Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ศิลปินมีไว้เพื่อชื่นชม ไม่ได้มีไว้เพื่อรู้จัก” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรารู้จักศิลปินผ่านผลงาน รู้จักในมุมที่เขาเปิดเผยออกมาเองก็พอ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น คำพูดดังกล่าวมีน้ำหนักไม่น้อย เพราะบ่อยครั้งเวลาศิลปินนักร้อง นักแสดง หรือใครสักคนที่เราชื่นชอบผลงานมากๆ เกิดมีข่าวฉาว เช่น ทำอะไรสักอย่างผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมร้ายแรง หรือในบางครั้งอาจทำอะไรที่ขัดใจแฟน เช่น แค่มีข่าวว่ามีแฟนแล้ว ก็อาจทำให้หลายคนผิดหวังถึงขั้นเลิกสนับสนุนไปเลย

MISS AMERICANA  เทย์เลอร์ สวิฟท์

แต่เพราะชีวิตของคนเรามีหลายด้านมากกว่าแค่เพียงเรื่องการงาน ตัวของศิลปินเองก็เช่นกัน การไม่สนใจหรือรับรู้เรื่องราวด้านอื่นๆ จึงอาจเลี่ยงไม่ได้ และนั่นรวมถึงตัวของ ด้วย เธออาจเป็นนักร้องสาวเสียงดี มีผลงานเพลงน่าจดจำมากมาย นำโดยอัลบั้มล่าสุดอย่าง Lover ที่มาพร้อมเพลงดังอย่าง Me! แต่นักร้องสาวผู้ปั้นตัวเองจนเติบใหญ่ขึ้นมาจากเพลง Love Story เมื่อปี 2008 มักมีข่าวที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงานบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ทำให้เป็นภาพจำติดตัว และบางคนอาจจำนี้ของเธอได้มากกว่าผลงานเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการจะให้คนอยากรู้จักและจดจำเลย

ดังนั้นสารคดีประวัติชีวิตของ สวิฟท์ เรื่อง Miss Americana ที่เพิ่งออกอากาศทาง Netflix เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 จึงสร้างมาเพื่อพาผู้คนไปดูแง่มุมต่างๆ ของเธอที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า มันคือหนังเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อในตัวเธอ แต่หากพิจารณาว่า “ศิลปินมีไว้เพื่อให้ชื่นชม ไม่ได้ให้รู้จัก” เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องดูหนังสารคดีเรื่องนี้ ในเมื่อมันคือการแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เธออยากให้คนจดจำจริงๆ

และสิ่งที่น่าจะสำคัญกว่าการจับจ้องว่า หนังเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เธอหรือไม่ คือเมื่อดูจบแล้วหนังให้อะไรมากกว่านั้นรึเปล่า ซึ่งหากใครดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลงของเธอมาก่อนรึเปล่า ไม่ว่าจะเคยฟังเพลงของเธอบ้างหรือไม่ แต่มั่นใจได้ว่าหนังเรื่องนี้น่าจะทำให้เข้าอกเข้าใจความขมขื่นที่ซ่อนอยู่ในตัวหญิงแกร่งอย่างเธอเพิ่มขึ้น ไม่มากก็น้อย

MISS AMERICANA  เทย์เลอร์ สวิฟท์

หากมองแบบผ่านๆ Miss Americana อาจดูเป็นสารคดีประวัติชีวิตนักร้อง นักดนตรี หรือคนดังที่ “ซอฟต์” มากเมื่อเทียบกับสารคดีหรือหนังอัตชีวประวัติของศิลปินคนอื่นๆ เช่น Amy (2015) ที่ว่าด้วยชีวิตของนักร้องสาวพลังเสียงสุดยอด เอมี่ ไวน์เฮ้าส์, Bohemian Rhapsody (2018) หนังชีวประวัติวง Queen ซึ่งเน้นหนักไปที่เรื่องของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ รวมทั้ง This is It (2009) ของ ไมเคิล แจ็คสัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของหนัง มันไม่ใช่การไปสำรวจจุดสูงสุดและต่ำสุดในอาชีพของเธอ (เพราะมันยังไม่มาถึงในเร็ววันนี้) อีกทั้งแนวทางการใช้ชีวิตของเทย์เลอร์กับศิลปินทั้ง 3 เรื่องเหล่านี้ยังต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะเธอไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขใดๆ และแทบไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาวผิดครรลองคลองธรรม ทำให้ในช่วงครึ่งแรกการไม่มี “ความขัดแย้ง” ใหญ่โตอาจทำให้หนังไม่น่าติดตามเท่ากับเรื่องอื่นๆ โดยปมใหญ่ในใจเธอดูจะมีเพียงแค่ความผิดหวังจากการงาน การไม่ได้เข้าชิงรางวัลจากการทำเพลงอย่างสุดความสามารถเท่านั้น

