สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรม “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ธ.ค. 2565 รอบอ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่ ส่วนใครที่มาไม่ได้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT ) เปิดเผยว่า คืน 14 ธ.ค. 65 นี้ NARIT ร่วมกับ เทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยใช้พื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยลาน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ค่อนข้างมืด ปราศจากแสงไฟรบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง
ภายในงานมีกิจกรรมดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ บรรยายการดูดาวเบื้องต้น แนะนำวัตถุท้องฟ้าและกลุ่มดาวฤดูหนาว แนะเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตก ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ และนอนนับฝนดาวตก เป็นต้น เริ่มตั้งแต่เวลา 17:00-23:00 น.
ส่วนผู้สนใจร่วมกิจกรรมในภูมิภาคอื่นสามารถเข้าร่วมได้ที่
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร. 086-4291489
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (มีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ฟรี) โทร. 084-0882264
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังระบุอีกว่าผู้สนใจชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน แนะนำให้นอนชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์มีจุดเด่นคือ ความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ ถือเป็นโอกาสดีในการติดตามชมฝนดาวตก
สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มักเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-20 ธันวาคมของทุกปี มีศูนย์กลางกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวกลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 20:00 น. สามารถสังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 23:00 น. หลังช่วงเวลาดังกล่าวยังคงสามารถชมฝนดาวตกได้ แต่จะมีแสงจันทร์ข้างแรม 6 ค่ำรบกวน
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่หลงเหลือทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball