SHARE

คัดลอกแล้ว

กองบรรณาธิการข่าว workpointTODAY ได้ทำการคัดเลือก 20 โมเมนต์ที่สำคัญของปี 2020 โดยเล่าผ่านช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ และอธิบายถึงความสำคัญ ผลกระทบ และองค์ประกอบที่เราเลือกเหตุการณ์เหล่านี้

ปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยข่าวใหญ่ หลายเหตุการณ์เป็นสิ่งที่คนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น แง่มุมการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ โดยเกือบทั้งปี ประเด็นข่าวทั่วโลกถูกกำหนดด้วยเรื่องโควิด-19 แต่ในเวลาเดียวกันก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่กระทบชีวิตของคนไทย

ระหว่างที่เราคัดเลือกโมเมนต์ที่เข้ารอบ เราคุยกันด้วยซ้ำว่าถ้าไม่ใช่ปีนี้ โมเมนต์ที่ตกรอบไป ควรจะได้เป็นโมเมนต์แห่งปีได้เลยด้วยซ้ำ

ชวนติดตามและแลกเปลี่ยน 20 โมเมนต์สำคัญของทีมข่าว workpointTODAY และติดตามการพูดคุยเรื่องนี้ ในรายการได้ในค่ำคืนนี้

สวัสดีปีใหม่ 2021 สุขภาพแข็งแรงตลอดปี ตลอดไปครับ 

 

1. Moment : ไวรัสโควิด-19 ระบาด #ติดยังวะ

เหตุการณ์ : การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทย 2 ระลอก

โควิดระลอกใหม่ 19 ธ.ค.2563

โควิด-19 ระลอกใหม่มาเร็วกว่าที่คิด หลังจากแม่ค้าตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร วัย 67 ปี มีอาการป่วยและได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่เธอไม่เคยเดินทางออกจากพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าแรงงานเมียนมาคือเป้าหมายแรกที่เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งเข้าไปตรวจคัดกรองอย่างเร่งด่วน และวันต่อมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า การระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังจะเริ่มขึ้น

วันที่ 19 ธ.ค.2563 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แถลงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ในแรงงานเมียนมาตลาดกลางกุ้ง พบผู้ติดเชื้อมากถึง 548 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่พักอยู่บริเวณเดียวกัน จากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าพันคน จากการวิเคราะห์ของกรมควบคุมโรคพบว่า จุดเริ่มต้นของการระบาดคือ ตลาดกลางกุ้ง จากนั้นมีการระบาดเป็นวงเฉพาะในกลุ่มของแรงงานเมียนมาที่ตรวจพบเชื้อมากถึงร้อยละ 90 เป็นไปได้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานเมียนมาจากต่างประเทศในช่วงของการระบาดของโรค และนำมาสู่การแพร่ในชุมนุมชาวเมียนมาที่มีอยู่เดิมแล้วในพื้นที่

นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อได้แพร่กระจายไปกับกลุ่มแม่ค้าที่เดินทางไปซื้อของที่ตลาดกลางกุ้งไปขายต่อที่มีมากกว่า 30 จังหวัด อาทิ จ.สมุทรปราการ สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ การสัมผัสของคนหลายกลุ่มยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายเป็นทวีคูณ บางคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ แต่เชื้อนั้นก็สามารถแพร่กระจายโรคต่อไปได้

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีความเชื่อมโยงกับโควิดตลาดกลางกุ้งมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะคล้าย super spreader ทั้งจากกลุ่มบิ๊กไบค์ จ.กระบี่ และกลุ่มบ่อนการพนัน จ.ระยอง ช่วงระยะเวลาไม่ถึง 15 วันนับจากแม่ค้าวัย 67 ปีป่วย เชื้อโควิดได้กระจายไปแล้ว 33 จังหวัด ยิ่งทำให้ผู้คนหวาดระแวงจนเกิดอาการแพนิกมากกว่ารอบแรก เพราะเชื่อว่าการกลับมาของโควิดครั้งนี้จะระบาดเร็วและรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการบอกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดถือเป็นสงครามระหว่างเชื้อโรคกับมนุษย์ และเชื้อจะกลายพันธุ์ต่อไปแน่นอน 100 % โดยเชื้อโควิดที่พบที่ตลาดกลางกุ้งเป็นสายพันธุ์จีเอช ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมามีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย ขอคนไทยอย่าให้ความสำคัญกับสายพันธุ์มากเกินไป ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย เพราะคนมีเชื้อที่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้ และคนเคยติดโควิดแล้วหายป่วยก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้

แม้การระบาดครั้งนี้จะรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อมากกว่าการแพร่ระบาดรอบแรก แต่ ศบค.ก็ยืนยันว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ถือเป็นการแพร่ระบาดรอบใหม่ ไม่ใช่ระลอก 2 จึงไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ แต่ได้ยกระดับมาตรการคุมเชื้อโควิดโดยห้ามชุมนุมมั่วสุม ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งปิดสถานที่เสี่ยง กำหนดพื้นที่สถานการณ์เพื่อป้องกันการระบาดรอบใหม่ และมีการแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนเพื่อใช้มาตรการเฉพาะเข้าไปแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

โควิดระลอกแรก 6 มี.ค.2563

หากย้อยดูไทม์ไลน์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกกินเวลาเกือบ 1 ปีที่ เชื้อโควิด-19 ทำให้คนไทยเกิดอาการหวาดกลัวเพราะเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อนและยังไม่มียารักษา การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจุดเริ่มต้นที่ตลาดค้าสัตว์และอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ภาคกลางของประเทศจีน กลายเป็นวิกฤตการณ์ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และเชื้อโควิด-19 ระบาดหนักในประเทศไทยรอบแรกช่วงเดือนมี.ค. 2563 จากผับใจกลางเมืองกรุงเทพฯ, สนามมวยลุมพินี, กลุ่มแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ที่ทำให้เชื้อโควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศไทย ด้วยความวิตกกังวลหลายคนแห่กักตุ้นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ จนทำให้สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคชนิดนี้ขาดตลาดและราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว

รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ประกาศคอร์ฟิวห้ามบุคคลใดทั่วประเทศออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. มีการยกเลิกเที่ยวบิน ปิดน่านฟ้า ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์เพื่อไม่ให้มีการเดินทางและการรวมตัวกันจำนวนมาก ทำให้ผู้คนต้องปรับตัว หลายบริษัทให้พนักงานทำงานจากบ้านเพื่อหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่ทว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก และคนไทยก็เอาชนะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรกด้วยความมีวินัย ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อเข้าสู่เดือน พ.ค. ยอดผู้ติดเชื้อในไทยเป็น 0 ครั้งแรกและไม่ปรากฎผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มต่อเนื่อง ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานกักกัน ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ แต่ระหว่างนั้นมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น แขก VIP ของรัฐบาล, ทหารจากประเทศอียิปต์ที่มาแวะพักเครื่องที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการแก้ไขปัญหาก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย รัฐบาลอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ นานาได้ตามปกติ บรรยากาศเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งแบบชีวิตวิถีใหม่แบบนิวนอมอล ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มจะฟื้นตัวและเตรียมจัดงานเทศกาลปีใหม่ แต่แผนการดำเนินงานต่างๆ ก็ถูกพับไป บ้างถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ที่เพิ่งเริ่มขึ้น และไม่รู้ว่าจะกินเวลายาวนานแค่ไหนกว่าจะมีวัคซีนสำหรับคนไทย

สุรีย์พร ตะเภาพงษ์
Senior Journalist – Local News
workpointTODAY

 

2. Moment: “ชมประวิตรน่ารัก จุดจบฌอน บูรณะหิรัญ”

วันที่ : 24 มิถุนายน 2020

เหตุการณ์ : อินฟลูเอนเซอร์คนดัง ชีวิตพัง เพราะโดนชาวเน็ตขุดคุ้ย

ฌอน บูรณะหิรัญ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่เล่าเรื่องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน โดยมีแฟนคลับติดตามถึง 4 ล้านฟอลโลเวอร์ในเฟซบุ๊ก เจ้าตัวออกหนังสือวางขาย และเปิดคอร์สการทำโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนมีรายได้หลายล้านบาท

วันที่ 24 มิถุนายน ฌอนโพสต์คลิปวีดีโอชื่อ “ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร” โดยในคลิปฌอนเล่าว่า “เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่อยู่ในภาพในมีม ที่เขาแบบหลับ แต่พอได้เห็นตัวจริง เขาเป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่น่ารัก สิ่งที่เราเห็นในสื่อ มันก็มีเจตนาให้เราคิดบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใคร จนกว่าจะได้เจอกับเขาจริงๆ จนกว่าจะได้สัมผัสกับเขา”

ฌอนกล่าวเชิงชื่นชม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ตกเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นยืมนาฬิกาเพื่อน ที่ไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้เลย ดังนั้นสังคมจึงหันมาโจมตีฌอน ว่ารู้จักประวิตรดีแค่ไหน ถึงไปชื่นชมเขา แค่เห็นผ่านๆ ตัดสินได้แล้วหรือว่าเป็นคนน่ารัก

การที่ฌอน มีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เขามั่นใจว่าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ แต่การชมพล.อ.ประวิตร เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คน หันมาขุดคุ้ยฌอน โดยเฉพาะประเด็นรับบริจาคเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ภาคเหนือ ซึ่งฌอน ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนพอ จนส่งผลให้เขากลายเป็นจำเลยสังคมทันที

นอกจากนั้นชาวเน็ตยังไปไล่บี้ เรื่องวุฒิการศึกษา เรื่องสถาบันการเรียน และประวัติส่วนตัวต่างๆ และย้อนไปดูโครงการต่างๆที่เขาเคยทำ ว่ามีการลักลอบทุจริตอีกหรือไม่

ฌอนพยายามแก้เกม ด้วยการลบคลิปที่ชมพล.อ.ประวิตร แต่กระแสมันตีกลับแล้ว จากที่เคยมีคนกดติดตาม 4 ล้าน ลดลงเรื่อยๆจนเหลือ ราว 3.6 ล้านในปัจจุบัน ขณะที่ภาพลักษณ์ก็ติดลบจากเดิมอย่างชัดเจน หลังจากเกิดเรื่อง ฌอนลงคลิปอีก 1 คลิปเท่านั้น ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จากที่ในอดีตโพสต์คลิปถี่มาก สัปดาห์ละ 3-4 ตัว แต่ 6 เดือนหลังสุด ลงแค่คลิปเดียวเท่านั้น

สำหรับเรื่องของฌอน บูรณะหิรัญเป็นกรณีศึกษาเป็นอย่างดีว่า ต่อให้คุณมีฐานแฟนคลับที่หนาแน่นแค่ไหนในโลกออนไลน์ แต่ก็ยังจำเป็นต้องอ่านสถานการณ์ให้ดี ก่อนจะเสนอความเห็นอะไรสักอย่าง เพราะความรักความชอบในอินเตอร์เนตมันแปรเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วมาก จากที่เคยรัก อาจเปลี่ยนเป็นโกรธแค้นเกลียดชังได้ในพริบตา

วิศรุต สินพงศพร
Senior Journalist
workpointTODAY

 

3. Moment: “10 สิงหา”

เหตุการณ์: 10 สิงหาคม 2020

รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“…ข้อเรียกร้องเหล่านี้หาใช่ข้อเสนอเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไม่ แต่เป็นข้อเสนอโดยความปรารถนาดีเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป” รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวย้ำ หลังอ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

10 ข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้แก่ ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 เป็นต้น

ค่ำคืนนั้น หลังจากที่รุ้งโยนแถลงการณ์ขึ้นบนอากาศแล้วปล่อยให้แผ่นกระดาษค่อยๆ ร่วงหล่นสู่พื้นเวทีท่ามกลางผู้ชุมนุมนับพันคน ภาพของนักศึกษาหญิงอายุ 22 ปี ผมสีบรอนซ์ในชุดสีแดงสดก็กลายเป็นที่จดจำอย่างกว้างขวาง บางคนชื่นชมความกล้าหาญของเธอ บางคนมองว่าสิ่งที่เธอและผู้ชุมนุมร่วมกันทำเป็นเรื่อง ‘มิบังควร’

แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ กับ 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หลังจากนั้นการถกเถียงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดมากขึ้น แม้อีกมุมหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้จะสร้างความอึดอัดไม่พอใจให้กับใครหลายๆ คนที่ยึดถือคุณค่าแบบดั้งเดิม จนเลยไปถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 35 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธ.ค. 63) อย่างไรก็ตาม ขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอด 5 เดือนมานี้ เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่าการใช้กฎหมายปราบปรามผู้เห็นต่างย่อมไม่ใช่ ‘ทางออก’

ในห้วงยามแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย คุณค่าที่ผู้คนแต่ละกลุ่มยึดถือไม่เหมือนกัน เหตุปะทะทางความคิดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ตราบที่สังคมยังยืนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

อินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล
Journalist – Education and Finance
workpointTODAY

 

4. Moment : #Saveโคราช บทเรียนโศกนาฎกรรมกราดยิง

เหตุการณ์ : กราดยิงโคราช วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2020

ทหารยศจ่าสิบเอกก่อเหตุยิงผู้บังคับบัญชาและแม่ยายของผู้บังคับบัญชาเสียชีวิต ที่ จ.นครราชสีมา ก่อนขโมยรถฮัมวี่พร้อมอาวุธสงครามจำนวนมากจากคลังอาวุธในค่ายสุรธรรมพิทักษ์หลบหนีเข้าตัวเมือง ระหว่างทางคนร้ายได้ใช้อาวุธกราดยิงชาวบ้านและตำรวจที่เข้าระงับเหตุ และยังเข้าไปก่อเหตุภายในห้างเทอมินอล 21 โดยเดินไปตามชั้นต่างๆ ที่มีประชาชนหลบซ่อนตัวอยู่ภายในห้างกว่าร้อยชีวิต และกราดยิงจุดที่พบความเคลื่อนไหว ระหว่างก่อเหตุยังโพสต์ลงโซเซียลมีเดียไปด้วย

ตลอดค่ำคืนนั้นชาวโคราชและคนไทยหรือแม้กระทั่วทั่วโลกที่ติดตามข่าวนี้ ต่างลุ้นระทึกกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการจับคนร้าย ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดนานกว่า 17 ชั่วโมง จึงทำการวิสามัญคนร้ายได้ในเช้าวันต่อมา (9 ก.พ.63) เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30 คน บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 57 คน (6 เดือนต่อมาหนึ่งในผู้บาดเจ็บซึ่งเป็น รปภ. เสียชิวิตเพิ่มอีก 1 คน)

ชนวนเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ มาจากความโกรธแค้นจากการถูกโกงเงินสวัสดิการซื้อบ้านทหารบกโครงการ อทบ. เพื่อเคหสงเคราะห์ เพราะผู้ก่อเหตุถูกผู้บังคัญบัญชาร่วมมือกับเจ้าของโครงการโกงเงินที่ควรจะได้รับมาเพื่อตกแต่งบ้าน แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้นำไปสู่การตรวจสอบปัญหาการทุจริตเงินสวัสดิการซื้อบ้านทหารบกโครงการ อทบ. แต่มวลความโกรธแค้นครั้งนี้กลับไม่ได้จบลงที่การแก้แค้นผู้บังคับบัญชาและเจ้าของโครงการเท่านั้น แต่คนร้ายยังก่อเหตุทำร้ายคนอื่นที่มีเกี่ยวข้องโดยไม่เลือกหน้า

นับว่าเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่ไทยไม่เคยเจอมาก่อน จนเป็นที่มาของการถอดบทเรียนเมื่อเผชิญเหตุกราดยิงจากกรณีนี้ว่า ทหารต้องมีระบบป้องกันคลังอาวุธสงครามไม่ให้ถูกนำมาใช้ก่อเหตุได้ง่าย , การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับเป็นหรือจะจับตายคนร้าย โดยต้องระวังผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่กว่าร้อยชีวิตที่เสี่ยงอันตรายด้วย , การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวสถานการณ์ที่ไม่ควรบอกรายละเอียดของเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่อยู่ภายในให้คนร้ายได้รู้เด็ดขาด , รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดในเหตุกราดยิงที่จะเป็นบทเรียนเมื่อเจอเหตุในอนาคต

และห้วงเวลา 17 ชั่วโมง แห่งความหวาดกลัว ความโศกเศร้า จากความสูญเสีย และอีกหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเหตุกราดยิงครั้งนี้ เราได้เห็นโมเม้นต์การส่งต่อความห่วงใย ความช่วยเหลือถึงชาวโคราช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนขี่แกร็บที่อาสารอรับทุกคนจากห้างเทอมินอล 21 ส่งกลับบ้านอย่างปลอดภัย เจ้าหน้าที่ รปภ.ที่ทำหน้าที่อำนวยความปลอดภัยให้กับคนที่ติดอยู่ในห้างอย่างสุดความสามารถ และบางคนต้องจบชีวิตลงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาเด็กเล็กที่เปลี่ยนสถานการณ์ติดห้างเป็นห้องเรียนผจญภัย เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความหวาดกลัวและเสี่ยงที่จะถูกยิง และรวมไปถึงกำลังใจที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศมอบให้กับพี่น้องชาวโคราช ผ่านแฮชแท็ก #Saveโคราช

อรอุษา พรมอ๊อด
Senior Journalist – Health and Local News
workpointTODAY

 

5. Moment: “ครูกอล์ฟชิงทอง ฆ่า 3 ศพกลางห้าง”

เหตุการณ์: 9 มกราคม 2020

คนร้ายควงปืนบุกเดี่ยวกลางห้างโรบินสัน ลพบุรี ฆ่าคนไป 3 ศพ หนึ่งในนั้นคือเด็ก 2 ขวบ สรุปฆาตกรคือข้าราชการครู
นี่คือเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญที่สุดครั้งหนึ่งในรอบปี ในช่วง 3 ทุ่ม ของวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม ชาวลพบุรี เดินห้างซื้อของ กินข้าวกันตามปกติ มีชายสวมเสื้อยืดแขนยาว ใส่กางเกงลายพราง หมวกคลุมหน้า พกปืนชิงทอง ในร้านทองกลางห้าง คนร้ายเอาปืนยิงไม่เลือกหน้า มีคนตายคือพนักงานร้านทอง รปภ. และเด็กชายวัย 2 ขวบ นอกจากนั้นมีคนบาดเจ็บอีกถึง 4 คน

นี่เป็นเรื่องสยองเพราะ ไม่ใช่แค่จี้ชิงทรัพย์เท่านั้น แต่คนร้ายยังฆ่าคนไป 3 ศพ ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ความเลือดเย็น ไม่อาจเปรียบได้ โดยภาพของแม่ น้อง “ไตตัน” ที่กอดร่างไร้วิญญาณของลูกเอาไว้ เป็นที่สะเทือนใจของคนทั้งประเทศ และไม่เข้าใจว่า คนร้ายจะไล่ฆ่ากันทำไม เพราะแค่ชักปืนขู่ ทุกคนก็กลัวกันหมดแล้ว

คดีนี้ ทำให้คนร้ายคือ Public Enemy เบอร์หนึ่ง ตำรวจใช้สรรพกำลังทั้งหมดที่มี ไล่ล่าคนร้ายให้ได้ โดยคดีนี้ ใช้ผู้เชี่ยวชาญทุกหน่วยงานค่อยๆ แกะรอยคนร้าย มีการปล่อยข่าวลือ ข่าวหลอกมากมาย จนสุดท้าย ตำรวจสามารถค้นพบคนร้ายได้สำเร็จ ซึ่งก็น่าตกใจ เพราะเขามีชื่อว่า นายประสิทธิชัย เขาแก้ว ชื่อเล่นกอล์ฟ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมในจังหวัดสิงห์บุรี

ตำรวจใช้เวลา 13 วัน ในการค้นหาตัว และจับกุมคนร้ายได้สำเร็จ ซึ่งจากหลักฐานทั้งหมดยืนยันชัดเจนว่า ไม่ใช่แพะแน่นอน ทำให้ชาวบ้านโล่งใจที่ฆาตกรโดนจับได้เสียที

แต่คำถามที่ทุกคนสงสัยก็คือ คนเป็นครูบาอาจารย์ เป็นถึงผอ. ทำไมถึงต้องทำเรื่องเลวทรามด้วยการไปจี้ชิงทองแบบนั้นด้วย ซึ่งสรุปก็คือเป็นปัญหาเรื่องเงินทองล้วนๆ ผอ.กอล์ฟใช้เงินเกินตัว จนติดหนี้ติดสิน และเมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงควงปืนบุกชิงทรัพย์ในที่สุด

ในเรื่องนี้ ประเด็นความรุนแรงก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมตามมาก็คือ “ครู” เป็นอาชีพที่มีหนี้สิ้นสูงมาก ยอดหนี้ครูทั่วประเทศทะลุ 1.4 ล้านล้านบาท สาเหตุเพราะครู เป็นอาชีพที่มีเครดิตที่ดี ทำให้กู้เงินได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีสวัสดิการสหกรณ์ครูอีก ยืมไปยืมมากลายเป็นงูพันคอ ไม่มีเงินจ่ายคืน จนกลายเป็นหนี้สินมหาศาล กลายเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมาว่า คนเป็นครู แต่ยังไม่มีวินัยทางการเงินแล้วจะเอาอะไรไปสอนเด็กได้

ดังนั้น ข่าวชิงทองลพบุรี จึงเป็นประเด็นใหญ่ในปีนี้ ทั้งการสืบคดีที่เข้มข้น และลุ้นระทึกทุกวัน รวมถึงเหตุจูงใจที่เบาหวิว จนไม่น่าเชื่อว่าจะเปลี่ยนผอ.โรงเรียน ให้กลายเป็นฆาตกรได้

วิศรุต สินพงศพร
Senior Journalist
workpointTODAY

 

6. Moment: “ฉีดน้ำ”

เหตุการณ์: 16 ตุลาคม 2020

เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง

“ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง” เสียงจากเครื่องขยายเสียงของเจ้าหน้าที่นับย้อนหลังก่อนมีการฉีดน้ำสลายการชุมนุม วันที่ 16 ตุลาคม 2563 แต่การนับถอยหลังครั้งนั้นเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563

ก่อนการฉีดน้ำสลายการชุมนุมครั้งนั้น การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยดำเนินไปแบบ “มีหัว” แม้จะไม่มีองค์กรนำที่กลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุม แต่ผู้นัดชุมนุม ผู้ปราศรัย ผู้เจรจาแต่ละครั้งก็เป็นใบหน้าที่คุ้นเคย นัดชุมนุมเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง จนกระทั่งมีการเปิดตัว ‘คณะราษฎร’ องค์การที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการเปิดตัวมาในปี 2563 ประกาศนัดชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 กระบวนการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐยกระดับอย่างชัดเจน มีการจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งหน้ากว่า 19 รายตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เมื่อมีการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ก่อนเข้าจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกกว่า 25 ราย

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย การชุมนุมก็เปลี่ยนรูปแบบไป มีการนัดการชุมนุมรายวัน เริ่มจากที่ราชประสงค์วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ก่อนนัดที่แยกปทุมวันในวันต่อมา จากการจับกุมยกระดับเป็นการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีในที่สุด

น้ำผสมสารเคมีสร้างอารมณ์โกรธในหมู่ผู้สนับสนุนการชุมนุม ภาพของนักเรียนหญิงมัธยมสามคนคล้องแขนกันเผชิญหน้ารถฉีกน้ำสีฟ้าคันใหญ่เป็นภาพประทับตาของใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่นั้น อารมณ์นี้สะสมในใจคน ส่งผลไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมในวันถัดไป

ที่ห้าแยกลาดพร้าววันที่ 17 ตุลาคม 2563 ไม่มีเวทีกลาง ไม่มีรถเครื่องเสียง ผู้ชุมนุมหลายคนในหมู่คนเรือนหมื่นหยิบโทรโข่งติดไม้ติดมือมา ระบายความรู้สึกผ่านการปราศรัยโดยไม่ต้องมีใครรันคิวเวที การชุมนุมแบบไร้หัว (Leaderless) เกิดขึ้น ณ วินาทีนั้น ตอนที่ผุ้ชุมนุมแต่ละคนเรียนรู้ที่จะนำการชุมนุมด้วยตัวเอง จัดระบบรักษาความปลอดภัยสู่แนวหน้าโดยไร้หัวสั่งการ ส่งอุปกรณ์ป้องกัน หมวด แว่นตา หน้ากาก ด้วยการบอกปากต่อปาก

