Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ส้มที่อยู่ตามท้องตลาด รู้ได้อย่างไรว่าจะจากห่วงโซ่การผลิตที่ไม่เอาเปรียบเกษตรกร อาหารทะเลที่ซื้อมา รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้มาจากการใช้แรงงานค้ามนุษย์ ถ้าผู้บริโภคฉุกคิดถึงประเด็นนี้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่นานการเลือกกินของคนในวงกว้างก็เปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตได้

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3 กรุงเทพฯ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก แท็กทีมจัดเทศกาลอาหารดี(ย์)ประจำปี “มหาส้มมุทร” ภายใต้แนวคิดกินยังไงให้ยั่งยืนและปลอดภัย ที่ดีทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยในงานนำชาวประมงพื้นบ้านจาก 7 พื้นที่ พร้อมคนปลูกส้มไม่อมพิษมาเปิดตลาดและพูดคุยกับผู้บริโภค

ในโอกาสนี้  นอกจากจะเปิดโอกาสให้ชาวกรุงจับจ่ายใช้สอย เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา Fisher Folk ยังเล่าว่าเป็นโอกาสในการพบปะระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ไม่มีโอกาสได้สร้างสัมพันธ์กันบ่อยนัก โดยหวังว่าเมื่อต้นทางและปลายทางประสานกันจะนำไปสู่สำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ผลิตตั้งมั่นในแนวทางการผลิตอาหารอย่างปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

“การจัดงานปีนี้เน้นธีมเรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะการบริโภคโดยคำนึงถึงขนาดสัตว์น้ำที่เหมาะสมกับการกินจะทำให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้เราคุยกับเกษตรกรที่ปลูกส้มแบบออร์แกนิก เขาอยากให้ผู้บริโภคในเมืองรู้ว่ามีส้มที่ปลอดภัยอยู่ แม้ว่าส้มส่วนมากในตลาดจะใช้สารเคมีเยอะ ส้มและปลาจึงมีเป้าหมายในการสร้างเส้นทางอาหารยั่งยืนและปลอดภัยเช่นเดียวกัน เป็นที่มาของงานมหาส้มมุทร

“หลังจัดงานมาหลายปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ในช่วงแรกชาวประมงยังไม่มั่นใจในการผลิตอาหารปลอดภัย การผลิตโดยไม่ใส่สารเคมี การใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง เพราะยังไม่เห็นตลาด และการจับแบบนี้ได้ผลผลิตน้อย ต้องเลือกจับเป็นชนิด ไม่เหมือนการกวาดจับทั้งหมด ปีแรกๆ เราจึงต้องช่วยทำตลาด ให้ผู้บริโภคในเมืองเห็นทางเลือก เราสร้างช่องทางสื่อสารทางเฟซบุ๊ก สร้างแบรนด์ร้านคนจับปลา

เสาวลักษณ์เน้นย้ำว่า ผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญในเส้นทางสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรและระบบนิเวศทะเล เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน ผู้ผลิตก็จะเปลี่ยน เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน การกินปลาหนึ่งตัวก็มีส่วนช่วยทำให้ทะเลได้ฟื้นฟูและทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำงานอนุรักษ์

 

เชื่อหรือไม่ เลือกกินเปลี่ยนโลกได้

ภายในงานมีวงเสวนา “มหาส้มมุทร (ยั่งยืน) รู้ที่มาของอาหารสำคัญไฉน” โดยพูดคุยกับวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี และ 3 เชฟชื่อดังระดับประเทศ เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ จากร้าน Blackitch Artisan Kitchen เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จากร้านตรังโคอิ  ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเส้นทางอาหาร ความสัมพันธ์กับผู้ผลิต รู้ลึก รู้จริงเรื่องประมงและการเกษตรส้มอินทรีย์ เพื่อจะได้กินรู้แหล่งที่มาและร่วมสร้างอาหารที่ยั่งยืน

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่าคนทั่วไปยังเข้าถึงอาหารดีได้น้อยด้วยข้อจำกัดเรื่องทุนและโอกาสที่จะเจอของดี การจะทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้นนั้น อาหารดีๆ เหล่านี้ต้องมีการผลิตมากขึ้น ความรู้ของผู้บริโภคก็ต้องขยายขึ้น เป็นการกินอย่างรู้ที่มา กินอย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ คนมักคิดว่าอาหารจากชาวบ้านต้องราคาถูกและเป็นของไม่ดี ผมอยากเห็นประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีในราคาถูกได้ แต่เราต้องช่วยกันกินส้มที่ดี กินหมึกที่ดี จะเป็นแรงส่งช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ผลิต ให้ชาวประมงที่ทำสิ่งที่ดีก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

“ฝั่งผู้ผลิตไม่สามารถทำเรื่องพวกนี้ได้ฝ่ายเดียว แต่ผู้บริโภค เชฟ นักวิชาการ ต้องเดินไปด้วยกัน แม้ว่าจะทำให้ยากลำบากมากขึ้นแต่ผู้บริโภคจะได้ของดีตอบแทน ได้อาหารที่เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายไป” วิโชคศักดิ์กล่าว

