‘ศักดิ์สยาม’ เบรค MRT สายสีน้ำเงินขึ้นราคา 1 บาท ให้เก็บค่าโดยสารอัตราเดิม 17 – 42 บาท ถึงสิ้นปี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าจากกรณีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 ถึง 42 บาท เป็น 17 ถึง 43 บาท โดยเพิ่มขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร จึงได้ร่วมหารือกับ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทาน เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาระค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน โดยคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ในราคาเดิม เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท
นอกจากนี้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
สำหรับการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินนั้น เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน โดยคำนวณตาม CPI ในรอบนี้ต้องปรับขึ้น 1 บาท จำนวน 4 สถานี โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อเดือน มี.ค. 2565 และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน เนื่องจากจะต้องมีการประกาศล่วงหน้า 30 วัน
- ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท 4 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (28 มิ.ย. 2565) มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และอัตราค่าโดยสารร่วม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ ระยะเวลา 24 เดือน และอัตราค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดตามสัญญาในวันที่ 2 ก.ค. นี้
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงได้คำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งได้รับแจ้งจากกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาจะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 ขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท
รายละเอียด https://workpointtoday.com/mrt/