SHARE

คัดลอกแล้ว

เราได้กันยินเสมอว่าสังคมเกาหลีเป็นสังคมหัวเก่า ที่ยังยึดถือแนวคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง ส่วนกลุ่มรักร่วมเพศนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในเกาหลีใต้ แต่ในปีสองปีนี้มีซีรีส์ที่มีตัวละครรักร่วมเพศหรือข้ามเพศเป็นตัวนำให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น และเนื้อเรื่องที่มีตั้งแต่การสะท้อนชีวิตของกลุ่ม LGBTQI+ หรือการ Normalise (ทำให้เป็นปรกติ) รสนิยมทางเพศที่หลากหลาย อย่างนี้มันแปลว่าสังคมเกาหลีเปิดกว้างขึ้นหรือยัง หรือภาพความเท่าเทียมที่ค่อย ๆ มีมากขึ้นจะจำกัดอยู่แค่ในจอเท่านั้น

หลายคนอาจสงสัยว่า The King’s Affection ที่เป็นเรื่องราวของ ‘ดัมอี’ เด็กสาวที่เกิดมาเป็นฝาแฝดขององค์รัชทายาท แล้วดันมีเหตุที่ทำให้องค์รัชทายาทตัวจริงตาย ทำให้เธอต้องมาปลอมตัวเป็น พี่ชายฝาแฝดของตัวเอง จะสะท้อนสังคมที่เปิดกว้างขึ้นของเกาหลีใต้ได้อย่างไร เพราะฟังดูแล้วนี่มันก็เรื่องหญิงปลอมเป็นชายแล้วแอบรักกันในวังคล้ายกับ Love in the Moonlight หรือ Sungkyunwan Scandal แต่สิ่งที่น่าสนใจและต่างออกไปของ The King’s Affection คือการเบลอเส้นแบ่งของความเป็นหญิงและชายในเรื่อง และเส้นเรื่องความรักที่พระเอกตกหลุมรักแบบสุดตัวโดยที่ไม่ได้คำนึงเรื่องเพศของอีกฝ่าย อาจจะนับได้ว่าเป็นการช่วย normalise ความรักแบบไร้ขอบเขตทางเพศ และทลายกรอบของเพศหญิงและชายที่ยังฝังลึกอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ได้เช่นกัน

The King’s Affection เล่นกับฉากที่ถูกผลิตซ้ำทุกเรื่อง เช่น ฉากที่นางเอกล้มและพระเอกมาประคอง ฉากพระเอกเอาหน้าไปใกล้ให้นางเอกใจเต้นแบบควบคุมไม่ได้ แล้วนำฉากเหล่านี้มาล้อเลียน บิด สลับเพศให้พระเอกอย่าง จองจีอุน (รับบทโดย โรอุน) กลายเป็นฝ่ายที่เขินอาย คิดมากจิตฟุ้ง จัดดอกไม้กวาดบ้านกวาดเรือน แบบที่ปรกติตัวละครหญิงมักจะเป็น ในขณะที่นางเอกในคราบรัชทายาท (รับบทโดย พัคอึนบิน) จะนิ่ง ๆ ขี่ม้า ยิงธนู ฉากเหล่านี้นอกจากจะเป็นเครื่องมือสร้างความตลกสนุกสนานให้กับเรื่องแล้วยัง อาจเป็นมองว่าเป็นการทลายกรอบ-บทบาทที่ชัดเจนของความเป็นชายและหญิงที่พบได้มากเป็นพิเศษในะซีรีส์ย้อนยุคด้วยก็ได้

นอกจากนี้การอ้างอิงถึงขงจื๊อและการกำหนดบทบาททางเพศในเรื่องยังทำให้แนวความคิดที่ความเชื่อแบบดั้งเดิมไม่ควรเป็นตัวกำหนดความผิดถูกทางเพศอีกต่อไป ซึ่งหากใครเคยอ่านประวัติศาสตร์เกาหลีมาก่อนอาจจะทราบว่าแนวคิดของขงจื๊อนี่ มีอิทธิพลกับแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่เกาหลีใต้อย่างมากด้วยคำสอนที่สนับสนุนการเคารพกฏของชนชั้นทางสังคม และการกำหนดบทบาทของของเพศชายและหญิงอย่างชัดเจน จากทั้งฉากในตอนต้นเรื่องที่จองจีอุนกล่าวว่ารัชทายาทอีฮวีนั้นเหมือนหลุดมาจากตำรางขงจื๊อ จนถึงตอนนท้ายในการตัดสินคดีที่ดัมอีปลอมตัวเป็นรัชทายาทอีฮวี ว่า