MISS AMERICANA  เทย์เลอร์ สวิฟท์

อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังดำเนินมาถึงครึ่งหลัง Miss Americana ก็เปิดเผยใจความสำคัญซึ่งอยู่ในหัวของ เทย์เลอร์ มานานแสนนานนั่นคือทัศนคติการเมือง ทั้งการเมืองระดับประเทศ และการเมืองบนเรือนร่าง สิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ เป็นหมัดเด็ดสำคัญที่ยกระดับสารคดีให้แตกต่างจากสารคดีชีวิตนักร้องนักดนตรีจำนวนมาก ที่อาจไม่ค่อยได้พุ่งเป้าหรือให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เท่าใดนัก

การเมืองถือเป็นของแสลงสำหรับคนดังทุกคน แม้สหรัฐอเมริกาจะเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก และมีหลายคนประกาศจุดยืนอย่างชัดแจ้งว่าสนับสนุนใคร แต่หลายคนกลับเลือกจะเงียบเสียง เพราะกลัวว่าความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างตัวเองกับแฟนๆ จะส่งผลต่อความนิยม และที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง (ในสารคดียกตัวอย่างกรณีของวงดนตรีหญิงล้วน Dixie Chicks จากรัฐเท็กซัส ที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากแฟนเพลง จนกระทั่งวันหนึ่งสมาชิกในวงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เรื่องของสงครามอีรัก ทำให้เกิดการต่อต้านมากมาย โดยเฉพาะจากบรรดาแฟนคลับผู้ชายผิวขาว ถึงขั้นทำลายแผ่นซีดีที่เคยซื้อจนเละเทะ)

เทย์เลอร์ เองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่กล้าแสดงออกทางการเมืองเลยตั้งแต่เข้าสู่วงการ เธอเคยให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยๆ ว่าผู้คนอยากมาฟังเธอร้องเพลงมากกว่าฟังเธอแสดงทัศนะทางการเมือง ความเงียบงันทำให้หลายๆ คนแอบคิดด้วยซ้ำว่าเธอเป็นพวกอนุรักษ์นิยม สนับสนุนพรรครีพับลิกัน แต่ถึงปากไม่พูด ไม่ได้หมายความว่าข้างในใจเธอไม่คิด และการที่จู่ๆ เธอลุกขึ้นมาส่งเสียงแสดงออกทางการเมือง ประกาศต่อผู้ติดตามเธอในอินสตาแกรมที่มีถึง 112 ล้านคนว่าเธอสนับสนุนพรรคเดโมแครตในช่วงเลือกตั้งกลางสมัยเมื่อปี 2018 จึงสร้างความเซอร์ไพรซ์ให้กับสาธารณชน และบ่งชี้ว่าตัวเธอทนไม่ไหวอีกต่อไป (จากเหตุการณ์นี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังบอกว่าเขาชอบเพลงของเธอน้อยลงไป 25%)

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอเมริกาอาจเป็นเป้าหมายที่ใครต่อใครโจมตี แต่สำหรับ เทย์เลอร์ คนที่ทำให้เธอเหลืออดจริงๆ คือ มาร์ช่า แบล็คเบิร์น สมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันผู้มีแนวคิดคิดเชิดชูคุณค่าความเป็นชาวคริสต์ที่ดีแก่คนในรัฐเทนเนสซี่ (Tennessee Christian values) ซึ่งเหมือนจะดูดี อย่างไรก็ตาม หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าเธอสนับสนุนในคุณค่าที่ตรงกันข้ามกับความดีงามทั้งปวง โดยเฉพาะการไม่สนับสนุนกฎหมายที่ต่อต้านความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงจำนวนมากสามารถถูกคุกคามทางเพศได้ง่ายๆ ทั้งที่ตัวของ แบล็คเบิร์น เองก็เป็นผู้หญิง แต่กลับไม่เข้าใจในหัวอกเพศเดียวกัน 

MISS AMERICANA  เทย์เลอร์ สวิฟท์

และในเมื่อสวิฟท์เองเคยผ่านการโดนคุกคามทางเพศ โดนคนโรคจิตตามติด หรือ สตอล์กเกอร์ (Stalker) โดยตรงเช่นเดียวกับผู้หญิงจำนวนมากในวงการ เธอจึงยอมไม่ได้เด็ดขาด และลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตนเอง (หนึ่งในการโดนคุกคามที่ทำเธอปวดหัวที่สุดคือการโดนแรปเปอร์จอมห่าม คานเย เวสต์ ทำให้เธออับอายขายหน้ามาตั้งแต่สมัยยังอ่อนประสบการณ์ในวงการ ลามมาจนถึงหลายปีให้หลังเมื่อเขาแต่งเพลงดูถูกและคุกคามทางเพศเธอ)

