SHARE

คัดลอกแล้ว

ตอบแบบสั้นๆ คือไม่พัง แต่จะมีผู้ได้รับผลกระทบแน่นอนทั้งด้านดีและด้านเสีย ด้านดีคือแรงงานไทยจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นและระดับคุณภาพชีวิตสูงขึ้น ส่วนภาคธุรกิจโดยรวมมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจนบางส่วนต้องลดการจ้างงานลง แต่แรงงานก็สามารถย้ายไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมอื่นได้จนจำนวนคนตกงานไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

1. ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และโผ ครม. ล่าสุดก็ระบุว่าโควต้า รมว.แรงงาน เป็นของพรรคพลังประชารัฐ สำหรับนโยบายด้านแรงงานอันหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ก็คือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/วัน

นโยบายดังกล่าว ทำให้หลายคนกังวล เกรงว่าหากมีการขึ้นค่าแรงดังกล่าวจริงอาจทำให้เศรษฐกิจไทยพัง รวมถึงบางคนก็กลัวว่านโยบายดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยล้มเหลวเช่นประเทศเวเนซุเอล่าด้วยซ้ำ

2. เพื่อบรรเทาอาการหวาดกลัวของผู้ที่มีความกังวลในเรื่องนี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงอยากพาผู้อ่านกลับไปสำรวจนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทย ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2555-2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อดูว่าผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศในครั้งนั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยพังหรือไม่ รวมถึงมีใครได้รับผลกระทบบ้าง  อย่างน้อยก็พอเป็นแนวทางให้เห็น ว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2  ผลกระทบน่าจะเป็นเช่นไร

3. เล่าย้อนไปในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในช่วงปี 2555-2556 ได้มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 1 เม.ย. 2555 ให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำของ 7 จังหวัดนำร่อง ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำค่อนข้างสูงอยู่แล้วเพิ่มเป็น 300 บาท โดย 7 จังหวัดนำร่องดังกล่าวได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล (6 จังหวัด) + ภูเก็ต การปรับระลอกแรกนี้ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับขึ้นจาก 215 บาทเป็น 300 บาท  ส่วนจังหวัดภูเก็ตปรับขึ้นจาก 221 บาทเป็น 300 บาท

ต่อมาในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ก็ได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของอีก 70 จังหวัดที่เหลือเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งหมด  โดยจังหวัดที่ถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือจังหวัดพะเยา ซึ่งถูกปรับจาก 159 บาทเป็น 300 บาท นั่นเท่ากับปรับขึ้นถึง 141 บาทหรือกว่า 88%

และโดยเฉลี่ยทั่วประเทศแล้ว การปรับค่าแรงขั้นต่ำในช่วงปี 2555-2556 ทำให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงกว่า 70% [0]

4. คราวนี้ลองเปรียบเทียบดูว่า หากในอนาคตอันใกล้พรรคพลังประชารัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 400-425 บาทจริง จะถือเป็นการปรับขึ้นที่รุนแรงเท่าครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 308-330 บาท/วัน (ไม่เท่ากันแล้วแต่จังหวัด) โดยจังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดในขณะนี้คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ที่ 308 บาท/วัน  ซึ่งหากในอนาคตถูกปรับขึ้นเป็น 425 บาท ก็จะเท่ากับว่ามีการปรับเพิ่มขึ้น 117 บาท หรือคิดเป็นการปรับขึ้น 38% เท่านั้น

ฉะนั้นแล้ว หากพรรคพลังประชารัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 425 บาท/วัน (อัตราสูงสุดตามที่ได้หาเสียงไว้) พื้นที่ที่จะมีการปรับเพิ่มสูงสุด ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเพียง 38%  น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยซ้ำ

5. ต่อไปเราลองไปดูผลดีและผลเสียของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมากันบ้าง

สำหรับข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ค่าจ้างแท้จริง (ที่ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ของแรงงานไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก  ต้องให้ข้อมูลอย่างนี้ว่า นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นต้นมา ค่าจ้างแท้จริงของแรงงานไทยลดลงมาตลอด จากประมาณ 190 บาท/วัน ในช่วงปี 2540 เหลือเพียงประมาณ 170 บาท/วัน ในปี 2553  พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ นับตั้งแต่วิกฤติ 40 เป็นต้นมา แม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่เรื่อยๆ แต่การปรับขึ้นดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ดังนั้นแล้ว การปรับค่าแรงขั้นต่ำในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงทำให้ค่าจ้างแท้จริงของแรงงานทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 170-180 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน [1]  โดยมีแรงงานได้ประโยชน์โดยตรงทันทีประมาณ 3.2 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมด  นโยบายนี้จึงถือเป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานจำนวนมาก

6. แต่ทั้งนี้ต้องบอกด้วยว่า แม้การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้โดยรวมแล้วแรงงานมีค่าจ้างและรายได้สูงขึ้น แต่ค่าจ้างที่สูงขึ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานทุกกลุ่ม โดยถ้าเอาแรงงานทั้งหมดมายืนเรียงกันจากคนที่ได้ค่าจ้างน้อยที่สุดไปถึงคนที่ได้ค่าจ้างมากที่สุด แล้วแบ่งออกเป็น 100 กลุ่มเท่าๆ กัน (กลุ่มที่ 1 คือได้ค่าแรงน้อยสุด กลุ่มที่ 100 คือได้ค่าแรงสูงที่สุด) ผลปรากฏว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นส่งผลให้แรงงานกลุ่มที่ 15-45 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 15-45) ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุด

สำหรับแรงงานกลุ่มที่ 46 เป็นต้นไป แรงงานกลุ่มนี้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักหรือแทบจะไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเลย ซึ่งก็สมเหตุสมผลเนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้น่าจะได้ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว ฉะนั้นแล้วการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทจึงไม่ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น

7. แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แรงงานกลุ่มที่ได้ค่าจ้างต่ำที่สุด งานวิจัยพบว่าแรงงานกลุ่มนี้แทบไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเลยเช่นกัน แม้ว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น โดยเหตุผลหลักก็เพราะนายจ้างบางส่วนไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้าง 300 บาท/วันได้ ฉะนั้นจึงเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดเสียเลย [2]

โดยแรงงานที่ได้ค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท/วัน ก็มีอยู่ไม่น้อย โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 3 ปี 2558 หรือก็คือหลังจากที่ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทแล้ว 2 ปีครึ่ง  ผลปรากฏว่าทั่วประเทศยังมีแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาทอยู่ถึง 2.11 ล้านคน โดยส่วนใหญ่กว่า 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานที่อยู่สถานประกอบการขนาดเล็ก (ลูกจ้างไม่เกิน 9 คน) [3]

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กที่นายจ้างอาจไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างเพิ่ม

8. สำหรับภาคธุรกิจนั้น ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดก็คือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยพบว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาท/วัน  โดยนายจ้างในภาคเกษตรต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุดประมาณ 21-30%  รองลงมาคือกิจการโรงแรมและร้านอาหาร นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มจากเดิม 7-15% และสาขาการก่อสร้าง ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม 7-11% [4]

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ภาคการเกษตร โรงแรมและร้านอาหาร รับเหมาก่อสร้าง (อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วด้านบน) นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และการผลิตเครื่องหนังและไม้ ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก  งานวิจัยพบว่าหากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่มีการปรับตัว จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในตลาดส่งออกได้ และทำให้การส่งออกสินค้าเหล่านี้ลดลง 10-20% [5]

สำหรับภาพรวมระดับประเทศ ผลจากการที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้น้อยลง “หากไม่มีการปรับตัวในภาคการผลิต” ก็อาจทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 2.55% [5]

9. นอกจากนี้ ถ้าเรามองแยกตามขนาดบริษัท ก็จะพบว่า SMEs ขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้ ทำให้ต้องปรับตัวโดยการลดการจ้างแรงงานลง  งานวิจัยพบว่าหลังจากที่มีการประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศผ่านไป 1 ปี การจ้างแรงงานในบริษัทขนาดเล็ก (ลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน) เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การจ้างงานในบริษัทขนาดใหญ่ (ลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป) ก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนด้วย ส่วนการจ้างงานโดยรวมของบริษัททุกขนาดรวมกันไม่เปลี่ยนแปลง [6]

ข้อมูลข้างต้นตอกย้ำว่า แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ส่งผลให้ผู้คนตกงานมากขึ้นก็จริง เนื่องจากแรงงานสามารถโยกย้ายจากบริษัทขนาดเล็กไปทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นได้  แต่ในมุมของผู้ประกอบการ สถานประกอบการขนาดเล็กถือเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมากที่สุด เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ต้องปรับตัวโดยการลดการจ้างงานลง ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ ได้ประโยชน์ด้วยซ้ำในแง่ที่ว่ามีแรงงานให้เลือกจ้างมากขึ้น

10. โดยสรุปแล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศไทยเอง จึงอาจสรุปได้ว่า (1) การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานโดยรวมได้จริง เห็นได้จากค่าจ้างแท้จริงที่แรงงานได้รับเพิ่มขึ้น (2) แต่ก็ใช่ว่าแรงงานทุกคนจะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง เนื่องจากกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำบางส่วน ต้องยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อไป เนื่องจากนายจ้างที่เป็นบริษัทขนาดเล็กบางส่วนไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างในอัตราตามกฎหมาย

(3) ส่วนในมุมผู้ประกอบการ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น การเกษตร โรงแรมและร้านอาหาร การก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยหากไม่มีการปรับตัว ก็อาจส่งผลให้การส่งออกและ GDP ของไทยหดตัวลง (4) นอกจากนี้ กลุ่มสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ก็ต้องปรับตัวโดยการจ้างงานน้อยลง (5) แต่ในภาพรวมแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานย้ายไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นแทน

11. ฉะนั้นแล้ว หากจะให้ตอบคำถามที่ตั้งไว้บนภาพ ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้เศรษฐกิจไทยพังหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “ไม่” เนื่องจากการปรับค่าแรงทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นที่รุนแรงกว่าที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้เสียอีก ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติอะไรแต่อย่างใด  แต่แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและสถานประกอบการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุด

คำถามจึงไม่น่าจะใช่ว่าเราควรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกหรือไม่ เนื่องจากระดับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันยังไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีสมาชิกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถยกพวกเขาเหล่านี้ออกจากความยากจนได้  คำถามที่เราควรจะตั้งต่อไปควรจะเป็นว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐควรมีมาตรการอะไรเสริมเพิ่มเติมเข้าไปพร้อมกัน เพื่อให้กลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการที่ไม่มีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างเพิ่ม รวมถึงแรงงานบางส่วนที่จะตกหล่นจากนโยบาย สามารถปรับตัวไปพร้อมกับนโยบายใหม่นี้ได้โดยไม่ทุลักทุเลชีวิตมากนัก
อ้างอิง

[0] Minimum Wage and Lives of the Poor: Evidence from Thailand https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2018/03/pier_dp_076.pdf

[1] From Many to One: Minimum Wage Effects in Thailand  https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2016/07/workshop2016_paper3_Dilaka.pdf

[2] The Effects of the 300 Baht Minimum Wage Policy https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2016/05/aBRIDGEd_2016_011.pdf

[3] https://tdri.or.th/2016/09/minimum-wages/

[4] https://tdri.or.th/2013/01/labour300/

[5] https://tdri.or.th/2013/01/tdri-factsheet-07/

[6] เหมือน [2]

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า