SHARE

คัดลอกแล้ว

น่าจะลากกันยาวและมีโอกาสเกิดประวัติศาสตร์วิกฤตตุลาการขึ้นอีกคราว….ระหว่างการฟ้องร้องในแวดวงตาชั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้บริหารองค์กร

เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา “นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์” อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค1 ยื่นสำนวนต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ฟ้อง “นางเมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 กรณีในการประชุมคณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.)ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 โดยมีประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาเเละมีมติการประชุม

โดยที่ประชุมมีมติ 9:6 ไม่ให้พักราชการนายปรเมษฐ์  ระหว่างสอบสวน และทราบว่ายังไม่มีการสอบสวนใดๆเกิดขึ้นหลังสำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายปรเมษฐ์ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ต่อมาประธานศาลฎีกา มีคำสั่งให้นายปรเมษฐ์ ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามมติที่ประชุมก.ต. ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564

ใจความของการฟ้องครั้งนี้(คดีที่สอง) ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564 มีการประชุมคณะกรรมการศาลยุติธรรม (จำเลย นางเมทินี ) ในฐานะประธานศาลฎีกา โดยในการประชุมดังกล่าว มีมติรับพิจารณา เรื่องพักราชการโจทก์ (นายปรเมษฐ์) ในระหว่างการถูกสอบวินัยหรือไม่ ทั้งที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง มิชอบและมีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิชอบ  ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่จำเลยกลับเข้าร่วมประชุมและร่วมลงมติในเรื่องพักราชการโจทก์

การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิชอบ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543  มาตรา 45 บัญญัติว่า  “ในการประชุม ก.ต.  กรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องพิจารณาห้ามมิให้ผู้นั้นเข้าร่วมประชุมและลงมติในเรื่องนั้น”  การที่จำเลย เข้าร่วมประชุม ก.ต. และลงมติเป็นผลร้ายในเรื่องพิจารณาพักราชการโจทก์นั้น  เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ฝ่าฝืน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543  มาตรา 45 (ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้อง วันที่ 19 ก.ค.2564 )

นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค1

และเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.นายปรเมษฐ์ มอบหมายให้ทนายความ ยื่นฟ้องประธานศาลฎีกา , สำนักงานศาลยุติธรรม และกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่อง ขอให้เพิกถอนและยกเลิกการดำเนินการสอบสวนและสรุปความเห็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น และขอให้ยกเลิกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมช่วยราชการ และขอให้เพิกถอนและยกเลิกคำสั่ง เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน

การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นคดีที่สองในประวัติศาสตร์ซึ่งประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันถูกผู้ใต้บังคับบัญชาระดับอธิบดียื่นฟ้อง เพราะ “คดีแรก” นั้นนายปรเมษฐ์ยื่นฟ้องประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่1 มิ.ย.2564 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิด “ปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 และ มาตรา 91 จากกรณีประธานศาลฎีกาได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 วันที่ 25 มี.ค.2564 กรณีกล่าวหาว่านายปรเมษฐ์ลงไปแทรกแซงคดี และยังเคยไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการ(กมธ.)กฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา4 และมาตรา188

โดยตอนหนึ่งของคำฟ้องในคดีแรกระบุว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น เป็นการกระทำปฏิบัติหน้าที่ในการดําเนินการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ อย่างเร่งรีบรวบรัด ด่วนสรุปความเห็นเพียงไม่กี่วันทําการราชการหลังจากวันได้รับการแต่งตั้ง

หากโจทก์(นายปรเมษฐ์)เข้าชี้แจงและนําพยานหลักฐานต่างๆ เข้าสืบในข้อที่เป็นผลร้ายต่อโจทก์นั้นแล้ว ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในประเด็นสําคัญโดยตรงในการที่โจทก์มีสิทธิชี้แจงและนําพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายนั้นตามสิทธิ์ของโจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตลอดทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4

คำฟ้องระบุด้วยว่า จําเลยบังอาจกระทําความผิดกล่าวคือ สํานักงานศาลยุติธรรม โดยจําเลยประธานศาลฎีกา มีคําสั่งที่415/2564 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ขณะดํารงตําแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค1ถูกกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงนั้น การกระทําของจําเลยเป็นการรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ จากการดําเนินการสอบสวนและนําสรุปความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ตามประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและบทบัญญัติของกฎหมาย

ซึ่งในวันที่ 7 เม.ย. 2564 โจทก์รับทราบคําสั่งให้ไปช่วยราชการและวันที่ 8 เม.ย. 2564 โจทก์เดินทางไปช่วยราชการและรายงานตัวต่อประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 1 (วันที่ 9 เป็นวันศุกร์ วันที่ 10 – 11 เป็นวันเสาร์และอาทิตย์วันที่ 12 ถึง 15 เม.ย. 2564 เป็นวันหยุดราชการสงกรานต์ วันที่ 17-18 เม.ย. 2564 เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ วันรุ่งขึ้น (วันจันทร์)คือวันที่ 19 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันเพิ่งเปิดทําการราชการหลังจากหยุดราชการมาหลายวัน จําเลย(ประธานศาลฎีกา) กระทําการด้วยความเร่งรีบ เร่งด่วน ซึ่งสํานักงานศาลยุติธรรมโดยจําเลยประธานศาลฎีกา มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่โจทก์ ดังกล่าวทําให้เป็นที่น่าสงสัย เพราะมีเหตุผลใดต้องเร่งรีบเร่งด่วนเช่นนั้น

