ทำความรู้จัก ‘ฝนดาวตกโอไรออนิดส์’ ร่องรอยจาก ‘ดาวหางฮัลเลย์’ ที่จะมาปรากฏบนท้องฟ้าให้มองเห็นด้วยตาเปล่า ให้ค่ำคืนวันเสาร์ ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันอาทิตย์นี้
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ‘ฝนดาวตกโอไรออนิดส์’ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของ ‘ดาวหางฮัลเลย์’ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2529
แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมา บริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า
ปีนี้จะเริ่มสังเกต ‘ฝนดาวตกโอไรออนิดส์’ ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 21 ต.ค. 66 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ต.ค. 66 บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ
โดยดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. หลังจากนั้นจะไร้แสงจันทร์รบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือ ‘มองด้วยตาเปล่า’ เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงให้ชม อาทิ ดาวบีเทลจุส (สีส้มแดง) ดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) รวมถึง ดาวซิริอุส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหมาใหญ่ใกล้ๆ กัน
ส่วนดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า จากการคำนวณคาดว่า ดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้ง ช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 ก็คือน่าจะได้เห็นดาวหางฮัลเลย์ในอีก 38 ปีข้างหน้า
ข้อมูลและภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