป็นขาขึ้นของวงการอีเวนต์ แต่พอโควิดมามันจบเลย รายได้เป็นศูนย์ อย่างสิ้นเชิง”

“สินค้าเขายังขายของได้ ร้านอาหารยังขายได้ แต่งานอีเวนต์ยิ่งเป็นงานระดับนานาชาติ ที่เชิญคนหลายๆประเทศ มันไม่สามารถจัดได้เลย มันหยุดชะงักไปเลย”

“เทียบกับตอนต้มยำกุ้ง จริงอยู่ว่ามันก็หนักนะ แต่ตอนนั้นไม่มีใครห้าม ไม่ให้คุณจัดอีเวนต์นี่ เพียงแค่ค่าใช้จ่ายมันจะสูง แต่คราวนี้ กิจกรรมต่างๆ โดนระงับอย่างสมบูรณ์แบบ”

ด้วยความที่เป็นบริษัทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เสมอ เมื่อถึงความวิกฤติมาเยือน สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรรอดไปได้ คือก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์นั่นล่ะ เข้ามา กอบกู้วิกฤติ

“วิธีที่องค์กรจะรอดได้จากโควิด มีสองวิธีคือหนึ่ง คุมรายจ่าย และสอง สร้างรายได้เพิ่ม”

“การคุมรายจ่าย เรายอมรับว่าทำจริง เราคุยกับทีมงานว่าขอลดเงินเดือนส่วนหนึ่ง เพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปก่อน แต่ไม่ได้ลดถึงขนาดเขาอยู่ไม่ได้นะ เรากับพนักงานก็ต้องหาทางออกร่วมกันตรงนี้”

การลดค่าใช้จ่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เกรียงไกรจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มเข้าบริษัทด้วย

“ในทุกๆ วิกฤติ เราเชื่อว่าเป็นโอกาส ดังนั้นเราจึงนำทุกคนในทีมมาคุยกัน แล้วหาทางคิดว่า เมื่ออีเวนต์ไม่รู้จะจัดได้เมื่อไหร่ แล้วบริษัทจะหาหนทางทำเงินได้จากไหน”

เกรียงไกรนั้นมองเห็นว่า ในช่วงโควิด-19 นั้น สิ่งที่เด่นชัดมากๆ 2 เรื่องคือ 1. คนรักตัวกลัวตายมากขึ้น คนซีเรียสมากเรื่องความสะอาด และยอมจ่ายเงินถ้าใช้ชีวิตโดยปราศจากเชื้อโรค และ 2.คือบริษัทจำนวนมาก มีพนักงานที่ต้องเลี้ยงเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะติดโควิด

ดังนั้นเขาจึงเอาทั้ง 2 สิ่งนั้นมารวมกันเลย โดยตัดสินใจก่อตั้งบริษัทชื่อ Kill & Klean ขึ้น ในขณะที่คนอื่นกำลังจะทยอยปิดธุรกิจเพื่อเซฟ cost แต่เขาสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเลยสวนกระแสโลก

Kill & Klean เป็นบริษัทรับทำความสะอาด ในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยมาตรฐานแบบมืออาชีพ ซึ่งธุรกิจห้างร้าน โรงแรม โรงเรียน บางทีพวกเขาก็ไม่รู้ว่า ต้องทำความสะอาดแบบไหน ถึงจะ “สะอาดพอ” ดังนั้นเลยติดต่อให้ Kill & Klean ไปทำความสะอาดให้ ซึ่งทางสถานที่ก็ได้ความสบายใจ ส่วนบริษัทของเกรียงไกรก็ได้เงิน เป็น win-win situation

ธุรกิจ Kill & Klean บูมมาก นั่นทำให้เขาเปิดขายแฟรนไชส์อย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ซึ่งขัดกับหลักการตลาดทั่วไปอย่างมาก ว่าควรทำธุรกิจให้มั่นคงก่อน ค่อยเปิดแฟรนไชส์ แต่เกรียงไกร เดินหน้าขยายตลาดอย่างเร็วมากๆ

“เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ว่าเมื่อมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คนจะแห่มาทำตาม ดังนั้นตอนที่คนยังตั้งตัวไม่ติด เราเดินหน้าให้เร็วที่สุด รีบขยายอาณาจักรเอาไว้ ซึ่งกว่าที่เขาจะไหวตัวทัน เราก็ยึดครองตลาดไปหมดแล้ว”

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า Kill & Klean กลายเป็นธุรกิจทำเงินที่ ช่วยเป็นรายได้หล่อเลี้ยงอินเด็กซ์ในช่วงไม่สามารถสร้างงานอีเวนต์ได้อย่างไม่คาดคิดเลย

ณ เวลานี้ อินเด็กซ์ยังคงประคองตัวต่อไปก่อน ธุรกิจโดยรวมยังอยู่รอดได้ โดยไม่ต้องปลดพนักงาน และรอเมื่อไหร่ที่การบินจะเปิดทำการ พวกเขาก็สามารถกลับไปจัดอีเวนต์ได้อีกครั้งทั่วเอเชีย

สำหรับเกรียงไกร เขาใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเอาชนะเกม มาตลอดอาชีพ ดังนั้นการเจอวิกฤติอีกสักครั้งในคราวนี้ เขาเองก็มั่นใจเช่นกันว่า จะผ่านมันไปได้อีกครั้ง

ก่อนจะแยกจากกันไป เราถามเกรียงไกรว่า ตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ จุดเริ่มต้นจากห้องโล่งๆ ไม่มีแม้แต่เก้าอี้ จนมาวันนี้ที่เป็นอาณาจักรใหญ่ เขามีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท และได้รับการว่าจ้างจากคนทั่วเอเชีย สิ่งใดที่เขามองว่า สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ

“ผมเองดำเนินธุรกิจมา 30 ปี หลายๆ คนพูดเหมือนกันหมดว่า อินเด็กซ์ทำมาขนาดนี้ เป็นเสือติดปีกแล้ว ใครมาแข่งก็ไม่ได้แล้ว เป็นเจ้าตลาดจริงๆ แต่ผมเองไม่ได้เถียงเขา ไม่ได้พูดอะไร แต่ผมนึกในใจตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราคิดว่าตัวเองเป็นเสือ เป็นสิงโต เป็นเจ้าตลาด เราจะใช้วิธีดำเนินธุรกิจแบบหนึ่งคือ ไม่ระมัดระวังตัว ก็ไม่มีใครรังแกฉันได้นี่ นึกภาพตามเป็นสิงโต เดินอยู่ในป่า ใครจะมาทำอะไรได้ อาจจะมีหมามาเห่าบ้างเป็นครั้งคราว แต่ถามว่าต้องระวังตัวไหม มันก็ไม่ต้องระวังอะไร”

“นั่นคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด สำหรับคนที่ทำธุรกิจแบบนั้น แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็นหมา แล้วต้องเป็นหมาข้างถนนด้วยนะครับ ชีวิตของหมาข้างถนนเป็นอย่างไร? มันต้องระวังตลอด เดินไปไหนก็ไม่รู้จะมีหมาตัวอื่นมาทำร้ายไหม หรือกองขยะที่เคยคุ้ยเขี่ยแล้วได้อาหาร วันนี้เราจะได้อาหารไหมก็ไม่รู้ ซึ่งถ้าเราทำธุรกิจด้วยความระแวดระวังตลอดเวลา มันจะทำให้เราสามารถปรับตัวได้ดีกว่าสิงโต”

“ผู้ชนะอย่างแท้จริงในวันนี้พรุ่งนี้ วันกันที่การปรับตัว เหมือนอย่างไดโนเสาร์ ครั้งหนึ่งมันยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่เคยต้องกลัวใคร แต่ในที่สุดคุณก็ต้องสูญพันธุ์ เพราะคุณปรับตัวไม่ได้กับโลกที่เปลี่ยนไป”

“ดังนั้นวิถีแห่งหมาข้างถนน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีในการทำธุรกิจ ถ้าคุณระแวดระวังอย่างหมาข้างถนน ธุรกิจของคุณจะล่มสลายได้ยากมาก เพราะคุณคอยระวังทุกอย่าง ทุกย่างก้าวอยู่แล้ว”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า