SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ธนาธร’ ไลฟ์ เปิดแบบจำลองวิกฤติโควิด-19 ชี้ถ้าลดการติดเชื้อในช่วงล็อกดาวน์สิงหาคมไม่ได้ ปลายเดือนกันยายน ผู้ป่วยรายใหม่อาจขึ้นไปแตะวันละ 50,000 คน

วันที่ 5 ส.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยใต้โควิด” ชี้แจงสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของอัตราการระบาดของโรคในอีก 2 เดือนข้างหน้า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอาจจะเลวร้ายมากกว่านี้ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ที่ผมต้องการพูดเรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการให้ทุกท่านตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าเรานำแบบจำลองอนาคตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้น มาเล่าให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนฟังอย่างเปิดเผย ทุกคนจะเท่าทันกับสถานการณ์ ทุกคนจะสามารถรับมือกับอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีสติ ผมคิดว่านั่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาและทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกถ้าหากมีสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น”

โดยนายธนาธร ได้เปิดแบบจำลองสถานการณ์โควิด-19 จากฐานข้อมูล Google Mobility Trend และ Facebook Range Map หรือข้อมูลที่ Facebook และ Google เปิดเผยแนวโน้มการเดินทางของประชากรจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่า หลังสถานการณ์โควิดและการล็อกดาวน์รอบที่หนึ่ง คนไทยเดินทางน้อยลงไปประมาณ 35% จากสถานการณ์ปกติ พอมาถึงระลอกที่สองการเดินทางน้อยลงประมาณ 20% จากสถานการณ์ปกติ ส่วนล็อกดาวน์ครั้งปัจจุบัน การเดินทางของประชาชนลดลง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ตรวจพบรายวันขณะนี้ขึ้นไปเกิน 20,000 คนแล้ว จากแบบจำลองดังกล่าว ถ้าเราสามารถลดการติดเชื้อจากการล็อกดาวน์ได้เพียงแค่ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คนในปลายเดือนกันยายน ขณะที่ถ้าเราสามารถลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนในเดือนปลายเดือนกันยายน ในอัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลงในปลายเดือนสิงหาคม และจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุดล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน แต่ก็ยังมีแบบจำลองอนาคตที่เป็นแง่บวกอยู่บ้าง นั่นคือหากเราลดการแพร่เชื้อได้ 45-50% ขึ้นไป จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะลดลงมาได้เหลือเพียงแค่ 4,000-5,000 คนในเดือนกันยายน และจะอยู่ในระดับนี้หลังจากการปลดล็อกดาวน์

ดังนั้นตามแบบจำลองนี้ เราไม่สามารถชะลอการแพร่ระบาดในอัตราที่มากได้ เราจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เลย ถ้าเราลดอัตราการแพร่ระบาดได้เพียง 20% ในช่วงล็อกดาวน์สิงหาคม-กันยายนนี้ ในเดือนกันยายนนี้จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 35,000 คนต่อวัน จาก 20,000 คนในปัจจุบันภายในหนึ่งเดือนจากนี้ ถ้าเราลดอัตราการแพร่ระบาดได้เพียง 20% ตัวเลขจาก 20,000 จะวิ่งขึ้นไปถึง 5 เท่า แต่ถ้าลดอัตราการแพร่ระบาดได้ 50% ภายในหนึ่งเดือนนี้ ตัวเลข 20,000 จะลดลงเหลือ 4,000 นี่คือโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

ในส่วนของความต้องการเตียงเพื่อรักษาพยาบาลและการกักแยกโรค แบบจำลองในอนาคตบอกเราแล้วว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน และอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 500,000 คนในเดือนกันยายน นั่นคือกรณีที่เราหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้เพียง 20% แต่ถ้าเกิดว่าเราหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ถึง 50% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียง จะลดลงเหลือ 84,500 คน

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต จากแบบจำลองเดียวกัน ถ้าเราลดการแพร่เชื้อได้เพียง 20% ผู้เสียชีวิตรายวันจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 200 กว่าคน อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 400 กว่าคนต่อวันในเดือนกันยายน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงได้ถึง 50% จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะอยู่ที่ระดับ 100 คนต่อวันในเดือนกันยายน ดังนั้นจะเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญ ก็คือการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระหว่างเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน แต่ถ้าเทียบจากข้อมูลข้างต้น ความหวังที่จะหยุดยั้งการแพร่เชื้อให้ได้ถึงระดับ 50% อาจจะเป็นไปได้ยาก ระดับที่อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่ที่ 30-35% ซึ่งก็จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือจะไม่ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้ในเร็ววัน

