นักวิจัยจาก MIT สหรัฐฯ ประดิษฐ์หุ่นยนต์ทรงตัวหนอนขนาดจิ๋ว เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 1 มิลลิเมตร โดยหวังใช้เพื่อผ่าตัดแก้ไขอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมองในอนาคต
นักวิจัยด้านวิศกรรมหุ่นยนต์จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์หนอนขนาดจิ๋วที่ลักษณะคล้ายเส้นด้ายขึ้น โดยหุ่นยนต์นี้มีขนาดเล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 0.6 มิลลิเมตรเท่านั้น และมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถถูกควบคุมไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยการใช้แม่เหล็ก
นักวิจัยหวังที่จะใช้หุ่นยนต์หนอนตัวจิ๋วนี้เดินทางเข้าไปในเส้นเลือดในสมองของมนุษย์ เพื่อแก้ไขอาการเจ็บป่วยทางสมอง เช่น ใช้เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในสมอง เป็นต้น
หากทำได้สำเร็จ จะถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับการผ่าตัดแก้ไขอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมองนี้ จากปกติวิธีที่ใช้อยู่เดิมจะต้องใช้รังสีเอ็กซเรย์ฉายไปที่คนไข้เพื่อให้หมอที่ผ่าตัดเห็นอุปกรณ์ที่สอดเข้าไปในเส้นเลือดของคนไข้ได้แบบ real-time
สำหรับหุ่นยนต์หนอนตัวจิ๋วนี้ นักวิจัยจาก MIT ได้สร้างขึ้นมาโดยใช้แกนที่เป็นโลหะผสมระหว่างนิกเกิลและไทเทเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติจดจำรูปร่างตัวเองได้ จึงสามารถคืนกลับสู่รูปร่างเดิมได้เมื่อถูกทำให้บิดงอ แกนโลหะดังกล่าวถูกเคลือบด้วยชั้นยางที่มีอนุภาคแม่เหล็กผสมอยู่ เพื่อให้เจ้าหุ่นยนต์หนอนนี้สามารถถูกควบคุมด้วยแม่เหล็กจากภายนอกร่างกายได้ จากนั้นนักวิจัยได้เคลือบแกนดังกล่าวนี้ด้วยไฮโดรเจล (hydrogels) อีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้หุ่นยนต์หนอนตัวนี้ลื่นไหลและไม่สร้างความเสียหายให้ร่างกายในขณะที่เดินทางอยู่ภายในเส้นเลือด
นี่ถือเป็นอีกหนึ่งวิทยาการทางการแพทย์ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการผนวกเทคโนโลยีไฮโดรเจลที่เป็นมิตรกับร่างกาย และการบังคับหุ่นยนต์โดยใช้แม่เหล็ก ไว้ด้วยกัน