ฉากตอนที่เธอโต้เถียงกับ สก็อตต์ สวิฟท์ ผู้เป็นพ่อซึ่งไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกับลูกสาว การดูเธอพยายามให้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดเธอจึงไม่สามารถยอมรับได้หากมีคนแบบ แบล็คเบิร์น มาเป็นผู้แทนราษฎรจึงเป็นฉากเจ็บปวดรวดร้าวทีเดียว และถึงแม้ในยกนี้เธออาจทำให้พ่อตาสว่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมองงไปในทางเดียวกัน เพราะท้ายที่สุดสงครามครั้งนั้นจึงอาจลงเอยด้วยชัยชนะในคูหาเลือกตั้งของ แบล็คเบิร์น แต่อย่างน้อยเธอก็ยังหวังว่า “เวลาจะอยู่ข้างเรา” หวังคนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างตามครรลองที่ควรจะเป็น (นั่นคือเหตุผลที่เธอแต่งเพลง Only the Young ขึ้นมาประกอบสารคดีเรื่องนี้ เพื่อส่งสารไปยังเหล่าคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่อาจยังไม่สมหวังกับการเมืองในทุกวันนี้ ว่าอีกไม่นานจะถึงเวลาของเราแน่นอน และอะไรๆ ก็จะดีกว่าเดิม)

ไม่เพียงแค่การเมืองระดับประเทศที่เธอสนใจ แต่การเมืองบนเรือนร่างของตัวเอง และการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีในสตรีเพศ ไม่ยอมให้ผู้ชายคนใด หรือใครหน้าไหนมากดขี่ข่มเหงเธอได้ ยังเป็นสิ่งที่สารคดีให้น้ำหนักมากไม่แพ้กัน หนังเผยให้เห็นว่าเธอฟ้องร้องดีเจคนหนึ่งที่ฉวยโอกาส ‘แต๊ะอั๋ง’ เธอตอนถ่ายรูปอย่างไม่เต็มใจ ทำให้เธอเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก้อนโต แม้ศึกนี้เธอจะได้ชัยชนะ แต่กระบวนการบนชั้นศาลที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้เธอต้องคอยฟังฝ่ายตรงข้ามพูดจาหยามเหยียดและบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น ก็สร้างความบอบช้ำมากพอตัวจนเหมือนกับไม่ได้รับชัยชนะที่แท้จริง 

นอกจากนั้นเธอยังสนับสนุนสิทธิ์ของชาว LGBT ด้วย และหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงก็ออกมาเป็นเพลง You Need to Calm Down ในอัลบั้ม Lover ซึ่งตัวมิวสิควิดีโอก็สื่อนัยถึงการสนับสนุน LGBT โดยตรง ซึ่งไม่ว่ากระแสตอบรับที่ออกมาจะเป็นอย่างไร แต่เธอก็ไม่สนใจ และเลือกที่จะยืนหยัดอยู่ข้างฝ่ายผู้ถูกกดขี่เช่นเคย เพราะโลกใบนี้จะไม่สวยงามเลยหากความเท่าเทียมไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และหากไม่มีใครร่วมต่อสู้เพื่อผู้อื่น ซึ่งเธอก็พร้อมจะทำ

ศิลปินอาจมีไว้เพื่อชื่นชม ไม่ได้มีไว้เพื่อรู้จัก แต่การที่สารคดี Miss Americana พาคนดูไปรู้จัก เทย์เลอร์ สวิฟท์ ในแง่มุมใหม่ๆ อย่างเรื่องการเมืองก็ถือเป็นความล้ำค่า และน่าจะเปิดหูเปิดตาใครต่อใครให้ได้ตระหนักว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย แต่มันอยู่ที่ตัวเรามาตั้งแต่แรก หากเราเลือกจะเงียบเสียง ไม่ยอมต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตนเอง ก็อย่าคาดหวังว่าจะมีใครมาต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของเรา และหากโลกนี้มีศิลปินที่กล้าเป็นกระบอกเสียงเพื่อยกระดับทางสังคมมากขึ้น อะไรหลายๆ อย่างก็คงจะดีขึ้นกว่าเดิม ไม่มากก็น้อย

บทความโดย ปารณพัฒน์ แอนุ้ย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า