เศรษฐกิจไทย เติบโต ปี 64 อาจถึงขั้นติดลบ

การจำกัดการแพร่ระบาดของโควิดจะเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อประชากรมีการฉีดวัคซีนสองเข็มเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่การที่จะฉีดวัคซีนถึงสองเข็มเป็นจำนวนมากก็มีปัญหาอย่างที่เราทราบกัน ว่าเราไม่สามารถหาวัคซีนที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณที่เพียงพอมาฉีดให้กับประชาชนได้ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันจะนำมาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ณ ปัจจุบัน สถาบันทางการเงินต่างๆ ที่ออกพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ต่างมีการปรับลดตัวเลขพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมด ตัวอย่างแรกจาก K Research หรือสถาบันวิจัยของธนาคารกสิกรไทย ระบุในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตประมาณ 2.6% พอมาถึงไตรมาสสองลดการพยากรณ์ลงมาว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตเพียงประมาณ 1.8% พอมาถึงเดือนกรกฎาคม กสิกรไทยปรับลดการพยากรณ์เศรษฐกิจลงเหลือเพียงแค่ 1% จากเดิมครั้งแรกสุดที่พยากรณ์ไว้ตอนต้นปีว่าประเทศไทยจะโต 2.6%

กกร. หรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อไตรมาสหนึ่งพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะเติบโตขึ้น 2.5% พอมาถึงกลางปีก็ปรับลดการพยากรณ์ลงเหลือเพียงประมาณ 1.3% พอมาถึงเดือนกรกฎาคมก็ปรับการพยากรณ์ลงเหลือเพียง 0.8% เท่านั้น

ทั้งนี้ การปรับลดการพยากรณ์ลงของทุกสำนักเศรษฐกิจ ยังไม่ได้ใส่ปัจจัยเรื่องการล็อกดาวน์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้เข้าไปด้วย หมายความว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตน้อยกว่าพยากรณ์ล่าสุดที่มีการปรับลดแล้วเสียด้วยซ้ำ เรากำลังพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจจะติดลบในปี 2564 ก็เป็นได้ และนั่นก็คืออนาคตที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ อนาคตที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่านี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องเผชิญ

โควิดเล่นงานเศรษฐกิจโลกจะโตแค่ 6% 

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกการพยากรณ์เศรษฐกิจโลกมาหนึ่งฉบับ โดยใช้ชื่อการพยากรณ์ว่า “Fault Lines Widen in the Global Recovery” หมายความว่าโลกกำลังจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประเทศ กลุ่มแรกคือประเทศกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอแล้ว เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเร็ว ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนไม่เพียงพอ กลุ่มนี้จะเติบโตทางเศรษฐกิจช้า

IMF พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะโตประมาณ 6% จากปีที่แล้ว -3.2% โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโต 5.6% ขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาจะเติบโต 6.3% ส่วนประเทศไทยพยากรณ์ล่าสุดเติบโตอยู่ที่ 1% เมื่อเทียบกับที่ IMF พยากรณ์ ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งโลกจะเติบโต 6.3% จะเห็นได้ว่าจากผลกระทบของสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ผ่านมา กำลังจะซ้ำเติมการพัฒนาของประเทศไทย ให้ช้ากว่าโลกและช้ากว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ก่อนสถานการณ์โควิดประเทศไทยก็เติบโตช้ากว่าโลกและช้ากว่าเพื่อนบ้านอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์โควิดประเทศไทยก็จะเติบโตช้ากว่าโลกและช้ากว่าเพื่อนบ้านไปอีก หมายความว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม กำลังจะไล่ตามเราเข้ามาใกล้ขึ้นทุกวันๆ ซึ่งหมายความว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ กำลังจะเดินออกห่างจากเราไปไกลขึ้นทุกวันๆ

วัคซีนในไทยไม่พอคือปัญหา ถ้าไม่เร่งนำเข้าจะเหลือวัคซีนฉีดได้เพียง 3-4 วัน

ดังนั้น สถานการณ์วันนี้จึงขึ้นอยู่กับวัคซีน ว่าตกลงแล้วจะฉีดวัคซีนได้เท่าไรและเมื่อไหร่กันแน่ วันนี้มีประชากรไทยที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วมีจำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 6% ของจำนวนประชากร คนที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสมีจำนวน 21.5% ของจำนวนประชากร หรือคิดเป็น 14.2 ล้านคน ซึ่งถ้าดูตามอัตรานี้ เทียบกับเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ หมายความว่าทุกวันที่เหลือนับตั้งแต่วันนี้ จะต้องฉีดให้ได้ 5.47 แสนโดสต่อวัน ปัญหาไม่ใช่ว่าเราไม่มีศักยภาพในการฉีด 5 แสนโดสต่อวัน แต่ปัญหาคือเรามีวัคซีนไม่เพียงพอ

