Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ผ่านมาแล้ว 5 เดือน หลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร และผ่านเข้าไปในวาระแรกด้วยคะแนนเฉียดฉิวที่ 212 ต่อ 180 

ล่าสุดพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกบรรจุในวาระที่ 2 และ 3 ของการประชุมเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับพ.ร.บ.คู่ชีวิตของคณะรัฐมนตรี และหากผ่านชั้นส.ส. ก็จะถูกนำเข้าสภาอีกครั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมเพื่อพิจารณาและโหวตรับร่างโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อไป workpoinTODAY จึงขอพาทุกท่านย้อนไปดูข้อมูลร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมฉบับนี้กัน

ย้อนดูไทม์ไลน์กว่าจะมาเป็นสมรสเท่าเทียม ต้องผ่านอะไรมาบ้าง 

การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถูกพูดถึงมานานแล้วตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาว่าการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันขัดต่อกฎหมายหรือไม่ 

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 นที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนสมรส โดยแจ้งความประสงค์ต่อนายทะเบียนว่า ตนและอรรถพลเป็นคู่ชีวิตแบบชายรักชาย ที่อยู่กินด้วยกันมา 19 ปีแล้ว แต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่รักทั้งสองได้ เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1458 ความว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชายหญิง’ ยินยอมเป็นสามี ภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย” ส่งผลให้นทีกับคู่รักไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เนื่องจากไม่ใช่คู่รักชายและหญิงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1458

ทั้งคู่มองว่าการที่นายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้กับตนและคู่รักเป็นการละเมิดสิทธิ์ จึงมีการร้องเรียนไปยังสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น จึงตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อทำการศึกษาข้อกฎหมายว่าการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แต่ด้วย ณ เวลานั้น มีแรงต้านจากผู้ไม่สนับสนุนที่มองว่าคู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถ “สมรส” กันได้ รัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมาย “คู่ชีวิต” แยกออกจากกฎหมายสมรสที่มีอยู่เดิมโดยอ้างว่าป้องกันความไม่เห็นด้วยของผู้ไม่สนับสนุน

พ.ศ.2556 ร่าง พ.ร.บ. ‘คู่ชีวิต’ ฉบับแรกเสร็จสิ้น แต่เกิดการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้โดยมองว่าเป็นหมุดหมายการยอมรับความหลากหลาย ทำให้กลุ่มเพศทางเลือกได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ จากเดิมที่ไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย ถือเป็นความก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง อีกทั้งสิทธิที่ได้รับจากร่าง พ.ร.บ.ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับกฎหมายสมรสแบบชาย-หญิง ตัวอย่างเช่น 

-ไม่มีสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดูเหมือนกฎหมายคู่สมรส

-ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐเหมือนกับคู่สมรสตามกฎหมาย

-ไม่สามารถใช้นามสกุลของคู่รัก 

-ไม่ได้รับสิทธิ์การจัดการแทนคู่รัก อาทิ การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพย์สินของคู่รักได้เหมือนกับคู่สมรส

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตมองว่าหากจะให้คู่รักเพศเดียวกันหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้จริง ก็ควรจะให้สิทธิ์เทียบเท่ากันกับคู่รักชาย-หญิง ร่างกฎหมายนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ร่างฉบับนี้จึงไม่ได้เข้าสภาฯ และตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแทน

18 มิถุนายน 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จากเดิมระบุถ้อยคำว่า อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะ ‘ชายและหญิง’ ให้เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป และเปลี่ยนคำว่า “สามีภริยา” ในป.พ.พ.ให้เป็น “คู่สมรส” โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63 และสร้างประวัติศาสตร์ต่อรัฐสภา เนื่องจากมีประชาชนร่วมเเสดงความคิดเห็นกว่า 54,447 คน มากที่สุดตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน 

8 กรกฎาคม 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งแรก แต่ร่าง พ.ร.บ.และร่างแก้ไข ป.พ.พ.ดังกล่าวยังไม่ได้บรรจุเข้าไปในวาระพิจารณาของสภาฯ เนื่องจากยังมีข้อทักท้วงในวิปรัฐบาลเนื่องจากมีผู้เดินทางไปร้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จึงได้ให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างกฎหมายไปแก้ไข

17 พฤศจิกายน 2564 หลังมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ป.พ.พ.มาตรา 1448 ที่ให้สมรสเฉพาะ ชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยว่า การรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ในป.พ.พ.ดังกล่าว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป ทั้งยังได้เผยแพร่คำวินิจฉัยเต็มและความเห็นของตุลาการทั้ง 9 คน ทำให้เกิดกระแสร้อนแรงบนโลกโซเชียลใน #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นในคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะเป็นร่างกฎหมายที่ใช้รับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ 

