SHARE

คัดลอกแล้ว

ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในแคมป์ก่อสร้างพลิกผันในช่วงข้ามคืน หลังมีราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ล็อกพวกเขาเอาไว้ในพื้นที่ที่รัฐบาลเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สถานการณ์มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

workpointTODAY มีโอกาสได้พูดคุยกับแรงงานคนหนึ่ง นายสุชาติ (นามสมมติ) คนงานก่อสร้างที่อาศัยอยู่ในแคมป์แห่งหนึ่งที่ถูกสั่งปิดย่านสุขุมวิท นายสุชาติเป็นชาวอีสานที่เข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นคุณพ่อและคนงานก่อสร้างในวัย 53 ปี แต่ตอนนี้เขากำลังถูกจองจำในแดนก่อสร้าง ที่นอกจากจะต้องอยู่แต่ในแคมป์คนงานแล้ว เขายังไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะตรวจโควิดเลยในตอนนี้

รัฐบาลล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง แรงงานก่อสร้างถูกสั่งงดเดินทางและเคลื่อนย้ายเป็นเวลา 1 เดือน ให้กักตัวอยู่ในแคมป์นับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564

ความเป็นอยู่ในแคมป์ล็อกดาวน์

นายสุชาติเล่าว่า ที่พักในแคมป์นั้นสะอาด มีการจัดให้นอนห้องละ 2 คน ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด แต่นั่นไม่ใช่ความยากลำบากที่พวกเขากำลังเผชิญ

แม้ที่พักจะค่อนข้างสะดวกสบายและไม่ใช่สังกะสีเหมือนกับที่อื่น ๆ ที่อยู่ในหน้าข่าว แต่ปัญหาหลักที่แรงงานกำลังประสบอยู่ตอนนี้คือความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน เนื่องจากไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วแคมป์งานได้แบบแต่ก่อน พูดง่ายๆ ก็เหมือนถูกกักบริเวณอยู่ในสถานกักกันโรคที่มาในรูปแบบของแคมป์คนงานก่อสร้าง

เมื่อถูกริบอิสรภาพและการงานอาชีพไป ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องปากท้อง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะแถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ยืนยันว่า รัฐมีมาตรการเยียวยาจ่ายค่าชดเชย 50% ให้ กรณีแรงงานก่อสร้างต้องหยุดงาน 1 เดือนใน 10 จังหวัด แต่หลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ตรงที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ดูแลจัดหาอาหารการกินให้แรงงานเองไปก่อน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นสำหรับคนงานก่อสร้าง ณ ขณะนี้ เพราะแม้ภาครัฐจะขอความร่วมมือไปยังสมาคมก่อสร้างกับผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อประกอบอาหารและจัดส่งไปยังแคมป์ก่อสร้างที่ถูกปิด แต่ก็ยังไม่มีผลดำเนินการใดๆ แคมป์ของนายสุชาติจึงต้องพึ่งอาหารของบริษัทไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม อาหารที่ถูกจัดส่งมาจากนายจ้างของนายสุชาติกลับอยู่ห่างไกลจากคำว่า “พอกิน” นัก

ห้ามเข้า-ออกบริเวณแคมป์ก่อสร้าง โดยขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าประจำการที่ด้านหน้าแคมป์ก่อสร้างต่างๆ แล้วเพื่อตรวจตรา

อาหาร 40 กล่องกับแรงงานกว่า 400 ชีวิต

ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น อย่างน้อยก็แคมป์ของนายสุชาติที่หนึ่งแล้ว

“อย่างวันนี้ เขาห้ามออกไปซื้อกับข้าว ไปจ่ายตลาด แต่ข้าวมาแจกให้พวกเรามีเท่าไหร่ คน 400 คน ข้าว 40 กล่อง…แต่ก่อนคือพวกเราสามารถออกไปได้ มีเวลาให้เราออก ออกไปซื้อมากักตุน ใครมีตู้เย็นก็ซื้อใส่ตู้เย็นไว้ได้ แต่ตอนนี้เขาไม่ให้ออกเลย…คนที่ลงไปทันก็ได้กินไป ถ้าไม่ทันก็กินของพรุ่งนี้” นายสุชาติกล่าว

แรงงานในแคมป์กำลังถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ สิ่งเดียวที่นายสุชาติและแรงงานอีก 400 ชีวิตทำได้ในตอนนี้คือลงชื่อกับนายช่างที่เป็นเจ้านายในแคมป์ ระบุว่าต้องการอาหารประเภทไหน อาหารกล่องหรืออาหารแห้งในตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่รัฐบาลสั่งปิด แล้วนายช่างจะเขียนหนังสือส่งเอกสารไปให้เจ้านายใหญ่อีกทีหนึ่ง

“เขาจะจัดมาให้ยังไง แบบไหน ก็ยังไม่รู้ ต้องรอคำตอบ รอจากเจ้านายเขาที่เป็นเจ้านายเราอีกทีหนึ่ง” ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของแรงงานในขณะนี้ที่ทำได้เพียงแค่รอ เพราะท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นเพียงมาตรการเดียวที่ทางบริษัทออกมารองรับในตอนนี้ ในขณะที่รัฐบาลเองก็ยังไม่มีมาตรการอื่นๆ มาเยียวยาเพิ่มเติม

สภาพภายนอกของที่พักอาศัยที่แรงงานก่อสร้างต้องใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลากว่า 30 วัน

ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งรู้ผลตรวจโควิดของตน

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องปากท้อง อาหารการกินที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนแล้ว วิกฤตที่ดูจะร้ายแรงที่สุดในตอนนี้คือจำนวนผู้ป่วยโควิดในแคมป์คนงานที่ไม่แน่ชัด

