Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เสียงสนั่นกัมปนาทในเวลาตีสาม หลังเข้าสู่วันที่ 5 ก.ค. 2564 ไม่ได้แค่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้อยู่อาศัยใกล้ซอยกิ่งแก้ว ย่านบางพลีเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายในทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของผู้คนเกินกว่าหลักพัน

เพราะนอกจากแรงระเบิดอย่างรุนแรงไม่ได้ตั้งตัวแล้ว โรงงานเคมีภัณฑ์นี้ยังส่งมลพิษทางอากาศออกไปไกลในรัศมีหลายกิโลเมตร ทำให้หลายคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานของตัวเองออกจากบ้านอย่างฉุกละหุก
แต่ดูเหมือนความเสียหายมหาศาลนั้น ประกันจะรับผิดชอบจ่ายเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น?

หมิงตี้เคมีคอลทำประกันไว้ 400 ล้านบาท?

บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด นั้น เป็นบริษัทผลิตเม็ดโฟม เม็ดพลาสติก และพลาสติกขั้นต้น มีบริษัทแม่ทำธุรกิจเดียวกันในไต้หวัน และส่งออกผลิตภัณฑ์ไปหลายประเทศทั่วโลก

หมิงตี้ฯ ก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท และดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน

จากการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดสมุทรปราการ เผยว่า หมิงตี้ฯ ได้ทำประกันภัยรองรับไว้ 3 กรมธรรม์ ได้แก่

  1. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) เลขที่ DQ-11-64/000123 ทุนประกันภัย 379,320,000 บาท
  2. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เลขที่ DQ-40-64/000041 ทุนประกันภัย 20,000,000 บาท
  3. กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน เลขที่ DQ-84-64/000005 ทุนประกันภัย 21,584,989 บาท

โดยเริ่มคุ้มครองวันที่ 5 เม.ย. 2564 – 5 เม.ย. 2565 ซึ่งมีบริษัทร่วมรับประกันภัย ได้แก่ บมจ. คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย 40% บมจ. ทิพยประกันภัย 20% บมจ. นวกิจประกันภัย 20% บมจ. คิงไวประกันภัย 10% และ บมจ. วิริยะประกันภัย 10%

รวมทุนประกันทั้งหมดกว่า 420.9 ล้านบาท

แต่ทุนชดใช้บุคคลภายนอกแค่ 20 ล้านบาท?

แต่จากโพสต์บนเฟซบุ๊กของ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง นักกฎหมายและนักวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล กลับอธิบายว่า จริงๆ แล้วจากทุนประกันกว่า 400 ล้านบาทนั้น มีทุนประกันเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ที่เป็นการทำประกันสำหรับ ‘รับผิดต่อบุคคลภายนอก’

ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ อย่างกระจกแตก ฝ้าถล่ม บ้านร้าว หรือความเสียหายอื่นๆ จะสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันรับผิดชอบได้รวม 20 ล้านบาทเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงงานให้โรงงานเป็นผู้ชดใช้เอง

หมิงตี้ยังยืนยันพร้อมรับผิดชอบ-ชดใช้

ส่วนบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ด้วยเหตุต้องคุมภัยพิบัติจึงมีความล่าช้าในการรายงานต่อสาธารณชน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่โรงงานผู้ผลิตที่อยู่ใกล้เคียง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ

พร้อมยืนยัน “บริษัทขอแสดงความจริงใจอย่างเต็มที่ในการชดเชย บริษัทฯ ขออภัยอีกครั้งต่อการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้และการสร้างความไม่สบายใจให้กับสังคม หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทจะรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องในครั้งนี้”

แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นและรายละเอียดที่เปิดออกมาจำกัด ทำให้ไม่ทราบว่า ‘หมิงตี้เคมีคอล’ ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้วเอาไว้เท่าไร จะชดเชยให้กับผู้เสียหายมากน้อยอย่างไรบ้าง และนอกจากเงินทุนประกัน 20 ล้านบาทที่บริษัททำไว้ หมิงตี้ฯ จะใช้ทรัพย์สินจากส่วนใดในการเยียวยาผู้ประสบภัยครั้งนี้

กฎหมายกำกับประกันภัยในธุรกิจ?