‘ในยามขึ้นครองบัลลังก์พระองค์ทรงทุ่มเทต่อการปกครอง เพื่ออาณาจักร และราษฏร ยิ่งกว่าราชาองค์ใดในประวัติศาสตร์ เช่นนั้นแล้ว จะสามารถลงโทษพระองค์ โดยใชัเกณฑ์จากหลักคำสอนและคตินิยมเพียงอย่างเดียวได้อย่างไรเล่าพะย่ะค่ะ’ เพราะสิ่งที่เหยีดหยามประชาชนไม่ใช่การที่มีคนเพศไหนครองบัลลังก์แต่การมีคนชั่วที่กุมอำนาจอยู่ต่างหาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการไม่ว่าซีรีส์เรื่องไหนที่มีนางเอกปลอมเป็นผู้ชาย ปมที่เจอได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในซีรีส์ย้อนยุคเหมือนเรื่องที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ หรือในยุคสมัยใหม่อย่าง Coffee Prince ฉากที่เราต้องเจอแน่ ๆ คือพระเอกนั่งกลุ้มว่า นี่เราชอบผู้ชายหรือ เราเปลี่ยนไปหรือเปล่า หรือ ทำไมเราถึงชอบผู้ชาย แต่เรื่องนี้ไม่มีเลย สิ่งที่จองจีอุนคิดมีแค่ว่าเขารักคน ๆ หนึ่งที่เป็นรัชทายาทเท่านั้น และการที่เรื่องเลือกจะทำให้พระเอกรู้ความจริงว่านางเอกเป็นผู้หญิงหลังจากที่ทั้งสองรักกันไปแล้ว ต่างกับเรื่องอื่นที่พระเอกจะรักนางเอกได้อย่างเปิดเผยและหมดใจในตอนที่รู้ หรือไปแอบรู้มาว่านางเอกเป็นผู้หญิง ก็อาจจะเป็นการสะท้อนการเปิดกว้างรับความคิดแบบความรักไม่มีเพศ

King’s Affection จึงเป็นเหมือนการทะลายกรอบเดิม ๆ ของการนำเสนอความรักและบทบาทที่ผูกไว้กับความเป็นชายและหญิงในซีรีส์เกาหลี โดยเฉพาะในซีรีส์ย้อนยุคที่มักจะเน้นความรักระหว่างชายหญิงแบบอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ยังเป็นคร้ังแรก ๆ ที่เราได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในฐานะที่สูงระดับพระราชา ต่างกับเรื่องอื่นที่ผู้หญิงมักจะปลอมตัวไปเพื่อจะมีสิทธิ์ได้ตำแหน่งที่มักจะสงวนให้ผู้ชายเท่านั้น

นอกจาก The King’s Affection แล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่นำเสนอเรื่องราวของเพศทางเลือกมาเรื่อย ๆ เช่นภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น The King and the Clown, Antique, A Frozen Flower หรือภาพยนตร์ที่นำเสนอความรักแบบเลสเบี้ยนที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั่วโลกอย่าง Handmaiden ในปี 2016

ส่วนในฝั่งซีรีส์ก็มีตัวละครชายรักชายในซีรีส์ดังให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ อาทิ Life is Beautiful ซีรีส์ไพร์มไทม์ที่ออกฉายเมื่อปี 2010 ทางช่อง SBS ที่นำเสนอความรักชาย-ชาย และประสบความสำเร็จอย่างดี แต่เพศทางเลือกก็มักจะต้องแบ่งเวลากับเส้นเรื่องอื่น หรือไม่ก็จะเป็นตัวละครสมทบ หรืออยู่ในเส้นเรื่องรองเสียมากกว่า

จนกระทั่งกระแสซีรีส์วาย ชายรักชายเริ่มเข้าสู่เกาหลีใต้ จนในปี 2020 When Your Eyes Linger ก็ประเดิมเป็น Boy’s Love drama หรือละครชายรักชายเรื่องแรกของประเทศ ตามมาด้วยเรื่องอื่น ๆ อย่าง Noble Man Ryu’s Wedding ซีรีส์วายย้อนยุค หรือ Colour Rush แต่ทุกเรื่องก็ยังเป็นเว็บดราม่าที่ฉายทางออนไลน์หรือฉายตาม OTT platform และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีซีรีส์วายที่ฉายทางช่องหลักหรือช่อง cable

ส่วนความรักนอกเหนือจากชายรักชาย ยิ่งมีพื้นที่สื่อที่น้อยลงไปอีก จนกระทั่งในช่วง 1-2 ปีนี้เช่นกัน ที่เริ่มมีตัวละครและเส้นเรื่องที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นโดยที่ไม่ได้เน้นไปที่ชายรักชายอย่างเดียว

● อย่างใน Itaewon Class ที่มีตัวละครอย่าง ‘มาฮยอนอี’ ที่เป็นหญิงข้ามเพศ
● หรือ Mine ที่มีหนึ่งในเส้นเรื่องหลักที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนที่แสนงดงาม
● และ Nevertheless ก็มีคู่รักหญิง-หญิงด้วยเช่นกัน

