Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนอาจจะคิดว่าไลฟ์โค้ชเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ เป็นแค่การนำคำพูดสวยหรูมาใส่ดนตรีประกอบ และเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ แต่หากมองวงการไลฟ์โค้ชทั่วโลกที่มีผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่หลายหมื่นคน ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจหนึ่งที่มีมานานแล้ว อีกทั้งยังมีมูลค่ามหาศาลและอัตราการเติบโตที่รวดเร็วอีกด้วย

เนื่องจากไลฟ์โค้ชเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีหน่วยงานใดมาควบคุมอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ว่ามีมูลค่าเท่าใด แต่สื่อหลายสำนักประเมินว่ามีเงินหมุนเวียนต่อปีไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3 หมื่นล้านบาท)

องค์กรด้านไลฟ์โค้ชที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในตอนนี้คือ International Coaching Federation (ICF) ที่มีทำการออกประกาศนียบัตรให้กับโค้ชที่ผ่านการอบรมและมีชั่วโมงการทำงานตามที่กำหนดไว้

ในรายงานประจำปี 2018 ระบุว่า ICF มีสมาชิกอยู่ 33,645 คน และมีสมาชิกในสหรัฐฯ 12,838 คน หรือคิดเป็น 38.16% ของสมาชิกทั้งโลก 

อย่างไรก็ตาม ไลฟ์โค้ชไม่ใช่จิตแพทย์ซึ่งเป็นอาชีพที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนดว่าจำเป็นต้องผ่านการอบรบหรือต้องมีใบประกาศฯ ทำให้จำนวนผู้ที่ประกอบอาชีพนี้มีแนวโน้มที่จะมีเยอะกว่าตัวเลขที่ถูกบันทึกไว้

 

ไลฟ์โค้ชคืออะไร?

ICF ให้คำนิยามของการเป็นโค้ชว่า “ผู้ที่พูดคุยเพื่อทำให้ลูกค้าฉุกคิดและเกิดจินตนาการ อันนำไปสู่แรงบันดาลใจที่จะดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการงานและชีวิต” 

รูปแบบการโค้ชในอดีตจะถูกจำกัดไว้ที่การออกหนังสือ การปรึกษาตัวต่อตัว และการจัดงานสัมนา อาจจะมีการบันทึกแล้วนำมาวางขายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

แต่พอโลกได้เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ทำให้โค้ชทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างใช้วิธีนี้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้คน รวมถึงเป็นการโปรโมทตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ตามหลักการแล้ว ไลฟ์โค้ช คือโค้ชประเภทที่ให้คำปรึกษาเรื่องชีวิต ไม่ได้รวมไปถึงเรื่องการงานหรือธุรกิจ แต่พอคำนี้เริ่มถูกนำมาใช้ในสังคมไทย กลายเป็นว่าไลฟ์โค้ชคือโค้ชที่ให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่องตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

และการที่ไลฟ์โค้ชใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับผู้คนเป็นวงกว้าง ก็ทำให้พวกเขาได้ตำแหน่ง “นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ” เพิ่มเข้าไปอีกด้วย

 

ใครคือเบอร์ 1 ของวงการไลฟ์โค้ช?

แม้ว่าโค้ชแต่ละคนจะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมแล้ว Business Insider ยกให้ โทนี่ รอบบินส์ เป็นไลฟ์โค้ชและโค้ชด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มีรายงานว่าเขาทำได้รายต่อปีจากการจัดงานสัมนา 9 ล้านดอลลาร์ แต่รายได้ส่วนใหญ่ของเขามาจากการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.8 แสนล้านบาท) ในปี 2017

โทนี่ รอบบินส์ หรือชื่อเต็มว่า แอนโธนี เจ มาฮาโวริช โด่งดังจากการจัดงานสัมนาที่มีรูปแบบคล้ายเวทีคอนเสิร์ต ผู้ที่เข้าร่วมงานมักจะถูกกระตุ้นให้กระโดดไปตามเสียงดนตรีก่อนที่ตัวเขาจะเริ่มการพูด เพื่อเป็นการผ่อนคลายและเตรียมตัวเองให้พร้อม

ในการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว มีรายงานว่าเขามีลูกค้าเป็นผู้มีชื่อเสียงจากแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น บิลล์ คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ, เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์, เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้, ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นักแสดงฮอลลีวูด และ เซเรนา วิลเลี่ยมส์ อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก

ในปี 2016 โทนี่ รอบบินส์ ปรากฎตัวในสารคดี ผมไม่ใช่กูรู (I Am Not Your Guru) ทาง Netflix ที่ส่งทีมงานตามติดไลฟ์โค้ชผู้นี้ทั้งหน้าเวทีและหลังเวที มีฉากหนึ่งที่ถูกตัดมาเป็นไฮไลท์ เป็นช่วงเขาพูดคุยกับผู้ร่วมสัมนาคนหนึ่งที่บอกว่าอยากฆ่าตัวตาย

 

“ทำไมคุณถึงอยากฆ่าตัวตาย?” รอบบินส์ถาม

“เพราะผมมาถึงจุดที่สำคัญในชีวิต และผมรู้สึกว่าตัวเองจมดิ่งลงไปจนไม่เห็นทางออกเลย อยากหาทางออกจากร่างนี้”

“คุณเกลียดตัวเองเพราะอะไรกัน?” 

