Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อเกิดวิกฤติจนถึงขั้น ‘ล้ม’ ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนส่วนใหญ่จะคิดให้ตัวเองรอดก่อน แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจ คนมี ‘ลูกน้อง’ จำนวนไม่น้อยที่พยายามประคับประคองทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกันให้ได้มากที่สุด

ณภพ ลายวิเศษกุล หรือ อู๋ เจ้าของโรงแรมลายทอง ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในฐานะ ‘นาย’ และคิดแบบนั้น วิกฤติโควิด-19 กระทบกับธุรกิจโรงแรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘โรงแรมลายทอง’ เป็นโรงแรมต่างจังหวัดระดับ 4 ดาว มี 124 ห้องพัก 9 ห้องประชุม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยกลุ่มข้าราชการ จึงต้องปิดตัวชั่วคราว ในวันที่ 25 มีนาคม 2563

แม้จะเคยบริหารโรงแรมแทนพ่อแม่ สู้กับการมีหนี้สินกว่า 600 ล้านบาทในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 รวมทั้งปีที่แล้วก็ต้องเจอกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่อีสาน ทำให้ลูกค้าหายไป 50% แต่เพราะเคราะห์ดีที่ตัวโรงแรมไม่ถูกน้ำท่วม ณภพจึงแก้ปัญหาได้ด้วยการลดค่าใช้จ่าย ตีตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแทนกลุ่มธุรกิจ และจัดโปรโมททางออนไลน์

แต่วิกฤติโควิด-19 นั้น เขายอมรับว่า แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเพราะครั้งนี้ รายได้ที่เคยมีเดือนละ 5 ล้านบาทกลายเป็น ‘ศูนย์’ ชั่วพริบตา

ตอนนั้นวิฤติต้มยำกุ้งบังเอิญเราใช้เงินต่างประเทศ (กู้เงินกว่า 200 ล้านบาท) เราเลยเจอวิกฤติหนัก แต่ส่วนอื่นยังพอไปไม่ได้… แต่พอเจอโควิดเราเจอกับความตืนตระหนัก (Panic) ของคน แล้วกระแสเงินสดมันถูกตัดหายไปจากระบบเลย ไม่ว่า จะเป็นของเราเอง ของประชาชน ราชการ งานสัมมนา จากมีๆ อยู่เหลือศูนย์เลย แต่ค่าใช้จ่ายยังคงเดิม ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐยังไม่มีอะไรออกมาชัดเจน ฉะนั้นมันก็เลยหนัก หนักมาก มันไม่เหมือนบ้าน ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำก็จบ แต่โรงแรมทำอย่างนั้นไม่ได้ ยังมีระบบไฟเลี้ยงน้ำเลี้ยง ต้องสตาร์ทเครื่องยนต์ตลอด แต่เราไม่มีรายได้แม้แต่บาทเดียว ในช่วง 3-4 เดือน แล้วไหนจะดอกเบี้ยแบงก์ที่ยังเดินอยู่

ตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ‘เชฟระดับ 5 ดาว’

ณภพ เล่าว่า วันที่ตัดสินปิดโรงแรมตอนนั้น มันประเดประดังมาหลายอย่าง แต่มองว่าถ้าเราหยุดไปต้องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงิน จุดแรกที่ห่วงคือลูกน้อง ลูกน้องจะไปอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร ก็เลยคิดว่าต้องหาอะไร เลยกลับมามองตัวเองว่า เราทำอะไรได้ เราเก่งเรื่องอะไรอยู่ ก็มองไปหลายสิ่งหลายอย่าง แต่สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ‘อาหาร’ เพราะเรามีครัวอยู่แล้ว เรามีคนอยู่แล้ว เรามีความรู้อยู่แล้ว ก็เลยได้จับอาหารขึ้นมาสิ่งแรก โดยใช้พื้นที่ด้านหลังโรงแรมเปิดร้านอาหาร เชฟ 5 ดาว โดยใช้พ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหารในโรงแรมอยู่แล้วมาปรุงอาหารถุงขาย

พอเริ่มทำก็มองว่า ตอนนี้คนมุ่งเน้นขายอาหารทางออนไลน์ ก็ไปดูรายละเอียด เห็น ‘ค่า GP’ (Gross Profit ส่วนแบ่งที่เจ้าของอาหารต้องให้กับ Food Delivery) บางเจ้าฟาดไป 35% บางเจ้า 30% หรือกว่า 20% คือสมมุติ จะขายข้าว 50 บาทไปเจอค่า GP 15 บาท ได้ 30 บาท สู้ไม่ไปเอาค่า GP นั้นแล้วมาขายในราคาถูกให้ประชาชนไม่ดีกว่าหรือ เพราะตอนนั้น เราว่าเราโดนหนักแล้ว ลูกน้องเราหนักแล้ว แต่อยู่ต่างจังหวัด เห็นถึงความลำบากของคน เวลานั้นคนโวยวาย เขาเครียด ก็สงสาร อย่างน้อยเราทำอาหารดีระดับที่ขายในโรงแรมให้ประชาชนได้กินในราคาถูกก็ช่วยกันไป 

