Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“นายไม่ได้แปลกหรอก แค่แตกต่างนิด ๆ แล้วก็เป็นคนพิเศษ”: มองสังคมเกาหลีผ่านซีรีส์ Moving
เมื่อความหลากหลายคือทางรอด คนแปลกแยกจึงกลายเป็นฮีโร่

 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้แพลตฟอร์ม Disney+ Hotstar ได้เปิดตัวซีรีส์เกาหลีเรื่อง Moving (무빙) แนวเรื่องสไตล์ฮีโร่ (K-Hero) ผู้ใช้พลังพิเศษเหมือนซุปเปอร์แมน ดัดแปลงจาก Webtoon ชื่อเรื่องเดียวกัน ผลงานจากปลายปากกาของ Kang Pool  

 Moving คงเอกลักษณ์ของซีรีส์เกาหลีที่เน้นการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ตัวละครมีประสบการณ์ร่วมกับคนดู อีกทั้งใส่ใจกับคุณภาพในการผลิต นอกจากนี้ยังได้นักแสดงนำรุ่นใหญ่อย่าง รยูซึงรยง   โจอินซอง  ฮันฮโยจู  และ รยูซึงบอม มาร่วมแสดง พร้อมเสริมทัพด้วยนักแสดงรุ่นเล็กหน้าใหม่ เช่น อีจองฮา โกยุนจอง และ คิมโดฮุน เรื่องราวในซีรีส์จึงเต็มไปด้วยอรรถรสและสีสันที่น่าติดตาม และชวนให้คนดูอินไปกับบทบาทของตัวละครมากขึ้น

 Moving เล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองเกาหลีที่มีพลังวิเศษ เหนือมนุษย์ เช่น พละกำลัง ปล่อยกระแสไฟฟ้า  ฟื้นฟูร่างกาย หรือบินได้ ซึ่งปลดเกษียณจากการทำภารกิจ หันมาใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป กำลังถูกหน่วยงานลับ ๆ ของสหรัฐอเมริกาตามเก็บสังหารทีละคน รวมถึงลูกของพวกเขาด้วย เนื่องจากพลังพิเศษนี้ถูกส่งต่อทางสายเลือด ทำให้ลูก ๆ เกิดมามีความสามารถพิเศษเหมือนพ่อแม่ รยูซึงรยง รับบท “จางจูวอน” จึงต้องคอยพา โกยุนจอง รับบท “จางฮีซู” ลูกสาวของเขาย้ายบ้านและโรงเรียนตลอด  ไม่เว้นแม้แต่ ฮันฮโยจู รับบท “อีมีฮยอน” ต้องหอบลูกน้อยที่พร้อมจะลอยตัวได้เหมือนพ่อ อีจองฮา รับบท “คิมบงซอก” มาเปิดร้านขายทงคัตซึในทำเลที่ห่างไกลจากผู้คนเพื่อรอการกลับมาของใครบางคนอยู่

 นอกจากเส้นเรื่องบู๊ แอคชั่น ความดราม่า และเส้นเรื่องครอบครัวแล้ว Moving ยังพาคนดูไปดื่มด่ำกับความรักใส ๆ วัยรุ่นของบรรดารุ่นลูกอีกด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ของพวกเขาที่ก่อตัวขึ้นไม่เพียงแต่จะจับใจคนดู แต่ยังแฝงประเด็นทางสังคมให้ตกตะกอนคิดอีกด้วย

 “โลกใบนี้มีคนหลากหลายประเภท มีคนแบบนาย แล้วก็มีคนแบบฉัน ฉันจะเก็บความลับให้…”
“อือ ขอบใจนะ…รู้สึกได้ว่าเธอเก็บความลับเก่ง เธอเห็นฉันแปลกขนาดนี้ ก็ยังไม่ค่อยตกใจ”
“แปลกเหรอ ไม่ใช่แตกต่างเหรอ..จะแปลกได้ไง แค่พิเศษไม่ใช่เหรอ”