“เพราะรองเท้าสีแดงคู่นี้หรือเปล่า?” รอบบินส์ชี้ลงไปที่รองเท้าของชายคนนั้น

“ไม่ใช่” เขาส่ายหน้า

“แน่ใจนะ? เพราะมันโคตรแดงเลย” ทั้งฮอลล์หัวเราะ รวมถึงชายผู้นั้น

“อย่ายิ้มแบบนั้นสิ คุณกำลังทำให้ทุกอย่างแย่ลงนะ ถ้าขืนยิ้มแบบนั้นบ่อย ๆ เดี๋ยวเกิดคุณอยากอยู่บนโลกนี้ต่อขึ้นมาจะทำยังไง” รอบบินส์แซวด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง ก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่โหมดจริงจังในอีกไม่กี่อึดใจถัดมา

“คุณเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป ผมชอบนะที่คุณตั้งมาตรฐานไว้สูง แต่นั่นมันไม่ใช่มาตรฐานสูงหรอก มันคือความคาดหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ”

“คนส่วนใหญ่มักจะประเมินตัวเองสูงเกินไป กับสิ่งที่ตัวเองทำได้ในระยะเวลาปีเดียว แต่กลับประเมินตัวเองต่ำเกินไปสำหรับ 20-30 ปีข้างหน้า และคุณยังอยู่มาไม่นานพอที่จะพิสูจน์ตัวเองใน 20-30 ปีนั้นเลย”

“และถ้าคุณให้เวลากับตัวเองมากขึ้นอีกหน่อย และรักตัวเองให้มากขึ้นอีกนิด คุณจะได้เห็นว่ายังมีอะไรที่คุณทำได้อีกเยอะเลย ผมโคตรจะเชื่อแบบนั้น”

 

บทสนทนาครั้งจบลงด้วยการที่ชายหนุ่มบอกว่าเขาเชื่อในตัวไลฟ์โค้ช และให้คำมั่นว่าจะให้เวลากับตัวเองมากขึ้น มีการตัดภาพไปที่แผงควบคุมเสียงที่เร่งเสียงดนตรีขึ้นพร้อมกับเสียงปรบมือทั่วทั้งฮอลล์

จะเห็นได้ว่าวิธีการของไลฟ์โค้ชผู้นี้ไม่ใช่การอธิบายให้ฟังว่าคนเราไม่ควรฆ่าตัวตายเพราะอะไร แต่เป็นการพูดให้ฉุกคิดถึงข้อดีของการมีชีวิตอยู่ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า โทนี่ รอบบินส์ จะประสบความสำเร็จและมีรายได้มหาศาล แต่เขาก็หนีไม่พ้นเรื่องดราม่าอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกมาให้คำแนะนำที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงวิธีคิดของเขา รวมไปถึงคดีความต่าง ๆ ที่มีการฟ้องร้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2018 เขาโดนสังคมวิจารณ์อย่างหนักหลังจากมีการบันทึกสิ่งที่เขาพูดในงานสัมนา โดยบอกว่าผู้หญิงที่ออกมาพูดถึง #MeToo เป็นตัวอย่างของความต้องการที่อยากให้ตนเองมีความสำคัญ และเป็นความพยายามในการแสดงว่าตนเป็นผู้ถูกกระทำ ก่อนที่จะออกมาขอโทษในภายหลัง

(#MeToo เป็นแฮชแท็กที่ใช้เรียกร้องให้ผู้ชายที่มีอำนาจหยุดการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ)

และในปี 2019 ทาง BuzzFeed ได้รายงานข่าวว่า โทนี่ รอบบินส์ เคยล่วงละเมิดหญิงสาวเมื่อปี 1985 ก่อนที่ทีมกฎหมายของเขาจะออกมาปฏิเสธ และทำการยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทที่ประเทศไอร์แลนด์ แม้ว่าทั้งตัวเขาและคู่ความจะมีถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐฯ ก็ตาม

 

ใคร ๆ ก็สามารถเป็นไลฟ์โค้ชได้

ไลฟ์โค้ชใช้ทักษะการพูดเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน สำหรับผู้ที่ฟังแล้วรู้สึกชื่นชอบ และรู้สึกว่าสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้ ก็จะนิยมชมชอบในโค้ชเหล่านั้นมาก

แต่ผู้คนอีกส่วนก็จะมองว่าไลฟ์โค้ชจำนวนมากมักใช้วิธีพูดแบบลอย ๆ ไม่มีหลักฐานมารองรับ ไม่มีการควบคุมโดยหน่วยงานใด ๆ และไม่มีมาตรฐานสำหรับวิชาชีพนี้ ซึ่งอาจทำให้มีการชักนำผู้ฟังไปในทางที่ผิดได้

คอร์สส่วนใหญ่ที่ได้รับการยอมรับอาจต้องใช้เวลาฝึก 3-9 เดือนเพื่อที่จะได้ใบประกาศนียบัตร แต่บางคอร์สกลับใช้เวลาเข้าอบรมแค่ช่วงสุดสัปดาห์ ก็ได้คำนำหน้าว่า โค้ช มาครอบครองแล้ว

และถึงแม้จะมีคอร์สอบรมและมีองค์กรต่าง ๆ นับร้อยแห่งคอยออกประกาศนียบัตรให้ แต่ถ้าคุณไม่ได้เข้าอบรม แล้วอยากจะเปิดคอร์สสอนขึ้นมา ก็ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามคุณไม่ให้เป็นไลฟ์โค้ชได้

หลายคนอาจจะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปเป็นค่าคอร์ส ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีสำหรับคนเหล่านั้น แต่ปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับคนในสังคม หรือปัญหาด้านมาตรฐานวิชาชีพยังคงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอยู่ดี

ขนาดไลฟ์โค้ชระดับต้น ๆ ของโลกยังออกมาชี้นำในทางที่สังคมมองว่าไม่ถูกไม่ควรจนเกิดดราม่า จึงไม่มีอะไรมาการันตีได้เลยว่าโค้ชคนอื่น ๆ จะไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกัน 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า