สำหรับตัวอย่างเมนูอาหารร้าน ‘เชฟ 5 ดาว’ ที่ให้มีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียดทุกครั้งที่เปิดร้าน เช่น ตุ๋นซุปเปอร์ตีนไก่ 50 บาท ต้มจืดเต้าหู้ยัดไส้หมูสับ 40 บาท ปลาหมึกมะนาว 50 บาท หมูสามชั้นคั่วพริกเกลือ 30 บาท ปลาทอดราดซอสมะขาม 40 บาท เกี๋ยมฉ่ายผัดหมูพริกทอด 20 บาท หลนเต้าเจี้ยว ผักสด ชุดละ 40 บาท สปาเก็ตตี้ผัดขี้เมากุ้ง 50 บาท ข้าวผัดกุนเชียง 20 บาท

ณภพ บอกว่า กิจการร้านเชฟ 5 ดาวไปได้ดีมาก ช่วงเดือนแรกขายได้เกือบล้านบาท แต่ตนได้กำไรกลับมาแค่ 3,000 บาท เรียกว่าไม่เหลืออะไร เพราะก็ใช้เงินส่วนตัวลงทุนไปด้วย แต่ที่ทำเพื่อให้พนักงานโรงแรมมีรายได้ เพราะการเปิดร้านเชฟ 5 ดาว ทำให้มีการจ้างงาน ค่าแรงวันละ 200 – 300 บาท อย่างไรก็ตาม ณภพ ตัดสินใจเบรกกิจการร้านเชฟ 5 ดาว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เพื่อเรียกพนักงานประมาณ 20% กลับมาลุยกับกิจการหลัก หลังจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์

“ผมก็ยังรู้สึกผิด ผมดึงได้ไม่หมดทุกคน แต่ผมก็ไม่ไหว เราไม่ได้จ่ายแบงก์มา 3 เดือน เราไม่มีรายได้เลย วันนี้ผมก็อยู่กรุงเทพฯ เพิ่งไปคุยกับผู้ใหญ่ในแบงก์ขอโอกาส”

ส่วนพนักงานพอโรงแรมกลับมาเปิด เรายังไม่ได้รับพนักงานกลับมา 100% ให้กลับมาทำได้ส่วนหนึ่ง  แต่บางส่วนเขาได้งานอื่นไปบ้าง แล้วเราจ้างเขาไม่ได้ทุกวัน แต่เมื่อไหร่พร้อมเขาบอกว่าเขาก็พร้อมกลับมาทำงานด้วย ซึ่งผมไม่โกรธไม่ถูกต้องที่จะต้องมานั่งรอเรา เพราะเงินที่ไปจ้างพนักงานต้องไปรันธุรกิจ อย่างเจอค่าไฟ เดือนละ 700,000 ห้องพักตอนนี้ลดราคาเหลือห้องละ 1,000 บาท สมมุติมีลูกค้ามา 15 ห้อง ได้วันละ 15,000 เดือนละ 450,000 บาท ก็ยังไม่พอค่าไฟไม่ต้อง ไม่เห็นทางรอด เลยต้องทำอย่างไรให้รอด

ณภพ บอกแผนต่อไปว่า ถึงจะกลับมาเปิดโรงแรมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. แต่คาดว่า ลูกค้าคงยังไม่กลับมาเหมือนเดิมในเร็วๆ นี้ จึงวางแพลนกันอยู่ว่า จะเดินหน้าเป็น โรงแรมแห่งความสุขและการให้ ให้ทุกคนอยู่รอดได้ ด้วยการเปิดพื้นด้านหลังโรงแรมที่อยู่ใกล้กับตลาดสดให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งพนักงานโรงแรมที่ทำอาหารหรือขนม หรือมีผลไม้ ผักจากสวนนำมาขายได้ แล้วเมื่อมีงบจะเปิดเป็นตลาดโต้รุ่งเต็มรูปแบบแล้วฟื้นกิจการร้านเชฟ 5 ดาวให้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง โดยตลาดโต้รุ่งที่คิดไว้จะใช้พลังงานทดแทนเพื่อเซฟค่าใช้จ่ายรายวัน