 บทสนทนาระหว่าง “จางฮีซู” สาวมัธยมปลายผู้มีพลังในการรักษาและฟื้นฟูร่างกายที่บาดเจ็บ กับ “คิมบงซอก” หนุ่มน้อยที่มาพร้อมกับรอยยิ้ม ผู้มีพลังพิเศษในการบินและประสาทสัมผัสเหนือคนทั่วไป สะท้อนให้เห็นว่าเขาทั้งคู่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่  แม้อาจจะไม่มีใครยอมรับ และหวาดกลัวพวกเขา แต่เขาและเธอก็พร้อมจะปลอบประโลม เป็นกำลังใจให้กันและกัน

พหุวัฒนธรรม: วัฒนธรรมที่เกิดจากความหลากหลายทางเชื้อชาติในสังคมเกาหลี

พลังพิเศษในตัวเด็ก ๆ ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ทำให้พวกเขาแตกต่าง และพิเศษกว่าคนอื่นนั้น หากพิจารณาไปยังสังคมเกาหลีแล้ว เด็กกลุ่มนี้คงไม่ต่างอะไรจาก “ลูกครึ่ง” (혼혈; 混血) ที่เกิดจากคู่สมรสชาวเกาหลีแต่งงานกับคนต่างชาติ หรือ “เด็กต่างชาติ” ที่เกิดจากผู้อพยพที่พ่อแม่ไม่ใช่คนเกาหลี  การอพยพของชาวต่างชาติและการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมอื่นเข้าสู่สังคมเกาหลีทำให้เกิดสังคมที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม”  (다문화; 多文化; multi-culture)  หรือสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ภายในสังคมนั้นประกอบไปด้วยวัฒนธรรมย่อย และชนกลุ่มน้อย ตลอดจนหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว

 ครอบครัวพหุวัฒนธรรม (다문화 가정) หมายถึงครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างชาวเกาหลีกับชาวต่างชาติ คู่สมรสมาจากเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  ต่างจากครอบครัวที่เป็นคู่สมรสชาวเกาหลีแท้ (pure Korean) ในปัจจุบันคำว่า “เด็กผู้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นผลผลิตจากครอบครัวพหุวัฒนธรรม ถูกนำมาใช้แทนคำว่า “ลูกครึ่ง” ซึ่งเป็นคำล้าสมัย และลดทอนคุณค่าในตัวบุคคล อาจกล่าวได้ว่า “พหุวัฒนธรรม” (multiculturalism) ในสังคมเกาหลีเป็นสิ่งที่คล้ายกับ “ความหลากหลาย” (diversity) ในสังคมสหรัฐอเมริกา

การแบ่งแยก และปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยด้วยความไม่เท่าเทียมในสังคมพหุวัฒนธรรมเกาหลี

 ในสังคมพหุวัฒนธรรมเกาหลีปัจจุบัน ปัญหาที่เราได้ยินมากที่สุด คงไม่พ้น “แรงงานต่างชาติ” หรือ “ผู้อพยพ” ที่แอบลักลอบเข้าเกาหลีแบบผิดกฎหมาย คนกลุ่มนี้มักจะประสบกับการจ้างงานที่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องของค่าแรง สภาพแวดล้อม และสวัสดิการที่ควรจะได้  ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน  ไม่เพียงแรงงานต่างชาติ ผู้อพยพจะถูกแบ่งแยก และเลือกปฏิบัติจากสังคมส่วนรวมแล้ว สมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ถูกลิดรอนสิทธิ และกระทำเสมือนพวกเขาไม่มีตัวตน คือ ชาวต่างชาติทั่วไปที่เข้ามาทำธุรกิจ และ เด็กที่เกิดจากชาวเกาหลีกับชาวต่างชาติ

 เดิมทีสังคมเกาหลีมีลักษณะวัฒนธรรมแบบรวมกลุ่ม (Collectivism; 집단주의)  ไม่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติก้าวเข้ามาในเขตของ “เรา” หรือ “อู-รี” (우리)   แต่ผลักให้พวกเขาเป็น “คนอื่น” หรือ “นัม” () เช่นเดียวกับในสมัยโชซ็อน เกาหลีได้ฉายาว่าเป็น “อาณาจักรฤๅษี” หรือประเทศที่ปิดกั้น ไม่ติดต่อกับชาติใด และห้ามชาวต่างชาติเข้าออกประเทศ มีการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมที่ยึดถือเผ่าพันธุ์อย่างเหนียวแน่น แนวคิดดังกล่าวทวีความเข้มข้นขึ้นหลังเกาหลีหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น  ความเป็นเกาหลีถูกนำมาใช้ฟื้นฟูประเทศหลังเผชิญจากความเสียหายจากสงครามเกาหลี (1950-1953)

