ความพยายามดึงคนเก่งมีความสามารถที่ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ ให้กลับมาทำงานในประเทศไทย มีมาหลายปีแล้ว
ล่าสุด เพิ่งมีการอนุมัติ ‘มาตรการภาษี’ เพื่อสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพและทำงานในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในไทย หวังดึงแรงงานหัวกะทิกลับ โดยคนที่เข้าข่ายจะต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และทำงานในต่างประเทศมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
โดยจะต้องกลับมาทำงานเป็นลูกจ้าง พนักงาน ตามสัญญาในบริษัทที่ประกอบกิจการอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากเข้าข่ายก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งผู้ถูกจ้าง และนายจ้าง
[ เทรนด์ย้ายถิ่นเกิดทั่วโลก ทุกประเทศหาทางดึงตัวกลับ ]
ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่และทำงานในต่างประเทศเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น บางคนเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือบางคนก็หาที่ที่ปลอดภัยกว่าจากประเทศหรือเมืองที่ตัวเองอยู่กลายสภาพเป็นผู้ลี้ภัยจากหลายสาเหตุ
โดยมากการเคลื่อนย้ายอพยพถิ่นฐานย้ายประเทศ มาจากผลตอบแทนทางการเงินที่ดีกว่า รวมทั้งแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เพราะมีวัฒนธรรมการอยู่ต่างถิ่นต่างแดนปรากฎทั่วโซเชียลมีเดีย รวมๆ แล้วการโยกย้ายถิ่นฐานจึงเป็นกระแสหนึ่งของโลก
ในแง่โอกาสในชีวิต ผลสำรวจบอกว่า ชาวต่างชาติกว่า 40% ที่ไปใช้ชีวิตทำงานหาเงินในต่างประเทศ สถานภาพการเงินดีขึ้น และกว่า 60 % มองว่าคุณภาพชีวิตในชีวิตประจำวันดีขึ้นอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย หากดูเฉพาะนักเรียนนักศึกษาไทยกลุ่มที่ไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มีรายงานถึงกว่า 3.2 หมื่นคน ซึ่งประเทศที่นักเรียน นักศึกษาไทยเลือกไปเรียนมากที่สุดอันดับแรก คือ ออสเตรเลีย ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อียิปต์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เยอรมนี แคนาดา และนิวซีแลนด์
[ ต่างประเทศดึงคนเก่งยังไงบ้าง ]
ในต่างประเทศมีวิธีดึงคนกลับประเทศได้จำนวนหนึ่ง ไปจนถึงการใช้โมเดลดึงคนต่างชาติที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้มาอยู่ในประเทศนั้นๆ แทนได้
ว่ากันตามจริงตอนนี้แล้วประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศโดยมากประสบปัญหาเดียวกัน คือผู้คนต่างออกไปแสวงหาโอกาสนอกประเทศ
TODAYBizview พาไปดูกรณีในต่างประเทศกันว่าเขาดึงคนเก่งที่ออกไปเรียนไปทำงานต่างประเทศกลับมากันอย่างไร
เริ่มจากประเทศในสหภาพยุโรป ที่เผชิญปัญหาสมองไหลเช่นกัน วิธีการ คือ การตั้งตั้นสร้างนโยบาย ที่เน้น ‘เพิ่มโอกาส’ และ ‘ผลตอบแทน’ ในอาชีพที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะในภาครัฐ และทำให้ค่าจ้างในภาครัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การปรับปรุงระบบการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญ สร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในประเทศก็ช่วยส่วนหนึ่ง
ส่วนกลุ่มที่ย้ายไปแล้ว ก็ออกนโยบายจูงใจทางภาษีให้กลับมาลงทุนเป็นผู้ประกอบการในประเทศบ้านเกิด ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้
ดังนั้นเราจะเห็นสิ่งที่ประเทศในยุโรปพยายามทำคือ สร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี โอกาสทางอาชีพในบ้านเกิด การจ้างงาน และอีกส่วนหนึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย คือต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ดีด้วย เพราะทำให้คนมีความหวัง
อีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญคือ ไต้หวันที่มองเห็นว่าปัญหาสมองไหลจะเป็นปัญหาใหญ่ ตั้งแต่ยุค 80 เลย ไต้หวัน ใช้เวลาและความพยายามมาหลายปี เพื่อดึงคนย้ายถิ่นกลับมามีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มแรกใช้วิธีจูงใจด้วยการใช้วิธีให้เงินค่าชดเชย และค่าขนย้าย ค่าใช้จ่ายในการกลับมาตั้งถิ่นฐาน
ถัดมาใช้วิธีสร้างโอกาสทางอาชีพให้และสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับประเทศให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และดึงคนเก่งๆกลับมาโดยให้แรงจูงใจทางภาษี รายได้ เป็นการสร้างโอกาสการทำงานให้
นี่เป็นตัวอย่างการออกแบบนโยบายที่จะต้องคำนึงให้คนในชาติรู้สึกใกล้ชิดกับประเทศบ้านเกิด ให้รู้สึกมีบทบาทในการพัฒนา
นอกจากนี้แนวทางไต้หวัน คือการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการ ออกนโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจและที่ทำควบคู่คือ การสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ลงทุนด้านการสร้างทรัพยากรคน สร้างแพทย์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์
มาดูกรณีมาเลเซีย มีนโยบายให้นักเรียนทุนรัฐบาลกลับมาใช้ทุนในบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแทนที่จะมาใช้ทุนทางฝั่งภาครัฐ
อีกหนึ่งประเทศที่ใช้วิธีคล้ายกับไต้หวัน คือ เกาหลีใต้ ที่ดึงคนเก่งให้กลับประเทศด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดตั้งศูนย์วิจัยต่างๆ ให้เงินสนับสนุนกับคนที่ย้ายกลับมา ไม่ว่าค่าเดินทาง หรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ ไปถึงการจ้างงานในกลุ่มงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีโดยให้อัตราค่าตอบแทนที่สูง
รวมทั้งยังพยายามดึงคนเก่งในประเทศไม่ให้ไหลออกด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่สายงาน IT และวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ โดยมีโปรแกรมที่เรียกว่า ‘Brain Pool’ สนับสนุนทางการเงินสำหรับการจ้างงานระยะสั้น ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้
มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อจัดหาตำแหน่งงานให้ สร้างโอกาสให้มีตำแหน่งงานดีๆสำหรับผู้จบการศึกษาปริญญาเอก รวมถึงมีองค์กรและเครือข่ายของคนเกาหลีพลัดถิ่นในต่างแดนด้วยเพื่อสร้างคอนเนคชั่นเชื่อมโยงกับประเทศบ้านเกิด
เล่ามาแบบนี้แต่ถึงอย่างนั้นก็ดึงดูดคนกลับมาได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น
หลายประเทศเลยต้องใช้วิธี ‘แย่งตัวคนต่างชาติที่เก่งๆ’ เข้าประเทศตัวเอง
วิธีสร้างชาติด้วยการดึงต่างชาติทำมานานแล้วเช่นในช่วงยุคทศวรรษ 50-60 ที่นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ ในอังกฤษ ย้ายกันไปอเมริกาและแคนาดา จนวันนี้เราจะเห็นว่าในดินแดนนวัตกรรมระดับโลกซิลิคอนวัลเลย์ มีคนต่างชาติมากมายที่นั่น และก็เป็นแหล่งนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของอเมริกาอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
โมเดลนี้เลยได้เห็นกันในอีกหลายประเทศ ที่ใช้วิธีนี้เปิดรับชาวต่างชาติมีคุณภาพให้เข้ามา ประเทศที่โดดเด่นเรื่องนี้เลยคือ สิงคโปร์ มีมาตรการที่เรียกว่า Tech pass ดึงคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง หรือผู้บริหาร Tech Company เข้ามาทำงานในประเทศ โดยมาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์คนที่เข้ามา ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์ได้อย่างอิสระ และพาครอบครัวมาอยู่ได้มีเงินสนับสนุนให้ ทำให้สิงคโปร์ถือเป็นประเทศดึงดูดคนเก่งเป็นลำดับต้นๆของเอเชียเลย
ลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดที่ฮ่องกง มีนโยบายดึงผู้เชี่ยวชาญคนทักษะดีๆในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาทำงานในประเทศ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็มีทั้งด้าน AI, Cyber Security, Data Analytics, Robotic
ส่วนมาเลเซีย ตั้งหน่วยงานเฉพาะมาดูแลดึงคนเก่งๆเข้าประเทศ แบบให้คนต่างชาติที่มีทักษะสูงถือวีซ่านาน 10 ปี
อย่างกรณีในสวีเดน เปิดให้คนจบปริญญาโทจากที่ไหนก็ได้เข้ามาหางานในประเทศสวีเดนได้ โดยสามารถขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในสวีเดนได้เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 3 – 9 เดือน เพื่อแสวงหาโอกาสในการทํางานหรือทําธุรกิจในสวีเดนได้ แม้ในรายละเอียดจะมีเงื่อนไขไม่ง่ายเช่นกัน แต่ก็เห็นถึงเทรนด์ดึงคนต่างชาติเข้ามาทำงานสร้างรายได้ จ่ายภาษีให้กับประเทศปลายทาง
สำหรับประเทศไทย มีแผนดึงคนเก่ง คนทักษะสูงเข้ามาทำงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพราะอุตสาหกรรมในอีอีซีเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะคล้ายโมเดลที่เล่ามาก่อนหน้า มีการทำสมาร์ทวีซ่าให้กลุ่มนักลงทุน ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมเข้ามา รวมทั้งนักลงทุนสตาร์ทอัพ
รัฐบาลอนุมัติการออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้กลุ่มคนเก่ง คนมีฝีมือ และกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มเกษียณจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงาน Remote ระยะไกลโดยทำงานในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และครอบครัว
แต่วันนี้ไม่ได้มีอะไรง่าย สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยต้องเร่งปูฐานสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะดึงดูดคนเก่งให้อยากเข้ามาทำงานอาศัยอยู่ในประเทศ เพราะประเทศอื่นๆ ก็แข่งขันกันดึงดูดคนเก่งต่างชาติเข้าประเทศเช่นกัน
เรื่องนี้จะเห็นภาพชัดขึ้นว่าสำคัญมาก ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกปี 2024 หรือ The World Competitiveness จาก International Institute for Management Development หรือ IMD เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ 63 ประเทศทั่วโลกปี 2024 พบว่าขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ไทย’ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีก่อนที่ได้อันดับที่ 30 ขยับมาอยู่อันดับ 25 ในปีนี้
ขีดความสามารถในการแข่งขันก็คือ การวัดว่าศักยภาพของประเทศเราตอนนี้เป็นยังไงบ้างเมื่อเทียบกับนานาประเทศ มีการวัดกันหลายมิติทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ภาพรวมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยเรื่อง ‘คน’ ด้วย แปลว่า วันนี้ยิ่งจำเป็นที่เราต้องการ คนเก่งๆ มีความสามารถกลับมาไทย
แต่ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ผลการศึกษาของ McKinsey & Company พบว่า คนที่มีการศึกษาดีมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นฐานมาก และนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ปัจจัยและเงื่อนไขจะดึงคนเก่งกลับประเทศ หรือคนต่างประเทศเก่งๆ มาทำงานในไทย คือการสร้างพื้นที่ให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ได้อย่างมีความสุข มีอิสระในการแสดงความเห็น มีความเท่าเทียม อิสระเสรีภาพ และสุดท้ายประเทศนั้นๆ สามารถสร้างโอกาสทางชีวิตที่ดีให้พวกเขาได้ก็จะดึงคนเก่งไว้ได้