SHARE

คัดลอกแล้ว

จำเป็นด้วยเหรอ ที่ต้องจัดการศึกษาในระบบให้ลูกหลานแรงงาน? ประเด็นวิพากษ์ในวงสังคมเช่นนี้ เกิดขึ้นไม่ได้ขาด โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ ราวปลายปีก่อน

 

จากเหตุการณ์ปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 ได้จุดกระแสและการตั้งคำถามถึงการจัดการศึกษา ให้กับกลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่หลายฝ่ายกังวล เรื่องของความมั่นคงและงบประมาณที่ถูกใช้ไปกับศูนย์การเรียนเหล่านี้

นำมาซึ่งมติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 ซึ่งขานรับข้อเสนอแนะ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอไป เพราะมองว่าการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ จะกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษา

ในตอนนั้น กสม. แนะให้สถานศึกษาใกล้เคียง พิจารณารับเด็กๆ กลับเข้าระบบ ก่อนหน่วยงานรัฐจะเดินหน้า ให้การตั้งศูนย์ในพื้นที่ชายแดนยังคงมีต่อ ภายใต้การจัดแจ้งเป็นทางการ เด็กและครูขึ้นทะเบียนเป็นระบบ ไม่เพียงเพื่อโอกาสทางการศึกษา แต่จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด แสวงประโยชน์ กระทั่งเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

เพื่อทำความเข้าใจข้อเท็จจริง ของศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติให้มากขึ้น ทางสำนักข่าว TODAY ได้เดินทางไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อพูดคุยกับ ศิราพร แก้วสมบัติ  ตัวแทนจากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help Without Frontiers Foundation Thailand) 

ด้วยบริบทที่ต้องดูแลศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ 10 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนกว่า 2,400 คน ภายใต้การดูแลของครูอาสาสมัครนับ 100 คน ศิราพร น่าจะช่วยคลี่คลายความสงสัย ที่ผู้คนมีต่อศูนย์การเรียนฯ เหล่านี้ได้ไม่น้อย

ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

[ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ มาได้ยังไง?]

คงต้องย้อนไปกว่า 40 ปีมาแล้ว  ศิราพร เล่าถึงความเป็นมาของ ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ช่วงปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หลบหนีความขัดแย้ง และการปราบปรามจากรัฐบาลทหารเมียนมา

จนเกิดศูนย์การเรียนฯ แห่งแรกขึ้น อยู่ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้การเรียนการสอนในภาษากะเหรี่ยง และด้วยปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมาที่ขยายวงขึ้น ทำให้เกิดศูนย์การเรียนเพิ่มมากขึ้นตาม เช่น ศูนย์การเรียนภาษาพม่า, มอญ เป็นต้น โดยศูนย์การเรียนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชายแดน

“เด็กเหล่านี้ข้ามมาฝั่งไทยด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เมื่อเหตุการณ์ในเมียนมาสงบลง คนเหล่านี้ก็อยากกลับบ้าน จึงอยากเรียนในภาษาที่พวกเขาสามารถกลับไปเรียนต่อได้”

ศิราพร อธิบายว่า ศูนย์การเรียนฯ ก็เหมือนโรงเรียนทั่วไป เป็นพื้นที่ทางการศึกษาให้กับเด็กที่ไม่ใช่คนไทย ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เด็กบางส่วนไม่ได้เกิดในประเทศไทย จึงทำให้ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร จึงยากลำบากในการให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทย ตั้งคำถามต่อการเกิดขึ้นของศูนย์การเรียนฯ จำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งที่จริงแล้วใน จ.ตาก มีโมเดลศูนย์การเรียนฯ มาแล้วกว่า 30 ปี คือเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ปี 2564 ครั้งนั้นเป็นปัจจัยผลักให้ชาวเมียนมาอพยพมาเป็นแรงงานในประเทศไทยมากขึ้น และทำให้เด็กชาวเมียนมา มีแนวโน้มที่จะต้องอยู่อาศัยในเมืองไทยในระยะยาว