ทั้งที่จําเลยรู้ทราบดีว่าการดําเนินการสอบสวน และสรุปความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นโดยโจทก์ผู้ถูกร้องเรียนกล่าวหายังไม่ได้ชี้แจงและนําพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์

การกระทําของจําเลย โดยนําสรุปความเห็นจากการดําเนินการสอบสวนและมีความเห็นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการสอบสวนที่กําหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งโจทก์ก็มีหนังสือด่วนที่สุดขอความเป็นธรรมต่อจําเลยและคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในวันที่ 5 เม.ย. 2564 ปรากฏตามสําเนาหนังสือขอความเป็นธรรมจํานวน 4 ฉบับ

โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีกรณีไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นสรุปเสนอความเห็นแล้วสํานักงานศาลยุติธรรม โดยจําเลยประธานศาลฎีกามีคําสั่งให้โจทก์ไปช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ตามคําสั่งสํานักงานศาลยุติธรรมที่ 371/2564 และมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ตามคําสั่งสํานักงานศาลยุติธรรมที่415/2564

พฤติการณ์การกระทําของจําเลยเป็นการใช้อํานาจโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติของกฎหมาย มีเจตนากระทําการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91 

นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา

เมื่อมีผู้มาร้องเรียน ต่อ ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็น ผู้บังคับบัญชา โดยตรง ต้องมีความเมตตาเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาเข้ามาชี้แจงก่อนที่จะรีบเร่ง เร่งด่วน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบ และเร่งด่วน ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโดยไม่ชอบ เพื่อเสนอพักราชการ

มูลเหตุการสั่งย้ายนายปรเมษฐ์นั้นเกิดขึ้นตามข้อกล่าวหาที่มีข้อร้องเรียนว่าว่านายปรเมษฐ์แทรกแซงในคดีที่นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

และในคดีดังกล่าวนายปรเมษฐ์​พิจารณาสั่งยกคำร้อง จนทำให้สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายปรเมษฐ์ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ระหว่างนายประหยัดกับประธาน ป.ป.ช., น.ส.สุภาและอัยการสูงสุด เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความ

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีความเห็นว่านายปรเมษฐ์ มีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเป็นอิสระเพื่อให้โจทก์ได้เปรียบในผลแห่งคดีอันมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับโจทก์ซึ่งถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการอันเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 73(2) (3)

โดยขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง(นายปรเมษฐ์ ถูกย้ายไปช่วยราชการระหว่างที่เป็นเจ้าของสำนวนซึ่งคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งก่อนหน้านี้จำเลยขอให้มีการโอนสำนวนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง เเต่ปรากฎว่านายปรเมษฐ์มีคำสั่งไม่อนุญาต จึงได้มีการอุทธรณ์คำสั่ง  และวันที่ 28 มิ.ย.ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค 1 อ่านคำวินิจฉัยที่น.ส.ปิยกุล  บุญเพิ่ม ประธานศาลอุทธรณ์ ได้มีคำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1  ในคดีที่นายประหยัด ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200,91 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172,183

โดยวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยที่ 2-3 ยื่นคำร้องอ้างว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา10(1) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560ขอให้เสนอปัญหาเรื่องอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไปให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2555 มาตรา 11 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนมายังประธานศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัย  ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2555 มาตรา 3วรรคหนึ่ง (1) วินิจฉัยว่า”คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ”

และเมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายปรเมษฐ์ได้ยื่นฟ้องนายอนุวัตร มุทิกากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, น.ส.มรกต วัฒนรุ่งเรืองยศ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายนรินทร์ ทองคำใส รองเลขานุการศาลฎีกา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง การฟ้องทั้งสามคนนั้น ในฐานะประธานเเละคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่333/2564 วันที่25มี.ค. ลงนามโดยประธานศาลฎีกา กรณีนายปรเมษฐ์ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือเเทรกเเซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่อท.48/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบภาค1

นายปรเมษฐ์ยังเคยไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการ(กมธ.)กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน   สภาผู้แทนราษฎรแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา4และมาตรา188

ดังนั้น เคสนี้ในวงการตาชั่งน่าจะชุลมุนจนกว่าความยุติธรรมจะกลับมาจริงและต้องรอดูว่าวิกฤตศรัทธาในวงการยุติธรรมจะจบลงอย่างไร

อ่าน/ดาวน์โหลด : คำฟ้องประธานคดีที่ 2 ม.45 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า