สิ้นปีนี้ผ่านโมเมนต์ฉีกน้ำครั้งแรกมาหลายเดือน จะฟันธงได้ยากว่าการฉีดน้ำครั้งนั้น นำมาสู่การสลายหัวการชุมนุมอย่งที่รัฐคาดหวังสำเร็จหรือไม่ มองจากสายตายุทธวิธีการจัดกระบวนแบบความมั่นคง การชุมนุมที่มวลชนเบาบางลงในช่วงปลายปีชวนให้คิดว่าปฏิบัติการครั้งนั้นนำมาซึ่งความอ่อนแรง แต่หากมองด้วยเลนส์วัฒนธรรม จะพบว่าคำปราศรัยบนเวทีของแกนนำกลายมาอยู่ในบทสนทนาทั่ว ๆ ไปของผู้สนับสนุนการชุมนุม โอกาสที่จะปรามให้เนื้อหาในบทสนทนาประจำวันอ่อนลงไม่ง่ายเหมือนการยุติเวทีปราศรัย

นอกจากเป็นจุดเปลี่ยนการชุมนุม นี่ยังถือเป็นการแตกหักครั้งแรกของความขัดแย้งที่คุกกรุ่นมาก่อนหน้า 3 เดือน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมใน “ม็อบเด็ก” แต่เมื่อครั้งแรกเกิดขึ้นผ่านการฉีดน้ำครั้งนั้นแล้ว ครั้งต่อ ๆ มาก็ไม่เคอะเขินอีกต่อไป ทางฝั่งรัฐเดินหน้าใช้กฎหมายดำเนินการทั้งในมิติกว้างและลึก การแจ้งข้อหาถูกแจ้งไปยังผู้ชุมนุมที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะมีคดี เช่น เยาวชนอย่างน้อย 6 คน อายุต่ำสุดอยู่ที่ 16 ปีถูกดำเนินคดีความมั่นคง ในด้านเนื้อหา กฎหมายที่สร้างความหวาดกลัวถูกนำมาใช้ในที่สุด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็เดินหน้าเรียกร้องข้อเสนออย่างไม่ลดราวาศอก เป็นเส้นขนานที่ไม่มีจุดร่วม แต่ทั้งสองทางมุ่งหน้าไปยังระเบิดเวลาที่ไม่มีใครต้องการ

คำกล่าวที่ว่ารัฐคือผู้ผูกขาดความรุนแรง (The Monopoly of Violence) ของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นมาได้ เพราะนอกจากรัฐจะเป็นผู้ถือกุมทรัพยากรด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐยังเป็นผู้ควบคุมเงื่อนไขในการจะให้เกิดหรือไม่เกิดความรุนแรงภายในก็ได้ ระหว่างที่รัฐมีพัฒนาการขึ้นมา เครื่องมือของรัฐก็วิวัฒนาการมาเป็นมาตรการต่าง ๆ ที่จะลดโอกาสในการเกิดความรุนแรงภายใน ผ่านการต่อรอง ผ่านการใช้กฎหมาย ผ่านระบบรัฐสภา ฯลฯ

แม้จะเลยจุดแตกหักมาแล้วผ่านการฉีดน้ำ แต่ปี 2021 ที่จะถึงนี้ เชื่อว่าสังคมไทยยังต้องการเฝ้าจับตา ว่ารัฐจะเรียนรู้ที่จะใช้กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ในการควบคุมความรุนแรงสำเร็จหรือไม่ เพื่อลดโอกาสการเกิดความรุนแรงครั้งต่อไป และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมน้อยที่สุด

วศินี พบูประภาพ
Journalist – World Affairs and Human Rights
workpointTODAY

 

7. Moment : นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้เป็นรัฐมนตรี

เหตุการณ์ : 6 ส.ค. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/2” ปรากฏชื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตโฆษกหญิงของรัฐบาล ขยับชั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ,ดร.นฤมล ,อาจารย์แหม่ม หรือ บิ๊กอาย คือชื่อของผู้หญิงการเมืองคนหนึ่งในประเทศที่โด่งดังสุดใน 2563 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน คือตำเเหน่งอย่างเป็นทางการของเธอในรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 และยังเป็นอดีตโฆษกประจำสำนักนายกของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1

และอีกบทบาทคือเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐเเละอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งยังเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง(อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) อีกทั้งยังเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสืออีกด้วย

ดร.นฤมล คนนี้ถือว่าร้อนเเรงบนหน้าสื่อในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่ยิ่งหย่อนกว่าเเคนดิเดต รมต.คนอื่นๆของค่ายพลังประชารัฐในการคั่วเก้าอี้

เพราะการเเหวกฟ้าคว้าดาวเเละผ่านด่านอรหันต์การเมืองจนได้ทำหน้าที่เป็น รมช. แรงงาน ในรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 นั้น ภาษาการเมืองไทยนิยามไว้เมื่อนานมาเเล้วว่า “หากพรรษายังไม่กล้าเเกร่งก็ต้องดูว่าบารมีถึงไหม หากบารมียังไม่เพียงพอก็ต้องดูว่าใครเมตตา”

เสียงซุบซิบหลากวงสนทนาของส.ส.พรรคเเกนนำตั้งรัฐบาลเคยวิจารณ์กันเพียบว่า ดร.นฤมล มีดีอย่างไร เพราะเป็นส.ส.สมัยเเรกก็คว้าสองตำเเหน่งหลักไปประดับดีกรีในเวลาเพียงหนึ่งปีเศษๆเท่านั้น

ภาพข่าวที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าเเรกเริ่มเดิมทีนั้น ดร.นฤมล เข้ามาในบนเส้นทางการเมืองได้เพราะกลุ่มสี่กุมาร ต่อมาได้ชื่อว่า “ส.ส.บิ๊กอายหลากคอนเน็กชั่น” เพราะไม่นานนักอาจารย์เเหม่มก็เเวะเวียนไปเเตะมือกับเเกนนำหลากมุ้งในค่ายพลังประชารัฐเสมือนสับขาหลอกว่าเธอสังกัดมุ้งใครกันเเน่?

เเละไม่นานมานี้เธอยอมรับผ่านสื่อว่า ผู้ใหญ่ที่เมตตาเธอนั้นคือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบันเเละเธอไม่เคยไปวิ่งเต้นขอเก้าอี้จากใครทั้งนั้น

การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2563 ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสืบต่อกันมา สะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานรัฐบาล โดยปราศจากอคติ โดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “แชมป์ไตรกีฬา” ไตรกีฬา ที่มีวิ่งว่ายน้ำและปั่นจักรยาน สะท้อนภาพลักษณ์ได้ครบถ้วนชัดเจน ในบุคลิกที่สื่อมวลชนประจักษ์ ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรี และ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีทั้งการวิ่งเต้น การเข้าหาผู้ใหญ่ และ การปลุกปั่นกระแส แม้จะถูกกล่าวหาว่า ลืมบุญคุณผู้ชักนำเข้าสู่การเมือง แต่ก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ เดินหน้าจนสามารถคว้าตำแหน่งที่ต้องการได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นนักการเมือง และ ส.ส.สมัยแรกเท่านั้น

บุญคุณความแค้น- สมคบคิดและหักหลัง
อย่าลืมว่าการเมืองนั้น “ไม่มีคำว่ามิตรเเท้เเละศัตรูถาวร” เพราะการซ่อนดาบในรอยยิ้มเเละกลเกมซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ ปรากฏเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ความจริงบางมุมที่บางคนไม่ทราบเบื้องลึกของสายสัมพันธ์บนถนนการเมืองที่ดร.เเหม่มทอดไว้นั้น ล้ำลึกเกินกว่าที่หลายคนมองไว้

เพราะการเดินสายต่อท่อสัมพันธ์กับหลายขั้ว หลากมุ้งในพลังประชารัฐที่ดร.นฤมล ขยับประสานนั้น เซียนการเมืองหลายคนยังไม่กล้าที่จะเดินเกมเเบบนี้

ช่วงเเรกดร.เเหม่มขยับเข้าหากลุ่มสี่กุมารเเละเฮียกวง (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เพื่อใช้เป็นรันเวย์เเตะเข้าพลังประชารัฐ โดยอาศัยดีกรีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สมัยครม.ลุงตู่1เป็นใบเบิกทาง

ก่อนจะเทียบท่าเป็นเเกนนำพรรคเเละผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อัดดับที่5 ของพรรคชนิดที่ใครหลายคนสงสัยว่าเธอคือใครเเละมีดีอะไร

กล่าวได้ว่า หากมิใช่เพราะ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ อุตตม สาวนายน ก็ยากที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะมีโอกาส
พลันที่เริ่มขึ้นฝั่ง การเเตะขั้วผู้กองธรรมนัส ธรรมนัสพรหมเผ่า เพื่อให้ได้แรงสนับสนุนดันเธอขึ้นสู่ตำแหน่งโฆษกรัฐบาลเเละ ต่อมาได้สัมผัสมือกับเสี่ยเเฮ้งก์ อนุชา นาคาสัย เเห่งสามมิตร รวมถึงความใกล้ชิดอันเนื่องมาจากทำงานให้กับพล.อ ประวิตร ทำให้ดร.นฤมลไม่รอช้าที่จะสลัดเยื่อใยจากกลุ่มสี่กุมารเพื่อให้เธอขยับเข้าถึงขั้วกลางเเห่งอำนาจ 3ป.โดยไว

ว่ากันว่ายามนั้นเธอช่วงชิงเก้าอี้กระบอกเสียงรัฐบาลกับหลายขั้วในพรรคจนหมางใจกันเเละเมื่อขึ้นฝั่งเเล้ว ดร.เเหม่มกับคณะสาว สาว สาว(ทีมโฆษกรัฐบาลที่ประกอบด้วยตัวเเทนพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็ยังเเย่งบทเด่นกันหลายคราวเเละยังมิอาจเเตะสมานใจกันได้ดั่งวันวาน แถมผลงานการเป็นโฆษกรัฐบาลก็ยังไม่เข้าตาประชาชน

เสียง “ยี้” กระหึ่ม หลังเปิดตัวในฐานะทีมเศรษฐกิจ
หลังโหวตเลือก กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ (แทนกลุ่ม 4 กุมาร) นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ปล่อยชื่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกมาว่า จะเป็นทีมเศรษฐกิจ เสียงด้านลบ ก็ดังกระหึ่มทันที ส่วนใหญ่เป็นเสียง “ไม่ยอมรับ”

โดยพื้นฐานแล้วคือ แรงเสียดทานจากวัฒนธรรมการเมืองแบบ ไทยๆ ที่เชื่อกันว่า ดร.นฤมล มาบนเส้นทางเดียวกันกับ “กลุ่ม 4 กุมาร” การขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการวัดรอยเท้า นายอุตตม สาวนายน หากแต่ไปไกลถึงขนาดวัดรอยเท้าของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

แม้นายอนุชา จะมาอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นความต้องการของพรรคที่ต้องตั้งทีมขึ้นมา ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งในแต่ละด้านจำเป็นต้องมีบุคคลจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม จึงได้แต่งตั้งนางนฤมลเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค “ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาคุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล”

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เสียง “ขานรับ” ดร.นฤมล ดีขึ้น กดดันให้ ดร.นฤมล ต้องออกมาสื่อสารกับสังคมด้วยตนเอง

โดยยืนยันว่า ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา อยู่ในทีมเศรษฐกิจอยู่แล้ว เลขาธิการพรรคเลยบอกว่า ให้รับผิดชอบต่อ เท่านั้นเอง

ไม่ได้เรียกว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการทำนโยบายเศรษฐกิจของพรรค โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผ่านพรรคไปยังนายกรัฐมนตรี และ ครม.

