วันที่ 8 มีนาคม ที่ศูนย์ประสานงาน ส.ส.ฝั่งธนบุรี กลุ่ม ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ 55 คน แถลงข่าวการเตรียมเดินทางไปสมัครสมาชิก พรรคก้าวไกล โดยในการแถลงข่าว มีการพูดถึงแนวทางการจัดการโควิด-19 ด้วย
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ภาวะวิกฤตโควิด-19 ว่า มี 3 ประเด็นที่จะพูดถึง คือ 1.ความล่าช้าของมาตรการภาครัฐ ซึ่งมักจะช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าวเสมอ เช่น กรณีผู้ใช้แรงงานที่เกาหลีใต้เดินทางกลับมาก็ขาดขาดมาตรการกักตัว หรือจำกัดบริเวณที่เป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีประกาศออกมา กำหนดให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่่ยง 4 ประเทศคือ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิตาลี ที่รัฐต้องจัดการ แต่ทว่าก็ช้าไปแล้ว มีคนจากลุ่มประเทศเสี่ยงนี้เข้ามาก่อนแล้ว เช่น ผู้ใช้แรงงานไทยที่กลับมาจากเกาหลีใต้ กว่า 200 คน เป็นต้น นอกจากการนี้ปัญหาไวรัสโควิด -19 ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว ต้องมีการบูรณาการร่วมกระทรวงอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
.
2. การกักตัว ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีการปิดกั้นเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงเลย รัฐบาลให้น้ำหนักแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องสาธารณสุขและความมั่นคงสุขภาพอนามัยประชาชน ต้องให้น้ำหนักมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอ คือควรเริ่มมีกระบวนการจัดโควตาวีซ่าให้เที่ยวบินบางประเทศ และหากกลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ก็ควรใช้มาตรการกักตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใช้แต่กับคนไทย
.
3 การใช้หน้ากากอนามัยและกระจายหน้ากากอนามัยต้องเท่าเทียม ทั่วถึง และเพียงพอ และต้องไม่ปล่อยให้มีการหากำไรจากการขายหน้ากาก
ด้าน นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต 1 จ.เชียงราย กล่าวว่า เรื่องการจัดการโรคระบาดไวรัส โควิด-19 สิ่งที่ต้องเน้น คือ 1.เรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ควรดำเนินการอยู่บนข้อมูลและหลักวิชาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ 2.ข้อมูลการระบาดเป็นเรื่องสำคัญต้องเปิดเผย และต้องเป็นข้อมูลที่ตรง ข้อมูลที่จริง เพื่อที่จะสามารถควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลนี้ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ 3.อุปกรณ์หน้ากากอนามัยที่ยังขาดแคลน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
.
4.การดำเนินการป้องกันโรคในพื้นที่ ซึ่งมีแรงงานจากต่างประเทศที่เดินทางกลับมา แต่เราไม่มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบบางคนกักตัวอยู่ในบ้าน บางคนก็อยู่ในชุมชนก็มีความหวาดระแวงกัน รัฐบาลควรเข้าไปดูว่าคนที่กักตัวอยู่อยู่อย่างไร ลำบากอย่างไร ต้องสนับสนุนข้อมูลให้ชุมชนได้รู้ข้อเท็จจริงร่วมกันด้วย 5. เรื่องของการฟื้นฟู วันนี้ เรายังไม่มีคำยืนยันชี้แจงจากรัฐบาลว่าถ้าเป็นแบบนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และกระบวนการทำให้สิ้นสุดได้เร็วนั้นทำอย่างไร รวมถึงความสูญเสีย เศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น จะฟื้นฟูทำอย่างไร การรับมืออย่างรวดเร็ว มาตรการชัดเจนบนหลักการเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตัวแทนแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขเรื่องปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่กระทบกับแรงงาน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว คือ 1.ระยะสั้น งานบริการที่ไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล หรือคนที่อยู่ในสถาประกอบการต้องได้รับการดูแลเพียงพอ ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน 2.ปัญหาการหยุดกิจการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน บางแห่งปิดแล้วไม่จ่ายค่าตอบแทน ต้องเข้าไปดูแล
.
3. ระยะกลาง ค่าอุปกรณ์ป้องกันตัวเองของประชาชนต้องได้รับการดูแล ต้องไม่โยนภาระเหล่านี้ให้ประชาชน เพราะหากคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์นี้ก็จะเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ต่อค่าครองชีพ
.
4. ระยะยาว เรื่องกองทุนเงินทดแทน สถานประกอบการกรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากงาน ต้องมีความชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันผลักดัน รวมถึงการดำเนินการกรณีเงินสมทบเงินประกันสังคม รัฐต้องจริงจัง และร่วมสมทบให้ครบจำนวน หรือแม้แต่กรณีการดูแลแรงงานที่กลับมาจากต่างประเทศ ต้องดูแลจัดการมาตรฐานควรระดับเดียวกัน และสุดท้าย เรื่องกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในภาครัฐ หรือ GSP ซึ่งเราจะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้