SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘สปป.ลาว’ ที่เราเห็นคือภาพที่ชาวลาวกำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ชาวลาวต้องไปเข้าคิวที่ปั๊มเป็นชั่วโมงๆ เพื่อรอเติมน้ำมัน

เกษตรกรบางส่วนไม่มีน้ำมันไปใช้เติมรถถังไถนา

นักเรียนไปโรงเรียนสายหรือไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะไม่มีน้ำมันหรือไปต่อคิวรอเติมน้ำมันอยู่

เงินเฟ้อในลาวก็พุ่งสูง คนที่เคยเงินเดือน 6,000 บาท ตอนนี้น่าจะเหลือมูลค่าเพียง 3,000 บาท

ชาวลาวแห่มาต่อพาสปอร์ตเข้าไทย หวังเข้ามาหารายได้ในไทยมากขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับลาว ทำไมถึงเจอกับวิกฤตได้ TODAY Bizview สรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกัน

[ เงินกีบอ่อนค่า-ภาวะเงินเฟ้อ ]

ประเด็นสำคัญของวิกฤตในลาวครั้งนี้มาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่า และภาวะเงินเฟ้อ

ข้อมูลล่าสุดวันนี้ (20 มิ.ย.) เงินกีบมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เกือบ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจาก 9,400 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เองก็แข็งค่าขึ้น

ส่วนภาวะเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันและราคาข้าวของต่างๆ แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักๆ นั้นมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยธนาคารกลางลาวเผยอัตราเงินเฟ้อในประเทศเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พุ่งแตะ 12.8% สูงสุดในรอบ 15 ปี จนชาวลาวแห่นำทองออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก

[ วิกฤตน้ำมันสุดหนัก มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ]

อย่างที่กลาวไปตอนต้นว่าลาวกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และอุปทานน้ำมันโลกลดลงเพราะสงครามในยูเครน

และด้วยความที่เงินกีบอ่อนค่า และการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ลาวมีปัญหาในการนำเข้าน้ำมัน จนหลายพื้นที่ในลาวประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงมานานหลายสัปดาห์แล้ว

อย่างเช่นเมืองหลวงอย่างเวียงจันทน์ ซึ่งประชาชนต้องต่อแถวยาวเหยียดที่ปั๊มน้ำมันนานหลายชั่วโมงเพื่อรอเติมน้ำมัน

รายงานของ Laotian Times ระบุว่าตอนนี้ลาวสามารถนำเข้าน้ำมันได้เพียงเดือนละ 20 ล้านลิตร แต่ความต้องการทั้งประเทศสูงถึง 120 ล้านลิตร จนทำให้รัฐบาลลาวต้องขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้น้ำมัน โดยหันไปใช้รถสาธารณะหรือลดการเดินทาง

สื่อท้องถิ่นมองว่าการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการเกษตร ขนส่ง และส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรุนแรงพอๆ กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องหยุดชะงัก

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของไทยระบุว่าราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของลาวสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์

โดยเว็บไซต์ Global Petrol Prices ชี้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันเบนซินในลาวอยู่ที่ลิตรละ 28,070 กีบ หรือประมาณ 66 บาท ส่วนดีเซลอยู่ที่ 20,340 กีบ หรือประมาณ 48 บาท

[ ทุนสำรองร่อยหรอแต่มีภาระหนี้ก้อนโต ]

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งตอกย้ำความตึงเครียดทางเศรษฐกิจของลาวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานาน 2 ปีเต็ม

แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่เป็นเพียงแค่ปัญหาระยะสั้น เพราะสุดท้ายแล้วราคาน้ำมันก็จะค่อยๆ ลดลงเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

แต่ลาวยังมีปัญหาระยะยาวที่ใหญ่กว่านั้น คือ การแบกรับภาระหนี้สินมูลค่ามหาศาล ซึ่งธนาคารโลกชี้ว่าลาวมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2019 และในปี 2021 หนี้สาธารณะของลาวคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 88%

ลาวแบกรับหนี้สาธารณะราว 13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นหนี้ในประเทศประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ต่างประเทศกว่า 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจีน-ลาวมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่รัฐบาลลาวต้องรับผิดชอบประมาณ 1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลจากธนาคารโลกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ระบุว่าทุ นสำรองระหว่างประเทศของลาวมีอยู่แค่เพียง 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องจ่าย ท่ามกลางความกังวลว่าลาวมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