“พื้นที่ที่เกิดปัญหา เช่น จ.สุราษฎร์ธานี ไม่เคยมีศูนย์การเรียนฯ มาก่อน ปีแรกของศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ มีเด็กนักเรียน 100 คน แต่ปีที่ 2 เพิ่มมาเป็น 1,000 คน ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากชุมชนโดยรอบว่าทำไมมีเด็กพม่าเยอะ”

เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการร้องเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จนเกิดคำสั่งปิดศูนย์การเรียนฯ ทั่วประเทศ 

ทว่า สถานการณ์ที่ จ.ตาก กลับแตกต่างออกไป ศูนย์การเรียนทั้ง 63 แห่ง ยังคงดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้การกำกับดูแลจากศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว (MECC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ซึ่งเป็นเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีกลไกนี้

ศิราพร เล่าว่า ภายใน จ.ตากรู้ดีว่า การปิดศูนย์การเรียนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาใดเลย มีแต่จะเพิ่มปัญหาให้กับหลายฝ่าย ตั้งแต่โรงเรียน สถานประกอบการ และชุมชนโดยรอบ

ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

[ปิดศูนย์การเรียนไม่ใช่วิธีการแก้]

“ถ้าไม่มีศูนย์การเรียนจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ แทนที่จะเปิดศูนย์การเรียนให้พวกเขาได้เรียนอย่างเปิดเผย ให้หน่วยงานจากภายนอกไปกำกับดูแลได้ พอถูกสั่งห้าม เขาก็ต้องแอบเรียนกันตามห้องเช่า”

ศิราพร แก้วสมบัติ  ตัวแทนจากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help Without Frontiers Foundation Thailand)

ศิราพร กล่าวถึง ผลกระทบที่ตามมาจากการปิดศูนย์การเรียนว่า เมื่อเด็กเหล่านี้ไม่สามารถไปเรียนที่ศูนย์การเรียนได้ อีกทั้งเด็กหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามระบบการศึกษาไทย เพราะปัญหาจากการสื่อสาร ทำให้พวกเขาหลุดออกจากระบบ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาต่อสังคมไทย 

อีกทั้ง พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่หากลูกไม่สามารถเข้าเรียนได้ พวกเขาก็ย่อมไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

“การศึกษาคือการลงทุนที่น้อยที่สุดแล้วสำหรับรัฐ เราสามารถป้อนอะไรหลายอย่างได้ผ่านการศึกษา ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สาธารณสุข และวัฒนธรรม”

ในขณะเดียวกัน ศิราพร ก็เข้าใจมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนฯ ในความหมายที่ว่า เมื่อศูนย์การเรียนไม่มีสถานะตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐรับรู้ แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ดังนั้น เมื่อถูกร้องเรียนหนักเข้า จึงต้องทำการปิดศูนย์การเรียน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือหรือนโยบายอื่นๆ ในการใช้ปฏิบัติงาน “สถานะของศูนย์การเรียนฯ ในสายตารัฐคือรับรู้ รับทราบ แต่ไม่สามารถดำเนินการใดได้”

ถึงตอนนี้ การดำเนินงานของศูนย์การเรียนฯ จึงอยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลจากรัฐ ซึ่งนั่นก็รวมถึงเรื่องของงบประมาณ ที่มาจากการระดมทุนของภาคเอกชน ไม่ใช่เงินภาษีของคนไทยอย่างที่เข้าใจผิดกัน

[ไม่ได้เงินรัฐ แล้วศูนย์ฯ เด็กข้ามชาติเอาเงินมาจากไหน?]