ดังนั้นหากใครไม่ใช่ “สายเลือดบริสุทธิ์” หรือ “ฮันมินจก” (한민족; 韓民族) ก็จะถูกสังคมส่วนรวมเมินเฉย และอคติ ในช่วงที่เกาหลีใต้ตั้งประเทศขึ้นใหม่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเข้ามีบทบาทในการพัฒนา และวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับเกาหลี  ผู้หญิงชาวเกาหลีที่อยู่กินกับทหารอเมริกันตกเป็นเป้าของความเกลียดชังและการคุกคาม พร้อมถูกขนานนามว่า “ยังคงจู” (양공주; 洋公主) หรือหญิงขายบริการให้ชาวต่างชาติ  ครอบครัวชาวเกาหลีต่างสั่งห้ามลูกสาวตนเองไม่ให้แต่งงานกับคนต่างชาติ หลายบ้านตัดขาดกับลูกที่ไม่เชื่อฟัง  เด็กที่เกิดจากการแต่งงานดังกล่าวหรือ “ลูกครึ่ง” ไม่เป็นที่ยอมรับ  ครอบครัวพหุวัฒนธรรมในอดีตนั้นถูกมองว่าไม่ใช่ชนชาติเกาหลีอีกต่อไป

 Euny Hong ชาวเกาหลี สัญชาติอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ The Birth of Korean Cool ยกตัวอย่างอี ชาร์ม หรือเบิร์นฮาร์ด ควอนต์ นักธุรกิจชาวเยอรมันที่เดินทางมาเกาหลีใต้ครั้งแรกในปี 1978 ซึ่งเป็นทศวรรษที่สังคมเกาหลียังคงกีดกันการแต่งงานกับคนต่างชาติ แม้เขาจะแต่งงานกับสาวชาวเกาหลี แต่ก็ไม่มีทางที่เขาจะได้สัญชาติเกาหลีในเวลานั้น 

 แดเนียล เกรย์ ชาวเกาหลี-อเมริกัน เป็นอีกกรณีที่ Hong หยิบยกขึ้นมา เขาเป็นลูกนอกรสชาวเกาหลีที่เกิดกลางทศวรรษ 1980 แต่ถูกผลักไสออกจากสังคมให้เป็นเด็กที่ชาวอเมริกันรับอุปการะ พ่อของแดเนียลแต่งงานมีลูกอยู่แล้วสามคน ส่วนแม่ของเขาไม่ได้เป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย  แดเนียลจึงกลายเป็นลูกนอกสมรสโดยปริยาย แม้แม่จะเป็นชาวเกาหลีแท้ แต่ก็ไม่สามารถบันทึกชื่อของแดเนียลลงในสายตระกูลได้ เพราะสิทธิ์นั้นเป็นของผู้ชาย แดเนียลกลายเป็นลูกไม่มีพ่อ และถูกลิดรอนสิทธิที่ควรจะได้รับอย่างการศึกษา  กระทั่งในวัย 6 ขวบ เขาถูกส่งตัวไปให้ครอบครัวชาวอเมริกันรับไปเลี้ยงที่อเมริกาในที่สุด  เมื่ออายุย่าง 20 แดเนียลกลับมาเกาหลีเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริงของเขา และตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตในเกาหลี ท่ามกลางความเกลียดชังของคนในสังคมที่ยังคง “อคติ” กับเด็กนอกสมรสที่ได้สัญชาติประเทศอื่น และมีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย  แดเนียลเล่าติดตลกว่าช่วงที่เขาออกเดตกับสาวเกาหลีนั้น เขาถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงมองในแง่ลบ