Center for Global Development (CGD) ของสหรัฐรายงานเมื่อปี 2018 ว่าลาวเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่เสี่ยงต่อปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นผลจากเงินกู้ BRI จากจีน และโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2020 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจลาวแย่ลงไปอีก

ถึงขนาดที่ Moody’s ลดระดับความน่าเชื่อถือของลาวสู่ Caa3 เพราะภาระหนี้ที่สูงมาก และทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่พอต่อการจ่ายหนี้ต่างประเทศที่ใกล้จะครบกำหนด

ขณะที่ Fitch บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านสภาพคล่องของลาวที่เกิดจากโควิด-19 และภาระหนี้ก้อนโต

Vientiane Times สื่อท้องถิ่นลาวรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วว่า Bounchon Oubonpaseuth รัฐมนตรีคลังกล่าวว่ารัฐบาลลาวต้องการเงินจำนวน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุล และเพื่อชำระเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศในสิ้นปี

ประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออกอย่างลาว ยังประสบปัญหาขาดดุลการค้าและบริการ โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมาลาวขาดดุลการค้าและบริการรวมมากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

[ วิกฤตลาวสะเทือนถึงไทย ]

เนื่องจากเงินกีบอ่อนค่าและภาวะเงินเฟ้อทำให้ชาวลาวต้องระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย

นางดวงใจ สุขเกษมสิน รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เผยว่า ปัญหาเงินเฟ้อในลาวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการค้าชายแดนไทย-ลาว โดยขณะนี้การข้ามแดนระหว่างไทย-ลาวยังไม่ถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากที่เปิดพรมแดนระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.

ขณะที่ Radio Free Asia รายงานว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกๆ วันจะมีชาวลาวโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว 500-600 คนแห่เข้าคิวที่กระทรวงต่างประเทศกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อทำหรือต่ออายุพาสปอร์ตเพื่อเดินทางมายังประเทศไทย โดยพวกเขาหวังว่าจะได้งานที่มีค่าตอบแทนดีขึ้นและหลีกหนีภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

“เงินเดือนที่นี่น้อยเกินไป ถ้าผมได้พาสปอร์ตเมื่อไรจะไปประเทศไทยทันที ซึ่งผมจะได้เงินเดือนมากขึ้น 3 เท่า” พนักงานโรงงานเย็บผ้าคนหนึ่งจากสะหวันนะเขตกล่าว

[ ลาวจะแก้วิกฤตนี้อย่างไร ]

แน่นอนว่ารัฐบาลลาวไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยรัฐบาลลาวร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อบรรเทาวิกฤตการเงินของประเทศ และเพื่อให้มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอต่อการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะที่ธนาคารกลางออกมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตทางการเงิน รวมถึงการเปิดขายพันธบัตรเงินกีบระยะสั้น 6 เดือน วงเงิน 5 ล้านล้านกีบ โดยให้ดอกเบี้ยสูงถึง 20% และออกมาตรการคุมเข้มการไหลเวียนของเงินทุน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ก็มีส่วนช่วยให้สถานการณ์ในลาวดีขึ้น

แต่สิ่งสำคัญคือลาวขาดดุลการค้าและบริการ ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกและลดการนำเข้า ตลอดจนต้องแก้ปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำจนน่าเป็นห่วง

ซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการฟื้นตัวจากโควิด-19 และความพยายามในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจะสามารถแก้วิกฤตนี้ได้มากน้อยเพียงใด

แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของลาวจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้

ที่มา:

https://thediplomat.com/2022/05/whats-causing-the-currency-crisis-in-laos/

https://thediplomat.com/2022/05/lao-economy-grinding-to-a-halt-as-fuel-crisis-deepens/

https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/05/12/lao-pdr-economic-recovery-challenged-by-debt-and-rising-prices

https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/looming-debt-crunch-positions-laos-as-next-possible-asia-default?fbclid=IwAR3X1bQgCx152xKlxn4S9pf2fZz2Wy9cj3UF25JlFhFE___ZJvlUkjsSJs4

https://www.rfa.org/english/news/laos/passport-applications-06172022181454.html

https://www.rfa.org/english/news/laos/currency-05092022190154.html#:~:text=The%20depreciation%20of%20the%20Lao,Borikhamxay%20told%20RFA%27s%20Lao%20Service

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า