Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การรักษาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ สินค้าบริการทุกอย่าง จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการรีไซเคิลเป็นหลัก จนอาจกล่าวได้ว่า ยุคธุรกิจเร่งโต จนไม่ใส่ใจขยะที่เกิดขึ้นในกิจกรรมธุรกิจ จะค่อยๆ เลือนหายไป 

ดังนั้น แนวโน้มที่เราจะได้เห็นในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก 

ในบทความนี้ TODAY Bizview จะพาไปเจาะกรณีน่าสนใจของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติก ที่เริ่มทำขวดไร้ฉลากออกมากันบ้างแล้ว เพราะแม้ตัวขวดจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ตัวฉลาก นำกลับมาใช้ไม่ได้ ต้องทิ้งอย่างเดียว กลายเป็นขยะพลาสติกที่ต้องนำไปฝังกลบ หรือเผาทำลาย 

ในขณะเดียวกัน ขวดไร้ฉลาก ก็ไม่ส่งผลดีต่อแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่ม เพราะลูกค้าหาแบรนด์ไม่เจอ มองไม่เห็นว่าขวดไหนคือน้ำอะไร เป็นของยี่ห้ออะไร ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่จะออกแบบขวดให้คนจำได้ โดยไม่ต้องใช้ฉลากพลาสติก เพื่อระบุยี่ห้อตนเอง 

[ แบรนด์ไหนเริ่มแล้วบ้าง ]

แบรนด์ที่เรารู้จักกันและทำมาได้ 2 ปีกว่าแล้วคือ Evian ผู้ผลิตน้ำแร่บรรจุขวดจากประเทศฝรั่งเศส ที่เลิกใช้พลาสติกหุ้มขวด และฝังชื่อยี่ห้อขนาดใหญ่ ลงไปในขวดเลย ทำให้ยังพอมองเห็นว่านี่คือน้ำแร่ยี่ห้อ  Evian โดยเป้าหมายสูงสุดของ Evian คือ การหมุนเวียนขวดกลับมาใช้ได้ทั้งหมด 

อีกแบรนด์หนึ่งคือ Coca-Cola ทีใช้ขวดไร้ฉลากตั้งแต่ปี 2021 เริ่มที่เกาหลีใต้ โดยเครื่องดื่มสองรุ่นตัวดัง Coca-Cola ออริจินัล และ Coca-Cola Zero ขายเป็นขวดไร้ฉลากแล้ว ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสองสูตรได้จากสีฝาขวด Coca-Cola ออริจินัลเป็นฝาสีแดง ส่วน Coca-Cola Zero เป็นฝาสีดำ

นอกจากนี้รูปทรงขวด Coca-Cola ทรงคอนทัวร์ที่มีความท้วมนิดๆ ตรงกลางขวด ยังเป็นสัญลักษณ์ ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ง่าย แม้ไม่มีฉลากก็ตาม เพราะเป็นทรงขวดที่  Coca-Cola  ใช้มานานหลายสิบปี 

และเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2022 Coca-Cola ร่วมมือกับบริษัท IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ตั้งโรงงานรีไซเคิลขวดในฟิลิปปินส์ โดย Coca-Cola ตั้งเป้ารวบรวมและรีไซเคิลขวดเครื่องดื่ม ให้ได้เทียบเท่ากับปริมาณที่ขาย ภายในปี 2030 และคาดว่าความร่วมมือครั้งนี้  IVL จะสามารถรีไซเคิลขวดใช้งานแล้วในประเทศฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านขวดต่อปี

ฝั่ง Pepsi ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทประกาศจะทำขวดไร้ฉลากในจีน และอาจเป็นแบรนด์แรกๆ ในจีนที่ทำเลยก็ว่าได้ โดย Pepsi จะยังคงรูปทรงขวดที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ สลักชื่อแบรนด์ วันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้ที่ตัวขวดให้เป็นลายนูนขึ้นมา แถมยังลบหมึกที่เคยพิมพ์บนฝาขวดออกไปด้วย

Asahi แบรนด์เครื่องดื่มเจ้าดังของญี่ปุ่น เปิดตัวขวดไร้ฉลากตั้งแต่ปี 2019 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นมีมาตรฐานการแยกขยะสูง ขยะจำพวกขวด และฉลากพลาสติกต้องทิ้งแยกกัน Asahi จึงเปิดตัวชุดเครื่องดื่มไร้ฉลาก มาสนองความต้องการของลูกค้าให้แยกขยะง่ายขึ้น 

ต้นปี 2022 Nestle ในญี่ปุ่นทำขวดกาแฟไร้ฉลากออกมาแต่ขายเป็นขวดบรรจุในกล่องกระดาษ กล่องละ 12 ขวด ชื่อของส่วนผสมและสัญลักษณ์อื่นๆ จะพิมพ์อยู่บนตัวกล่อง ส่วนเครื่องหมายรีไซเคิลสลักนูนไว้ที่ตัวขวด และฉลากบนฝาขวดจะระบุประเภทผลิตภัณฑ์นั้นๆ

[ ขวดไร้ฉลากขายยาก จริงหรือ ]

Innova Market Insights ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค พบว่า 66% ของผู้บริโภคทั่วโลกเห็นด้วย กับการที่ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และบริษัทจัดการขยะ ต้องร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงความสามารถในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และ 57% ของผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันว่า แบรนด์คุ้นเคยที่เปลี่ยนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้ 

