SHARE

คัดลอกแล้ว

จาก 4 ทางเลือกในการแก้ปัญหา ตั้งแต่โจมตี PETA หรือแบนประเทศที่แบนไทย – ทางออกที่เหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (People for the Ethical Treatment of Animals) หรือ PETA เผยแพร่คลิปวีดีโอความยาวไม่ถึง 2 นาทีพาดหัวว่า “ความโหดร้ายในห่วงโซ่อุปทานกะทิ? : PETA เอเชียเปิดเผยลิงกำลังถูกทารุณกรรม (Cruelty in Coconut Milk? PETA Asia Reveals Monkeys Exploited, Abused)” พาดพิงถึงอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยที่บางส่วนถูกเก็บโดยลิงซึ่งถูกพรากมาจากครอบครัวและถูกล่ามอย่างโดดเดี่ยวเพื่อใช้งานไม่ต่างจากเครื่องจักรโดยรายงานของ PETA เอเชียระบุว่ามีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากสวนมะพร้าวทั้งหมด 8 สวนซึ่งส่งผลผลิตให้แบรนด์ของไทย

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจหลังจาก แคร์รี ไซมอนด์ คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ทวีตข้อความเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้านำผลิตภัณฑ์กะทิและน้ำมะพร้าวที่ใช้แรงงานลิงออกจากชั้นวางสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในอังกฤษอย่าง เวตโทรส, โอคาโอ, โค-ออป และบูตส์ ได้หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมะพร้าวจากประเทศไทย โดยอ้างถึงนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัท และสถานะ “ห้างค้าปลีกที่มีจริยธรรม”

ส่วนในประเทศไทยก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน รวมถึงสารพัดแนวทางเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว โดยผู้เขียนพยายามจัดประเภทแนวทางเหล่านั้น แล้วนำมาพิจารณาว่าแนวทางใดน่าจะช่วยให้เราเดินไปข้างหน้า และแนวทางใดเป็นการใช้เหตุผลที่ถูกใจแต่อาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหา

แนวทางที่ 1: โจมตี PETA

หากพยายามจัดหมวดหมู่องค์กรด้านสิทธิสัตว์ PETA น่าจะอยู่ในฝั่งของกลุ่มองค์กรสุดขั้วที่พร้อมจะใช้ทุกวิถีทางในการชูประเด็นเรื่องสิทธิสัตว์ให้เข้าไปอยู่ในสื่อกระแสหลักซึ่งต่างชาติเองก็มีกลุ่มที่ไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าวของ PETA ถึงกับก่อตั้งเป็นเว็บไซต์ต่อต้าน PETA ที่ถึงขั้นอ้างถึงเอกสารของ FBI ซึ่งจัดประเภท PETA ว่าอยู่ในเครือข่ายองค์กรก่อการร้ายด้านสิ่งแวดล้อม (Eco-Terrorism)

ส่วนในประเทศไทยก็มีการขุดคุ้ยความงี่เง่าของ PETA ในอดีตเช่นการฟ้องร้องเรียกค่าลิขสิทธิ์ภาพในฐานะผู้คุ้มครองผลประโยชน์ของกับลิงที่หยิบกล้องจากเดวิด สเลเตอร์ ช่างภาพชาวอังกฤษมาถ่ายเซลฟี่ แต่ในที่สุดก็แพ้ไปเนื่องจากศาลตัดสินว่าลิงไม่สามารถถือครองลิขสิทธิ์ได้เฉกเช่นมนุษย์ หรือแคมเปญที่พยายามหยิบยกประเด็นด้านสิทธิสัตว์มาสวมกับเกมส์อย่างโปเกม่อนซึ่งถูกมองว่าไม่ต่างจากจับสัตว์มาสู้กัน หรือซุปเปอร์มาริโอ้ที่ล่าทานูกิอย่างโหดเหี้ยมเพื่อนำหนังแรคคูนมาสวมใส่เพิ่มความสามารถ

Pokemon Black & Blue เกมส์เวอร์ชันล้อเลียนที่ออกแบบโดย PETA ภาพจาก PETA

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า PETA ไม่ใช่องค์กรที่น่ารักหรือใช้วิธีการนำเสนอเพื่อดึงความสนใจของมวลชนที่น่านับถือแต่การโจมตีองค์กร PETA ถึงแม้จะทำให้เรารู้สึกสะใจแต่ก็ไม่ได้ลดความน่าเชื่อถือของประเด็นเรื่องการทารุณกรรมลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าวแต่อย่างใดซึ่งจัดอยู่ในการใช้ตรรกะวิบัติประเภทของการโจมตีตัวบุคคลหรือองค์กร (Ad Hominem)