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ระบบการผลิตอาหารของไทยทันสมัยมาก ทำให้คนมีอาหารกินได้ตลอดปี แต่เป็นการกินไม่รู้ฤดูกาล อุตสาหกรรมอาหารต้องการตอบโจทย์คนกินตลอดปี จึงใส่สารเคมีทุกสิ่งที่หาได้ เมื่อมีการตรวจสารตกค้างในผักและผลไม้โดยมากจะเจอประมาณ 55% ไม่ว่ามาจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต คนจึงเริ่มถามหาอาหารปลอดภัย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าป้ายที่แปะว่า “ปลอดภัย” นั้นปลอดภัยจริง เพราะคำว่าปลอดภัยคือการใช้สารเคมีแต่มีการเว้นระยะการใช้

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี

“แม้ว่าขณะนี้ผู้บริโภคจะเริ่มตื่นตัวเรื่องที่มาอาหาร แต่อาจไม่ทันอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ดีกระบวนการสื่อสารก็เป็นความหวังหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในการกินอาหารที่หลากหลาย รู้จักตั้งคำถามถึงอาหารที่ตัวเองกิน ช่องทางออนไลน์ก็จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น เชฟที่ทำอาหารก็มีส่วนช่วยส่งต่อความรู้เรื่องอาหาร ให้คนกินรู้จักอาหารที่หลากหลายและช่วยกันรักษาระบบอาหารที่ยั่งยืน

“ผู้บริโภคต้องมองให้เห็นระบบห่วงโซ่อุปทาน เห็นที่มาของอาหาร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ปรุง ผู้กิน เราต้องคิดให้ครบทั้งวงจร ซึ่งผู้บริโภคมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสียง ฟื้นฟูความรู้ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนต่อไปได้” กิ่งกรกล่าว

เชฟแบล็กภานุภน บุลสุวรรณ จากร้าน Blackitch Artisan Kitchen มองว่านิสัยการกินของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนได้และจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยน แต่การกินอย่างผิดๆ อย่างการกินบุฟเฟ่ต์ปูก็ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำ ขณะที่การทำธนาคารปูจะส่งผลให้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้นชัดเจน

“ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ที่ใดในโลก มีน้อยประเทศที่จะมีอ่าว ซึ่งเป็นแหล่งสะสมและอนุบาลสัตว์น้ำ การคืนสัตว์น้ำสู่ธรรมชาติบ้างจะช่วยสร้างความยั่งยืน ขณะนี้ธนาคารปูก็มีการทำกว้างขวางขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ร้านอาหารของผมเองก็ให้ความสำคัญกับอาหารทะเลมาก จากการเก็บข้อมูลที่ร้านในไม่กี่ปีมานี้พบว่าเราใช้สัตว์น้ำกว่า 800-900 สายพันธุ์ และเปิดพื้นที่ให้คนกินรู้ข้อมูลของสัตว์น้ำเหล่านี้ ซึ่งปลาในประเทศไทยก็สามารถกินดิบแบบปลาญี่ปุ่นได้ แต่อยู่ที่การจัดการในขั้นตอนต่างๆ

เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ จากร้าน Blackitch Artisan Kitchen

“การขยายลูกค้าให้กินอย่างมีความรู้ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากรู้ข้อมูลแล้วเราต้องเคารพวัตถุดิบ ใช้ปลาแต่ละส่วนอย่างรู้คุณค่า เช่นเอาหัวปลาและก้างปลาไปทำน้ำปลา เปลือกกุ้งเปลือกปูเอามาป่นคลุกเกลือทำกะปิ ผมอยากให้ทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักร ไม่อย่างนั้นความยั่งยืนจะไม่เกิด แล้วทุกอย่างจะหมดไป ถ้าใช้อย่างเดียวโดยไม่ดูแลรักษาเราก็จะไม่มีธรรมชาติเหลือให้บริโภค อยากให้มองถึงชีวิตของลูกหลานในอนาคตว่าเขาต้องมีของกิน ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ อย่าใช้มันอย่างทิ้งขว้าง ต้องช่วยกันดูแลรักษา” เชฟแบล็กกล่าว

ด้าน เชฟอุ้มคณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จากร้านตรังโคอิเล่าวว่า อาหารเปอรานากันที่ตนเองทำเป็นอาหารมีรากเหง้า อ้างอิงจากรากวัฒนธรรมแล้วมาประดิษฐ์วิธีการนำเสนอใหม่ อาหารเปอรานากันอยู่ในพื้นถิ่นชายฝั่งทะเลและอาจมีพื้นนาป่าเขามาผสมด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศ หลักของอาหารเปอรานากันคือทะเล ที่เอาอาหารทะเลมาใช้ทุกส่วน ซึ่งต้องมีความรู้เรื่องวัตถุดิบแต่ละชนิด

เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จากร้านตรังโคอิ

“ถ้าเรากินปลาโดยไม่มีความรู้ ก็จะกินแต่วัตถุดิบเดิมๆ ปลาอื่นที่ถูกจับมาก็จะเหลือ และเราจะพลาดในการปรุงอาหารที่เหมาะกับเนื้อปลา การขยายความรู้สู่ผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญ และอยากบอกผู้บริโภคว่าอย่ารู้จักแค่เทศกาล แต่อยากให้รู้จักฤดูกาลด้วย เพราะอาหารทุกอย่างมีช่วงชีวิต ถ้ากินตามช่วงชีวิตของอาหาร ช่วงชีวิตของเราก็จะยืนยาว” เชฟอุ้มกล่าว

เครือข่ายกินเปลี่ยนโลกประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (OXFAM) สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร้านคนจับปลา (Fisherfolk) และผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)  โดยงานเทศกาลอาหารดี(ย์)ประจำปี “มหาส้มมุทร” ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการ CSO-LA และ SWITCH Asia II Programme รวมถึงสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ด้วย

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า