หลัง TODAYBizview สอบถามประเด็นหลักเกณฑ์กำกับการทำประกันภัยของโรงงานต่างๆ ว่าจะต้องทำประกันโดยมีทุนประกันเท่าใด และทุนประกันความรับผิดต่อบุลคลภายนอกควรเป็นกี่ % ของทุนประกันทั้งหมด
‘ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ’ เลขาธิการ คปภ. อธิบายว่า เบื้องต้นใน พ.ร.บ. ประกันภัยฯ ไม่พบว่ามีการกำหนดไว้ถึงหลักเกณฑ์กำกับทุนประกันของโรงงานฯ ขณะนี้ได้ให้ทีมงานตรวจสอบดู พ.ร.บ.โรงงานฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเช่นกัน ตอนนี้ทาง คปภ. กำลังให้ตรวจสอบดูกฎหมายฉบับอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้

‘มาตรฐานประเทศ’ ส่งผลต่อทุนประกัน

‘อานนท์ วังวสุ’ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย อธิบายให้ TODAYBizview ฟังว่า ที่ผ่านมา กฎหมายไทยไม่มีกำหนดไว้ว่าโรงงานหรือธุรกิจแต่ละประเภทจะต้องทำ ‘ประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก’ เอาไว้เท่าไร จึงเป็นการประเมินความเสี่ยงของแต่ละบริษัท โดยการคาดการณ์จากประเภทธุรกิจ ส่วนใหญ่แล้วบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจที่เสี่ยงจะก่อความเสียหายได้ง่าย อย่างธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจขนส่งทางเรือ อาจทำประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้สูง แต่ธุรกิจอื่นๆ อาจไม่ได้คาดการณ์ตัวเลขตรงนี้ไว้สูงนัก

อย่างเช่นหากทำธุรกิจโรงงานเคมี ตอนคาดการณ์ความเสี่ยงไว้ บริษัทอาจจะคาดถึงแค่เหตุการณ์อย่างอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างความเสียหายจากเครื่องมือ อาคาร หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้คาดไว้ว่าจะเกิดเหตุใหญ่อย่างเหตุระเบิดหรือไฟไหม้

“ปกติแล้วในต่างประเทศจะนิยมประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย หรือ Liability Insurance กันมาก หลายบริษัททำประกันในกลุ่มนี้ด้วยทุนประกันที่สูงกว่าประกันความเสียหายของบริษัทเสียอีก เนื่องจากด้วย ‘มาตรฐานสังคม’ หรือ ‘มาตรฐานประเทศ’ ทำให้บริษัทในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะต้องชดเชยให้กับความผิดที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สังคม หรือบุคคลภายนอกเป็นเงินมหาศาล เมื่อเทียบความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดกับค่าเบี้ยประกันแล้ว หลายบริษัทจึงเลือกจ่ายค่าเบี้ยประกันสูงๆ มากกว่า”

โดยยกตัวอย่างว่า หากเทียบกับกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ชนคนเสียชีวิต ในไทยจะจ่ายค่าชดเชยหลักล้านต้นๆ เท่านั้น ในขณะที่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ศาลอาจจะสั่งจ่ายชดเชยหลักร้อยล้านบาท โดยมาตรฐานของแต่ละสังคม แต่ละประเทศก็มีหลายปัจจัยร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต และปัจจัยอื่นๆ

“แต่ ‘มาตรฐานประเทศ’ ที่ว่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามบทเรียนที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ อย่างเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็อาจทำให้ธุรกิจเอกชนต่างๆ ประเมินความเสี่ยงสูงขึ้น เมื่อตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับเคมี ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็อาจหันมาให้ความสำคัญกับการกำกับควบคุมการทำประกันภัยของเอกชนมากขึ้น โดยการกำหนดทุนประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกขั้นต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย”

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นแค่ความเสียหายในกองเพลิงคาดว่าจะมูลค่าสูงกว่า 700 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น

สุดท้ายแล้วความเสียหายจากโรงงานกิ่งแก้วของหมิงตี้เคมีคอลในครั้งนี้อาจเป็นเครื่องกระตุกเตือนว่า มาตรฐานประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญกับความเสียหายที่เอกชนอาจจะก่อให้เกิดกับสาธารณชน สิ่งแวดล้อม และสังคมมากน้อยแค่ไหน

อาจจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ทุกภาคส่วนจะหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ ปรับเปลี่ยนให้เป็นเรื่องของ ‘กฎหมาย’ มากกว่าปล่อยเลยตามเลย ให้เป็นเรื่องของ ‘จริยธรรม’ ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า