แต่ ดร.นฤมลย้ำว่า จากประสบการณ์จริงๆ ของเรา แต่เดิมเป็นอาจารย์ สอนด้านการเงิน และนอกจากสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็ยังมีงานวิชาการที่ทำจนเป็นศาสตราจารย์ นอกจากงานเหล่านี้แล้ว ได้เป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 10 ปี และเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารหลายแห่งในส่วนของตลาดเงิน และช่วยในเรื่องของภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ในตำแหน่งกรรมการ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้เข้ามาช่วยงานในกระทรวงการคลัง ใครถามว่าเราทำอะไรมาบ้าง ก็คงตอบได้ประมาณนี้ เราก็มีความรู้ในเรื่องของตลาดทุน ตลาดเงิน งานวิจัยด้านนโยบายที่เคยช่วยมา อย่างที่กระทรวงการคลังที่ทราบประวัติกันดี

นอกจากนี้ ดร.นฤมล ยังออกมายืนยันว่า “ไม่เคยแทงข้างหลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
แต่กระแสยี้ ยังถาโถม จนสะเทือนไปทั้งพรรคและรัฐบาล.
วัดกันที่ผลงาน พิสูจน์ต่อสายตาประชาชน
หลังการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ สำหรับ 7 ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563

ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2/2 ต้องเร่งเดินหน้าทำผลงาน ฟื้นศรัทธา เรียกความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลและประชาชน โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากมหาวิกฤตโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รอดรีมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่โชว์ฝีมือ

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและโฟกัสการทำงาน คงไม่พ้นกระทรวงแรงงานภายใต้การคุมทัพของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สายตรง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อย่าง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

โดย ดร.นฤมล ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

โดยดร.นฤมล เร่งสร้างฝีมือ แรงงานที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของนายจ้างโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC นอกจากนี้ยังผลักดันการให้โอกาสแรงงานทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างคนพิการแต่ก็ยังมีอุปสรรคคือพรบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 33 – 35 เพราะ เจตนารมณ์ของกฎหมายดีแต่ผลลัพธ์ไม่ได้เอื้อประโยชน์

แม้หลากกิจกรรมที่เธอดำเนินการในฐานะนักการเมืองนั้น สายสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆไม่ค่อยสะดวกโยธินเท่าใดนัก เเละใครหลายคนไม่ชอบใจกับลีลาของเธอเมื่อวันวานเเละตอนนี้

คราวนี้เมื่อคว้าเก้าอี้ฝ่ายบริหารมาครองได้เเล้วก็รอชมผลงานที่เธอรับผิดชอบในฐานะจับกัง 2 กันว่าในสายตาประชาชนรู้จักเเละเห็นผลงานของ รัฐมนตรีหญิงที่ชื่อนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คนนี้หรือไม่

กานต์ธิดา คุณพาที
Producer
workpointTODAY

 

8. Moment: “ไปต่อแถว”

เหตุการณ์: 19 สิงหาคม 2020

กลุ่มนักเรียนเลวไล่ณัฏฐพล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการให้ไปต่อแถว

“ไปต่อแถว ไปต่อแถว ไปต่อแถว”

เสียงจากตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ผ่านลำโพงดังลั่นที่กระทรวงศึกษาธิการ บอกให้ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปเข้าคิวในการขึ้นมาพูดชี้แจงบนเวที ระหว่างการชุมนุมต่อต้านกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมในโรงเรียน เช่นเรื่องการแต่งกาย ทรงผม ซึ่งนายณัฏฐพลก็รับฟัง พร้อมพาตัวเองไปต่อแถวตามคำขอของกลุ่มนักเรียน

ก่อนโมเมนต์ “ไปต่อแถว” บรรยากาศการชุมนุมในเย็นวันที่ 19 สิงหาคม ก็เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ กลุ่มนักเรียนผูกโบว์ขาวเข้ามาร่วมชุมนุม หลายคนชูสามนิ้ว การปรากฎตัวของนายณัฏฐพลก็มาพร้อมกับเสียงนกหวีดที่ดังลั่น ชวนให้ย้อนกลับไปถึงบทบาทในฐานะแกนนำ กปปส. ของรัฐมนตรีท่านนี้ ที่มีนกหวีดเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการชุมนุมเมื่อ 6 ปีก่อน

ปัญหาอำนาจนิยม ระบบอาวุโส เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานาน นานจนความผิดปกติหลายอย่างกลายเป็นเรื่องที่ชินชา แม้กระทั่งจังหวะที่รัฐมนตรีเดินเข้ามาเพื่ออยากจะชี้แจง แต่ดันไปแซงคิว ก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่มาพร้อมกับความชินชากับความผิดปกติ และค่านิยมของสังคมที่ต่างกันระหว่างคนสองวัย

ปี 2020 เกิดการเคลื่อนไหวของหลายๆ กลุ่มทางการเมือง เกิดแนวความคิดใหม่ๆ มากมาย ที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในฝั่งของผู้ชุมนุมเองก็มีหลายข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธจากสังคม อีกหลายๆ ข้อเสนอก็มีกำแพงกั้นในเรื่องของอายุ ยุคสมัย และค่านิยม หลายๆ ข้อเรียกร้องอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานจนกว่าจะเกิดขึ้นจริง

แต่การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในชีวิตประจำวันเช่นการมาก่อนได้ก่อน มาทีหลังก็ควรเข้าแถว

คุณค่าเช่นนี้ควรเป็นคุณค่าร่วมของสังคมไทยที่เราจะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์
Editor-in-Chief
workpointTODAY

 

9. Moment: “วัคซีนโควิด-19”

เหตุการณ์: ตั้งแต่ มกราคม 2020

มนุษยชาติใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีเพื่อต่อต้านโรคโควิด-19

นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตคนแรก จากอาการป่วยด้วยโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส ซึ่งตอนนั้นยังเรียกกันว่า ไวรัสอู่ฮั่น พอล่วงเลยมาจนถึงช่วงสิ้นปี 2020 โรคนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้านคนแล้ว และมีผู้ติดเชื้อหลายสิบล้านคน ยังไม่รวมประชากรโลกอีกหลายพันล้านคน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในหลาย ๆ ด้าน

การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัส ทำให้ทางสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกับโรคนี้ได้ด้วยการรักษาตามอาการอีกต่อไป วัคซีนจึงกลายเป็นความหวังสุดท้ายในการหยุดยั้งโรคร้ายนี้

ในสถานการณ์ปกติ ผู้พัฒนาวัคซีนจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปี หรือบางครั้งอาจยาวนานถึง 1 ทศวรรษ ในการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยออกมาใช้งานในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม ที่ถูกบันทึกว่าพัฒนาเร็วที่สุด ยังใช้เวลาถึง 4 ปี

แต่กับโรคโควิด-19 เราไม่มีเวลารอนานขนาดนั้น เพราะแต่ละวันที่ผ่านไป ความเสียหายทั้งในเรื่องชีวิตและเศรษฐกิจจะยิ่งเลวร้ายและยากต่อการเยียวยามากขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้และเทคโนโลยีที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน ถูกงัดออกมาใช้อย่างเต็มที่ ในการเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 ออกมาใช้งาน นี่คือภารกิจระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะยิ่งผลิตได้มากและเร็วเท่าใด ก็ยิ่งมีส่วนช่วยให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้เร็วยิ่งขึ้น

บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาและทดสอบวัคซีน จนภายในเวลาไม่ถึงปี เราเริ่มได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนที่เปิดเผยออกมา จนบางประเทศเริ่มให้กลุ่มเสี่ยงได้โอกาสเข้าถึงวัคซีนก่อนไปแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้พัฒนารายอื่นๆ อีกกว่า 200 รายก็ยังคงต้องทำงานต่อไปในการเป็นกำลังเสริม เพราะว่าการส่งมอบวัคซีนให้ประชากรเกือบทั้งโลกภายในเวลา 1-2 ปี เป็นงานที่หนักเกินกว่าจะปล่อยให้บริษัทไม่กี่แห่งรับผิดชอบตรงนี้

ในประเทศไทยเอง วัคซีนชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา และเตรียมที่จะเริ่มต้นการทดลองในมนุษย์ในปีหน้า ก็ถือว่ายังก้าวหน้าเร็วกว่าการพัฒนาวัคซีนชนิดอื่นๆ ในอดีต และยังวัคซีนที่สร้างจากโปรตีนในใบพืช ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่กำลังเริ่มระดมทุนผ่านการเปิดรับบริจาคในช่วงสิ้นปี น่าจะเป็นส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันในวงที่กว้างขึ้น หากการทดลองประสบความสำเร็จ

แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ในการเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้มีสัดส่วนภูมิคุ้มกันในประชากรเพียงพอที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อได้

หากมีการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้มนุษย์ทลายกำแพงและขีดจำกัดต่างๆ ของตัวเองได้ การผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะต้องเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างแน่นอน

บดินทร์ สุรินทรศักดิ์
Senior Journalist – World Business
workpointTODAY

 

10. Moment: ลิเวอร์พูลเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก

เหตุการณ์: เชลซี ชนะ แมนฯ ซิตี้ 2-1 วันที่ 26 มิถุนายน 2020

สิ้นเสียงนกหวีด หมดเวลาการแข่งขัน เชลซี ชนะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-1 ส่งให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก สมัยแรกของสโมสรได้สำเร็จ และปิดฉากการรอคอยอันแสนยาวนานหลายทศวรรษ

การรอคอยของลิเวอร์พูลกว่า 3 ทศวรรษในที่สุดมันก็จบลง หลังผู้ตัดสิน สจ๊วต แอตเวลล์ เป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขันที่ สแตมฟอร์ดบริดจ์ เชลซีเปิดบ้านเอาชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ไป 2-1 เสียงเฮจากแฟนบอลลิเวอร์พูลก็ดังขึ้น เช่นเดียวกับเหล่าบรรดานักเตะของทีมที่รวมตัวกันเพื่อรอฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกของทีม และแล้วลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ เป็นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษที่ใช้เวลาในการรอคอยมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี

ในฤดูกาล 2018-2019 ลิเวอร์พูลจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 2 ที่มีแต้มเยอะสุดเป็นประวัติศาสตร์ด้วยคะแนน 97 แต้ม ซึ่งห่างจากแชมป์เพียงแต้มเดียว ซึ่งความน่าเจ็บใจของแฟนหงส์แดงคือ แม้ว่าทีมเราจะดีเพียงใด แม้ว่าเป็นถึงแชมป์ยุโรป (UEFA Champions League) ก็ตาม หรือทำคะแนนได้เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรก็ตาม แต่ในลีกเราก็ยังคงเป็นได้แค่รองแชมป์เท่านั้น แต่แฟนบอลลิเวอร์พูลก็ยังอดทนและให้กำลังใจทีมกันต่อไปเพราะเชื่อมั่นในตัวนักเตะ โค้ช และสโมสรว่าจะพาลิเวอร์พูลกลับไปคว้าแชมป์ลีกได้ในเร็ววัน ต่อมาฤดูกาล 2019-2020 ลิเวอร์พูลหมายมั่นปั้นมือจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกให้จงได้ และผลงานก็เป็นไปตามคาดโดย 27 นัดแรก ลิเวอร์พูลชนะไป 26 นัด เสมอ 1 และไม่แพ้ใคร นำห่างอันดับสอง 22 แต้ม โอกาสเป็นแชมป์สูงมาก แฟนบอลเตรียมตัวกันฉลองแชมป์กันอย่างยิ่งใหญ่ แต่แล้วบททดสอบที่ยากลำบากของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้ก็เกิดขึ้น

วิกฤตโควิด-19 รัฐบาลอังกฤษประกาศล็อคดาวน์ประเทศ งดทุกกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งรวมไปถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ต่อมามีหลากหลายกระแสพูดถึงฟุตบอลปีนี้กันไปในหลายแง่มุม ทั้งการโมฆะการแข่งขันฟุตบอลในฤดูกาลนี้ ตัดจบให้แชมป์ลิเวอร์พูลไปเลยก็มี หรือจะเป็นการกลับมาขันแข่งกันต่อตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลก็ยังคงต่างต้องอดทนเพื่อรอพรีเมียร์ลีกกลับมาเตะอีกครั้งและได้เห็นทีมที่เขารักคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษได้เสียที และแล้วพรีเมียร์ลีกก็กลับมาแข่งขันกันต่อได้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน การคว้าแชมป์ครั้งนี้ของลิเวอร์พูลต้องผ่านอะไรมามากมาย ทั้งความอดทน ทั้งการเปลี่ยนผ่านของทีมงาน ผู้เล่น โค้ช และเจ้าของสโมสร ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ผ่านการเติบโต และผ่านโรคระบาด เมื่อฟุตบอลกลับมาเตะความอดทนอันยาวนานมันก็เริ่มเห็นความคุ้มค่า และกลายมาเป็นแชมป์ลีกสมัยล่าสุดของลิเวอร์พูล