แนวทางที่ 2: เขาแบนมา เราก็แบนกลับ

เมื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งเลือกที่จะนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยลงจากชั้นวางสินค้าบางคนก็เสนอว่าเราก็ควรโต้ตอบโดยการนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้นลงจากชั้นวางเช่นกันนี่คือสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าน่าหวาดหวั่นเพราะหากมีการดำเนินการตามข้อเสนอนี้จริงอาจนำไปสู่สงครามการค้าตอบโต้กันไปมาระหว่างสองประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครได้ประโยชน์

เพื่อให้เห็นภาพผู้เขียนขอตั้งประเทศสมมติสองประเทศคือประเทศ ก. และประเทศ ข. ในโลกที่มีสินค้าสองประเภทคือกะทิและเครื่องจักรประเทศ ก. เชี่ยวชาญในการผลิตกะทิอย่างมากส่วนประเทศ ข. มีทักษะในด้านการผลิตเครื่องจักร 

ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแต่ละแห่งต่างก็ต้องพึ่งพาทรัพยากรทั้งแรงงานและเงินลงทุนในการผลิตสินค้าทั้งสองประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศแต่การใช้ทรัพยากรลักษณะดังกล่าวนับว่าด้อยประสิทธิภาพหากเทียบกับฉากทัศน์ที่มีการค้าขายระหว่างประเทศ ก. และประเทศ ข. ที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละแห่งเน้นผลิตสินค้าที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันสุดท้ายประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินค้าได้ในราคาถูกลงนี่คือสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างก็ฟันธงว่าการค้าเสรีในเวทีโลกจะสร้างสถานการณ์ที่ใครๆ ก็ได้ประโยชน์

ดังนั้นการตอบโต้โดยการแบนสินค้าจากสหราชอาณาจักรในกรณีนี้อาจกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามใหญ่โตและกระทบต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศหากเลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยงจะดีกว่า

แนวทางที่ 3: เรียกร้องให้เข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย

อีกหนึ่งกระแสเพื่อตอบโต้การแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย คือการเรียกร้องให้ PETA และเหล่าซุปเปอร์มาร์เก็ตมองการใช้ลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าวว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังหลงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยที่มีการพัฒนาพันธุ์ให้เตี้ยลงจนไม่จำเป็นต้องใช้ลิงปีนขึ้นไปเก็บอีกต่อไป

การยกข้อโต้แย้งว่าด้วยวัฒนธรรมอันดีงามเป็นเรื่องที่ยากจะถกเถียงด้วยแต่มักไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำให้เข้าใจกันมากขึ้นแต่อย่างใดเพราะแต่ละประเทศแต่ละชุมชนแต่ละสังคมต่างก็มีบรรทัดฐานที่ตนเองยึดถือเชื่อมั่นคงเป็นการยากจนอาจเข้าขั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้คนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนหลักคิดตนเองโดยการบอกว่าวิถีของคนอีกกลุ่มหนึ่งคือภูมิปัญญาที่ดีงามซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ตัวอย่างง่ายๆ ในครอบครัวผู้เขียนเองที่พ่อแม่ไม่ทานเนื้อวัวเนื่องจากนับถือเจ้าแม่กวนอิมขณะที่ผมต้องปรับวิธีการรับประทานอาหารให้ยืดหยุ่นขึ้นเนื่องจากต้องพำนักในต่างประเทศอยู่ช่วงหนึ่งจึงกลับมารับประทานเนื้อวัวตามปกติแต่ถึงกระนั้นผมคงไม่บากหน้าไปบอกพ่อแม่ว่าการรับประทานเนื้อวัวนั้นดีงามอย่างไรแล้วชักชวนให้พ่อแม่ละทิ้งความเคารพนับถือเจ้าแม่กวนอิมแล้วเริ่มรับประทานเนื้อวัว

ส่วนความพยายามท้าทายประเด็นที่ PETA กล่าวหาไทยเรื่องการทารุณกรรมลิงในห่วงโซ่อุปทานกะทิโดยหยิบยกตัวอย่างการใช้หมูเพื่อเก็บเห็ดทรัฟเฟิลในภูมิภาคยุโรปหรือการใช้สุนัขลากเลื่อนในบางพื้นแถบสแกนดิเนเวียมาเป็นกรณีเปรียบเทียบนั้นหากนำมาสวมกับตัวอย่างของผู้เขียนก็คงไม่ต่างจากการที่ผมเดินไปบอกพ่อแม่ว่า “ทำไมไม่ทานเนื้อวัวล่ะครับคนนับถือศาสนาพุทธคริสต์หรืออิสลามเขาก็ทานเนื้อวัวกันเป็นปกติ”