ดังนั้น การที่แบรนด์หันมาใช้ขวดไร้ฉลาก ก็อาจชนะใจผู้บริโภคได้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม 

ตรงนี้มีข้อมูลมาสนับสนุนด้วย โดย Lotte Mart ร้านค้าปลีกเครือ Lotte Group ในเกาหลีใต้ เผยว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลาก มีส่วนแบ่งถึง 62% ในยอดขายน้ำทั้งหมด ยอดขาย แซงหน้าน้ำที่มีฉลากพลาสติกเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา 

ด้าน E-Mart Inc. เชนร้านค้าลดราคาที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ระบุว่า ส่วนแบ่งของยอดขายขวดน้ำที่ไม่มีฉลากเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 31.6% ในปี 2021

เชนร้านอีกแห่งอย่าง Homeplus ก็มองเห็นส่วนแบ่งยอดขายของขวดไร้ฉลากเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์น้ำในเกาหลี มีความแอคทีฟในการทำขวดไร้ฉลาก เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่บังคับใช้ในภาพใหญ่คือ การทำให้ภาชนะบรรจุน้ำพลาสติกไม่มีฉลาก การรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกใสแบบแยกส่วน และส่งเสริมสนับสนุนถ้าประชาชนต้องการใช้ภาชนะรีฟิล

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังแบ่งชนชั้นบรรจุภัณฑ์ออกเป็น 4 ชั้นได้แก่ ชั้นคุณภาพที่รีไซเคิลได้ดีมาก ชั้นคุณภาพที่รีไซเคิลดี ชั้นคุณภาพที่รีไซเคิลได้ปกติ และยากต่อการรีไซเคิล แบ่งชั้นคุณภาพโดยยึดหลักเกณฑ์ ความสามารถในการรีไซเคิลและการแกะฉลากออกได้ง่าย 

ผู้ประกอบการรายใดมีคะแนนชั้นคุณภาพที่รีไซเคิลได้ดีมาก ก็จะได้รางวัลจากรัฐบาล ส่วนผู้ประกอบการที่ได้คะแนนแย่ จะถูกจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 30%

[ แค่ฉลากพลาสติก ทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่ ]

โดยปกติแล้ว ขวดเครื่องดื่มที่ขายกันทั่วไปทำมาจากพลาสติกชนิด PET (Poly ethylene terephthalate) ทนแรงกระแทก มีความหนา ไม่เปราะแตกและอันตรายเหมือนขวดแก้ว และยังเป็นวัสดุที่สามารถทำให้ใสมากๆ ได้ มองเห็นเครื่องดื่มที่อยู่ภายใน เป็นมิตรต่อผลิตภัณฑ์อาหาร และที่สำคัญ PET ยังเป็นพลาสติกชนิดเดียวที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% นำไปหลอมเป็นขวดใหม่ หรือแปรรูปเป็นของอื่นได้ เช่น พรมเช็ดเท้า เสื้อแจ๊กเก็ต หมอนใยสังเคราะห์ ชิ้นส่วนรถยนต์

แต่ฉลากพลาสติกส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกชนิด PVC (Polyvinyl chloride) ข้อดีคือ ราคาถูก มีความยืดหดดีกว่าพลาสติกชนิดอื่น นอกจากนี้ยังทนทานต่อสารเคมี ใช้ในอุตสาหกรรมหนักและในโรงงานได้ และยังมีบทบาทสำคัญในการวางระบบท่อประปา 

แต่ข้อเสียนั้นยิ่งใหญ่ คือ ถ้าเผาทำลายจะปล่อยสารเคมีก่อมะเร็งและสารที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในต่างประเทศจึงเริ่มทำฉลากพลาสติกจากวัสดุ PET แทน แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก

ลองจินตนาการว่า เราจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องนี้ได้มากแค่ไหน ถ้าแบรนด์เครื่องดื่ม เลิกติดฉลากในขวด PET ไปเลย 

มีการคาดการณ์จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ว่า หากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกทั้งหมด ประมาณ 4.2 พันล้านขวดที่ขายในปี 2019 เลิกติดฉลาก จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ 24.6 ล้านตัน

มองกลับมาที่ไทย เรายังเห็นเครื่องดื่มไร้ฉลากน้อยมาก ส่วนนโยบายรัฐที่ออกกฎตรงๆ ในตอนนี้มีเพียงการยกเลิกแคปซีล หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดที่บังคับใช้ปี 2018 กับกฎบังคับร้านค้าปลีกเชนใหญ่งดแจกถุงพลาสติก 

การยกเลิกแคปซีล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะแค่ตัวแคปซีลก็ก่อให้เกิดขยะ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี น้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี

แต่หลายฝ่ายมองว่ายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะแคปซีลมีขนาดเล็กมาก ทางที่ดี รัฐบาลควรออกกฎแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างพวกซองอาหารและฉลากพลาสติกไปเลย ซึ่งน่าจะลดขยะได้มากขึ้นอีกหลายเท่า

และอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ไทยควรมีกฎหมายให้ภาคประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือน และมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม เหมือนอย่างในเกาหลีใต้ 

 

ที่มา : Fast Company, Packaging Insights, Korea Bizwire, Tisi, ข่าวหุ้น, CBN Data, Korea Times, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า