 แนวคิดขงจื๊อทำให้สังคมเกาหลีให้ความสำคัญกับ “พ่อ” ในฐานะหัวหน้าครอบครัว และผู้สืบทอดตระกูล  ลูกสาวที่เกิดมาในตระกูล แม้แต่งงานออกเรือนไปเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวสามี  ยังคงต้องใช้นามสกุลเดิมของพ่อ เพื่อแสดงความเคารพสายเลือดฝั่งบรรพบุรุษ  นามสกุลที่สืบเชื้อสายจากพ่อจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งนี้ก็เพราะเกาหลีมีบันทึกรายชื่อคนในตระกูลหรือที่เรียกว่า “โฮ-จ๊อก” (호적; 戶籍) อยู่  สมาชิกในตระกูลที่เกิดจากภรรยาที่แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน ไม่ว่าจะเพศอะไร หากเป็นคนเกาหลีแท้ (ไม่ใช่ลูกครึ่ง) จะถูกบันทึกชื่อลงในโฮจ๊อก เพื่อระบุตัวตนเป็นพลเมืองเกาหลี   ในกรณีที่คุณเป็นลูกนอกสมรส หรือลูกครึ่ง ก็จะหมดสิทธิ์มีชื่อในโฮจ๊อก  ถูกมองเป็นคนนอกของสังคม  หางานทำได้ยาก ที่สำคัญไม่มีสิทธิ์รับมรดกอีกด้วย

 หากใครได้ดูซีรีส์เรื่อง Itaewon Class (2020) น่าจะจำ “ชาง-กึนซู” (รับบทโดย คิมดงฮี) เด็กหนุ่มที่แอบรักอีซอข้างเดียว กึนซูอยู่ในสถานะลูกเมียน้อยที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนให้ถูกต้อง  เขาจึงหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้นำของบริษัทชางกา  เช่นเดียวกับ “คิมโทนี่” ลูกครึ่งเกาหลี-กีนี (รับบทโดย Chris Lyon) ที่ต้องตระเวนหางานทำพร้อมกับตามหาพ่อชาวเกาหลี เขาถูกคนเกาหลีดูถูกสารพัด ถึงขนาดโดนไล่ออกจากผับในย่านอิแทวอน เพียงเพราะถูกมองว่าเป็น “คนต่างชาติ”

 ในปี 2005 เกาหลีเริ่มแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนธรรมเนียมโฮจ๊อกตามประเทศออสเตรเลียที่ให้สิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน (ออสเตรเลียเคยมีกฎหมายคล้าย ๆ ธรรมเนียมโฮจ๊อก)  ซึ่งเกาหลีแก้ไขกฎหมายเสร็จ และประกาศบังคับใช้พ.ร.บ. จดทะเบียนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ฉบับใหม่ในปี 2008

 ชายเกาหลีเศรษฐีบ้านนา กับสาวเอเชียยาจก ผู้หวังจะยกระดับชีวิต

       Daniel Tudor ลำดับอัตราการแต่งงานข้ามเชื้อชาติในประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ซึ่งดูต่ำจนเหมือนค่าผิดปกติ ถัดมาในปี 1990 พบว่ามีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น และปี 2000 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 กระทั่งในปี 2008 มีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติมากกว่าปี 2002 ถึง 2.5 เท่า

 หนึ่งในปรากฏการณ์สังคมที่ทำให้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากการที่ชายชาวเกาหลีบ้านนอกสิ้นหวังกับการหาภรรยา ผู้หญิงชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่อยากแต่งงานกับชาวนาจน ๆ  นี่จึงเป็นช่องทางให้สาวประเทศจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ที่คิดว่าความยากจนในชนบทเกาหลียังดีกว่าความยากจนในประเทศตัวเอง ไหลบ่าเข้ามาในสังคมเกาหลี จนเกิดการโฆษณาธุรกิจบริษัทนายหน้าเฟ้นหา “เจ้าสาวตามสั่ง” ทั่วต่างจังหวัดในเกาหลี

