วันที่ 4 ก.ค. นายอำนาจ ศิริเพชร หัวหน้าสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชมการเตรียมความพร้อมเพาะพันธุ์ปลาทูในสถานีวิจัยฯ ม.11 ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เนื้อที่กว่า 300 ไร่
แบ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงปลาทูส่วนหนึ่ง ประกอบด้วย บ่อเก็บน้ำ 16 ไร่, บ่อเพาะเลี้ยงไรสีน้ำตาลอาหารปลาทูบ่อละ 3 ไร่ จำนวน 4 บ่อ รวม 12 ไร่, โรงเพาะปลาทู 450 ตารางเมตร ภายในเป็นบ่อปลาทูทรงกลมป้องกันปลาทูว่ายชนผนังจุน้ำ 80 ตัน จำนวน 1 บ่อ รวมทั้งโรงเลี้ยงอาหารสำหรับปลาทูวัยอ่อนขนาด 400 ตารางเมตรอีก 2 บ่อด้วย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ตามแผนที่กำหนดล่วงหน้าที่จะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะมีกระแสข่าวปลาทูใกล้สูญพันธุ์ในครั้งนี้

ปลาทูที่จับได้จำนวนมากในอดีต
นายอำนาจ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เข้ามาสังกัดกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล มีภารกิจหน้าที่ในการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลหลัก 7 ชนิด คือ หอยหลอด, หอยพิมพ์, หอยตลับ, ปูแสม, ปูม้า, ปลากะพง และปลาทู ก็เป็นเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจัดเตรียมอาหารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร คุณภาพน้ำที่เป็นปัจจัยหลัก ทางสถานีได้ปรับปรุงระบบน้ำภายใน, บ่อเพาะฟักต่างๆ ที่มีความเหมาะสมอย่างดี ตลอดจนมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ปลาทูสำเร็จในครั้งก่อนมาแล้ว รวมทั้งจะหารือไปยังศูนย์วิจัยเครือข่ายเพื่อหาองค์ความรู้ร่วมกัน

เตรียมไรสีน้ำตาลไว้เป็นอาหารปลาทู
จากนั้นในช่วงเข้าหน้าหนาวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ จะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูเข้ามาบำรุงเลี้ยงอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมให้สมบูรณ์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป จึงมั่นใจว่าครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาทูแน่นอน