Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยลูกค้ารูดบัตรใช้จ่ายออนไลน์เติบโตกว่าปีที่แล้วพุ่ง 150% ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังติดลบ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 196,000 ล้านบาท จับตาภาวะหนี้เสีย 2.25% พร้อมออกมาตรการ ลดดอกเบี้ย-ยืดการชำระหนี้ยาวถึง 96 เดือนสูงสุดในระบบ จากปกติ 48 เดือน ช่วยลูกหนี้หลังหมดพักชำระหนี้ มีลูกหนี้ขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 32,000 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 2,500 ล้านบาท

ณญาณี  เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงบรรยากาศการจับจ่ายที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/63 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เริ่มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ โดยมี ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 196,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 58,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 133,000 ล้านบาท แต่ก็ยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 คาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จะเติบโตกว่า 20% เทียบกับในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2563 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 280,000 ล้านบาท ติดลบ 11% ยอดสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท ติดลบ15% และยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท

“ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเริ่มดีขึ้น เพราะว่าตอนนี้ถ้าไม่มีสถานการณ์ทำให้เกิดความไม่สบายใจ จริงๆ แล้วไตรมาส 4 คาดว่าลูกค้าจะมาใช้มากขึ้น 20% แต่จากประเมินสถานการณ์ตอนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและอารมณ์ของคน ก็ยังมีการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ ปลายปี 63 น่าจะได้ 25%”  ณญาณี  กล่าว

ณญาณี  เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

คาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งปี ยังติดลบ 11%  จับตาภาวะหนี้เสีย 2.25%

ขณะเดียวกัน ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยอมรับว่า หลังโควิดพบว่าอัตราลูกหนี้คงค้าง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL) สูงขึ้น และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากเทียบกับปัจจุบันหนี้เสียโดยรวมของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ระดับ 2.25% โดยช่วงก่อนโควิด เดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 2.14% ซึ่งคาดว่าภาวะหนี้เสียจะไม่เกิน 2.5% ไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ลูกหนี้ลดลง โดยมีรายละเอียด NPL ดังนี้

  • จากสินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 1.51%  ขณะที่ช่วงก่อนโควิด เดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 1.37 %
  • สินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ปัจจุบันอยู่ที่ 3.02% ขณะที่ช่วงก่อนโควิด เดือน ก.พ. อยู่ที่ 2.9%

“สถานการณ์หนี้ไม่ได้ดี เท่าที่เราควรจะสบายใจ ตัวเลขที่เราปิดพักชำระหนี้สองเดือน ตัวเลขมันยังไม่ส่งผลมา ณ นาทีนี้ มันจะส่งผลมาปลายปีนี้ จนถึงช่วงไตรมาสแรกปีหน้า เท่ากับว่าลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระไม่ไหว สูงที่สุดจะเจอกันที่ไตรมาสแรกปีหน้า”

“เพราะฉะนั้นถ้าดูกันตอนนี้ โอกาสหนี้เสียโดยรวมปลายปี อาจอยู่ที่ 2.5% ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ถ้าหากสถานการณ์ยังแย่และอะไรก็ไม่ดีขึ้น เพราะว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่มีปัญหา ไม่มีคนจ้างงาน รายได้ลดน้อยลงมันก็จะยาวขึ้น เราคาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้จะยาวๆ ไปจนถึงปลายปี 2564 แน่นอน เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ดูดีขึ้น ยังสบายใจไม่ได้” ณญาณี กล่าว

ลดดอกเบี้ย-ยืดการชำระหนี้ยาวถึง 96 เดือนสูงสุดในระบบ จากปกติ 48 เดือน

สภาวะการดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในปัจจุบันค่อนข้างผันผวน ความสามารถในชำระคืนยังต่ำเพราะรายได้ของลูกหนี้ลดลง แม้ว่าในช่วงล็อกดาวน์ บริษัทได้หามาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ด้วยมาตรการพักชำระหนี้ให้ 2 เดือน ประมาณ 1 ล้านบัญชีไปแล้ว ซึ่งพบว่าหลังจากพักชำระหนี้ 2 เดือน ลูกหนี้เริ่มชำระคืนมากขึ้น ส่วนใครที่ยังจ่ายไม่ไหว ก็เข้าโครงการพักชำระหนี้ต่อไป ทั้งรีไฟแนนซ์และปรับลดดอกเบี้ยลงด้วย

โดยตัวเลขผู้เข้าร่วมมาตรการรีไฟแนนซ์ ในระยะที่ 1 และ 2 พบว่า มีประมาณ 90,000 บัญชี เป็นวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ยังเปิดรับเข้าร่วมมาตรการรีไฟแนนซ์ได้จนถึงปลายปี 2563