 สังคมเกาหลีเริ่มคุ้นชินกับ “ครอบครัวพหุวัฒนธรรม” มากขึ้น ในสมัยของประธานาธิบดีโนมูฮยอน (2003-2008) มีการร่างแผนส่งเสริมการเป็นส่วนหนึ่งทางสังคมของครอบครัวผู้อพยพหญิงที่แต่งงานกับชายชาวเกาหลี กระทั่งมีการออกกฎหมาย Multicultural Family Support Act (MFSA) ในปี 2008 โดยสนับสนุนให้สมาชิกครอบครัวพหุวัฒนธรรมมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง ดำรงบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเกาหลี รวมทั้งพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิต สามารถใช้ชีวิตกับส่วนรวมได้อย่างราบรื่น ในปี 2009 มีการประมาณจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาแต่งงานในเกาหลีอยู่ที่ 200,000 คน หรือ 17% ของจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีเวลานั้น อย่างไรก็ตามกฎหมาย MFSA ยังมีช่องโหว่ คือเลือกให้ความสำคัญกับผู้อพยพหญิงที่เข้ามาแต่งงานกับชายชาวเกาหลี มากกว่าผู้อพยพประเภทอื่น ทำให้ผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานกับชายชาวต่างชาติ รวมถึงผู้อพยพต่างชาติที่แต่งงานกันเอง โดยไม่มีคู่สมรสเป็นชาวเกาหลี ถูกผลักเป็นคนชายขอบ ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงกฎหมาย MFSA

 ภายหลังในปี 2011 มีการแก้ไขคำนิยาม “ครอบครัวพหุวัฒนธรรม” ในตัวบทกฎหมายใหม่ ให้มีความหมายครอบคลุมมากขึ้น

 เปิดประตูเศรษฐกิจ เปิดประตูโลก  เปิดประตูยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ เกาหลีได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเปิดใจให้คนต่างชาติมากขึ้น จากการติดต่อทางธุรกิจ การเรียนต่อต่างประเทศ และการท่องเที่ยว การยอมรับผันแปรไปตามรุ่น คนรุ่นใหม่เปิดกว้าง ยอมรับผู้อพยพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่าคนรุ่นเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ  สำนักงานสถิติภูมิภาค Dongbuk ของเกาหลีระบุว่า ในปี 2018 ชาวเกาหลีจำนวน 80.6% มองว่าสังคมเกาหลีมีความเป็นพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับความปรารถนาที่จะสร้างเศรษฐกิจที่เปิดกว้างในเวทีโลกอย่างเต็มตัว

 เกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งพาชาวต่างชาติเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สาเหตุสำคัญมาจากเกาหลีกำลังจะกลายเป็น Super-aged society หรือสังคมอุดมผู้สูงวัย ด้วยประชากรรุ่น Baby boomer กำลังก้าวเข้าสู่วัยชราจำนวนมาก ในขณะที่ผู้หญิงรุ่นใหม่มีลูกน้อยลง  ความไม่สมดุลระหว่างวัยทำงานที่มีจำนวนน้อยลง และต้องจ่ายภาษีเพื่อเป็นเบี้ยบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจถดถอยลง ทางแก้ที่เห็นผลในระยะสั้นที่สุดก็คือการต้อนรับชาวต่างชาติที่อยู่ในวัยทำงานเข้าสู่สังคมเกาหลี ผู้อพยพจะช่วยเพิ่มจำนวนแรงงาน และจ่ายภาษีที่จะนำไปเป็นรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนต่อไป

 อีกหนึ่งปัญหาที่เกาหลีกำลังประสบคือการเจาะตลาดยุโรป และอินเดีย รวมถึงบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การปรับตัวให้เป็นสากลทำให้เกาหลีตระหนักความเป็น “พหุวัฒนธรรม” มากกว่าในอดีต แม้กระแสเกาหลี (Korean wave) อย่าง K-pop K-drama K-food  หรือ K-beauty จะเป็นที่รู้จักในเอเชียตะวันออก และทวีปอเมริกาแล้ว แต่เป้าหมายของการส่งออกยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ 

 ในสมัยของประธานาธิบดีมุนแจอิน (2017-2022) รัฐบาลเกาหลีประกาศใช้นโยบาย New Southern Policy เพื่อเอาชนะใจประเทศคู่ค้าอย่างอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เห็นได้จากการสนับสนุนให้กระแสเกาหลีมีความเป็นสากล และเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มประเทศดังกล่าว ผ่านการแลกเปลี่ยน และสร้างความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมกับคนในท้องถิ่น เช่น การผลิตภาพยนตร์ร่างทรง (랑종, 2021) ร่วมกับประเทศไทย  หรือการผลิตวงเกิลกรุ๊ปไอดอลเกาหลีให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เช่น Blackpink หรือ (G)I-dle ซึ่งมีสมาชิกในวงเป็นคนไทย คนจีน และไต้หวัน เพื่อให้คนในภูมิภาคนั้น ๆ บริโภคกระแสเกาหลีมากขึ้น

