SHARE

คัดลอกแล้ว

กาฟิว เหยื่อรายล่าสุดที่เสียชีวิตโดยเกี่ยวข้องกับการถูกบูลลี่ภายในโรงเรียนเปิดประเด็นให้สังคมกลับมาสนใจและตั้งคำถามต่อกฎระเบียบว่าสร้างแรงกดทับให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่? โดยเฉพาะ ‘ระเบียบทรงผม’ของนักเรียนไทยที่ยังคงถูกบังคับใช้ในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะอนุญาตให้นักเรียนชายสามารถไว้ผมยาวได้ แต่สำหรับนักเรียน LGBTQ+ ที่ไว้ผมยาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การใช้กฎระเบียบที่แยกชาย-หญิงชัดเจนนี้อาจสร้างแผลใจ และเป็นเหตุให้เกิดการฆ่าตัวตาย 

20 พฤศจิกายน 2565 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tai Oranuch – ต่าย อรนุช ผลภิญโญ ว่าที่ผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกลชัยภูมิ โพสต์ภาพพร้อมข้อความการเดินทางเยี่ยมงานฌาปนกิจศพและให้กำลังใจครอบครัวของ “กาฟิว” ผู้จบชีวิตตนเองหลังถูกตัดผมโดยครูในโรงเรียน ชี้สาเหตุการจบชีวิตจากการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ

กาฟิว เป็นนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ อาศัยอยู่กับแป๊ะ เรียนรัตน์ ซึ่งมีสถานะเป็นปู่ ครอบครัวระบุว่าเจ้าตัวเป็นเด็กดี ช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านของปู่กับย่าได้เป็นอย่างดี และเป็นหัวหน้าห้องของโรงเรียน

โพสต์ของอรนุชระบุคำบอกเล่าของคุณปู่ในวันเกิดเหตุเพิ่มเติมว่า ช่วงห้าโมงเย็นตนได้กลับบ้านหลังจากทำนา และสังเกตว่ามีรถและรองเท้าของกาฟิวอยู่ที่บ้าน ขณะที่บรรยากาศภายในบ้านเงียบผิดปกติประกอบกับไม่เห็นตัวของหลานอยู่บริเวณชั้นล่างของบ้านจึงเข้าใจว่ากาฟิวอาจจะออกไปเที่ยว แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนผิดสังเกตตนจึงได้ขึ้นไปสำรวจยังชั้นบนของบ้านและพบว่ากาฟิวอยู่ในสภาพไร้ซึ่งลมหายใจพร้อมจดหมายลาฝากฝังให้ดูแลน้องของผู้เสียชีวิตต่อ

โพสต์ดังกล่าวชี้ว่า ปู่ของผู้เสียชีวิตคาดการณ์ว่าสาเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของกาฟิวมีส่วนเชื่อมโยงกับ ‘ระเบียบทรงผม’ ของโรงเรียน ที่บังคับให้นักเรียนต้องตัดผมสั้นนำมาซึ่งความอับอายจากการถูกล้อเลียนโดยเพื่อนภายในสถาบันเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้าที่น้องกาฟิวจะเสียชีวิตได้มีการเดินทางมาปรับทุกข์กับปู่และย่าว่าถูกครูตำหนิเรื่องทรงผมที่ไม่ถูกระเบียบ จึงมีการบังคับให้ตัดผมตามกฎระเบียบของทางโรงเรียน ส่งผลให้ตนถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนว่า “ไม่สวย”

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์กล้อนผมเยาวชน LGBTQ+ 

ไทยเคยมีกรณี เยาวชน  LGBTQ+ ในสถานศึกษาถูกปรับเปลี่ยนทรงผมจนมีผลกระทบต่อสภาพทางจิตใจ

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายนปีเดียวกัน (2565) ก็มีกรณีของบัณฑิตถูกอาจารย์ของมหาวิทยาลัยกล้อนผมก่อนเข้ารับปริญญา แม้ว่าเธอจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วก็ตาม โดยอาจารย์ผู้ทำการตัดผมอ้างว่าเป็นการทำผิดระเบียบการแต่งกายเข้ารับปริญญาของมหาวิทยาลัย

หรืออีกกรณีหนึ่งจากการรายงานข่าวโดยเพจ Spectrum เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 กรณีที่มีนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถูกครอบครัวบังคับให้ตัดผม และทำร้ายร่างกายเมื่อมีการขัดขืน โดยครอบครัวเข้าใจว่าจะต้องตัดผมเพื่อเตรียมเข้ารับการฝึกงาน ส่งผลให้นักศึกษาคนดังกล่าวไม่กล้ากลับไปใช้ชีวิตภายในครอบครัวของตนอีก

เยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญสภาวะเปราะบางจากการถูกตีตราทางสังคมมากกว่ากลุ่มอื่น 

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสำรวจของโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ปี 2561 ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยเคยมีความคิดฆ่าตัวตาย โดยความถี่ของการพยายามฆ่าตัวตายตลอดทั้งชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 16.8 และเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่ที่ร้อยละ 50.7 ขณะเดียวกันตัวเลขยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่นำมาวิเคราะห์ทั้งประสบการณ์การการรับรู้ รวมทั้งการตีตราทางเพศหรือเพศสภาพก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวเลขสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายของกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายคือการถูกกลั่นแกล้งโดยเฉพาะทางวาจา จากงานวิจัยโดยโครงการ Trevor องค์กรที่สนับสนุนด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นในกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 2565

ให้ข้อมูลว่าแท้จริงแล้วเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้คิดฆ่าตัวตายจากรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา แต่เกิดจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมและถูกตีตราทางสังคม โดยเฉพาะ LGBTQ+ ที่อยู่ภายในโรงเรียนมีความเสี่ยงมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกกลั่นแกล้ง มากกว่าโดนกลั่นแกล้งในอินเทอร์เน็ตถึง 4 เปอร์เซ็นต์

ปี 2563  กระทรวงศึกษาธิการประกาศระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนใหม่ โดยอนุญาตให้นักเรียนชายสามารถไว้ผมยาวได้แต่ก็ต้องไม่เลยตีนผม

อย่างไรก็ตามกฎระเบียบของสถานศึกษาไทยในบางพื้นที่ยังคงสงวนระเบียบทรงผมภายในโรงเรียนของตนที่อาจไม่ตรงกับกฎของกระทรวง และยังกำหนดให้ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดชายและหญิง

ส่งผลให้นักเรียนผู้เป็นหญิงข้ามเพศไม่สามารถจะไว้ผมยาวเหมือนกับหญิงเพศกำเนิดได้ เนื่องจากผิดระเบียบของกระทรวง จึงเป็นช่องว่างให้เกิดการปฏิบัติคล้ายกับกรณีของกาฟิวในโรงเรียน

นอกจากกฎระเบียบของสถานศึกษาหรือกฎกระทรวงแล้วการถูกตีตราจากคำพูดของเพื่อนในสถาบันการศึกษาว่า “ไม่สวย” ก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมการล้อเลียนทางวาจาที่พบเจอได้บ่อยในโรงเรียน โดยงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”  ของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,606 คน ระบุว่า นักเรียนกว่า 91% เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งกว่า  88% เคยถูกกลั่นแกล้งทางวาจา

ที่ผ่านมาสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้พยายามแก้ไขปัญหาสภาพทางจิตใจจากการถูกกลั่นแกล้งภายในมหาวิทยาลัยโดยการตั้งหน่วยงานดูแลสุขภาพจิตขึ้น เช่น โครงการบ้านหลังที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือศูนย์สุขภาวะทางจิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มาตราการนี้ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา  กลับยังปรากฎอยู่อย่างจำกัด

รายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อยกระดับคุณภาพและความรวดเร็วของบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคตของพวกเขาภาครัฐอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจภายในสถานศึกษาไปพร้อมกัน” และชี้ว่าไทยยังมีช่องว่างที่สำคัญ เช่น การขาดงบประมาณ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจำนวนจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน

นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก ได้ให้สัมภาษณ์ในบทความ ‘ใจของเราก็เจ็บป่วยเป็น : สุขภาพจิตและความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษาไทย’ ของ The 101.world ว่า

“เด็กนักเรียนมีปัญหา สุขภาพจิตที่ซับซ้อนทั้งในมุมของตัวเองและสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่”

อีกทั้งยังมองว่าโรงเรียนยังไม่มีระบบจัดการดูแลสุขภาพจิต และคุณครูอาจไม่มีวิธีการตั้งรับเมื่อพูดถึงสุขภาพจิตของนักเรียนภายในโรงเรียน

“พ่ออยากให้ยกเลิกระเบียบที่บังคับเรื่องการแต่งกายหรือทรงผมกับเด็ก ที่เค้าควรมีอิสระมีสิทธิ์ในร่างกายของเค้า และขอให้กาฟิวเป็นคนสุดท้ายที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยระเบียบเหล่านี้” ญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า