Media representation ที่มากขึ้นของกลุ่มเพศทางเลือกสอดคล้องกับข้อมูลจากเซอร์เวย์ของ Statista ในปี 2019 ทีระบุว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าไม่มีปัญหากับการนำเสนอเรื่องเพศทางเลือกบนหน้าสื่อ และคนในช่วงวัย 20 กว่า 87% สนับสนุนให้มีการสำเสนอเกี่ยวกับเพศทางเลือกในสื่ออีกด้วย อย่างไรก็ตามนี่ยังเป็นก้าวแรก ๆ ของสื่อที่จะนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQI+ เท่านั้น เพราะฉากที่แสดงความรักผ่านทางกายยังมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับซีรีส์เรื่องราวความรักของชาย-หญิง และยังมีนักแสดงที่ต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์เชิงลบจากผู้ชมบางกลุ่มเมื่อรับบท LGBTQI+ ในจอ

กลุ่มเพศทางเลือกมีพื้นที่ในหน้าสื่อก็จริงแล้วพื้นที่ในสังคมจะมีจริงหรือไม่?

หากมาดูข้อกฏหมายก็จะพบว่าที่เกาหลี ความรักร่วมเพศนั้นถูกกฏหมาย นอกจากนี้ยังสามารถแปลเพศเปลี่ยนสถานะทางเพศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีกฎหมายที่ปกป้องกลุ่ม LGBTQI+ จาก การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ยกเว้นในการจ้างงานโดยเลือกจากเพศ และกฏหมายสมรสเท่าเทียมก็ยังดูห่างไกล

การใช้ชีวิตโดยเปิดเผยว่าเป็นเพศทางเลือกยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากในเกาหลีใต้ บทความจากสำนักข่าว BBC ในปี 2019 ระบุว่า ในประเทศเกาหลีใต้ การเป็น LGBTQ ถูกมองว่าเป็นความพิการ ความบกพร่องทางจิต หรือเป็นคนบาปในมุมมองของคริสเตียนแนวอนุรักษ์นิยม ในบทความเดียวกัน มีบทสัมภาษณ์ของนาย ‘คิมอูซอก’ (นามสมมุติ) เกย์ชาวเกาหลีใต้ที่เล่าประสบการณ์ของเขาว่าเมื่อเขาถูกเปิดเผยว่าเป็นเกย์กลางงานกินเลี้ยงของบริษัท เขาก็โดนไล่ออกจากงานทันทีและเจ้าของร้านอาหารที่เป็นคริสเตียนนิกายโปรเตสแสตนท์ก็ไล่เขาออกจากร้าน ด้วยเหตุผลว่าความรักร่วมเพศเป็นบาปและนำมาซึ่งโรคเอดส์ การไล่ออกจะป้องกันไม่ให้คิมอูซอกแพร่ความรักร่วมเพศใส่พนักงานคนอื่น ๆ นอกจากนี้ คิมอูซอกยังต้องกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะรสนิยมทางเพศของเขาอีกด้วย

การโดนกีดกันอย่างที่คิมอูซอกเจอไม่ใช่เรื่องแปลกในเกาหลีใต้ และทำให้หลายคนที่กลัวการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองเพราะพวกเขาอาจจะต้องเสียงาน อนาคต สังคม หรือแม้กระทั่งครอบครัว สะท้อนในรายงานของ The Diplomat ในปี 2019 ที่เผยว่ามีคนเพียง 15.85% เท่านั้นที่ตอบว่าพวกเขาสามารถยอมรับได้หากคนในครอบครัวเผยว่าเขามีรสนิยมรักร่วมเพศ และน้อยกว่าครึ่งตอบว่าพวกเขารู้สึกสบายใจที่จะเป็นร่วมงานหรือเป็นเพื่อนกับกลุ่มรักร่วมเพศ ซึ่งอาจจะส่งผลให้คนไม่กล้าเผยตัว สังเกตได้จากสถิติที่เผยมีคนแค่ 10.15% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขารู้จักคนรักร่วมเพศ

เมื่อไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ก็ทำให้มี LGBTQ มากมายที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว Between Friends องค์กรที่เรียกร้องสิทธิให้กลุ่ม LGBTQ เปิดเผยผลโพลจัดทำโดย National Human Rights Commission of Korea พบว่า 92% ของกลุ่ม LGBTQ กังวลว่าพวกเข้าจะตกเป็นเป้าของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ทั้งความรุนแรง การไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว และปัญหาที่รุมเร้าทำให้หลายคนตัดสินจบชีวิตตัวเอง จากเซอร์เวย์ในกลุ่มวัยรุ่น LGBTQ ระบุว่ากว่า 45% เคยพยายามฆ่าตัวตายและ 53% เคยพยายามทำร้ายตัวเอง