สถานการณ์ก่อนเกมนี้จะเริ่มต้นขึ้นจากการที่ลิเวอร์พูลชนะคริสตัลพาเลซ 4-0 ทำให้มีคะแนนนำแมนฯ ซิตี้อยู่ 23 แต้ม หากแมนฯ ซิตี้ไม่สามารถเอาชนะเชลซีได้จะทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่คว้าแชมป์ได้เร็วที่สุดทันที ทำให้สาวกเดอะค็อปต่างก็ใจจดใจจ่อกับเกมที่ สแตมฟอร์ดบริดจ์ ก่อนที่ลิเวอร์พูลจะเป็นแชมป์หลังจบเกมนั้น

โดยครั้งสุดท้ายที่ลิเวอร์พูลได้แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษต้องย้อนกลับไปในวันที่ 28 เมษายน 1990 จากวันนั้นเป็นเวลา 3 ทศวรรษที่สโมสรลิเวอร์พูลต้องห่างหายจากแชมป์ลีกสูงสุดไปอย่างยาวนาน ซึ่งกว่าที่ลิเวอร์พูลจะกลับมาคว้ามันได้อีกครั้ง พวกเขาต้องเปลี่ยนหัวเรือใหญ่อย่างผู้จัดการทีมไปถึง 8 คน และถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพาทีมประสบความสำเร็จ

ก่อนการเข้ามาทำงานของ เจอร์เก้น คล็อปป์ พวกเขาทำได้ใกล้เคียงกับการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกมากสุดคือการเป็นที่ 2 ของตารางคะแนนเท่านั้น ซึ่งมาจากผลงานของผู้จัดการทีม 3 คน ได้แก่ เชราร์ อุลลิเยร์ ในฤดูกาล 2001-02 ราฟาเอล เบนิเตซ ในฤดูกาล 2008-09 และ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ในฤดูกาล 2013-14

หลังจากที่ คล็อปป์ เข้ามารับงานคุมทีมลิเวอร์พูลในปี 2015 เขาพยายามปลุกความเชื่อมั่นของแฟนบอลและผู้เล่นทีมให้กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากสโมสรได้ตัดสินใจปล่อยผู้เล่นคนสำคัญของทีมออกไปทั้งกองหน้าอย่าง หลุยส์ ซัวเรซ และสตีเวน เจอร์ราร์ด ซึ่งเป็นกัปตันทีมคนสำคัญ ทำให้แฟนบอลสูญสิ้นศรัทธาต่อสโมสรที่เขารักว่าจะกลับมาคว้าแชมป์ได้ในเร็ววัน แม้แต่นักเตะของลิเวอร์พูลเองก็ไม่ได้มีความมั่นใจว่าจะคว้าแชมป์ได้เช่นกัน

ทุกวันนี้ผลงานของลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าการอดทนรอในวันที่ทุกอย่างพร้อม ความเชื่อมั่น ความศรัทธา การทำงานเป็นกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ

พันไมล์ ต่อทรัพย์สิน
Social Media and Journalist
workpointTODAY

 

11. Moment: “Land of Compromise”

ข่าว: องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสให้สัมภาษณ์

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2020

องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสให้สัมภาษณ์กับ โจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ
โดยส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์คือ

“พสกนิกรเหล่านี้รักพระองค์ แต่พระองค์อยากจะตรัสอะไรกับผู้ชุมนุมที่อยู่บนท้องถนน ที่อยากปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม ?”
พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีความเห็น เรารักพวกเขาเหมือนกัน”
และนักข่าวถามต่อว่า “มีโอกาสสำหรับการประนีประนอมไหม ?”
พระองค์ตรัสว่า “เมืองไทยเป็นดินแดนที่ประนีประนอมกันได้”

เหตุการณ์นี้เป็นการทรงให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในรอบ 40 ปี

ทีมข่าว workpointTODAY

 

12. Moment: #เฌอเอม

เหตุการณ์: 30 กันยายน 2563 ‘ปุ้ย ปิยากรณ์’ ผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิอร์สไทยแลนด์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ทีมกองประกวดต้องดำเนินตามกฎด้วยการตัดสิทธิ์การเข้าประกวดในรอบ 30 คนของ ‘เฌอเอม’ เพราะทำผิดเกณฑ์การเข้าประกวดที่ได้วางไว้”

ย้อนกลับไปในช่วงการเปิดตัวผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิอร์ส ไทยแลนด์ 2020 ‘เฌอเอม ชญาธนุส ศรทันต์’ เป็นเพียงหนึ่งในผู้เข้าประกวดนางงามเท่านั้น แต่ด้วยบุคลิกที่โดดเด่น มั่นใจ และสกิลการตอบคำถามที่ฉาดฉาน ด้วยทัศนคติแบบคนรุ่นใหม่ ทำให้ชื่อของ ‘เฌอเอม’ ถูกพูดถึงไปทั่วโซเชียลมีเดีย เกิดเป็น #เฌอเอม และกลายเป็น 1 ใน 5 สาวงามที่ได้รับ Golden Tiara ผ่านเข้าสู่รอบ 30 คนสุดท้ายโดยอัตโนมัติ แต่แล้วเส้นทางนางงามของเธอก็ดูจะไปได้ไม่สวยเท่าไรนัก จากกระแสข่าวผู้จัดการนางงามแฝงตัวเป็นทีมงานในกองประกวด ดราม่าแชทหลุดต่างๆ มากมาย จนสุดท้ายเธอก็ถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าประกวด

หากจะพูดในภาษาชาวบ้านคงจะเข้ากับประโยคที่ว่า “ไม่ทันเกิด ก็ดับซะแล้ว” แต่ ‘เฌอเอม’ คนนี้คงจะผิดแปลกไปจากประโยคนั้น ก่อนหน้าจะเกิดกระแสข่าว เธอไม่ต้องยืนโบกมือรับมงกุฎ หรือได้ตำแหน่งใด เธอก็เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์อะไร ตอบคำถามแบบไหน เธอก็อยู่บนพื้นที่สื่อไปซะหมด แม้แต่หลังถูกตัดสิทธิ์เธอก็ยังคงผ่านไปมาให้เราเห็นอยู่เสมอในหน้าสื่อต่างๆ

“ดับ” เธอคงไม่ใช่คำนี้ และไม่ใกล้สักนิดเดียว

เราคงตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้น ใครผิด-ใครถูก เพราะเป็นระบบภายในของกองประกวด แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นของสังคมในปัจจุบัน จาก #เฌอเอม คือคนเริ่มตัดสินใครคนนึงจากสิ่งที่เขาทำ มากกว่ายึดว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ตอนผิดพลาด แน่นอนว่าถูกด่า ถูกโจมตีมากมาย แต่เรื่องที่เธอเคยขับเคลื่อน โดยเฉพาะประเด็นด้านสังคม ทั้งเรื่องขนส่งมวลชนควรราคาถูกลงและเข้าถึงได้มากกว่านี้ ผ้าอนามัยควรปรับราคาลง การทำแท้งเป็นสิทธิของผู้หญิง ควรสนับสนุนคนไร้บ้านได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตที่สอง ประชาธิปไตยไม่ควรต้องรู้สึกกลัว ฯลฯ ซึ่งจุดที่เธอยืนอยู่มันทำให้หลายคนมองเห็นปัญหามากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเธอเป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมทางสังคมในปีนี้ เป็น ‘ผู้เข้าประกวด’ คนแรกที่ถูกพูดถึงและยึดพื้นที่สื่อได้มากมายเท่านี้ และก็ไม่รู้อีกนานแค่ไหนจะมีผู้เข้าประกวดที่ทำได้แบบเธอ ‘เฌอเอม ชญาธนุส ผู้เข้าประกวดหมายเลข 82’

ธัญญาเรศ มณฑาพงษ์ และ เสาวภา สังข์บูรณ์
Co-producer
workpointTODAY

 

13. Moment: CNN รายงาน อัยการสั่งไม่ฟ้อง “บอส วรยุทธ” ทุกข้อหา

เหตุการณ์: 23 ก.ค. 2563

คืนวันที่ 23 ก.ค. ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ชื่อของ “บอส อยู่วิทยา” กลับมาเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” บอสในทุกข้อหา และอาจทำให้มหากาพย์คดีขับรถชนตำรวจที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 ยุติลงโดยที่ทายาทตระกูลอยู่วิทยาไม่ต้องรับโทษทางอาญาเลยแม้แต่วินาทีเดียว

แต่แทนที่จะเป็นจุดจบของคดี นี่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างถึงราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตำรวจและอัยการ

กระแสสังคมที่ดังขึ้นอย่างเซ็งแซ่ ได้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ยุติธรรมของระบบยุติธรรมของไทย เพราะในคดีนี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนมีเงินที่ดูเหมือนจะใช้อำนาจทรัพย์ที่ตัวเองมีบิดเบือนและกดทับกระบวนการยุติธรรมได้ แต่เหยื่อในคดีนี้กลับไม่ใช่ใครอื่นไกล หากคือตำรวจเสียเอง

คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงหลายชุดจึงได้ถูกตั้งขึ้น ทั้งจากฝั่งตำรวจ อัยการ กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจ สั่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงชุดพิเศษขึ้นมาด้วยอีกชุด ที่มี ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ นั่งหัวโต๊ะ

การสืบค้นข้อเท็จจริงของกรรมการแต่ละชุด แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่ในภาพใหญ่ก็ให้คำตอบที่ไม่ต่างกันนัก นั่นคือมีความพยายามในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ และดูเหมือนว่าอำนาจเงิน ถ้ามีมากพอ ก็อาจจะเปลี่ยนผิดเป็นถูกได้ในสังคมความยุติธรรมแบบไทยๆ

แต่มองในมุมที่ดี เรื่องนี้ก็พอจะบอกเราได้ว่า หากสังคมจับจ้องเรื่องไหนอย่างเข้มข้นพอ เราก็อาจป้องกันความอยุติธรรมทีมักเกิดในที่ลับๆ ไม่ให้เกิดได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อคดีนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ ตำรวจตัดสินใจขอให้ศาลออกหมายจับ “บอส อยู่วิทยา” อีกครั้ง ในขณะที่อัยการก็นำหลักฐานใหม่เข้ามาในสำนวน และตัดสินใจฟ้องทายาทกระทิงแดงใน 2 ข้อหาหนัก ทั้งข้อหาขับรถโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาเสพโคเคน

กระนั้น ความยุติธรรมสุดท้ายที่ทุกคนอยากเห็นในคดีนี้ก็ยังคงไม่เกิด เมื่อกระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถนำตัว “บอส วรยุทธ” มาพิสูจน์ความจริงในศาลไทยได้

อ้างอิง รายงานข่าวจากซีเอ็นเอ็น
https://edition.cnn.com/…/red-bull-vorayud…/index.html

กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์
Content Editor
workpointTODAY 

 

14. Moment: “เจน นุ่น โบว์ ฟีเวอร์”

เหตุการณ์: 1 เมษายน 2020

เพลง ซุปเปอร์วาเลนไทน์ ที่ปล่อยออกมานานกว่า 10 ปี กลับมาได้รับความนิยมใน Tik Tok ในช่วงเคอร์ฟิว

“เจนค่ะ เจนค่ะ หนูชื่อเจน มากับนุ่น และก็มากับโบว์” เพลงซุปเปอร์วาเลนไทน์ กับเนื้อหาแนะนำตัว 3 สมาชิก เจน นุ่น โบว์ ที่แนะนำชื่อตัวเอง ตามด้วยชื่อเพื่อนสมาชิกอีก 2 คน สลับกันไปมา ได้กลายเป็น ไวรัลยอดฮิต เต้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ในแอพพลิเคชั่น Tik Tok ช่วงเคอร์ฟิว จากสถานการ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ที่ผู้คนให้ความร่วมมืออยู่บ้าน ตามสโลแกน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

จุดเริ่มต้นของไวรัล เพลง ซุปเปอร์วาเลนไทน์ ที่ปล่อยออกมาแล้วเป็นเวลานับ 10 ปี ถูกปลุกกระแสให้ฟื้นคืนชีพ โดย ฮายโซล หรือ ฮาย พิชญ์พิสิฐฎ์เสฎ โชคชัย ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Haiseoul Channel ซึ่งมีคอนเทนต์โดดเด่นคือ การคัฟเวอร์เป็นตัวละครหลายคนแต่แสดงคนเดียว ฮายโซล ได้เลือกเพลง ซุปเปอร์วาเลนไทน์มาคัฟเวอร์ ซึ่งนั่นส่งให้เธอได้รับบท เจน นุ่น และ โบว์ เพียงคนเดียวทั้ง 3 คาแร็กเตอร์ เผยแพร่ในวันที่ 1 เมษายน 2563 มีผู้ชมคลิปคัฟเวอร์นี้บนช่องยูทูบของฮายโซลมากกว่า 10 ล้านวิว ในช่วงเดือนเมษายน

จากคลิปดังกล่าว ถูกนำไปเต้นคัฟเวอร์ต่อใน Tik Tok ครีเอทออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งเต้นคนเดียวเป็นทั้งเจน นุ่น โบว์ เหมือนฮายโซล หรือเต้นกัน 3 คน ในช่วงที่ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีเวลาเล่นโซเชียลมากขึ้น รวมไปถึงคนดังอย่างดารานักแสดงหลายคน ที่มีเวลาว่างมากขึ้นจากการงดรับงาน อีเว้นท์ต่างๆ และต่างออกมาสร้างคอนเทนต์เต้นเป็น เจน นุ่น โบว์ นับว่าเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ที่ทำให้เพลงซุปเปอร์วาเลนไทน์กลับมาเป็นกระแสว่อนไปทั้งโซเชียล

ทั้งนี้กระแสของเจน นุ่น โบว์ ซุปเปอร์วาเลนไทน์ ยังเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ Tik Tok ที่ได้กลายเป็นแอพพลิเคชั่นยอดนิยมในช่วงกักตัวอยู่บ้านอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากปรากฏการณ์ เจน นุ่น โบว์ ฟีเวอร์ ร้อง เล่น เต้น ฮิตติดหูกันทั้งประเทศ คือ มีธุรกิจ หลายประเภทได้จับกระแสมาทำการตลาด เช่น มีโปรโมชั่นส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการสำหรับคนชื่อ เจน นุ่น โบว์ เป็นต้น รวมไปถึงมีการนำเนื้อเพลงมาดัดแปลงเป็นเพลง ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม , กสทช. และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับท็อปไลน์มิวสิคเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้านลดการแพร่เชื้อ จากเนื้อเพลงที่ร้องว่า “หนูชื่อเจน มากับนุ่น และก็มากับโบว์” ถูกเปลี่ยนเป็น “หนูชื่อโคฯ มากับไข้ และก็มากับไอ” แทน

และแน่นอนว่าทั้ง 3 สาว โบว์ กัลยาณัฎศนา , เจน เจนจิรา และ นุ่น นัทธมน ศิลปินต้นฉบับ ได้กลับมาดัง เป็นพลุแตกงานแน่นอีกครั้ง เดินสายออกรายการ ทัวร์คอนเสิร์ต รวมถึงถูกเชิญไปขึ้นเล่นในคอนเสิร์ตบิ๊ก เมาเท่นในปีนี้

เพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะแนะนำสมาชิกในวงให้เป็นที่จดจำ ซึ่งเป็นเพลงเฉพาะเจาะจง ใส่ชื่อลงไป ที่สำคัญคือเวลาผ่านไปนานกว่า 10 ปีแล้ว แต่กลับสร้างให้เกิดกระแสความนิยมไปทั้งประเทศได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าถูกนำกลับเข้ามาในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เป็นความบันเทิงจิตใจ ในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตและสถานการณ์ตึงเครียด จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้คนที่ออกมาเต้นคัฟเวอร์เพลงนี้ ส่วนหนึ่งก็หวังเพื่ออยากจะให้คนที่เข้ามาดูมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ รวมไปถึงดารานักแสดง ที่อยากจะเอนเตอร์เทนแฟนๆ ของพวกเขา ในช่วงที่ไม่ได้เจอกันนี้

กุลธิดา ศุภเลิศ
Journalist – Entertainment
workpointTODAY

 

15. Moment : “ครูทำร้ายเด็กอนุบาล”

เหตุการณ์ : 25 กันยนยน 2020

‘ครูจุ๋มทำร้ายเด็กอนุบาล’ สะเทือนไปทั้งโรงเรียน คลิปวงจรปิดมัดครูหลายคนกระทำรุนแรงต่อเด็ก

ภาพวงจรปิดครูพี่เลี้ยงทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองทราบว่าลูกซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจถูกกระทำด้วยความรุนแรงตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียนทั้งหยิก ตบ ผลักให้ล้ม และใช้ถุงดำครอบศรีษะ พฤติกรรมครูที่โหดร้ายไม่มีพ่อแม่คนไหนรับได้ ผู้ปกครองจึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับครูที่ลงมือทำร้ายนักเรียน และข้อเสนอจากผู้ปกครองถึงผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งต้องทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาลคนหนึ่งสังเกตเห็นลูกไม่ร่าเริงแจ่งใส่เหมือนเด็กทั่วไป มีอาการหวาดผวากลางดึก ไม่อยากไปโรงเรียน และเมื่อไปไล่ดูภาพวงจรปิดในห้องเรียน ลูกถูกครูพี่เลี้ยงทำร้าย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับเด็กคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับเด็กหลายคนจากครูหลายคน และเกิดคำถามคาใจว่าทำไมครูพี่เลี้ยงคนอื่นไม่เข้าไปห้ามปรามหรือช่วยเด็ก หรือเห็นการกระทำรุนแรงเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนแห่งนี้

เรื่องดูเหมือนจะบานปลายมากขึ้นเมื่อผู้ปกครองจึงรวมตัวกันไปที่โรงเรียนเพื่อถามหาความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยิ่งทราบว่าครูบางคนไม่มีใบประกอบวิชาชีพซึ่งทางโรงเรียนก็ยอมรับและพร้อมชดเชยค่าเทอมให้กับผู้ปกครองที่ต้องการนำลูกลาออกจากโรงเรียน ขณะที่ผู้ปกครองที่เหลือบางคนได้เสนอมาตรการให้โรงเรียนติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่กิจกรรมทั้งหมดของโรงเรียน ให้สามารถเช็กหรือตรวจสอบกล้องวงจรปิดจากโทรศัพท์มือถือ และขอให้มีการตรวจสอบระบบการเรียน การสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับครูผู้ก่อเหตุทั้งหมด

แน่นอนว่าแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับโรงเรียนในเครือทั้ง 42 สาขา และสังคมต่างตั้งข้อสงสัยว่า ความปลอดภัยของเด็กในสถานศึกษาอยู่ที่ไหน ทำไมคุณภาพการศึกษากับราคาที่ผู้ปกครองยอมจ่ายแพงไม่ไปในทิศทางเดียวกัน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาคือการคัดเลือกครูผู้สอน ใช้มาตรฐานใด การจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ทำไมรับเกินจำนวนที่กำหนดไว้ เพียงเพราะต้องการเงินค่าเล่าเรียนหรือเปล่า ผู้บริหารดรงเรียนต้องออกมาตามคำถามให้ได้และให้เคลียร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและลุกขึ้นต่อสู้ ไม่ยอมรับกับสิ่งที่ถูกปฏิบัติอยู่เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวสร้างการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ครูทำร้ายนักเรียนเป็นภาพจำ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อำนาจนิยมในโรงเรียนกับระบบที่ล้มเหลว อำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้กระทำกับเด็ก โดยอ้างหวังดี ลงโทษเพื่อสั่งสอน แต่ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจ พัฒนาการเด็ก นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้วถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูให้ครูมีความเข้าใจ จัดการอารมณ์ของครูได้ดีและรู้จักดูแลเด็กเชิงบวก เพราะโรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับลูกใครทั้งนั้น อย่ามองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ เราควรทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเมื่อไปโรงเรียน

สุรีย์พร ตะเภาพงษ์
Senior Journalist – Local News
workpointTODAY

 

16. Moment: วงการความฟินของเหล่าแฟนด้อมซีรีส์วาย

เหตุการณ์: 21-22 พฤศจิกายน 2563

กระแสซีรีส์วาย สู่การรวมตัวแฟนด้อมสุดฟิน

บรรยากาศสุดคึกครื้น เสียงกรี๊ด ที่มาพร้อมกับแท่งไฟและป้ายไฟของบรรดาแฟนด้อมวายหลากหลายบ้าน เต็มฮอล์คอนเสิร์ตใหญ่อย่าง Fantopia จัดขึ้นที่ อิมแพ็ค อารีน่า ซึ่งจุคนได้กว่า 30,000 ที่นั่ง เพื่อมาเชียร์ ศิลปิน, ดารา และคู่จิ้นในดวงใจ โดยคอนเสิร์ตในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นมหกรรมที่รวมความฟินครั้งยิ่งใหญ่กับการรวมตัวนักแสดง-ศิลปินวัยรุ่นไทยทั่วทุกค่าย รวมไปถึงนักแสดงซีรีส์วายด้วยเช่นกัน และถือได้ว่าเป็นการยกทัพกันมามากที่สุดของแฟนด้อมวาย นักแสดงและศิลปินไว้หลากหลายบ้านที่ต่างมารวมตัวกันในงานคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งนี้

ก่อนโมเมนต์ ‘คอนเสิร์ต Fantopia’ บอกได้เลยว่าตั้งแต่ต้นปี 2020 มานี้ กระแสซีรีส์วายไทยถือได้ว่ามาแรงจนฉุดไม่อยู่ ก่อให้เกิดบรรดาแฟนด้อมวายหลากหลายบ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคอนเทนต์ซีรีส์วายไทยไม่ได้มีแค่เพียง 1 เรื่อง หรือ 2 เรื่อง แต่มีมากกว่า 30 เรื่อง อาจจะเป็นเพราะความนิยมที่มากขึ้น ทำให้ซีรีส์วายไทยถูกผลิตออกมาเยอะมากขึ้น นอกจากความชื่นชอบในไทย ซีรีส์ยังถูกส่งออกไปฉายในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ทั้ง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และอีกมากมาย

แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ต้องทำงานแบบ Work From Home หรือหยุดอยู่บ้าน ออกบ้านเท่าที่จำเป็น หลายกิจการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ชั่วคราว ทำให้หลายๆ คนมีเวลาเพิ่มมากขึ้น จึงใช้เวลาไปกับการดูซีรีส์แนวต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ซีรีส์แนววาย หรือ ชายรักชาย นั้นเอง จนก่อให้เกิดฐานแฟนคลับใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งในไทยต่างวัย ต่างเพศ รวมไปถึงชาวต่างชาติ

แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดอีเว้นท์ หรือการพบเจอบรรดาเหล่านักแสดงคู่จิ้นจากซีรีส์เรื่องต่างๆ ก็เป็นไปได้ยากด้วยเช่นกัน ซึ่งทำได้เพียงการจัดกิจกรรมไลฟ์สดผ่านออนไลน์เท่านั้น นอกจากการดูไลฟ์สดแล้วนั้น แฟนด้อมวายบ้านต่างๆ ยังช่วยซัพพอร์ตในการซื้อสินค้าที่ศิลปินดาราขวัญใจของตนเองเป็นพรีเซ็นเตอร์, การจัดโปรเจกต์ในวันเกิดหรือวันเปิดตัวผลงาน และยังช่วยกันเทรนด์แฮชแท็กผลงานและกิจกรรมให้ขึ้นติดอันดับ 1 บนทวิตเตอร์ทั้งไทยและทั่วโลกอีกด้วย จนกลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยและขยายฐานแฟนด้อมวายอีกทางหนึ่ง

ก่อนที่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา งานอีเว้นท์ต่างๆ ได้ทยอยเริ่มกลับมาจัดได้อีกครั้ง ซึ่งได้เห็นภาพบรรดาเหล่าแฟนด้อมวาย ไปรวมตัวกันงานต่างๆทั้งงานประกาศรางวัล เปิดตัวสินค้า และอีกมากมายหลากหลายงานเรียกได้ว่าห้างแตกเลยก็ว่าได้ แต่ก็ยังไม่เห็นภาพการรวมตัวกันของเหล่าแฟนด้อมวายหลายๆ บ้านในงานเดียวกันสักที

