SHARE

คัดลอกแล้ว

นักวิทยาศาสตร์เตือนทั่วโลกเฝ้าระวังไวรัสชนิดใหม่ๆ ที่อาจแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน ชี้การค้นพบไวรัสตัวใหม่ ‘เลย์วี’ ในจีน อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง และยังมีไวรัสอีกมากที่ยังไม่ถูกพบ 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดใหม่ๆ ที่อาจมีต้นตอมาจากสัตว์ก่อนแพร่เชื้อมายังมนุษย์ หลังจากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสตัวใหม่ที่มีชื่อว่า ‘หลางหยา เฮนิพาไวรัส’ (Langya henipavirus) หรือ ‘เลย์วี’ (LayV) มากกว่า 30 คน ในภาคตะวันออกของจีน

ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสเลย์วีได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการครั้งแรกบนวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยไวรัสดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) มีการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในมณฑลซานตงและเหอหนาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้ว 35 คน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คนหรือไม่ 

จากการสืบสวนพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเลย์วีต่างมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ โดยเชื่อว่าสัตว์ที่เป็นต้นตอของการแพร่เชื้อคือ ‘หนูผี’ (shrews) สัตว์ฟันแทะขนาดเล็กที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยหลากหลาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่าการค้นพบไวรัสตัวใหม่ล่าสุดนี้ สอดคล้องกับคำเตือนที่มีมายาวนานว่า ไวรัสในสัตว์มีการแพร่ระบาดมายังมนุษย์อยู่ตลอด และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพียงแต่จะมีการตรวจพบหรือไม่เท่านั้น 

หลินฟา หวัง นักวิทยาศาสตร์ด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยฉบับนี้เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า แม้ไวรัสเลย์วีที่เพิ่งมีการค้นพบล่าสุดยังไม่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาจนเป็น ‘disease X’ ซึ่งเป็นคำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามถึงการค้นพบเชื้อโรคชนิดใหม่ที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอย่างแน่ชัด แต่ถูกระบุว่าเป็นอันตรายและเป็นภัยต่อมนุษย์ “แต่ก็แสดงให้เห็นว่าไวรัสสามารถแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้ง่ายและบ่อยกว่าที่เราคิดหรือที่เรารู้กัน” 

“เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ไวรัสอุบัติใหม่จะกลายมาเป็นวิกฤตสุขภาพของมวลมนุษยชาติ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างแข็งขันอย่างโปร่งใสและมีการร่วมมือกันในระดับสากล” หวัง ซึ่งเป็นศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Duke-National University of Singapore กล่าว

ซีเอ็นเอ็นระบุในรายงานว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการประมาณการว่า ราว 70% ของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากสัตว์ที่แพร่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่องทำให้ชุมชนเริ่มขยายเข้าสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากขึ้น

โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบไวรัสอุบัติใหม่เกิดขึ้นในจีน รวมถึงโรคซาร์สในปี 2545-2546 และโรคโควิด-19 ซึ่งไวรัสทั้งสองตัวได้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโควิด-19 ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 6.4 ล้านคน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการระบุกรณีไวรัสอุบัติใหม่อย่างรวดเร็ว และการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อหาทางรับมือกับไวรัสอย่างทันท่วงที

นอกจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ออกมาล่าสุดนี้แล้ว เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องยังเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับไวรัสเลย์วี โดยพวกเขาต่างก็ย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าติดตามไวรัสที่มีโอกาสแพร่กระจายจากสัตว์มาสู่คนได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า