SHARE

คัดลอกแล้ว

ผลโพลออนไลน์โดยสื่อ 4 สำนักชี้ คนเคยเลือกประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐพร้อมเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นมากที่สุด ส่วนผู้ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งก่อนเกิน 80% พร้อมกาเลือกพรรคเดิม ด้านผู้ที่เคยโหวตให้พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ย้ำชัด ต้องการนายกฯ ที่ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยและอยากให้เน้นประเด็นเศรษฐกิจปากท้องมากกว่าเรื่องอื่น

ผลการทำโพลออนไลน์ “VOTE66: เลือกคน? เลือกนโยบาย? เลือกใคร?” โดยสื่อ 4 สำนัก ประกอบไปด้วย TODAY, The Matter, The Momentum และประชาไท ระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 5 เม.ย. 2566 ผลปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจออนไลน์ทั้งสิ้น 1,913 ราย โดยส่วนใหญ่กว่า 53.4% เป็นผู้อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามอายุของผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจ จะประกอบไปด้วยคน Gen Y อายุ 25-40 ปีมากที่สุดกว่า 49% ส่วนคน Gen Z (อายุน้อยกว่า 25 ปี), Gen X (อายุ 41-56 ปี) และ Baby Boomer (อายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป) มีทั้งสิ้น 22.9%, 18.1% และ 9.9% ตามลำดับ

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่กว่า 82.28% ระบุว่าได้ออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งปี 2562 และมีเพียงส่วนน้อย 4.08% เท่านั้นที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ ส่วนที่เหลืออีก 13.64% เป็น new voter ที่เพิ่งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจดูให้ลึกลงไปถึงฐานเสียงของแต่ละพรรค (อิงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน) พบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ โดยกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งก่อน เกินกว่า 80% ระบุว่าจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับผู้ที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2562 มีถึง 85.71% ที่ระบุว่าจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น ส่วนผู้ที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐและระบุว่าจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นในการเลือกตั้งปีนี้มีอยู่ถึง 81.58%  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสำรวจออนไลน์ครั้งนี้ไม่ได้สอบถามว่าจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอะไร ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่แม้ฐานเสียงของสองพรรคการเมืองข้างต้นจะเปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่น แต่ก็อาจจะยังเป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมเช่นเดิม

สำหรับพรรคการเมืองที่กลุ่มผู้สนับสนุนเหนียวแน่นมากที่สุดคือพรรคก้าวไกล โดยผู้ที่ระบุว่าเคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งปี 62 มีถึงกว่า 84.36% ที่ระบุว่าจะเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนพรรคที่กลุ่มผู้สนับสนุนเดิมเหนียวแน่นรองลงมาได้แก่พรรคเพื่อไทย โดย 64.05% ของผู้ที่เคยเลือกเพื่อไทยระบุว่าจะยังคงเลือกเพื่อไทยต่อไปในการเลือกตั้งเดือน พ.ค. นี้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผู้ที่เคยเลือกเพื่อไทยเกือบหนึ่งในสาม (29%) ที่ระบุว่าจะย้ายไปเลือกพรรคอื่น

การสำรวจออนไลน์ในครั้งนี้ยังได้สอบถามถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีคนต่อไปที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยากได้ รวมถึงแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากเห็นด้วย ซึ่งผลการสำรวจออนไลน์ครั้งนี้ได้ทำให้เห็นการให้คุณค่าที่ต่างกันของฐานเสียงของแต่ละพรรคด้วย

สำหรับผู้ที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐ ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุด โดยผู้ที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐเกินครึ่งกว่า 57.89% ระบุว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปมีความซื่อสัตย์ไม่คดโกง นอกจากนั้นแล้วฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งดีงามในอดีตมากกว่าฐานเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย โดยเกือบหนึ่งในสี่ (23.68%) ของผู้ที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐระบุว่าต้องการนายกรัฐมนตรีที่พร้อมอนุรักษ์สิ่งดีงามในอดีต ในขณะที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆ แทบจะไม่มีใครระบุว่านี่คือสิ่งที่อยากเห็นจากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเลย

ด้านฐานเสียงพรรคเพื่อไทยระบุว่าสิ่งที่อยากเห็นจากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุดคือต้องเป็นผู้ที่ (1) เคารพในหลักการประชาธิปไตย 67.37% (2) เก่งในการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ 60.12% และ (3) ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ 59.82%  นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่าเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของผู้นำจะเป็นประเด็นที่ฐานเสียงของเพื่อไทยให้ความสำคัญน้อยกว่าฐานเสียงของพรรคที่มีอุดมการณ์ไปทางอนุรักษนิยมด้วย โดยมีผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเพียง 16.31% เท่านั้นที่ระบุว่าต้องการนายกฯ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ต่างจากฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่ามาก (40.82% และ 57.89% ตามลำดับ)

ทางด้านฐานเสียงของพรรคก้าวไกลระบุว่าสิ่งที่ต้องการเห็นจากนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือการเป็นคนที่เคารพหลักการประชาธิปไตย โดย 58.55% ของผู้ที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งก่อนระบุว่าอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ นอกจากนี้เกือบครึ่งของฐานเสียงพรรคก้าวไกล (46.53%) ยังอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่กล้าชนกับผู้มีอำนาจด้วย ทั้งนี้ น่าสังเกตด้วยว่าความซื่อสัตย์สุจริต วุฒิการศึกษา ความขยันทุ่มเท รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งดีงามในอดีต ล้วนไม่ใช่คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ฐานเสียงพรรคก้าวไกลมองหาเป็นสิ่งแรกๆ

สำหรับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์มองหามากที่สุดคือ การมองเห็นปัญหาและบริหารจัดการเป็น (57.14%) และความกล้าในการชนกับผู้มีอำนาจ (53.06%)  นอกจากนี้ ฐานเสียงของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้และการเคารพหลักการประชาธิปไตยในระดับเดียวกัน (51.02%)  ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของนายกรัฐมนตรีมากกว่าฐานเสียงพรรคเพื่อไทยกว่าเท่าตัว

สำหรับแนวทางของพรรคการเมืองที่จะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองต่างๆ ในระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้น พบว่าการชูนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่ฐานเสียงของแทบทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญมากที่สุด (เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ) ยกเว้นฐานเสียงของพรรคก้าวไกลที่ระบุว่าให้ความสำคัญกับการปฏิรูปองค์กรต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการสร้างสวัสดิการ มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง  นอกจากนี้ การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศก็เป็นอีกเรื่องที่ฐานเสียงของก้าวไกลให้ความสำคัญมากกว่าฐานเสียงของพรรคการเมืองอื่นอย่างชัดเจน

การสำรวจออนไลน์ในครั้งนี้ยังทำให้เห็นความเหมือนและความต่างของฐานเสียงของ 3 พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ในหลายมิติด้วย โดยฐานเสียงของพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการปราบโกงและการไม่แบ่งขั่วเลือกข้างในระดับใกล้เคียงกัน ในขณะที่ฐานเสียงของเพื่อไทยให้ความสำคัญกับสองมิตินี้น้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกันฐานเสียงของเพื่อไทยกับของพลังประชารัฐก็คล้ายกันในมิติของการมองหาพรรคการเมืองที่เคยมีผลงานในอดีต ซึ่งฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างที่ไม่ได้มองหาสิ่งนี้  และสุดท้าย ฐานเสียงของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์คล้ายกันในมิติของการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและการสนับสนุนรัฐสวัสดิการ ซึ่งถือเป็นสองเรื่องที่ฐานเสียงของพลังประชารัฐให้ความสำคัญน้อยกว่า

ผู้อ่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดผลโพลทั้งหมดจากการสำรวจครั้งนี้ได้ที่  https://thaielection2023.typeform.com/report/d1HcT2fP/PaDzYcsvk423qBdR

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า