นายสุชาติเล่าว่า คนงานก่อสร้างหลายคนมีอาการไข้ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อนร่วมห้องของตนที่ผลตรวจออกมาเป็นบวกและควรถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลก็กลับไม่ได้นอนอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างที่ควรจะเป็น กลับกลายเป็นว่า “เขาไปกักตัวอีกที่หนึ่ง เพราะทางโรงพยาบาลอ้างว่าเตียงไม่พอ เขาก็ไปกักไว้”

ไม่เพียงแต่การจัดการแรงงานที่ติดเชื้อโควิด แต่การตรวจหาเชื้อในแคมป์ก็ส่อแววหายนะเช่นกัน ตามจริงแล้ว ประกันสังคมของบรรดาคนงานในแคมป์นี้ขึ้นกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่เพราะทางโรงพยาบาลงดตรวจเชื้อโควิด-19 บริษัทจึงให้โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเข้ามาตรวจแทน แต่ความหวังที่จะได้รับผลตรวจและได้รับการรักษาก็เป็นอันต้องดับวูบ เมื่อทางโรงพยาบาลยกเลิกผลตรวจทั้งหมด ผลตรวจเหล่านั้นไม่เคยถูกส่งถึงมือคนงานกว่าร้อยชีวิตในแคมป์นี้

“พอตรวจไป เขาก็บอกว่าคนติดโควิดมันเยอะ เตียงไม่พอ แล้วจะมาตรวจทำไม ตรวจกันแล้วบอกคนติดเยอะ แล้วยกเลิกผลตรวจ มันก็เลยเสียความรู้สึก…เราคิดตลอดว่าคงเป็นแล้ว คงติดแล้ว อะไรแบบนี้ จะได้ทำใจ…น้องคนหนึ่งที่อยู่ข้างล่าง ตอนนี้สามีเขาก็ไปรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เขาก็อยากจะรู้เหมือนกัน ก็ไปตรวจ ชุดเดียวกับผมที่ไปตรวจ 100 กว่าคนนี่แหละ” นายสุชาติตัดพ้อ

และเหมือนอย่างเคย สิ่งเดียวที่นายสุชาติและแรงงานคนอื่นๆ ทำได้คือ “รอ” เพราะจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมาประสานงานโรงพยาบาลเพิ่มเติม ทหารที่มาคุมบริเวณหน้าแคมป์กันคนงานก่อสร้างหนีกลับบ้านก็ไม่สามารถบอกได้ ต้องรอทางเจ้านายจัดคนมาตรวจเท่านั้น

คำถามคือ แรงงานเหล่านี้ที่ถูกสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างจะต้องรอจนถึงเมื่อไร

เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ฝากญาติภายนอกซื้อสิ่งของ เช่น อาหาร ยา ได้ แต่ต้องนำมาให้บริเวณหน้าแคมป์ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเท่านั้น

 

คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า

นายสุชาติมีอาการไข้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน จนวันนี้ วันที่ 28 มิถุนายน เป็นเวลากว่า 10 วันแล้ว แต่นายสุชาติทำได้เพียงกินยาบรรเทาอาการเท่านั้น

เพราะอะไร

บุตรสาวของนายสุชาติพยายามจะนำตัวคุณพ่อไปตรวจเองที่โรงพยาบาลเอกชน แต่เพราะรัฐบาลสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง มีทหารประมาณ 3 ถึง 4 นายประจำอยู่หน้าแคมป์เพื่อคอยตรวจคนเข้า-ออก ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ การส่งตัวนายสุชาติไปตรวจหาเชื้อก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

“เขาไม่ให้ออกไป มีเคสคนหนึ่งที่ป่วยหนัก เขาก็บอกญาติเขาจะเอารถมารับ เขาก็ไม่ให้ออกไป คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เขา…แต่เราไปประสานกับบอสแคมป์ เขาบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่กับเขา ปัญหาตอนนี้มันอยู่กับพวกทหารแล้ว คุณไปขอทหารได้ คนก็ออกไปได้

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติมองว่ามีโอกาสเจรจากันได้ เพราะเท่าที่ตนสังเกต แม้จะออกไปนอกแคมป์ไม่ได้ แต่สามารถฝากญาติที่อยู่ข้างนอกซื้อยามาให้ได้ “เขาก็อนุญาตให้มาส่งยาให้กัน แต่กรณีของเรา ยังไม่มีใครที่จะไปพูด เพราะพึ่งปิด 2 วัน” ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว คนงานหลายชีวิตที่มีอาการไข้ติดต่อกันมาหลายวันแล้วจะได้รับสิทธิ์ในการตรวจโควิดอย่างที่ควรจะเป็นกลับคืนมาหรือไม่

เมื่อถามถึงสิ่งที่คนภายนอกอย่างเราจะช่วยได้ นายสุชาติกล่าวว่า หากไม่ปลดล็อกดาวน์ คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่หากอยากบริจาคสิ่งของ เช่น อาหาร ก็สามารถนำมาให้ได้ที่ด้านหน้าแคมป์และประสานกับทหารให้เขาประสานกับคนด้านในเพื่อออกไปรับ

“สภาพจิตใจตอนนี้ห่อเหี่ยวครับ คนที่ตรวจก็อยากจะรู้ว่าตัวเองติดไหม อยากจะรู้ อยากจะรักษา คนที่เป็นไข้ ห้องที่ติดกับผม 2-3 ห้องเป็นไข้กันหมดแล้ว เป็นไข้โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ไหม” นายสุชาติ หนึ่งในคนงานแคมป์ก่อสร้างกว่า 83,000 รายในกรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า