“ศูนย์การเรียนฯ ทั่วประเทศไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐบาลสักบาทเดียว”

ศิราพร ยืนยัน จากประสบการณ์การทำศูนย์การเรียนมาตลอด 18 ปีว่า เธอไม่เคยรับงบประมาณจากภาครัฐ โดยในแต่ละปี มูลนิธิของเธอจะทำการระดมทุนจากองค์กรสาธารณกุศลจากต่างประเทศ และผู้บริจาครายบุคคล โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบยุโรป สำหรับการดูแลศูนย์การเรียนฯ ทั้ง 10 แห่ง

ขณะที่ ศูนย์การเรียนฯ อื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเริ่มต้นจากการที่ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ระดมเงินกันเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างครูมาสอนลูกๆ ของพวกเขาในลักษณะติวเตอร์ จนขยับขยายใหญ่ขึ้น จำนวนครูก็มากขึ้นตาม จึงเริ่มมีการบริหารจัดการ ทำให้เกิดการระดมทุน และการเข้ามาช่วยเหลือขององค์กรทางศาสนา รวมถึงมูลนิธิต่างๆ

นอกจากนี้ การมีอยู่ของศูนย์การเรียน ยังเป็นการลดงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียนในประเทศไทย ที่ทางศิราพร ยกตัวอย่างว่า หากเด็กในความดูแลของศูนย์การเรียนของ จ.ตาก ทั้งหมด  18,137 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาของโรงเรียนเอกชน รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน 13,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นเงิน 235,781,000 บาท

“การมีศูนย์การเรียน ทำให้โรงเรียนไทยไม่ต้องมาแบกรับกับการจัดการศึกษา ให้กับเด็กกลุ่มนี้ที่มีความต้องการที่แตกต่างกับเด็กไทย”

ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

อย่างไรก็ดี ศิราพร มองว่า ในระยะยาวเด็กเหล่านี้ควรได้รับโอกาสการศึกษาจากภาครัฐ ศูนย์การเรียน ในแง่หนึ่งเป็นเพียงสถานที่การเตรียมความพร้อม ให้กับเด็กๆ ก่อนเข้าเรียนในระบบการศึกษาก็ว่าได้ 

และถ้าหากสังคมไทย มองเรื่องนี้ในระยะยาว ว่าการศึกษาคือการลงทุน ที่จะช่วยให้เรามีกำลังแรงงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันข้างหน้า เพราะเด็กส่วนใหญ่ล้วนเกิดและเติบโตในประเทศไทย 

“หลังรัฐประหารเด็กเมียนมาเรียนภาษาไทยมากขึ้น เราต้องมองว่าเด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาและมีอนาคตที่ดี สามารถทำงานประกอบอาชีพและสื่อสารภาษาไทยได้” ศิราพรกล่าว

[ใครได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของศูนย์การเรียนฯ]

“โรงเรียนรัฐพึงพอใจกับการมีอยู่ของศูนย์การเรียน เพราะเขาไม่ได้อยากจะแบกรับภาระทั้งหมด”

ศิราพร อธิบายต่อว่า การมีอยู่ของศูนย์การเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระของหลายภาคส่วนในสังคม เริ่มตั้งแต่โรงเรียนรัฐ ที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านบุคลากร ในการมาดูแลเด็กนักเรียนกลุ่มนี้  ฝั่งสถานประกอบการเอง การมีศูนย์การเรียนก็ช่วยให้แรงงานของพวกเขาพร้อมทำงาน ไม่ต้องพะวงบุตรหลาน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน

นอกจากนี้ในแง่ของความมั่นคง การมีศูนย์การเรียนอย่างเปิดเผย ช่วยให้รัฐได้รับรู้ข้อมูล และกำกับดูแลเรื่องการศึกษาให้กับเด็กทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม

“ตลอดหลายปีที่เราเปิดศูนย์การเรียน ไม่ว่าจะเดินทางไปกินข้าวหรือไปตลาด มีแต่คนมาสวัสดีเรา เพราะเด็กเหล่านี้จบการศึกษา และออกไปทำงานตามตลาดแรงงาน”

ศิราพร มองว่า เป้าหมายของศูนย์การเรียนไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือการมุ่งผลิตบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจ โดยในส่วนของประชากรที่รัฐไม่มีศักยภาพในการจัดการศึกษาให้เด็กบางกลุ่ม การมีศูนย์การเรียนโดยภาคประชาสังคม ก็เข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ตรงนั้น “เราเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่สังคมไทยจะยอมรับ แต่เราต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเองก็ได้ประโยชน์”

