Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

อ.ปริญญา ยก 4 ข้อกฎหมายอธิบายปัญหาจ่ายเงินเบี้ยคนชราซ้ำซ้อนต้องจ่ายคืนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุหากเป็นการรับเงินไปโดยสุจริต ถ้าใช้เงินนั้นหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน

วันที่ 30 ม.ค.2564 ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นกรณีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญซ้ำซ้อนกันกว่า 15,000 คนทั่วประเทศว่า ตามที่มีการเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุ โดยเหตุผลว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่กำหนดว่า ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพต่อเมื่อไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในทางอื่น ดังนั้น ผู้สูงอายุรายใดได้รับเงินช่วยเหลือทางอื่นด้วยแล้วจึงไม่มีสิทธิได้เบี้ยยังชีพอีก เมื่อรับไปแล้วจึงต้องคืน โดยจำนวนเงินที่เรียกคืนสูงหลายหมื่นจนเป็นแสนบาทนั้น

ดร.ปริญญา ระบุว่า โดยหลักแห่งความยุติธรรมแล้วเรื่องนี้ไม่ถูกต้องแน่ และไม่ใช่เรื่องที่ผู้สูงอายุคุณปู่คุณย่าคุณยายทั้งหลายที่รับเบี้ยยังชีพไปโดยสุจริต และใช้จ่ายในการยังชีพไปแล้วจะต้องคืนเงิน แต่ยังไม่ได้ค้นดูข้อกฎหมายจนกระทั่งวันนี้มีเวลาไปค้น และจึงขอนำมาเสนอต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้

1. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกใหม่ในปี 2552 ชื่อ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ซึ่งข้อ 6 (4) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้อง “ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน …” ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมของกระทรวงมหาดไทย (ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548) ไม่มีข้อกำหนดตรงนี้

กรมบัญชีกลางไปเจอตรงนี้เข้าจึงแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และ อบต. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ให้เรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุ และโดยที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ประกาศใช้วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2552 การเรียกคืนจึงย้อนไปถึงปี 2552 จำนวนเงินที่เรียกคืนจึงสูงหลายหมื่นบาทจนถึงเป็นแสนบาทอย่างน่าตกใจ

2. แต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพฯ ปี 2552 นี้ มันมีบทเฉพาะกาล ซึ่งข้อ 6 เขียนว่า “ระเบียบนี้มิให้กระทบต่อสิทธิผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 … ที่มีอยู่ก่อนหรือในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และให้ถือว่าผู้สูงอายุดังกล่าวเป็นผู้ได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้แล้ว”

หมายความว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ใช้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพหลังระเบียบฉบับนี้ประกาศใช้ คือตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ดังนั้นผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพก่อนหน้านั้น คือ ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2552 แม้จะได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังคงมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพต่อไป และดังนั้นจึงไม่ต้องคืนเงิน

3. แล้วผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ที่ได้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยแล้วจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วว่า เป็นเรื่องลาภมิควรได้ ซึ่งหลักตามมาตรา 412 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ หากเป็นการรับเงินไปโดยสุจริต (คือไม่ทราบเรื่องระเบียบใหม่ปี 2552) ถ้าใช้เงินนั้นหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน (ฎ.10850/2559)

เรื่องนี้เป็นแน่ชัดว่า คุณป้าคุณย่าคุณยายรับเงินกันไปโดยสุจริต เพราะจะไปรู้เรื่องระเบียบใหม่ได้อย่างไร ดังนั้นถ้าใช้เบี้ยยังชีพหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน ว่าง่ายๆ เรื่องนี้ถ้าถึงศาลองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ทวงเงินแพ้แน่นอน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องเงินของรัฐ ไม่ใช่เรื่องเจ้าหนี้ลูกหนี้ตามกฎหมายแพ่ง รัฐบาลจึงต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องให้ไปฟ้องร้องกันในศาล

4. ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากจะเขียนคือ คนที่ผิดในเรื่องนี้คือหน่วยงานของรัฐด้วยกันต่างหาก ทั้งกรมบัญชีกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ดูระเบียบใหม่ปี 2552 และที่น่าจะผิดมากกว่าคือ กรมบัญชีกลาง เพราะระเบียบใหม่ประกาศตั้งแต่ปี 2552 ทำไมจึงเพิ่งมาทวง และที่สำคัญทำไมถึงไปแจ้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไปเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุ ทั้งๆ ที่ผู้สูงอายุรับเงินโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาจะหลอกเอาเงินจากหน่วยงานของรัฐแต่ประการใด เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐกันเอง ทำไมกรมบัญชีกลางไม่หาทางอื่นในการแก้ปัญหา ทำไมถึงผลักภาระความผิดพลาดของตนไปให้ประชาชนเช่นนี้

สรุปคือ ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ไม่ต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ ส่วนผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ในเมื่อไม่ทราบเรื่องระเบียบใหม่ปี 2552 จึงเป็นการรับเบี้ยยังชีพโดยสุจริตเมื่อใช้หมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืน โดยรัฐบาลก็ต้องรีบแก้ปัญหา อย่าให้กรมบัญชีกลางบอกให้เทศบาล และ อบต.ไปทวงเงินสร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุเช่นนี้

ที่มา https://www.facebook.com/prinya.thaewanarumitkul

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า