และถึงการเป็นเพศทางเลือกจะไม่ผิดกฏหมายข้างนอกแต่ในค่ายทหารนั้นต่างออกไป เพราะการมีเซ็กส์ทางทางทวารหนักขอระหว่าเจ้าหน้าที่ชายนั้นมีโทษสูงสุดถึง 2 ปี และแม้อาชีพทหารอาจจะเป็นความฝันของคนหลายคน แต่สำหรับคนข้ามเพศแล้วเป็นฝันที่เกินเอื้อม เช่นเดียวกับ ‘บยอน ฮีซู’ นายทหารที่โดนไล่ออกจากตำแหน่งในกองทัพหลังจากที่เขาเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศหญิง โดยเหตุผลของการถอดถอนระบุว่าการเข้าผ่าตัดอวัยวะเพศชายออกทำให้เขาจัดเป็นผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ การตัดสินที่ไม่เป็นธรรมส่งผลให้เขาฆ่าตัวตายในเวลาถัดมา ก่อนศาลจะตัดสินมาว่าเป็นการสั่งปลดที่ไม่เป็นธรรม

นี่เป็นเพียงเรื่องราวแสนเศร้าบางส่วนที่กลุ่มคนข้ามเพศในเกาหลีใต้ต้องเผชิญ เพราะยังมีคนบางกลุ่มที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรง เช่นกลุ่มคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนท์อนุรักษ์นิยมบางกลุ่มที่ออกมาประท้วงที่ ไพรด์พาเหรดด้วยความเชื่อที่ว่าเขากำลังช่วยกลุ่มรักร่วมเพศจากการลงนรก และกลุ่มศาสนาคืออุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQI+ ในเกาหลีใต้เพราะแรงต้านจากกลุ่มเหล่านี้ สามารถปัดให้ร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ถูกเสนอหลายต่อหลายครั้งในปี 2007, 2010 และ 2013 ตกโต๊ะไปได้

ทุกวันนี้ LGBTQ หลายคนยังต้องใช้ชีวิตหลบซ่อน แต่ความเปลี่ยนแปลงของมุมองในโลกและหน้าสื่ออาจจะทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ดีกำลังใกล้เข้ามาทุกที สะท้อนผ่านการที่คนไม่ค่อยปิดหน้าด้วยหน้ากากและแว่นกันแดดอีกต่อไปเมื่อเดินขบวนใน Pride Parade ต่างกับปีแรก ๆ

เหตุการณ์เหล่านี้สอดคล้องกับเซอร์เวยของ Korea Institute of Public Administration ในปี 2018 ที่แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างกว่า 8,000 คน เปิดเผยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการรักร่วมเพศ ร่วงลงไปต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และรายงานในปี 2019 ก็ยังระบุอีกว่า 44% ของชาวเกาหลีใต้ คิดว่าความรักร่วมเพศควรเป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งเปอร์เซ็นต์เยอะขึ้นกว่าปี 2002 เกือบ 20% และ
หลังจากการล็อบบี้มานานหลายปี ขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการเลือกปฏิบัติสี่ฉบับอยู่ในการพิจรณาของหน้าคณะกรรมการฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา และมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก

ฉะนั้นถึงแม้จะช้ากว่าญี่ปุ่นหรือไต้หวัน แต่ความเปลี่ยนแปลงและสิทธิที่เท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQI+ ในเกาหลีใต้จะต้องมาถึงอย่างแน่นอน และการสนับสนุนของสื่อและประชาชนจะเป็นหนึ่งในแรงสำคัญที่จะกำหนดความเปลี่ยนแปลงนี้ในเกาหลีใต้

อ้างอิง
● http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200622000760
● https://www.kpopmap.com/4-korean-bl-dramas-that-started-the-genre-in-korea/
● https://www.statista.com/statistics/1131189/south-korea-opinions-on-lgbt-representation-in-the-media/
● http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200622000760
● https://www.equaldex.com/region/south-korea
● https://www.bbc.com/news/world-asia-49751410
● https://thediplomat.com/2019/03/whats-behind-south-koreas-persistent-lgbt-intolerance/
● https://www.nytimes.com/2019/07/10/world/asia/south-korea-army-gay.html
● https://www.theguardian.com/world/2021/mar/04/south-koreas-first-transgender-soldier-found-dead
● https://www.theguardian.com/world/2021/mar/04/south-koreas-first-transgender-soldier-found-dead
● https://www.thechicagocouncil.org/commentary-and-analysis/blogs/south-koreans-becoming-more-accepting-lgbtq-community
● https://www.wordswithoutborders.org/dispatches/article/lgbt-korea-on-film-anonymity-and-representation
● https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/21582440211031886
● https://time.com/6094503/south-korea-lgbtq-discrimination/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า