28 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มภาคีสีรุ้งจัดกิจกรรม #ม็อบสมรสเท่าเทียม บริเวณแยกราชประสงค์ตอบโต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พร้อมออกแคมเปญให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมภาคประชาชนบนเว็บไซต์ ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง มียอดการลงชื่อ 1 แสนคน 

9 กุมภาพันธ์ 2565 ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกนำเข้ามาในสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระแรก แต่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติโหวตด้วยคะแนน 219 ต่อ 118 ให้ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีไปศึกษาก่อน 60 วัน แล้วจึงนำขึ้นมาโหวตรับร่างในสภาฯ อีกครั้ง ทำให้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต้องถูกยืดเวลาการพิจารณาออกไปอีก

29 มีนาคม 2565 ครม. มีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชี้ว่ามีเนื้อหาคล้ายกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยรัฐบาล ทั้งนี้มติของครม. ไม่ได้ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมตกไปในทันที เพราะยังคงอยู่ระหว่างการนำกลับไปศึกษา 60 วันตามมติสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และหากครบตามเวลาตามมติแล้วจะต้องนำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับมาพิจารณารับหลักการหรือไม่รับหลักการในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

7 มิถุนายน พ.ศ.2565 ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ครม. เสนอ ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียงหนึ่งวัน  โดยเพิ่มสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน ตัวอย่างเช่น 

-สิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินและทำธุรกรรมร่วมกันได้ เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อยานพาหนะ 

-คู่ชีวิตสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

-ได้รับสิทธิ์การฟ้องหย่าเหมือนกับคู่สมรส และสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อศาลได้ 

-กรณีที่คู่รักเสียชีวิต สามารถรับมรดกตามกฎหมายได้

แม้จะมีการเพิ่มสิทธิต่าง ๆ ให้กับคู่รัก LGBTQ+ แต่ยังมีการวิจารณ์ว่าเทียบไม่ได้กับสิทธิของคู่สมรสตามกฎหมายสมรส โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิการเข้าถึงสวัสดิและสิทธิบางอย่าง เช่นการแปลงสัญชาติตามคู่รัก และการเข้าถึงสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่ายหากเป็นข้าราชการ เป็นต้น

กระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ 

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ก้าวไกล) ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของครม. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ปชป.) กลับเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ อีกครั้ง  และมีการลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งผลคะแนนของการลงมติแยกรายฉบับเกินกึ่งหนึ่งทุกฉบับ มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. นำร่างกฎหมายทั้งหมดเข้าพิจารณาร่วมกัน

21 พฤศจิกายน 2565  สภาฯ ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ในวาระการประชุมเพื่อพิจารณาโดยละเอียดต่อในวาระที่ 2  และวาระที่ 3 พิจารณาความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นี้ และหากร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้รับความเห็นชอบในสภาทั้ง 2 วาระ ขั้นตอนต่อไปคือการผ่านกฎหมายในชั้นวุฒิสภา และการลงพระปรมาภิไทยโดยพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงจะประกาศเป็นราชกิจานุเบกษาเพื่อใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

ย้อนดูการลงคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรต่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม-พ.ร.บ.คู่ชีวิต เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 

ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน (ก้าวไกล) พรรคร่วมรัฐบาล (ประชาธิปัตย์) และอีก 2 ฉบับของครม. ถูกพิจารณาพร้อมกัน โดยลงคะแนนแยกเป็นรายฉบับ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ สมรสเท่าเทียม เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สภาฯ มีมติรับหลักการ 212 เสียง  ไม่รับหลักการ 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาฯ มีมติรับหลักการ 222 เสียง ไม่รับหลักการ 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ สภาฯ มีมติรับหลักการ 251 เสียง ไม่รับหลักการ 124 เสียง งดอออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง 

ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี สภาฯ มีมติรับหลักการ 230 เสียง ไม่รับหลักการ 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ผลจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.วาระแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน สภาฯ ได้มีมติให้ พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับผ่านเข้าไปในการพิจารณาอย่างละเอียดในวาระที่ 2 และได้ตั้งคณะกรรมธิการแก้ไขและรวมร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับให้เหลือ 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตลอดการแก้ไข ออกมาเป็นร่างฉบับกมธ. ชวนมาดูว่า กมธ.พิจารณารับสิทธิใด และสิทธิใดขาดไปบ้าง

