Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว
#ถ้าการเมืองลาวดี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา หลายคนมองว่า นี่คือการส่งต่อกระแสเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากการชุมนุมในประเทศไทย ข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่าง สปป.ลาว ซึ่งจากที่ workpointTODAY รวบรวมข้อมูล พบว่าที่มาของ #ถ้าการเมืองลาวดี น่าจะมาจาก 3 ปัญหาหลัก ดังต่อไปนี้
🟥 ประเทศไม่พัฒนา-ถูกปิดกั้นแสดงความเห็น
วีดีโอจำนวนมากที่ถูกแชร์ผ่าน #ถ้าการเมืองลาวดี ในทวิตเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องถนนหนทาง ตั้งแต่ถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ถนนที่มีสภาพเละเป็นโคลนเมื่อเกิดฝนตก ไปจนถึงสะพานที่ใช้มานานหลายสิบปีจนเสี่ยงอันตราย
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ติด #ถ้าการเมืองลาวดี จำนวนมากยังพูดถึงการทุจริตคอรัปชันและระบอบการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ และถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ยกกรณีการหายตัวไปอย่างปริศนาของนักต่อสู้ทางการเมืองอย่างอ๊อด ไชยะวง และสมบัด สมพอน
อ๊อด ไชยะวง เป็นนักกิจกรรมชาวลาวกลุ่ม “ลาวเสรี” (Free Laos) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติและนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวลาว มีฐานเคลื่อนไหวอยู่ในไทยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว ผ่านการประท้วงด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย และที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นระยะ
อ๊อด ไชยะวง ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทยและอยู่ระหว่างการย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่สาม
กรณีของอ๊อด ไชยะวง กลายเป็นประเด็นใหญ่เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเขาขาดการติดต่อ โดยมีผู้พบเห็นอ๊อด ไชยะวงครั้งสุดท้ายที่บ้านพักย่านบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ปีที่แล้ว จนหลายฝ่ายกังวลว่าเขาอาจถูกอุ้มหาย เช่นเดียวกับหน่วยงานสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาแสดงความกังวลต่อการหายตัวไปของอ๊อด ไชยะวง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวลาวที่หายสาบสูญคนนี้
ส่วนกรณีของสมบัด สมพอน ซึ่งเป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในลาวที่มีบทบาทส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมบัดหายตัวไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2555 ซึ่งจากการติดตามตัวของบรรดาญาติและคนใกล้ชิดพบหลักฐานชิ้นสำคัญ เป็นกล้องวงจรปิดของสถานีตำรวจในนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ที่บันทึกนาทีที่สมบัดถูกลักพาตัวขึ้นรถบรรทุกคันหนึ่ง ซึ่งญาติเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยญาติยังไปพบรถยนต์ของสมบัดจอดอยู่ในพื้นที่ของตำรวจด้วย
แม้จะผ่านไปแล้วเกือบ 8 ปี แต่การหายตัวของสมบัดยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า รัฐบาลลาวไม่พยายามสืบสวนสอบสวนถึงการหายตัวไปของสมบัด จนถูกมองว่าต้องการปิดบังข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันการหายตัวไปของสมบัดยังจุดกระแสวิจารณ์รัฐบาลลาวว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยไม่นึกถึงความยั่งยืนอีกด้วย

🟥 เขื่อนที่คนลาวไม่ได้ประโยชน์
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งติด #ถ้าการเมืองลาวดี พร้อมแชร์วีดีโอเขื่อนผลิตไฟฟ้าในประเทศลาว ก่อนจะตัดภาพเป็นสภาพบ้านเรือนของชาวลาวที่หลายแห่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้
สปป.ลาว มีแนวคิดว่าจะเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ผ่านการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ลาวสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 50 แห่ง โดยมีเขื่อนอีกอย่างน้อย 50 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังมีแผนก่อสร้างเขื่อนอีก 288 แห่งในอนาคตด้วย
แต่การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศลาวถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการที่ สปป.ลาว มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก แต่ไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศถูกลง
เฟซบุ๊กเพจ “เป็นเรื่อง เป็นลาว” ซึ่งเป็นเพจติดตามสถานการณ์ในประเทศลาวอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์เรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยอาศัยข้อมูลจากการเสวนาเรื่องราคาไฟฟ้าและไฟฟ้าลาว (ปี 2564-2568) ที่ระบุว่า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว รับไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้า 87 แหล่ง เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศลาว 78 แหล่ง และแหล่งไฟฟ้าในไทยและเวียดนามอีก 10 แหล่ง
โดยในการเสวนาให้ข้อมูลว่า แหล่งผลิตไฟฟ้า 78 แห่ง ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเขื่อนไฟฟ้าที่เป็นของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวมีเพียง 8 แห่ง และเป็นเขื่อนขนาดเล็ก นั่นก็หมายความว่า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวต้องซื้อไฟจากแหล่งผลิตต่างๆ มากกว่า 90%
นอกจากนี้การสร้างเขื่อนในประเทศลาวยังตามมาด้วยความกังวลถึงสภาพตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของภูมิภาค รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่ไม่ทั่วถึง เช่นกรณีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกด้วย
ส่วนความเกี่ยวข้องของภาคเอกชนไทยใน สปป.ลาว ตามรายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2561 ระบุถึงกรณีศึกษาที่บริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์
🟥 กระแสต่อต้านทุนจีนในลาว
รัฐบาลจีนเข้าไปลงทุนในประเทศลาวมาหลายทศวรรษแล้ว จนกระทั่งปัจจุบันจีนถือเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุด และยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกับลาวมากที่สุดด้วย
การลงทุนในลาวของจีนมีตั้งแต่ระดับรัฐ ที่เขาไปสร้างทางรถไฟเชื่อมประเทศอื่นผ่านนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง (One Belt, One Road) ซึ่งตามมาด้วยการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟผ่านอย่างน้อย 12 แห่งในลาว นอกจากนี้ยังมีการลงทุนของภาคเอกชนต่างๆ ที่เข้าไปสร้างโรงแรมและกาสิโน ท่ามกลางข้อกังขาถึงที่มาแหล่งทุนที่อาจผิดกฎหมาย
แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะกระทบกับชาวลาวมากที่สุด คือการที่กลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนในภาคการเกษตร ด้วยการเช่าพื้นที่ปลูกพืช เช่น กล้วย แตงโม อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น โดยมีรายงานการใช้สารเคมีในปริมาณมาก จนส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลาย และมีชาวบ้านในพื้นที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า