SHARE

คัดลอกแล้ว

สภาฯ เสียงข้างมาก เห็นชอบ รายงานศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ ก้าวไกล-สส.ภาคใต้รุมค้านหวั่นไม่คุ้มลงทุน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 15 ก.พ. 67 วาระการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา ญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว

สส.หลายคน โดยเฉพาะฝ่ายค้าน และ สส. ภาคใต้ อภิปรายคัดค้านเนื้อหาในรายการของกมธ.ฯ ที่ไม่มีความชัดเจนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความคุ้มทุนของโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการประหยัดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในเส้นทางเดินเรือ รวมทั้งวิถีชีวิตคนในพื้นที่ต้องสูญเสียไป

อาทิ นายณัฏฐ์นนท์ ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปราย ตั้งคำถามว่า การลงทุนโครงการนี้เป็นของเอกชน 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ มีการเลือกอื่นหรือไม่หากเอกชนไม่ให้ความสนใจ และใช้หลักอะไรกับการให้สัมปทานโครงการ 50 ปี และว่าแม้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อภาคใต้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักมี 4 ข้อ คือ 1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. ค่าตอบแทนเวนคืนเป็นธรรม 3. การจัดการไฟฟ้า แหล่งน้ำในพื้นที่พาดผ่าน และ 4. การอ้างข้อมูลการจ้างงานในพื้นที่ จะหลอกชาวบ้านหรือไม่ พร้อมขอให้ กมธ.ฯ ทบทวนฟังความเห็นต่างด้วย

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายว่า ตนพบความไม่ชัดเจนหลายประการในรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะ 3 คำถามสำคัญที่รายงานยังไม่ได้ตอบเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ได้แก่

คำถามข้อที่ 1 ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการลงทุนโครงการ 1 ล้านล้านบาทนี้แล้วใช่หรือไม่ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนภาคใต้ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถึงแม้บางท่านอาจจะบอกว่าโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แต่เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ถ้าเอาจิตใจและความคิดของคนภาคใต้มาคิดว่าเขาต้องการอะไร อะไรคือวิสัยทัศน์ของเขา อะไรคือปัญหาของเขา เราจะสามารถดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบ PPP และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนภาคใต้ได้จริง

ตนขอยกตัวอย่างแค่ 4-5 ตัวอย่าง เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคใต้จะลงทุนเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด และเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ ในอนาคตหากมาเลเซียและสิงคโปร์ต้องการจะลงทุนในระบบคลาวด์เซ็นเตอร์ ต้องการจะลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่ต้องใช้พลังงานสะอาด ภาคใต้ของเราก็มีให้ หรือจะคิดวางแผนเรื่องชลประทานให้กับพี่น้องภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรกว่า 24 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานแค่ 3 ล้านไร่เท่านั้น หรือจะเป็นเรื่องการศึกษา และเรื่องสุขภาพ

“เหตุใดเวลาเราคุยเรื่องโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีแต่เรื่องการก่อสร้างถนนหนทาง ท่าเรือ รถไฟ ทำไมไม่คิดถึงการทำให้พี่น้องภาคใต้ได้รับการศึกษาที่ดี มีสุขภาพที่ดี ทำไมไม่คิดถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ยาง ปาล์ม ผลไม้บ้าง” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า 4-5 ตัวอย่างทางเลือกการพัฒนาที่ตนยกไปข้างต้น ใช้งบประมาณรวม 4.8 แสนล้านบาท หรือแค่ครึ่งหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี หรือยะลาด้วยก็ยังได้ แล้วยังสามารถทำโครงการแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ต่างชาติมองเห็นว่าสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์จากการลงทุนให้กับประชาชนในภาคใต้คืออะไรบ้าง ผ่านการลดความเหลื่อมล้ำและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

“ผมคิดว่าตรงนี้เราแสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นได้ว่า ออปชั่นในการพัฒนาภาคใต้มีอะไรบ้าง และกลไกเงื่อนไขอะไรที่ทำให้รัฐบาลเลือกลงทุนแลนด์บริดจ์ที่ใช้งบประมาณมากขนาดนี้ ใช้เวลามากขนาดนี้ อันนี้คือคำถามสำคัญข้อที่หนึ่งที่เราต้องตอบให้ได้ ว่านี่คือการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดของภาคใต้ และไม่มีทางอื่นให้เราเลือกแล้วจริงหรือ” นายพิธา กล่าว

คำถามข้อที่ 2 การจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น จะดำเนินการอย่างไร นี่คือการวิเคราะห์ต้นทุนและผลพลอยได้ (cost-benefit analysis) ที่ควรจะรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ เพราะเมื่อมีสิ่งได้ก็ต้องมีสิ่งที่จะเสียไปเช่นกัน เช่น พื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในพื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง จะเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางทะเลและทางบกหรือไม่ การเวนคืนที่ดินที่เป็นสวนทุเรียนและสวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดระยองในพื้นที่ EEC หรือการสูญเสียพื้นที่ประมง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือต้นทุนที่เราต้องจ่าย ถ้าเอามารวมกันตรงนี้จะคิดเป็นมูลค่าเท่าใดที่เมื่อเสียไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้อีก เราจะให้เอกชนเป็นคนดูแลเรื่องสัมปทาน แต่ก็ต้องตั้งคำถามสำคัญว่า จะมีกลไกอะไรรับประกันความเป็นอยู่และความเป็นธรรมของชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป

และคำถามข้อที่ 3 วิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาลคืออะไร จะเน้นการพัฒนาศูนย์กลางท่าเรือ หรือจะเน้นการท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามในฐานะไข่มุกอันดามัน พื้นที่การก่อสร้างแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการท่องเที่ยวต่อปีสูงถึง 7 แสนล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมด หากประเมินว่ามีโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเกิดความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวไปแค่ 10% คูณด้วย 50 ปี นั่นคือมูลค่าและโอกาสที่เราต้องเสียไปกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องวางสมดุลและแสดงวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน เลือกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในอีก 50 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ นายพิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองด้วยมุมของเอกชน พวกเขาย่อมต้องการคำตอบแบบสามัญสำนึกที่สุด ว่าหากมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์แล้วจะ “เร็วกว่า” “สะดวกกว่า” และ “ถูกกว่า” หรือไม่ แต่จากรายงานของคณะกรรมาธิการฯ บอกแค่เพียงว่า “อาจจะลดเวลา” เมื่อไม่มีรายละเอียดเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะอนุมานได้ว่าเส้นทางจากแลนด์บริดจ์จะเร็วกว่าและสะดวกกว่าจริงหรือไม่ ถ้าจะต้องมีเรือมารอทั้งสองฝั่ง ย้ายสินค้าจากเรือเป็นราง เป็นรถ แล้วกลับไปเป็นเรืออีกทีหนึ่ง เรือก็ต้องมาจอดรอทั้งสองฝั่ง ถ้าสินค้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ

เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่าสมมติฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามจากทางภาคเอกชนมากมาย ในรายงานตั้งแต่หน้า 52-57 รวมทั้งหมด 25 ข้อที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะฉะนั้น ถ้าทั้งกมธ.ฯ และรัฐบาลไม่สามารถตอบ 3 คำถามสำคัญของตน รวมถึงคำถามต่างๆ ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ได้ ตนก็ไม่สามารถที่จะรับรายงานฉบับนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้มีการอภิปรายนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมสภาฯ ก็มีมติเห็นด้วยกับรายงานโครงการแลนด์บริดจ์ 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 147 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน

ภาพปกจาก พรรคก้าวไกล

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า