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ที่เสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล มีประเด็นสำคัญคือการแก้ไขคำว่า “สามี-ภริยา” ที่ปรากฎอยู่ใน ป.พ.พ. ไม่เฉพาะ 1448 ให้เป็นคำว่า “คู่สมรส” และมีผลผูกพันธ์กับกฎหมายระบุสิทธิ์อื่น ๆ ที่ใช้คำว่า “คู่สมรส” อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 มาตรา 3(2) มรดกที่คู่สมรสได้รับไม่ต้องเสียภาษีมรดก สิทธิการใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย ตามมาตรา 12  พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 หรือสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนตามประกันสังคม ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่กำหนดให้ “คู่สมรส” ของผู้ประกันตนมีสิทธิไปรับบริการการรักษาทางการแพทย์ได้ การแก้ไขคำดังกล่าวปรากฎในร่างฯ แก้ไขฉบับกมธ.เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากการเปลี่ยนข้อความใน ป.พ.พ. แล้ว พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังระบุ สิทธิการหมั้นและจดทะเบียนสมรสแก่คู่รัก LGBTQ+ โดยการหมั้นสามารถกระทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ และการหมั้นจะเสร็จสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้รับหมั้นได้รับของหมั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า หากมีการหมั้นแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำผิดสัญญาหมั้นรับผิดชอบค่าทดแทน 

นอกเหนือจากสิทธิการหมั้นระหว่างบุคคลแล้ว ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังได้ระบุเงื่อนไขการ ‘สมรส’ เอาไว้ว่า  “การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย” โดยสถานะหลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะกลายเป็น “คู่สมรส” ทางกฎหมาย

สิทธิที่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) และพ.ร.บ.คู่ชีวิตมีร่วมกัน คือสิทธิว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินร่วมกันระหว่างคู่สมรสและหรือคู่ชีวิต การรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม และสิทธิ์ในการจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญา โดยการจัดการทรัพย์สิน ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ได้แก้ไขชื่อหมวดจาก ‘ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา’ เป็น ‘ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส’ และกำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ได้แยกออกจากสินส่วนตัวเป็นสินสมรส ทั้งนี้สินสมรสใดที่ระบุไว้ในมาตรา 456 ในประมวลกฎหมายดังกล่าว ที่มีเอกสารสำคัญ คู่สมรสสามารถลงชื่อร่วมในเอกสารนั้นได้ 

อย่างไรก็ตามการรับบุตรบุญธรรมแม้จะมีการระบุถึงการรับบุตรบุญธรรมในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ แต่มีเพียง 1 ฉบับที่กรรมาธิการเห็นชอบ คือร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ระบุให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตและบุตรบุญธรรมโดยอนุโลม ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการกลับไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ที่ระบุให้ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายนี้มีสิทธิรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกัน เรื่องนี้คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติทำให้ต้องติดตามต่อไปในการประชุมสภาฯ วาระ 2 ที่กำลังเกิดขึ้น

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้มีการนำบทบัญญัติภายใน ป.พ.พ.มาใช้เท่าเที่จะไม่ขัดกับตัวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตัวอย่างเช่น ให้นําบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของคู่สมรสหรือสามี ภริยาตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม” และในหมวด ⅔ บิดามารดากับบุตร ที่ได้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย บิดามารดา สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร และความปกครอง มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตในกรณีที่ ฝ่ายหนึ่งเป็นชายและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง รวมทั้งบุตรของคู่ชีวิตนั้นมาใช้โดยอนุโลมเช่นเดียวกัน

แม้ว่าสุดท้ายแล้วพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะสามารถผ่านเข้าไปในการพิจารณาวาระอื่น ๆ ในสภาฯ กระทั่งประกาศเป็นราชกิจานุเบกษา แต่สิทธิบางประการไม่ได้ให้สิทธิแก่คู่สมรสเทียบเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิง ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือพ.ร.บ.อุ้มบุญฯ ที่กำหนดให้คู่ “สามีภริยา” ที่ภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้เท่านั้นสามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ อีกทั้งพ.ร.บ.บางฉบับไม่ได้ให้สิทธิแก่คู่รักสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น การแปลงสัญชาติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ที่ระบุคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจนสำหรับคนต่างด้าวผู้มีสิทธิแปลงสัญชาติจะต้องขอถือสัญชาติไทยตาม “สามี” ซึ่งผู้เป็น “สามี” จะขอถือสัญชาติไทยตาม “ภริยา” มิได้ 

อย่างไรก็ดียังคงต้องลุ้นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดฉบับหนึ่งจะมีมติให้คว่ำร่างหรือไม่ หากร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาฯ เกินครึ่งผู้จดทะเบียนสมรสภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีสถานะเฉกเช่น “คู่สมรส” แต่หากร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถูกคว่ำและมีเพียงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านเข้าไปในวาระ 3 สถานะของผู้จดทะเบียนจะเป็นเพียง “คู่ชีวิต” ซึ่งได้สิทธิไม่มากเมื่อเทียบกับการเป็นคู่สมรสตามที่แจกแจงมาในตาราง

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า