 สื่อเกาหลีในปัจจุบันไม่ได้ใช้นักแสดง หรือศิลปินชาวเกาหลีล้วนอีกต่อไป มีชาวต่างชาติอย่าง ชาวตะวันออกกลาง หรือยุโรป อเมริกันเข้ามาร่วมสร้างผลงาน เด็กลูกครึ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกนอกคอก กลับเป็นที่ชื่นชอบเพราะรูปร่างหน้าตาดี และยังเป็นที่ต้องการในวงการถ่ายแบบโฆษณา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบรรณ์ จากสาขาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนตั้งข้อสังเกตว่า ในพื้นที่ที่กระแสเกาหลีเข้าไปไม่ถึงอย่างยุโรป ก่อนหน้านี้ชาวยุโรปไม่สนใจที่จะเต้นโคเวอร์ K-pop แต่พอเห็นความหลากหลายเชื้อชาติในวงไอดอล เช่น ลิซ่าที่มีความเอเชียผสมฝรั่ง ทำให้ชาวยุโรปเกิดความต้องการบริโภคสื่อเกาหลีมากขึ้น เพราะมองว่าต้นแบบเข้าถึงง่ายกว่าชาวเกาหลีแท้ ๆ  

เพื่อให้ประเทศอยู่รอดท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงวัย รวมถึงส่งเสริมนโยบายภาพลักษณ์ที่เป็นสากล รัฐบาลเกาหลีในปัจจุบันยังคงสนับสนุนการแต่งงานกับต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ศูนย์การศึกษาเกาหลีในแต่ละประเทศ (Korean Education Center) เช่น ประเทศไทย เปิดหลักสูตร “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” สำหรับคนไทยที่แต่งงาน หรือมีแผนจะแต่งงานกับคนเกาหลี เพื่อให้คนท้องถิ่นเรียนรู้วัฒนธรรม และปรับตัวเข้ากับสังคมเกาหลีมากที่สุด

เป็นไปได้ว่านโยบายรัฐข้างต้นอาจถูกส่งต่อผ่านสื่อบันเทิง เช่น ละคร หรือภาพยนตร์ อย่างซีรีส์ Moving พลังพิเศษของเหล่า K-Hero ไม่เพียงแต่จะขยายฐานsoft power เกาหลีให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากขึ้น แต่ยังสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้เกาหลีเสมือนว่าตัวละครและเนื้อเรื่องกำลังเป็น message ส่งไปยังผู้ชมทั่วโลกว่าตอนนี้สังคมเกาหลีใต้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ความแตกต่างทางเชื้อชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ควรจะถูก “ยอมรับ” ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกัน

  บรรณานุกรม

  • ภาษาไทย
  • กมล บุษบรรณ์. (2564). การส่งเสริมการส่งออก K-Pop และ K-Drama ในช่วงโควิด-19. [Video clip]. Facebook.
  • https://facebook.com/watch/?v=400184198130057
  • Hong, Euny. (2560). กำเนิดกระแสเกาหลี. (วิลาส วศินสังวร, แปล). โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
  • Hyun Ah Moon. (2560.) การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเกาหลี และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวเกาหลี. (พรรนิภา ซอง, แปล). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • Tudor, Daniel. (2565). มหัศจรรย์เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ, แปล). บุ๊คสเคป.
  • ภาษาอังกฤษ
  • Kim, M. & Woo, H. (2022). Redefining Multicultural Families in South Korea: Reflections and Future Directions. Ithaca, NY: Rutgers University Press.
  • ภาษาเกาหลี
  • 동북지방통계청. (2018). <대구광역시 다문화가정 / 경상북도 다문화가정>다문화 사회로의 변화, 우리도 함께 해요!. http://naver.me/FkPgquwg
  • 한국민족문화대백과사전. [n.d.]. 호적. https://bit.ly/3iVBP4D

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า