จากข้อมูลของ covid-19.researcherth.co (https://covid-19.researcherth.co/…) ซึ่งเป็นข้อมูลจากการทำงานของนักสถิติ ที่รวบรวมสถิติต่างๆ จากภาครัฐเอามาสร้างเป็นเว็บไซต์ ที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการจัดการบริหารวัคซีนโควิดของประเทศไทยได้ วัคซีนที่ได้รับจัดสรรมาอยู่ในประเทศไทยแล้วมีทั้งหมด 18.9 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 18.1 ล้านโดส หมายความว่าเราเหลือวัคซีนอีกประมาณ 8 แสนโดส ถ้าฉีดในอัตราปัจจุบัน คือประมาณ 2 แสนกว่าโดสต่อวัน เราจะสามารถฉีดได้อีกเพียง 3-4 วันเท่านั้น ถ้าไม่มีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา เราก็จะไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ให้กับประชากรของเราได้เลย ซึ่งการฉีดวัคซีนได้ช้าก็จะส่งผลให้เราต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ และการแพร่ระบาดรอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดรอบนี้ไปได้

โควิดระบาดรอบล่าสุด ฉุดเศรษฐกิจซบเซา ภาคเกษตรอยู่ในจุดน่ากลัว

ดังนั้นการแพร่ระบาดในรอบนี้อาจจะหนักหนาสาหัส ถ้าเราไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ และสิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะโตเพียง 1% หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งมันจะส่งผลกับรายได้ของประชาชน ยกตัวอย่างภาคการท่องเที่ยว ในภาวะปกติก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 2 แสนล้านบาทต่อเดือน เมื่อเกิดการล็อกดาวน์รอบที่หนึ่ง รายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน การล็อกดาวน์ครั้งที่สองเติบโตขึ้นมาหน่อย การท่องเที่ยวมีรายได้ 3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แต่รอบนี้ปัจจุบันนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยเหลือเพียง 4 พันล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์ปกติ 2 แสนล้านบาทต่อเดือน เหลือเพียง 4 พันล้านบาทต่อเดือน โดยที่จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ฯลฯ ต่างมีเศรษฐกิจกซบเซา กิจกรรมทางเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนก็ลดน้อยถอยลงจนส่งผลกระทบถึงรายได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้ประกอบการ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ในภาคการเกษตรปีนี้สถานการณ์ก็น่ากลัว พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญก็คือข้าว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวหอมมะลิลดลง 6.7% จาก 10,862 บาทต่อตันเหลือเพียง 10,134 บาทต่อตัน

ในขณะที่ข้าวเจ้าความชื้น 15% ราคาตกลงในรอบสองเดือนที่ผ่านมา 7.4% จาก 8,474 บาทต่อตัน เหลือเพียง 7,844 บาทต่อตัน ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนี้ต่อไปในฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และอาจจะทำให้ราคาข้าวต่ำลงกว่านี้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

คนตกงาน รายได้ลด กูเกิลค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ ‘เงินด่วน’ จนติดเทรนด์

ปัญหาการตกงานและปัญหารายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการ นำมาซึ่งหนี้สินของครัวเรือนที่มากขึ้น หากลองเข้าไปดูใน Google Trend ที่บอกเราว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีคนเข้าไปค้นหาคำว่าอะไรมากที่สุด เราจะพบว่าเมื่อไตรมาสที่สองของปีที่แล้ว ที่มีการล็อคดาวน์ครั้งแรกเกิดขึ้น มีคนค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ ‘เงินด่วน’ มากที่สุด ในสถานการณ์ปกติ มีคนค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ ‘เงินด่วน’ ใน Google อยู่ที่ 35% โดยเฉลี่ยทุกเดือน หลังจากการล็อกดาวน์ครั้งแรก คนค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ ‘เงินด่วน’ เพิ่มขึ้น 100% แล้วลดลงมาในปัจจุบันอยู่ที่ 68% หมายความว่าต่อให้ผ่านการล็อคดาวน์ครั้งแรกมาแล้ว การค้นหาคำว่า ‘เงินกู้’ ‘เงินด่วน’ ก็ยังสูงกว่าปกติเป็นเท่าตัว นั่นหมายความว่าคนเดือดร้อน มันทำให้หนี้สินของครัวเรือนขึ้นไปสูงถึง 90% ของจีดีพี มากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การล็อกดาวน์ในเดือนสิงหาคมนี้ จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล ได้สัดส่วน ให้ประชาชนมั่นใจว่าเขาจะไม่อดตาย พวกเขาจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมเมื่อเทียบกับเวลาที่เขาเสียไป ซึ่งแม้จะต้องใช้เงินมาก แต่อย่างไรก็ถูกกว่าการปล่อยให้ระบาดถึงจุดเลวร้ายที่สุด ที่มีผู้ติดเชื้อ 50,000 คนต่อวัน ที่เราอาจจะได้เห็นในอีกไม่นานนี้” นายธนาธร ระบุ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า