จนกระทั่ง ต้นเดือนสิงหาคมได้มีการเปิดตัวโปรเจกต์คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่บอกคอนเซปต์เพียงว่า มหกรรมความฟินในอุดมคติครั้งยิ่งใหญ่! พร้อมแฮชแท็ก Fantopia2020 ทำเอาเหล่าบรรดาแฟนด้อมวายหลากหลายบ้านต่างรอคอย เมื่อรายชื่อได้ออกมาก็ทำเอาแฟนด้อมต่างตื่นเต้นกันยกใหญ่ บ้างก็หวาดหวั่นกลัวซื้อบัตรไม่ทัน เพราะคอนเสิร์ตครั้งนี้ถือได้ว่ายกความฟินของเหล่าแฟนด้อมมากมายทั่วทุกค่ายมาไว้ที่คอนเสิร์ตในครั้งนี้ ทั้งศิลปิน นักแสดงวัยรุ่น และที่พิเศษสุดๆคือการรวมตัวของนักแสดงคู่จิ้นจากซีรีส์วาย อย่าง สิงโต-คริส, ออฟ-กัน, เต-นิว, ไบร์ท-วิน, บิ๊วกิ้น-พีพี และอีกมากมายที่นับรายชื่อกันไม่หวั่นไม่ไหว ก็ทำเอาบรรดาแฟนด้อมวายบ้านต่างๆ กำเงินมือแน่นเตรียมซื้อบัตรกันทันที นอกจากคอนเสิร์ตแล้วยังมีกิจกรรมภายในงานอีกมากมายให้แฟนด้อมได้เลือกกัน

ในวันงาน Fantopia ได้สร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำตลอด 2 วัน โดยคอนเสิร์ตใหญ่ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 2 รอบ โดยที่ศิลปินขึ้นโชว์ในแต่ละรอบจะไม่เหมือนกัน เพื่อเป็นการแบ่งแฟนคลับและแบ่งเวลาให้นักแสดงได้ใช้เวลาโชว์แบบเต็มที่อัดแน่นไปเลยกว่าคู่ละ 30 นาที ไปจนถึงเกือบๆ 1 ชั่วโมงเต็ม ยิ่งไปกับโชว์พิเศษจากศิลปินและนักแสดงที่ขึ้นโชว์ในแต่ละรอบแล้ว ยังได้มีโมเมนท์พิเศษ น่ารักๆ ของแต่ละคู่จิ้น มาทำให้บรรดาเหล่าแฟนด้อมวายได้ฟินกันสุดๆ ซึ่งแน่นอนว่าคอนเสิร์ต Fantopia เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นการรวมตัวของแฟนด้อมวายที่ยิ่งใหญ่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าในปีนี้ซีรีส์วายได้สร้างอิมแพ็คไว้มากมาย ไม่ว่าจะหยิบจับสินค้าใด หรือกิจกรรมงานต่างๆ เราก็จะเห็นนักแสดงหรือคู่จิ้นจากซีรีส์วายเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก นี้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่เปิดโลกให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย และคอนเทนต์ซีรีส์วายไทยอาจเติบโตไปสู่ระดับโลกก็เป็นได้

อรธีรา ฤทธิโพธิ์
Journalist – Entertainment
workpointTODAY

 

17. Moment: “ยุบพรรคอนาคตใหม่”

เหตุการณ์: 21 กุมภาพันธ์ 2020

ยุบพรรคอนาคตใหม่ จุดเริ่มต้นของการเมืองนอกสภาครั้งใหม่

“ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปี พ.ศ.2560 มาตรตรา 72 กรณีนี้จึงมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกฟ้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560…”

สิ้นเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษา ปม ‘เงินกู้’ 192.2 ล้านบาท ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 เส้นทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ก็สิ้นสุดอย่างฉับพลัน บรรยากาศในที่ทำการพรรคที่เต็มไปด้วยสมาชิกพรรค และประชาชนที่เข้ามานั่งฟังการพิจารณาคดีผ่านหน้าจอ เต็มไปด้วยความอึมครึม พร้อมๆ บนโลกออนไลน์ที่แฮชแท็ก #Saveอนาคตใหม่ และ #ยุบพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว นักวิชาการและคนดังในหลากหลายวงการ ต่างทวิตข้อความในเชิงไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวนมาก

สิ้นสุดเส้นทางพรรคการเมืองแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่
เย็นวันนั้นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 16 คน ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ได้แถลงถึงความรู้สึกตลอดระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน 18 วัน ที่ได้ก่อตั้งพรรคแห่งนี้ขึ้นมา รวมทั้งประกาศตั้ง ‘คณะอนาคตใหม่’ เดินหน้าทำงานการเมืองนอกสภาต่อทันที ส่วนสมาชิกพรรคที่เหลืออีก 65 คน ได้แสดงความพร้อมในการจัดตั้งพรรคใหม่เพื่อทำงานในสภาต่อ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวลือเรื่อง ‘งูเห่า’ ออกมาให้ได้ยินอย่างหนาหู

จาก ‘ม็อบแฮชแท็ก’ สู่ ‘แฟลชม็อบ’ และปรากฏการณ์การเมืองนอกสภา
ในวันรุ่งขึ้น 22 กุมภาพันธ์ 2563 อุณภูมิความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวยังคงร้อนระอุ เริ่มมีการรวมตัวและเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนเกิดขึ้น เราได้แฟลชม็อบแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และในวันต่อๆ มาตลอดเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ก็ได้เห็นปรากฏการณ์แฟลชม็อบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องหลายสิบม็อบ ชัดเจนว่าแกนกลางของการขับเคลื่อนคือคนรุ่นใหม่ในรั้วสถานศึกษา ที่ออกมาเสนอข้อเรียกร้องและความฝันของตัวเองนอกสภา การรวมตัวของก้อนความคิดปรากฏผ่านแฮชแท็กจำนวนมาก อย่าง #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #ช้างเผือกจะไม่ทน #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ฯลฯ การรวมตัวเรียกร้องค่อยๆ ขยายตัว จากรั้วอุดมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เหตุการณ์ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเมืองนอกสภาในทุกวันนี้ก็ว่าได้ เพราะว่าพรรคการเหมือนเป็นเหมือนสถานที่ที่รวบรวมความฝันของผู้คนจำนวนมากเอาไว้ และเป็นตัวแทนที่จะนำเอาความฝันของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเข้าไปต่อสู้ในสภา แต่เมื่อความฝันของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่บรรจุอยู่ในพรรคการเมืองแห่งนี้ดับสลาย เราจึงได้เห็นจุดเริ่มต้นของ ‘การต่อสู้นอกสภา’ ที่ลากยาวมาถึงเวลานี้ และไม่มีทีท่าที่จะจบลงในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย

ปริญญา ก้อนรัมย์
Senior Content Creator
workpointTODAY

 

18. Moment : ปรากฎการณ์ลุงพล จากผู้ต้องสงสัย สู่ขวัญใจมหาชน

เหตุการณ์ : 11 พฤษภาคม 2563

จากคดีอาชญากรรม น้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายตัวไปจากหมู่บ้านกกกอก ในจังหวัดมุกดาหาร นำไปสู่ซี่รี่ส์หมู่บ้านกกกอกและปรากฎการณ์ลุงพล จากผู้ต้องสงสัย สู่ขวัญใจมหาชน

หากพูดถึง ‘ลุงพล’ หรือ ไชย์พล วิภา ณ วินาทีคงไม่มีใครไม่รู้จัก หนุ่มใหญ่สไตล์บ้านๆ พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ที่เคยถูกพูดถึงในฐานะหนึ่งในผู้ต้องสงสัยในคดี ‘น้องชมพู่’ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายตัวไปจากหมู่บ้านกกกอก ในจังหวัดมุกดาหารเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์นี้จะสร้างปรากฎการณ์อย่างต่อเนื่องนานหลายเดือน

ลุงพลผู้ซึ่งเป็นตัวละครหลักถูกทำให้มีบทบาทมากขึ้นจากการทำข่าวแบบเกาะติดฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านของสื่อมวลชนที่แข่งกันสร้างประเด็นรายวัน แม้ว่าเริ่มแรกคดีนี้จะเป็นเพียงคดีที่สังคมเอาใจช่วยให้หาน้องเจอแต่เมื่อพบศพเด็กหญิงในสภาพเปลือย ณ บริเวณภูเหล็กไฟ จึงนำไปสู่คำถามว่า“ใครเป็นคนฆ่าน้องชมพู่”

จากการสืบสวนที่เข้มข้นและตำรวจยังคงสืบหาพยานหลักฐานนานนับเดือน จนทำให้ครั้งหนึ่งแม่ของน้องชมพู่เคยให้สัมภาษณ์ว่า คนที่น่าสงสัยมากที่สุดก็คือ ลุงพล เนื่องจากมีความสนิทสนมและใกล้ชิดกับน้องชมพู่มากจนผิดสังเกตุ ลุงพลจึงตกต้องเป็นผู้ต้องสงสัยเบอร์ต้นๆในคดี ซึ่งจากการตั้งข้อสงสัยนี้ ทำให้ลุงพลผู้มีอาชีพรับจ้าง ทำไร่ ทำสวน ไม่มีใครกล้าจ้างงานจนต้องเอาเงินเก็บมาปะทังชีวิต แต่ลุงพลก็แสดงความบริสุทธ์ใจโดยไม่เคยคิดหนีและให้ความร่วมมือกับตำรวจเป็นอย่างดี ขณะที่เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของลุงพลก็ถูกเปิดเผยขึ้นให้สังคมได้รับรู้อย่างที่เจ้าตัวคาดไม่ถึง

เมื่อผลชันสูตรพลิกศพออกมาอย่างชัดเจนว่า ไม่พบร่องรอยข่มขืน ฆาตกรรม และ ทำร้ายร่างกาย นั่นแปลว่าลุงพลหลุดจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้คนทั้งประเทศเห็นใจลุงพลมากขึ้น ถึงขั้นพัฒนามาเป็นแฟนคลับมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน นำข้าวของมาให้มากมาย บางกลุ่มถึงขนาดทำเสื้อทีมใส่เพื่อถ่ายรูปร่วมกัน

ต่อมา ลุงพล เปิดยูทูบ แชนแนลของตัวเองในชื่อ “ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี” ในวันที่ 16 สิงหาคม ลงคลิปง่ายๆ ถ่ายทำเอง เพื่อเล่าวิถีชีวิตของตัวเอง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงคลิปธรรมดา แต่มันกลับถูกจริตของคนจำนวนมาก โดยหลังเปิดยูทูบได้เพียง 15 วัน แชแนลนี้มียอดคนซับสไครบ์ 166,000 คน ขณะที่คลิป “ลุงพลกินข้าวเช้า ป้าแต๋นถ่าย” ความยาว 2.20 นาที มียอดวิวทั้งหมดเกือบ 9 แสน

ความดังของลุงพลไม่หยุดแค่นั้น เมื่อ จินตหรา พูนลาภ ศิลปินคนดังจับเอาลุงพล มาร้องเพลงพิเศษ เต่างอยฉบับ จินตหรา feat. ลุงพล โดยเอ็มวีปล่อยออกมาในวันที่ 30 สิงหาคม และใช้เวลาแค่ 2 วัน ทะยานขึ้นไป 2 ล้านวิว พร้อมติดอันดับ 1 ในมาแรง (#1 on Trending) ในประเทศไทย นอกจากนี้ลุงพลยังได้เล่นมิวสิกวีดิโอโดยมีค่าตัวถึง 1 แสนบาท

นับเป็นปรากฎการณ์ลุงพลฟีเวอร์ ที่เป็นกระแสและทำให้สื่อถูกตั้งคำถามถึงการทำงานอย่างหนักหน่วง แต่ปรากฎการณ์นี้ก็อยุ่แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่สามารถเรียกเรตติ้งจากคนดูได้ ปัจจุบันแม้ว่าลุงพลจะไม่ฟีเว่อร์ในสังคมแล้ว แต่เรื่องคดีความก็ยังคงเป็นข้อสงสัยอยุ่ว่าน้องชมพู่ขึ้นไปที่ป่าได้อย่างไร เดินไปเอง หรือมีคนพาไป ซึ่งยังคงไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้

พลอยศจี ฤทธิศิลป์
Senior Journalist
workpointTODAY

 

19. Moment : โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ

เหตุการณ์ : 4 วันของการนับคะแนนเลือกตั้งสหรัฐฯ

วันที่ 3-7 พ.ย. 2020

การนับคะแนนเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าครั้งก่อนๆ ทำให้ตลอด 4 วันหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. กลายเป็นช่วงเวลาสุญญากาศของการเมืองอเมริกันที่ไม่มีคนไหนกล้าฟันธงว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ผลการเลือกตั้งในตอนแรกที่สูสีระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนเดิม กับผู้ท้าชิงดีกรีอดีตรองประธานาธิบดีอย่างนายโจ ไบเดน ถูกชี้ขาดในนาทีสุดท้ายด้วยบัตรเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ที่มีชาวอเมริกันลงคะแนนด้วยวิธีนี้มากกว่าปกติ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19