ศิราพรมองเห็นว่า เด็กกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้น พวกเขาจะกลายเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของสังคมไทย ดังนั้น เราต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ มีการศึกษา และสามารถสื่อสารภาษาเดียวกันได้กับเรา 

ณ ตอนนี้หลายศูนย์การเรียน พยายามเพิ่มหลักสูตรภาษาไทยเข้าไป รวมทั้งเพิ่มครูคนไทย แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องของรายได้ เพราะครูในศูนย์การเรียนส่วนใหญ่ คือครูอาสาสมัครที่ได้รับเงินเดือน 6,000 – 8,000 บาทเท่านั้น ศิราพรจึงเห็นว่า สถานะของศูนย์การเรียนนั้น ยังห่างไกลจากคำว่าการได้รับสิทธิพิเศษทางการศึกษา

ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

[สิทธิพิเศษทางการศึกษา? ทำไมประเทศไทยต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน]

ประเทศไทยได้ยอมรับ และดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยถือเป็นกติการ่วมกันทั่วโลกว่า ต้องมีการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และครอบคลุมทุกคน ภายในปี 2030 

รวมทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังมีพันธสัญญาระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการศึกษาของเด็กทุกคนในประเทศไทย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR), และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)

คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ทำไมประเทศต้องทำตามหลักสากลเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่สังคมไทยได้ประโยชน์อะไรจากการลงนามพันธสัญญาเหล่านี้ ศิราพร ได้แจงประโยชน์หลายด้านจากการลงนามในพันธสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิในการศึกษา ดังนี้

  • ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทย และสถานะในเวทีนานาชาติ
  • ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากนานาชาติ ทั้งการเข้าถึงงบประมาณ ความช่วยเหลือทางเทคนิค หรือองค์ความรู้จากองค์กรต่างประเทศ
  • ช่วยให้สังคมไทยพัฒนาคุณภาพประชากรในระยะยาว เด็กทุกคนที่เข้าถึงการศึกษาไม่ว่าจะมีสถานะใด สามารถเติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หรือผู้มีส่วนร่วมต่อสังคม
  • ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมและความสงบเรียบร้อย เป็นการวางรากฐานสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ

“กระแสการต่อต้านศูนย์การเรียนตอนนี้ เกิดจากการมองเรื่องนี้ในเชิงปัจเจกบุคคล คนไทยมองว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ แต่ถ้ามองภาพใหญ่สังคมไทยกำลังได้ประโยชน์”

ภาพ: ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

ศิราพร มั่นใจว่า คนไทยไม่ปฏิเสธแนวคิดที่ทุกคนควรได้รับการศึกษา เพียงแต่ว่าวันนี้เรายังขาดความรู้ ความเข้าใจที่มากพอในการมองเรื่องนี้ รวมทั้งข้อมูลจากโซเชียลมีเดียตอนนี้ ที่มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด และสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คน

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ในวันเกิดเหตุมีการร้องเพลงชาติไทย สวดมนต์และร้องเพลงชาติเมียนมา แต่คนเผยแพร่ตัดเฉพาะช่วงเวลาร้องเพลงชาติพม่าไปเผยแพร่ ทำให้คนเกิดความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงที่มีคนมาร้องเพลงชาติอื่นในแผ่นดินไทย

“เมื่อคนคนหนึ่งเกิดมาแล้ว เราต้องขจัดการแปะป้าย ว่าเขาใช่หรือไม่ใช่เด็กสัญชาติไทย”  ศิราพรกล่าวในตอนท้าย

“เด็กทุกคนคือคนที่มีศักยภาพ สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพได้ผ่านการศึกษา ในฐานะคนไทย เรากลับรู้สึกว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรเลย เพราะไม่มีอะไรมารับประกันอนาคตของเด็กๆ เหล่านี้แม้แต่น้อยเลย ว่าพรุ่งนี้เขาจะยังคงได้รับการศึกษาอยู่ต่อไป”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า