การถกเถียงลักษณะดังกล่าวจัดอยู่ในการใช้ตรรกะวิบัติประเภทคนอื่นก็ทำกัน (Two wrongs make a right) ซึ่งไม่ได้ลดความน่าเชื่อถือของประเด็นที่ PETA กล่าวหาไทยแต่อย่างใด รังแต่จะสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับทั้งสองฝ่ายเสียเปล่าๆ

แนวทางที่ 4: ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ

บางคนอาจมองว่าประเด็นของ PETA ไม่มีน้ำหนักโดยให้เหตุผลเชิงอุปนัยว่าแต่ละปีไทยผลิตมะพร้าวได้หลายแสนล้านตัน ไม่มีทางที่จะใช้ลิงเก็บได้ทัน และถึงจะมีการใช้ลิงเก็บจริงก็คงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ

แน่นอนว่าข้อถกเถียงดังกล่าวฟังดูเข้าทีแต่อาจลืมไปว่าระดับของความทนได้ (Tolerance) ของแต่ละบุคคลองค์กรในแต่ละประเด็นนั้นแตกต่างกันออกไปเช่นในมิติสวัสดิภาพสัตว์ผู้บริโภคและห้างร้านอาจมีระดับความทนได้ต่อประเด็นดังกล่าวเท่ากับศูนย์คือแม้แต่นิดเดียวก็รับไม่ได้สุดท้ายทางออกของปัญหาก็ต้องกลับมาที่การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ

ในแวดวงค้าขาย “ลูกค้าคือพระราชา” และหน้าที่ของผู้ขายไม่ใช่การถกเถียงเพื่อให้ลูกค้าเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แต่คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองกับเสียงเรียกร้องของผู้ซื้อ เพราะสุดท้ายผู้บริโภคก็คือผู้ที่กำเงินและอำนาจต่อรองที่สูงกว่า

ปัจจุบันเราอาจเคยผ่านตาเครื่องหมายรับรองสีเขียว (eco label) ซึ่งเปรียบเสมือนกลไกสอบทานและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆในภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นธรรม (Fairtrade) การรับรองไข่ไก่จากแม่ไก่ที่ปล่อยอย่างอิสระการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีทั้งของสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรปรวมถึงตรา Organic Thailand ของไทยที่ตรวจรับรองโดยกรมวิชาการเกษตรไปจนถึงตรารับรองผลิตภัณฑ์จากทะเลอย่างยั่งยืนที่พัฒนาโดย Marine Stewardship Council ขณะที่การรับรองด้านสวัสดิภาพสัตว์ยังไม่มีให้เห็นมากนักในผลิตภัณฑ์เกษตรของไทย

ตัวอย่าง Ecolabel ที่รับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ภาพจากป่าสาละ

ทั้งนี้คำว่าสวัสดิภาพสัตว์แตกต่างจากการไม่ใช้แรงงานสัตว์อย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาในเว็บไซต์ของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่อย่างเทสโก้ซึ่งมีใจความค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ เทสโก้ได้อ้างอิงถึงหลักอิสระ 5 ประการของสภาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม (Farm Animal Welfare Council) คณะที่ปรึกษาอิสระของรัฐบาลอังกฤษ โดยมีใจความหลักคือการเป็นอิสระจากความหิว ความไม่สบายกาย ความเจ็บปวดและโรคภัย ความกลัวและไม่พึงพอใจ รวมถึงมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

จุดเริ่มต้นของการสอบทานห่วงโซ่อุปทานอาจริเริ่มได้ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือการร่วมมือกันทั้งสองภาคส่วน โดยอาจรวมองค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์เข้ามาร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการใช้ลิงเก็บมะพร้าว แต่ผนวกรวมเอาเงื่อนไขด้านการดูแลลิงเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับที่ภาคประชาสังคมยอมรับได้

ผู้เขียนมองว่านี่คือช่วงเวลาที่เราสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในประเทศไทยให้เหนือกว่าประเทศคู่แข่งโดยการสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานพร้อมทั้งสร้างคุณค่าเพิ่มโดยการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ ‘ดูแลสวัสดิภาพสัตว์’ ซึ่งอาจดึงดูดผู้บริโภคบางกลุ่มให้เลือกซื้อเพราะรู้สึกสบายใจกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันแต่ไม่ได้รับการรับรอง

หากเราต้องการแก้ไขปัญหา นี่แหละครับคือหนทางที่เราควรเลือกเดิน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า