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสิ้นปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระคืนให้ลูกหนี้ถึง 96 เดือน (8 ปี) ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่บริษัทเคยมี จากที่กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 48 เดือน

ขณะนี้ เริ่มมีลูกหนี้บางรายทยอยสมัครเข้าร่วมมาตรการขอปรับโครงสร้างหนี้  TDR (Troubled Debt Restructuring) แล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ณญาณี เผยว่า ได้มีการหารือไปแล้ว 4,400 ล้านบาท ประมาณ 32,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างราว 2,500 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้จะเปิดไปจนถึงปี 2564

“ถึงแม้หลายคนมองว่ามาตรการช่วยเหลือจะหมดตั้งแต่ตุลาคม แต่จริงๆ แล้วมาตรการช่วยเหลือยังอยู่ยาว และก็ยังมีเรื่องของแผนพักชำระหนี้ ตรงนั้นที่เราให้ไปยาวๆ ถึง 96 เดือน เท่ากับว่ายังยืนระยะไปได้อีกไกล และก็หนี้เสียคิดว่าเราจะควบคุมได้ดีกว่าตอนแรกที่คิดว่าน่าจะมีปัญหา

ส่วนการชำระคืน ชำระคืนยังไง ปกติถ้า 46 งวด ถ้าเขาชำระคืนต่อเดือนก็ต้องจ่ายสูง ตอนนี้เราปรับดอกเบี้ยลงมาอีก ลดทั้งดอกและยืดระยะเวลาชำระคืนนิดเดียวเท่านั้นเอง ทำให้เขามีโอกาสจะรับตัวเองให้ยืนระยะต่อไปได้อีก ยาวถึง 96 เดือน ซึ่งเราคิดว่าตอนนี้เราน่าจะยาวที่สุดแล้ว” ณญาณี กล่าว

ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์  ได้กล่าวกับ workpointTODAY ว่า ต้องมีการปรับเกณฑ์คุณภาพลูกค้า โดยพิจารณาจากความสามารถจ่ายคืนได้มากน้อย ที่สำคัญจะต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ DSR (Debt Service Ratio) ไม่เกินกว่า 70%  เพราะสภาวะที่จ่ายคืนจากบัตรที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันนั้นยากขึ้น ลูกหนี้รายได้ลดลง ยอดเงินที่ใช้ไปแล้วจ่ายคืนยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นการขอบัตรเครดิตใบใหม่ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขอบัตรเครดิตใบใหม่จะยากขึ้น หรืออาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ กลุ่มคน Gen Y เข้ามาขอบัตรเครดิตเป็นบัตรใบแรก แต่เนื่องจากผลกระทบระยะยาว ก็จะมีทำให้โอกาสการปล่อยสินเชื่ออาจจะยากขึ้นตามไปด้วย

 

พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ยอดใช้จ่ายออนไลน์เติบโตกว่าปีที่แล้วพุ่ง 150% พบรูดบัตรซื้อประกันภัย สูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง

ข้อมูลจากสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์  พบว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัท ตั้งแต่เดือน มี.ค. – ก.ย. 2563 ชี้ให้เห็นว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่กลับมาในระดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกวัยเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายที่ได้จากบริการออนไลน์ แม้คลายล็อคดาวน์แล้ว บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม

  • ยอดใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มช้าลง โดยตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ยอดใช้จ่ายออนไลน์เติบโตกว่าปีที่แล้วกว่า 150% แต่หลังเดือนพฤษภาคม เติบโตเพียง 75% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หมวดสินค้าตกแต่งบ้าน ช่วงล็อกดาวน์ ลูกค้าซื้อสินค้าหมวดสินค้าตกแต่งบ้านผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว และหลังคลายล็อก ยอดขายหน้าร้านก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แสดงถึงความสนใจในการตกแต่งบ้านที่เพิ่มขึ้น
  • ยอดใช้จ่ายในหมวดบริการสั่งอาหาร (Food Delivery) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เติบโตขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว
  • หมวดบริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์ ยังเติบโตสูง แม้หลังช่วงคลายล็อคดาวน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y  ขณะที่หมวดความบันเทิง เช่น โรงหนัง ยังคงซบเซา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น
  • การท่องเที่ยวในประเทศ ยอดจองโรงแรมในเดือน สิงหาคมถึงกันยายน มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่า เป็นผลจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ
  • คนเริ่มกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น แม้ว่ายอดใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารจะยังไม่กลับมาในระดับที่เทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยอดใช้จ่ายในแต่ละครั้ง สูงขึ้นกว่าช่วงล็อกดาวน์ถึง 64%
  • หลังคลายล็อกดาวน์ คนเริ่มกลับเข้าห้าง ในเดือนสิงหาคม 2563 ยอดใช้จ่ายในหมวดห้างสรรพสินค้าสูงกว่ายอดในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3% ก่อนจะลดลงในช่วงเดือนกันยายน
  • ยอดใช้จ่ายสินค้าแฟชั่น เริ่มกลับมากระเตื้องขึ้น ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูเติบโตสูงกว่าแบรนด์ระดับกลาง แสดงว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังคงมีกำลังซื้อ และใช้จ่ายต่อเนื่อง
  • หมวดความงามและเครื่องสำอาง กลับมากระเตื้องขึ้นหลังคลายล็อคดาวน์ โดยยอดใช้จ่ายในหมวดสินค้าประเภทสกินแคร์ เติบโตสูงกว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอาง
  • หมวดประกันภัย และหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นหมวดใช้จ่ายพื้นฐาน เป็นหมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยยังคงมียอดใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง และสอง ตามลำดับ