ก่อนจบบทสนทนา เจ้าของโรงแรมลายทอง ให้แสดงความเห็น เรื่องมาตรการความช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดของภาครัฐ เช่น แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ในวันที่ 15 ก.ค.นี้แล้ว ซึ่งโรงแรมลายทองลงทะเบียนเข้าร่วมเช่นกัน แต่ณภพ บอกว่า ต้องรอดูว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ลงมาแล้วกระจุกตัว โรงแรมที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น เช่น พัทยา เชียงใหม่ ชะอำ ที่ได้อานิสงส์ แต่ไม่โทษเพราะคนไทยด้วยกัน ได้แบบกระจุกตัวถ่ายรูปกันแต่ หลังรอยยิ้่ม จังหวัดอื่นๆ น้ำตาไหลเป็นเลือด อยากบอกว่า มันถึงเวลาหรือยังที่จะทำไทยเที่ยวไทยให้สำเร็จ ภาครัฐทำนโยบายเพื่อให้สำเร็จอย่างชัดเจน โดยภาคเอกชนช่วยกัน เพราะไปรอต่างชาติเขาก็ไม่กล้ามา เราก็ไม่กล้าไป น่ากลัวทั้งคู่ เพราะคนหมู่มาก ยัง panic

โควิดเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจจาก ‘กำไร’ เป็นคำว่า ‘ให้และความสุข’

ชายวัย 42 ปี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการทำธุรกิจโรงแรม บอกว่า วิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ทำให้ ‘หัวใจ’ ในการทำงานของเขาไปเลย เพราะแต่ก่อนทำธุรกิจ จะคิดถึงสิ่งแรก คือ ผลประกอบการ ต้องให้ได้กำไรมากที่สุด แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เพราะวิกฤติครั้งนี้ ได้เจอคนเข้ามาให้กำลังใจ บางคนเอาของมาให้ ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมากมาย ได้เห็นความน่ารักของคนไทย เลยตั้งใจจะควักความน่ารักนี้ออกมาจากจิตใจคนไทยให้ได้ คีย์การทำงานเลยเปลี่ยนไป เป็น ‘ความสุข’ ไม่ต้องฟาดฟันกัน ‘ให้’ ในจุดที่ให้ได้ ไม่ใช่ให้เพราะหวังได้

นอกจากนี้ ในวิกฤติยังได้เห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น เพราะที่เคยใช้อย่างสบาย เวลานี้เงิน 20 บาทสำหรับบางคนยิ่งใหญ่ อาจเป็นความอยู่รอดของบางครอบครัวเลย และรู้สึกรักงาน แต่ก่อนทุกคนที่ทำงานประจำอาจเบื่องาน อยากเลิก อยากเปลี่ยน อยากหยุด ทำไมต้องทำแบบเดิมๆ แต่มั่นใจว่าตอนนี้ไม่ได้คิดกันแบบนั้น แต่เงินก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่ว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อเงินเพื่อเราได้สัมผัสกับการให้ในเวลาที่ยากลำบากมาแล้ว

ณภพ เจ้าของโรงแรมที่ตั้งใจเป็นพลังบวกให้คนไทยรอดไปด้วยกัน ฝากกำลังใจว่า ฝากทุกคนที่อยู่ในวิกฤติไม่ว่าจะธุรกิจไหน หยุดด่ากัน หยุดโทษโน่นนี่ หยุดมองว่าไม่ดี หยุดคิดลบ มันหมดเวลาที่จะไปนั่งเสียเวลา ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากันอยู่ที่ว่าจะใช้ไปในทางบวก หรือลบ ถ้ามัวไปจมอยู่กับปัญหา แล้วมองแค่ว่าไม่รอด… แต่ถ้าคิดว่าทำได้ ต้องสู้ ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ช่าง เพื่อลูกน้อง เพื่อลูกเพื่อเมีย แม้แต่เพื่อตัวเองก็ต้องลุก อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมา ไม่ต้องไป คาดหวัง รอ ไม่ต้องไปโทษรัฐบาล ข้าราชการ สุดท้ายเราต้องหายใจด้วยจมูกของเราเอง ไม่ต้องโทษโชคชะตา หันมาทำในสิ่งที่ทำได้

“หมดเวลามองแต่ตีนตัวเองแล้ว เงยหน้าไปมองสิ่งอื่น ทำสิ่งอื่น ถ้ามองเห็นสิ่งอื่น ปัญญาจะมา สติจะมาเอง” ณภพ ลายวิเศษกุล

ติดต่อสำรองห้องพัก โรงแรมลายทอง โทร. 045 244 442

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า