และคนส่วนใหญ่ก็เลือกนายโจ ไบเดน เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไป
แต่เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของนายโจ ไบเดน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่นายโจ ไบเดนถูกระบุว่า เป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีเสียงคัดค้านผลการเลือกตั้งจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ทันที ด้วยข้อกล่าวหาว่า มีการโกงเลือกตั้ง

กระบวนการขัดขวางนายโจ ไบเดน อ่อนแอลง เมื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องของฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งคณะผู้เลือกตั้งได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนน 306 ต่อ 232 เสียง ซึ่งบังเอิญเป็นคะแนนที่เท่ากับเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะฮิลลารี คลินตันได้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพอดี

การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจ ไบเดน สร้างสถิติใหม่ให้การเมืองอเมริกันอย่างน้อย 2 เรื่อง
เรื่องแรกเขาคือประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน
เรื่องที่สองคือ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของเขา จะกลายเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นคนผิวสี ลูกครึ่งแอฟริกัน-เอเชียคนแรก ที่ขึ้นมาเป็นเบอร์สองของทำเนียบขาว

นอกจากนี้หลายคนยังจัดให้รัฐบาลไบเดน เป็นรัฐบาลที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย

ทั้งจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากการอนุมัติและแจกจ่ายวัคซีน แต่ผลกระทบที่เกิดจากการระบาดตลอดทั้งปีนี้ยังสาหัส และคาดว่าจะลุกลามต่อเนื่องไปอีกหลายปี โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

ส่วนอีกปัญหาใหญ่คือความแตกแยกรุนแรงในสังคมอเมริกัน ที่ปะทุออกมาตลอด 4 ปีของรัฐบาลทรัมป์ และเป็นคำถามตามมาว่า รัฐบาลไบเดนจะสามารถเยียวยาสังคมอเมริกันให้กลับมามีเอกภาพได้แค่ไหนในช่วงเวลา 4 ปีนับจากนี้

จอมพล ดาวสุโข
Senior Journalist – World Affairs
workpointTODAY

 

20. Moment : ทรัมป์สั่งสังหารนายพลอิหร่าน กาเซ็ม สุไลมานี่ อิหร่าน

เหตุการณ์ : 3 ม.ค. 63

ภาพทะเลมนุษย์ในพิธีการจัดงานศพเมื่อครั้งที่นายพล กอเซ็ม สุไลมานี่ ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps) เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศหรือทางโดรนโดยกองทัพสหรัฐฯ ใกล้กับสนามบินนานาชาติของกรุงแบกแดด ประชาชนนับล้านไปร่วมงานศพด้วยความรักและความแค้น มีรายงานว่าการไปร่วมงานศพของนายพลสุไลมานี่มีผู้เสียชีวิตจากการเหยียบกันตายมากถึง 50 คน ในครั้งนั้นยังมีการระดมเงินเพื่อล่าค่าหัวคนที่สั่งสังหารนายพลสุไลมานี่นับ 2,400 ล้านบาทด้วย สาเหตุที่ความสูญเสียในครั้งนี้สร้างความคับแค้นใจให้ชาวอิหร่านเป็นอย่างมากเพราะนายพล กาเซ็ม สุไลมานี่เป็นที่รักและที่นิยมของประชาชนจนเคยได้รับฉายาว่าเป็นนายพล Rock Star เป็นเซเลบบิตี้ของอิหร่าน จากการยืนอยู่แนวหน้าในการสู้รบมาตลอด

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยออกมาระบุว่า พลตรี กาเซ็ม สุไลมานี และหน่วยรบพิเศษคุดส์ เป็นผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังสังหารทหารสหรัฐฯ หลายร้อยคน หลังข่าวการเสียชีวิตของเขา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้โพสต์รูปธงชาติสหรัฐฯ ทางบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ส่วนแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้พลตรีกาเซ็ม สุไลมานีวางแผนอย่างแข็งขันที่จะโจมตีนักการทูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในอิรักและทั่วภูมิภาค การโจมตีนี้ก็เพื่อหยุดการโจมตีโดยอิหร่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตอนนั้นมีการวิเคราะห์กันว่าความต้องการสังหารนายพลกาเซ็ม สุไลมานี่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัย จอร์จ บุชด้วยซ้ำแต่ไม่มีผู้นำคนไหนกล้าทำเพราะผลที่ตามมาอาจจะเสี่ยงมากที่จะรับได้ แต่ไม่ใช่ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะทรัมป์สั่งสังหารเลย หลังจากนั้นนายพลคนใหม่ที่มารับตำแหน่งแทนกาเซ็ม สุไลมานี่จึงประกาศว่าจะแก้แค้นอย่างรุนแรงต่อสหรัฐฯ และการสั่งสังหารนายพลกาเซ็ม สุไลมานี่ในครั้งนั้นยิ่งเป็นชนวนจุดประกายความแค้นของอิหร่านที่มีต่อสหรัฐฯ ให้ลุกโชนมากขึ้น

ภายหลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งโจ ไบเดนว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ จะต้องรับช่วงต่อจากยุคโกลาหลของโดนัลด์ ทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจึงถูกมองว่าเป็นมรดกบาปที่ทรัมป์ได้ทิ้งเอาไว้ เป็นที่จับตาว่านโยบายการต่างประเทศในยุคของไบเดน จะกลับไปเหมือนกับในยุคของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามาในประเด็นเรื่องอิหร่าน ไบเดนพูดชัดเจนว่าเขาจะพยายามดึงอิหร่านกลับสู่โต๊ะเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ หลังจากที่ทรัมป์พาสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เหตุการณ์ก็ดูจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อนายมอห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อาวุโส ผู้ถูกขนานนามว่าบิดาแห่งนิวเคลียร์อิหร่าน ถูกกลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงถล่มระหว่างเดินทางจนเสียชีวิต ท่ามกลางการกล่าวหาว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลัง รองผู้อำนวยการสถาบันคลังความคิดควินซีของสหรัฐฯ มองว่า ผู้ต้องสงสัยหลักคืออิสราเอลและการลอบสังหารครั้งนี้ อาจเป็นการทำลายความพยายามของนาย โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่านเพราะดูแล้วการลอบสังหารก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อโครงการของอิหร่านเท่าใดนัก แต่จะส่งผลต่อการที่สหรัฐฯ จะไปเจรจากับอิหร่านมากกว่า และนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ก็มีเป้าประสงค์มานานแล้วว่าต้องการดึงสหรัฐฯเข้าไปเผชิญหน้ากับอิหร่าน หลังจากนี้ภาระหนักของการสานต่อของคณะรัฐมนตรีใหม่ของโจ ไบเดน จะต้องเจอศึกหนักอะไรต่อไป ปีหน้าเราจะได้รู้กัน

ไอลดา พิศสุวรรณ
Host and Journalist
workpointTODAY

 

21. Moment: “ตู้ปันสุข” คนมีแบ่งให้ – คนลำบากหยิบฟรี

วันที่: ตั้งแต่ เมษายน 2563

เหตุการณ์: โควิด-19 ทำให้หลายคนตกงานและหากินลำบากขึ้น จึงมีการนำ “ตู้ปันสุข” วางไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อแบ่งปันอาหารให้คนลำบากหยิบฟรี

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบให้คนตกงานและหากินลำบากมากขึ้น

แต่หนึ่งในความชุ่มชื่นหัวใจท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย ที่กำลังระอุหนักนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ก็คือการปันน้ำใจให้กันและกันของคนไทย โดยการนำอาหารแห้งมาใส่ไว้ใน “ตู้ปันสุข” เพื่อให้คนที่ลำบากหยิบได้ฟรี ส่วนคนไหนมีก็คอยนำมาเติม

“ตู้ปันสุข” ในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนมาจากกลุ่มของ นายสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร หรือโค้ชแบงค์ เจ้าของเพจรู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ และเพื่อนๆ ในนาม “กลุ่มอิฐน้อย” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการดูเฟซบุ๊กและยูทูบของโครงการที่มีชื่อว่า Little Free Pantry ของ Jessica Mcclard ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ตู้ของโครงการ Little Free Pantry มีลักษณะเหมือนตู้ยาตู้เล็กๆ ที่มีความลึก ส่วนใหญ่ทำจากไม้ คล้ายตู้รับจดหมายในต่างประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งปันสิ่งของและอาหารให้คนไร้บ้านและคนในชุมชนด้วยกัน โดยมีกฎระเบียบว่า Take what you need. Give what you can. หรือแปลเป็นไทยคือ หยิบไปเท่าที่จำเป็น และแบ่งปันเท่าที่ทำได้ ซึ่งเป็นไอเดียที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ

หลังจากหารือและเห็นตรงกันที่อยากแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้สังคมไทย เพื่อให้คนไทยมีความหวัง มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน สุภกฤษและเพื่อนๆ ในนาม “กลุ่มอิฐน้อย” จึงนำ “ตู้ปันสุข” ตู้แรกที่มีลักษณะเหมือนตู้กับข้าว ซึ่งทำจากไม้ ด้วยหวังใจว่าหากเกิดความนิยมในสังคม การจ้างงานคนในชุมชนจะตามมา ไปตั้งไว้ที่ร้านประจักษ์เบเกอร์รี่ สุขุมวิท 71 พระโขนง กรุงเทพฯ ในวันที่ 17 เมษายน 2563 และทยอยตั้งอีกเรื่อยๆ ตามแหล่งชุมชนต่างๆ

ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน 2563 สุภกฤษ ได้โพสต์คลิปวิดีโอภาพตู้ปันสุขของโครงการ Little Free Pantry โดยการแชร์ลงไปในเพจของตน เพื่อถามความเห็นของผู้คนว่า “ถ้าทำตู้แบบนี้ในไทย จะเกิดอะไรขึ้น” ซึ่งในเวลานั้นคอมเมนต์มากกว่า 90% บอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้, คิดว่าของน่าจะหาย และเผลอๆ อาจจะหายทั้งตู้เลยด้วยซ้ำ

แต่แล้วภาพจากการถ่ายวิดีโอเอาไว้จากการนำ “ตู้ปันสุข” ที่เขาและเพื่อนๆ นำไปวางตามจุดต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นอย่างที่คนแสดงความเห็นกันหรือไม่ ก็เผยแพร่ออกมา ซึ่งตรงกันข้ามกับความเห็นในด้านลบ คือมีคนมาหยิบไปแต่พอดี และคนมีก็นำมาเติม ทำให้วิดีโอตัวนี้กลายเป็นไวรัลในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี จึงมี “ตู้ปันสุข” กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และมีชื่อเรียกอื่นๆ ตามมา แต่ไปในทำนองเดียวกัน เช่น ตู้แบ่งสุข, ตู้ปันน้ำใจ ฯลฯ ซึ่งกติการ่วมกันในสังคมคือ “ทุกคนหยิบฟรี หยิบแต่พอดี ถ้ามีก็เอามาเติม”

และแน่นอนว่าในบางจุดมีคนมาโกยข้าวของในตู้ หรือทำตู้ชำรุดเสียหายบ้าง แต่เป็นกลุ่มคนเพียงหยิบมือหนึ่งในบางพื้นที่เท่านั้น หากคนในชุมชนยังศรัทธาต่อการให้และการรับ มีการดูแลตู้อย่างดี กวดขันและอธิบายให้คนในชุมชนทราบและเข้าใจว่าตู้ปันสุขไม่ใช่เพียงตู้กับข้าว หากแต่ยังสอนในมิติอื่นๆ ทั้งการรู้จักให้และแบ่งปัน, การรู้จักยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ ตู้นั้นก็จะอยู่ได้นาน

เรียกได้ว่าเป็นวิถี New Normal ที่ได้รับคำชื่นชม และเกิดแรงกระเพื่อมในสังคมเป็นอย่างยิ่ง คนไทยทุกหย่อมหญ้ารู้จัก “ตู้ปันสุข” ซึ่งทุกคนมีความเท่าเทียมและเสมอภาค ทั้งในฐานะ “ผู้รับ” และ “ผู้ให้” ซึ่งจะเป็นใครก็ได้

บรรเจิดลักษณ์ คำเจริญ
Senior Content Creator
workpointTODAY

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า