‘ณญาณี เผือกขำ’ แม่ทัพหญิงกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ปรับองค์กรให้ตอบโจทย์ Digitalization กับความท้าทายรอบด้าน

แม้ว่า ‘ณญาณี เผือกขำ’ จะเข้ารับตำแหน่ง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา  ต่อจาก ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ ที่ลาออกจากตำแหน่ง แต่เธอก็ไม่ใช่คนนอกร่มเงาของกรุงศรี เพราะตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ร่วมงานกับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เธอได้สร้างผลงานที่โดดเด่นมากมาย ที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์เติบโตอย่างมั่นคงในฐานะผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลชั้นนำของไทย

ณญาณี บอกกับ workpointTODAY ว่า การรับตำแหน่งท่ามกลางความท้าทายมากมาย ทั้งวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกเซกเตอร์ ไม่เว้นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งผลประกอบการที่ยังติดลบ ภาวะหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และคู่แข่งที่ปรับตัวเร็ว ด้วยประสบการณ์ของเธออยู่ในธุรกิจนี้มา 25 ปี ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เคยผ่านปัญหาธุรกิจที่หนักกว่านี้ จนกระทั่งยืนมาสูงมาก และดรอปลงไปอีก ทั้งสภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ดิ่งสุด ติดลบก็มี จนผ่านมาถึงนาทีที่โอเคที่สุดก็มี พอเจอสถานการณ์นี้ก็พอรู้วิธีการแก้ปัญหา การทำงานกับผู้บริหาร เข้าใจธุรกิจ รู้จักผู้ร่วมธุรกิจเดียวกัน เข้าใจลูกค้า เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีการในการปรับโหมดธุรกิจมากกว่ามัวกังวลกับสิ่งต่างๆ

เธอยอมรับว่า Digitalization คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เข้ามาแล้วทำให้กระบวนการทำงานเปลี่ยนไป ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ข้อสำคัญของ Digitalization คือ เปลี่ยนประสบการณ์ผู้บริโภค ทำให้การตัดสินใจซื้อ เปลี่ยนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทาย เพราะว่าสมัยนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว “คนที่มี Data คือคนที่มีมูลค่า”

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เป็นธุรกิจบัตรเครดิต มีฐานข้อมูลเยอะมาก และมีร้านค้าธุรกิจที่เป็นพาร์ทเนอร์มากเช่นกัน ตรงนี้สามารถนำมาต่อยอดใน Ecosystem โดยมันจะออกมาเป็น lending การให้กู้ยืม หรือออกเป็น payment การชำระเงิน ซัพพอร์ตกันมากขึ้น แล้วก็เราสามารถยิงเป้าตรง เพราะเรารู้ว่าธุรกิจบัตรเครดิต เรารู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ลูกค้าสนใจอะไร” ณญาณี กล่าว

อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเอาดิจิทัล และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยกระดับคุณภาพการบริการ เช่น บริการส่งใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-billing), การใช้ระบบดิจิทัล เวิร์คโฟลว์ และการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ, รวมถึง บริการใหม่ๆ ในแอปพลิเคชันยูชูส (UCHOOSE) เช่น U Manage บริการที่เปิดให้สมาชิกบัตรสามารถดำเนินการผ่านแอปด้วยตนเอง เช่น ตรวจสอบยอดชำระของบัตรเครดิตและสินเชื่อ,  ขอ e-statement,  บริการจ่ายบิลผ่านแอป KMA และ SCB, U Product บริการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและประกันภัย, UMall บริการนำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าหรือบริการจากพันธมิตรของบริษัท, และ UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอปแบบ Digital Lending

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า